Skip to main content
sharethis

ประกันสังคม ประสาน ธพว. ยกระดับคุณภาพชีวิตคนขับรถแท็กซี่

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม หรือสปส. ได้เข้ามาร่วมโครงการ "ฮัก แท็กซี่ " โดยสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ  ได้รับประโยชน์การคุ้มครอง และเข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐ ผ่านการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกได้ทั้งมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างประจำในมาตรา 33 มาก่อน หรือมาตรา 40 สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ  ด้วยการจ่ายสมทบเป็นรายเดือนในจำนวนเงินต่ำมาก เริ่มต้น 70 บาท ถึง 300 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ได้กำหนดทางเลือก 3 รูปแบบ คือ ทางเลือกที่แรก  จ่าย 70 บาท/เดือน  รัฐบาลสมทบ 30 บาท/เดือน  คุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย (200-300 บาท/วัน) เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพจ่าย 15 ปี (เริ่มต้นเดือนละ 500-1,000 บาท) และเสียชีวิต จ่าย 20,000 บาท (จ่ายสมทบ 60 เดือนขึ้นไป รับเพิ่ม 3,000บาท)

ส่วนทางเลือกที่ 2  จ่าย 100 บาท/เดือน รัฐบาลสมทบ 50 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี  คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย (200-300 บาท/วัน) เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพจ่าย 15 ปี (เริ่มต้นเดือนละ 500-1,000 บาท) เสียชีวิต จ่าย 20,000 บาท (จ่ายสมทบ 60 เดือนขึ้นไป รับเพิ่ม 3,000บาท) และเงินบำเหน็จชราภาพ (กรณีจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน)

ขณะที่ทางเลือกที่ 3  จ่าย 300 บาท/เดือน รัฐบาลสมทบ 150 บาท/เดือน คุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย (200-300 บาท/วัน) เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพตลอดชีพ (เริ่มต้นเดือนละ 500-1,000 บาท) เสียชีวิต จ่าย 40,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ (สมทบ 180 เดือนขึ้นไป รับเพิ่ม 10,000บาท) และสงเคราะห์บุตร ได้รับรายเดือน (คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2คน)

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/12/2561

ชวนพยาบาลลงชื่อหนุนออกมาตรการเยียวยาเสียชีวิต-บาดเจ็บในหน้าที่ ตั้งเป้าแสนรายชื่อ

รศ.สุปาณี เสนาดิสัย นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยได้จัดทำข้อเสนอ “มาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิต หรือบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่” โดยเปิดให้พยาบาลทั่วประเทศร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุน โดยล่าสุดจากที่ได้เปิดให้ลงรายชื่อเพียง 2-3 วัน ได้มีพยาบาลที่ร่วมลงชื่อแล้วประมาณ 40,000 คน ซึ่งตามกำหนดการได้ปิดการลงรายชื่อในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อทำการสรุปจำนวน และจะเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงหลังปีใหม่นี้ แต่เนื่องจากจำนวนพยาบาลมีประมาณ 200,000 คน จึงอยากได้จำนวนพยาบาลที่ร่วมสนับสนุนมากกว่านี้ หรือประมาณ 1 แสนคน จึงอาจยื่นเวลาออกไปลงรวบรวมรายชื่อออกไป

ทั้งนี้การที่สมาคมพยาบาลฯ ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อให้มีมาตรการการดูแลพยาบาลที่เหมาะสม และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในรถพยาบาล ทั้งการช่วยเหลือและนำส่งผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งจากสภาพรถพยาบาลที่เก่า หรือคนขับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมามีพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิต หรือพิการไปตลอดชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่มาตรการเยียวยากลับไม่มี มีเพียงการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสียชีวิตได้รับ 400,000 บาทเท่านั้น ซึ่งมองว่าไม่เพียงพอ เพราะบางคนเสาหลักครอบครัว

รศ.สุปาณี กล่าวว่า ข้อเสนอมาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บในขณะปฏิบัติหน้าที่นี้ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากองค์กรวิชาชีพพยาบาลมาโดยตลอด โดยสภาการพยาบาลเองเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็ได้เคยมีเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นสมาคมพยาบาลฯ ในฐานะองค์กรเอกชนจึงได้นำเสนออีกครั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้มีการดูแลจากภาครัฐเช่นเดียวกับทหารและตำรวจ เป็นต้น โดยพยาบาลถือเป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วย นอกจากมีความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อแล้ว จากการเข้าออกเวรยังมีความไม่ปลอดภัยต่อการถูกปล้น จี้ เป็นต้น ส่วนจะถึงขั้นออกเป็นพระราชบัญญัติรองรับหรือไม่นั้น คงต้องรอดูทางกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งหากไม่มีการสร้างขวัญกำลังใจเชื่อว่าปัญหาพยาบาลขาดแคลนก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป

“สมาคมพยาบาลฯ ทำในเรื่องนี้ เพราะอยากช่วยเร่งอีกทาง เพื่อให้หันกลับมาดูพวกเราด้วย บางคนต้องเสียชีวิต บางคนต้องพิการไปตลอดชีวิต และบางคนยังนอนเป็นผักต้องให้ญาติดูแล เป็นการดูแลขวัญกำลังใจให้กับพยาบาล เพราะไม่เช่นนั้นเราก็มักบอกว่าพยาบาลขาดแคลน จะไม่ขาดแคลนได้อย่างไร ทำงานก็หนัก ซ้ำยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลอีก” นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าว

รศ.สุปาณี กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์การเยียวยาที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นการดูจากหลักเกณฑ์การเยียวยาทั่วไป รวมถึงหลักเกณฑ์การเยียวยาทหารและตำรวจ โดยมีการเยียวยาความเสียหายที่เป็นเงินโดยเป็นไปตามภาวะความหนักเบาจากอันตรายที่ได้รับ และการเยียวยามาตรการอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเงิน พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอมาตรการป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การใช้รถพยาบาลที่ได้มาตรฐานเท่านั้น การตรวจสอบและดูและความพร้อมของรถพยาบาลก่อนออกให้บริการ รวมถึงคนขับ เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อเสนอมาตรการเยียวยาพยาบาลที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนเงินชดเชยเยียวยาเบื้องต้น โดยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร อัตราเยียวยาไม่ต่ำกว่า5 ล้านบาท/ราย กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ในกรณีสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเยียวยา 4 ล้านบาท/ราย สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเยียวยา 2 ล้านบาท/ราย และส่วนการเยียวยากรณีบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ หากได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราเยียวยา 1.25 ล้านบาท/ราย ไม่สาหัส อัตราเยียวยา 7.5 แสนบาท/ราย เป็นต้น พร้อมกับมีการเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การฟื้นฟูสมรรถภาพ เงินชดเชยการบาดเจ็บต่อวัน เงินช่วยเหลือผู้พิการรายเดือน เงินยังชีพบุตรให้กับผู้เสียชีวิต เงินทุนการศึกษาบุตร และเงินอุปถัมภ์สำหรับพ่อแม่ผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ให้มีการปูนบำเหน็จความดีความชอบในราชการกรณีเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพที่ต้องออกจากราชการ เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อดำเนินการได้ตามขั้นตอนตาม ลิงค์ของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย

ที่มา: Hfocus, 30/12/2561

พนักงานมหาวิทยาลัยยื่นฟ้องศาลปกครอง ปม ม.เชียงใหม่ ไม่ปรับเงินเดือนตามมติ ครม.

นายทินกฤต นุตวงษ์ พนักงานสายสนับสนุน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ กรณี ม.เชียงใหม่ ไม่ดำเนินการปรับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยที่จะออกนอกระบบหรือออกนอกระบบแล้ว จะต้องให้เงินเดือนแก่พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ 1.7 เท่า และสายสนับสนุน 1.5 เท่า จากเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งสูงกว่าข้าราชการทั่วไป เพื่อชดเชยสวัสดิการต่างๆ ที่ตัดทิ้งไป เช่น การรักษาพยาบาลตนเองและบุคคลในครอบครัว บำเหน็จบำนาญ การศึกษาของบุตร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น แต่ ม.เชียงใหม่ จ่ายเงินเดือนให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนเพียง 1.13 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ คิดเป็น 17,060 บาท เท่านั้น ขาดหายไป 0.37 เท่า หรือ 5,440 บาท ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจทางกฎหมาย

นายทินกฤต ระบุว่า เมื่อ ส.ค. 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 1643/2561 ให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง พร้อมกับให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าจ้างที่ควรได้รับเพิ่มขึ้นแต่ละเดือน ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2554 – 29 ก.พ. 2555 นับจากวันฟ้องคดีจนชำระเสร็จสิ้น ภายใน 30 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด เนื่องจาก ม.เกษตรศาสตร์ ไม่ได้ทำตามมติ คปร. และ ครม. ทำให้พนักงานได้รัยเงินเดือนน้อยลง 0.2 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการ จึงทำให้เห็นว่า ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การกำหนดอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยประจำ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ที่ระบุบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการ (กลุ่มปฏิบัติการทั่วไป) คุณวุฒิ ปริญญาตรีทั่วไป (หลักสูตร 4 ปี) อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 17,060 บาท เป็นประกาศที่ไม่เป็นไปตาม มติ คปร. จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวมีการฟ้องร้องมหาวิทยาลัยอยู่ทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ควรปล่อยให้ฟ้องร้องเป็นรายกรณี ควรปรับปรุงนโยบายของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับมติ ครม. และเยียวยาผู้ที่เสียหายจากรณีดังกล่าว นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/12/2561

ปาร์ตี้ปีใหม่จัดใหญ่ให้แรงงานพม่า บริษัทมั่งมีแจกรางวัลนับล้านบาท

28 ธ.ค. 2561 ที่บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ มั่งมี (2557) จำกัด ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี นางสาวสุวรรณิสา แน่งน้อย กรรมการผู้จัดการของบริษัทแห่งนี้ จัดงานเลี้ยงต้อนรับปีใหม่ให้แรงงานเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร อย่างครึกครื้น

ภายในงานมีการเลี้ยงโต๊ะจีน จำนวน 600 โต๊ะ จับสลากแจกทองรูปพรรณทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และแหวน น้ำหนักชิ้นละ 1 สลึง ถึง 1 บาท น้ำหนักรวมทั้งหมด 30 บาท รถจักรยานยนต์ 3 คัน รถจักรยาน 20 คัน ตู้เย็น เครื่องซักผ้า พัดลม และผ้านวม รวมมูลค่าสิ่งของทั้งหมดกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังการแข่งขันวิ่งวิบาก ตีกอล์ฟมะนาว แข่งจับเป็ด การแสดงโคโยตี้ การแสดงตลก และการแสดงคอนเสิร์ตทั้งจากนักร้องที่อยู่ในไทยและทั้งมาจากประเทศเมียนมาโดยมีแรงงานเมียนมาเข้าร่วมกิจกรรม 6,000 คน

นางสาวสุวรรณิสากล่าวว่า กิจกรรม “สังสรรค์ปีใหม่ เนื่องในเทศกาลส่งท้ายปีกเก่า ต้อนรับปีใหม่” ที่จัดให้กับแรงงานเมียนมานี้เพื่อสร้างความสุขให้กับเหล่าผู้ใช้แรงงานที่ต้องจากบ้านมาทำงานไกลในต่างแดน และในช่วงเทศการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปีนี้ ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน โดยงานจะมีสองวันติดกัน คือวันที่ 28 และ 29 ธ.ค.นี้

ที่มา: ข่าวสด, 29/12/2561

กลุ่มนายจ้างอิสราเอลกดดันรัฐบาล ชะลอตั้งกองทุนชดเชยให้แรงงานไทย

เว็บไซต์ นสพ. Haaretz.com ของอิสราเอลรายงานว่า นายโมเช คาห์ลอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอิสราเอล ได้ชะลอการปฏิบัติตามความตกลง ที่ได้ลงนามร่วมกับไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะจัดตั้งกองทุนเงินชดเชยแก่แรงงานไทยที่ทำงานใน อิสราเอลหลังถูกกลุ่มเกษตรกรอิสราเอลกดดัน

Haaretz.com รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเป็นผู้ผลักดันให้ทำข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการดูแลผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ควรได้รับตามสิทธิของแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตร

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปเยือนอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากบีบีซีนำเสนอรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนพบว่าแรงงานไทย จำนวนหนึ่งที่ทำงานในภาคเกษตรของอิสราเอลถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับค่าตอบแทน ตามสัญญา และมีแรงงานกว่า 170 คน เสียชีวิตในอิสราเอล

พล.ต.อ.อดุลย์ ได้พบหารือกับนายอาร์เยห์ เดรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล และนายฮาอิม คาทซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สวัสดิการ และบริการสังคมของอิสราเอล โดยกระทรวงแรงงานของไทยระบุว่า ผลการหารือเป็นไปโดยเรียบร้อย อิสราเอลรับปากจะดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี ทั้งด้านสวัสดิการ ค่าจ้างตามกฎหมาย

ในส่วนของกองทุนชดเชย หรือกองทุนปิซูอิม (Deposit Fund) ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงิน เข้ากองทุนเมื่อคนงานทำงานครบสัญญาจ้างงานจะได้รับเงิน 1 เดือนต่อการทำงานครบ 1 ปี นั้น พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลอิสราเอลได้ผ่านสภาเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ Haaretz.com รายงานว่า กลุ่มเกษตรกรอิสราเอลคัดค้านและขอให้ชะลอ การจัดตั้งกองทุน เพราะจะเพิ่มภาระให้เกษตรกรจำนวน 510 เชเกล (ประมาณ 4,400 บาท) ต่อเดือนต่อแรงงาน 1 คน รวมทั้งขอให้แก้ไขรายละเอียดในส่วนที่ให้มีการเจรจาต่อรอง เรื่องเงินชดเชยให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าเกษตรกรเกรงว่าจะถือเป็นแบบอย่าง ต่อไป

เว็บไซต์ Haaretz.com รายงานด้วยว่า กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การผลักดันให้มีการทำข้อตกลงด้านแรงงานกับไทย ได้ส่งหนังสือด่วนถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังอิสราเอลแสดงความเป็นห่วงผลกระทบทางการทูตที่จะเกิด หากอิสราเอลไม่ทำความตกลงที่แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไทยทราบว่ากฎระเบียบใหม่ที่ เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างงานของแรงงานไทยที่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ของอิสราเอลแล้วนั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2019

บีบีซีได้สอบถามไปยังกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล ซึ่งปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

ด้านกระทรวงการคลังอิสราเอลบอกกับ Haaretz ว่า "ข้อตกลงในปัจจุบันส่งผลกระทบร้ายแรง ทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกรอิสราเอล และหากทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มละลายทางการเงิน ก็จะนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานไทย ซึ่งจะเป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ขณะนี้เรากำลังหากรอบแนวทาที่จะทำให้ข้อตกลงมีผลในทางปฏิบัติ และในเวลาเดียวกันก็ปกป้องเกษตรกรด้วย"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ปลูกกล้วย และอะโวคาโด ในคิบบุทซ์ ทางตอนเหนือของ อิสราเอล ซึ่งกระทรวงแรงงานระบุว่า เป็นการรวมกลุ่มแบบคอมมูน ทุกอย่างเป็นของส่วนรวม อยู่อาศัยและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกัน ลักษณะร่วมทุน แบ่งผลตอบแทนกัน ไม่มีการแข่งขัน มีแรงงานไทยมารอให้การต้อนรับ ประมาณ 50 คน

อย่างไรก็ดี แรงงานไทยส่วนใหญ่จากจำนวน 25,000 คนที่ทำงานในอิสราเอล ทำงานในโมชาฟ หรือหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรหลายราย แต่ละรายมีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และเครื่องมือทำกินของตนเอง

ที่มา: BBC Thai, 28/12/5561

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศปรับค่าจ้าง 19 อาชีพ 345-858 บาท

วันที่ 26 ธ.ค.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 8) โดยปรับปรุงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในกลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรมศิลป์ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวม 19 อาชีพ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 มีมติในวันที่ 17 ต.ค.2561 ให้ปรับปรุงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าว 19 อาชีพ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป

1.สาขาอาชีพช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท

2.สาขาอาชีพช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 560 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 650 บาท

3.สาขาอาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 858 บาท

4.สาขาอาชีพช่างเย็บ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 345 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

5.สาขาอาชีพช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 605 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 825 บาท

6.สาขาอาชีพช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 370 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 425 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

7.สาขาอาชีพช่างบุครุภัณฑ์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 355 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท

8.สาขาอาชีพช่างสีเครื่องเรือน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 495 บาท

9.สาขาอาชีพช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท

10.สาขาอาชีพช่างซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท

11.สาขาอาชีพช่างเครื่องปรับอากาศรถยนต์ขนาดเล็ก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท

12.สาขาอาชีพนักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 460 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

13.สาขาอาชีพผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 475 บาท

14.สาขาอาชีพผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท

15.สาขาอาชีพผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท

16.สาขาอาชีพพนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 350 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 380 บาท

17.สาขาอาชีพพนักงานผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 395 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท

18.สาขาอาชีพพนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 365 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 450 บาท

19.สาขาอาชีพช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 415 บาท

ที่มา: Thai PBS, 27/12/2561

อดีตพนักงาน สธ. เรียกร้องสิทธินับระยะเวลาการปฏิบัติงานตำแหน่งพนักงานของรัฐ ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ตัวแทนชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นำโดย 1.นายมานพ ผสม ประธานชมรม 2.นางสุภา อัคจันทร์ พยาบาลวิชาชีพ รองประธาน 3.นางสุไพรินทร์ พรมเจียม เภสัชกรชำนาญการ

4.นางอัจฉรา ชิณวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ 5.นางอินทิรา ทองเกษม เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน 6.นายสมศักดิ์ ขันทะกะพันธ์ แพทย์แผนไทย พร้อมด้วยตัวแทนประมาณ 18 คน เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ นายไชยนิรันดร์ พยอมแย้ม ประธานองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้ 1. ขอสิทธิในการนับระยะเวลาการปฏิบัติงานตำแหน่งพนักงานของรัฐ ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2. ขอให้มีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยา

นายไชยนิรันดร์ พยอมแย้ม กล่าวว่า ตอนนี้พนักงานของรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 24,321 คน มีแพทย์ ทัณตแพทย์ เถสัช พยาบาล นักวิชาการ เจ้าพนักงานทัณตสาธารณสุข นักการแพทย์แผนไทย ที่อยู่ประจำหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัยหรือ รพ.สต. วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่จบมาโดยสัญญานักเรียนทุน ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสัญญาก่อนเข้ามาเรียน มีเนื้อหาสำคัญคือ เมื่อจบการศึกษาทุกคนจะได้เข้ารับเป็นข้าราชการตามวิชาชีพที่ตนเองเรียน แต่เมื่อเรียนจบในปี 2543 รัฐบาลในขณะนั้นได้ ยื่นสัญญาฉบับใหม่ให้ เรียกว่า พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเงินเดือน มีค่าตอบแทนเหมือนข้าราชการ แต่ไม่นับอายุราชการ ทำให้พนักงานของรัฐเสียสิทธิ ในกองทุนบำเน็จบำนาญราชการ และในขณะนั้นมีมมติคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพขึ้นมาแทนสิทธิในกองทุนเน็จบำนาญ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้จัดตั้งกองทุนดังกล่าว ทำให้ พนักงานของรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับสิทธิ อันพึงมีพึงได้ ดังกล่าว

นายมานพ ผสม ประธานชมรมฯ กล่าวว่าตลอดเวลา 48 เดือนที่ผ่านมา ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทำลายระบบธรรมมาภิบาล และ สร้างความแตกแยก ความไม่สามัคคี ในองค์กรเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าวนี้ ทางชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ดังนี้ ขอเรียกร้องมายัง นายกรัฐมนตรี ได้โปรดคืนความยุติธรรม และความสุข ให้แก่อดีตพนักงานของรัฐฯ ทั้ง 24,321 คน ได้โปรดพิจารณาสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คืนความเป็นยุติธรรมแก่อดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ข้อคือ 1. ขอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ และ 2. ทบทวนการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ที่มา: คมชัดลึก, 24/12/2561

พนักงานฮอนด้ากระบี่เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีปิดสาขา

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ที่บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด อาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค กลุ่มพนักงานบริษัท กระบี่ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนกว่า 100 คน นำโดย นายวุฒิกุณฑ์ มดแสง ที่ปรึกษาบริษัท กระบี่ฮอนด้าฯ ได้เดินทางจาก จ.กระบี่ เพื่อมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมแก่ผู้บริหารบริษัท ฮอนด้าประเทศไทย ในกรณีบริษัท ฮอนด้า ประเทศไทย บอกเลิกสัญญาในการเป็นตัวแทนจำหน่ายบริษัท กระบี่ฮอนด้าฯ เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ให้พนักงาน 106 คนตกงาน เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายในแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายรายใหม่แทน และไม่ได้แสดงท่าทีในการให้ความช่วยเหลือพนักงานบริษัทตัวแทนเก่าแต่อย่างใด

นายวุฒิกุณฑ์ มดแสง ที่ปรึกษาบริษัท กระบี่ฮอนด้าฯ กล่าวว่า พวกตนต้องการมาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้สำนักงานใหญ่อย่าปิดสาขากระบี่แห่งนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อพนักงานถูกลอยแพทันที จำนวน 106 คน ที่ขาดรายได้และตกงาน ซึ่งพวกตนแต่ละคนทำงานที่สาขาแห่งนี้ยาวนานกว่า 12 ปี มีประสบการณ์ในการบริหารและการขายเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาได้สร้างรายได้และผลประโยชน์มหาศาลต่อฮอนด้าประเทศไทย

“วันนี้พนักงานฮอนด้ากระบี่ 106 คน เดินทางมาเพื่อขอความเป็นธรรมกับฮอนด้า ประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบพนักงาน 100 กว่าคน ที่เคยมีทำประโยชน์ให้กับฮอนด้า ประเทศไทย แทนการลอยแพแบบนี้ ซึ่งแต่ละคนมีอายุการทำงานยาวนานต้องมาเดือนร้อน ขาดรายได้ และพากันตกงานในทันที เพราะการเพิกเฉยไม่แสดงท่าทีในการรับผิดชอบหรือช่วยเหลือใดๆ ถือเป็นการเลิกธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม และขาดหลักธรรมาภิบาลขององค์กรที่ดี ” นายวุฒิกุณฑ์ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/12/2561

รมว.แรงงาน ยืนยัน รัฐบาล ออก กม.C188 ชอบธรรมแก้ปัญหาประมงยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 “บิ๊กอู๋”พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีการคัดค้านของกลุ่มชาวประมงใน 22 จังหวัดชายทะเลที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2550

ภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่า จากการประเมินสถานการณ์ได้ให้กระทรวงแรงงานตั้งกองอำนวยการร่วมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบบูรณาการกับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายกฎหมาย ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพื่อประเมินสถานการณ์สร้างการรับรู้

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้รัฐบาล

ได้ดำเนินการออกกฎหมายโดยผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ด้วยความชอบธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน เว็บไซต์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีผู้ดาวน์โหลดเอกสาร 253 ครั้ง แสดงความคิดเห็น 5 คน การประชุมรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป จำนวน 6 ครั้ง นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลไปสร้างการรับรู้ในประเด็นดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการและแรงงานประมงได้รับทราบและเข้าใจ

รวมทั้งการเชิญผู้แทนสมาคมประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลมาพูดคุยหารือที่กระทรวงแรงงานอีกด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการในการใช้แรงงานประมงได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์กับตัวแรงงานเองมากที่สุด รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานบังคับและแรงงานผิดกฎหมาย โดยไม่มีผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงการประชุมเพื่อสรุปผลการรับฟังประชาพิจารณ์ที่เกี่ยวกับอนุสัญญาฉบับที่ 188 ซึ่งได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ที่กระทรวงแรงงาน ว่า หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมากดดันคัดค้านในวันดังกล่าวอีก จะยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าวทันที เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการดำเนินการใด ๆ ภายใต้แรงกดดันจากฝูงชน ส่วนการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นทั้งหมดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 24/12/2561

สปส.พร้อมหนุนทุกกลุ่มอาชีพอิสระสมัครมาตรา 40 ผ่าน โครงการ Grab The Future

นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะการดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และมีหลักประกันชีวิต สำนักงานประกันสังคมจึงได้ดำเนินการตามนโยบายเน้นหนักและเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นประกันสังคมมาตรา 40 แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคม โดยมีเป้าหมายจำนวน 5 ล้านคน ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่เพิ่มเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีผู้ประกันตนเดิมที่อยู่ในระบบ อีกทั้งเพิ่มทางเลือกใหม่โดยให้เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง

โครงการ “Grab the Future” เปิดโอกาสให้สำนักงานประกันสังคมได้ถ่ายทอดการรับรู้การขยายความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 แก่กลุ่มอาชีพแกร็บแท็กซี่ เพื่อสื่อสารและเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบอาชีพอิสระทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการเข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคม พร้อมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของอาชีพอิสระ รวมทั้งสถาบันครอบครัวพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บแท็กซี่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ของกระทรวงแรงงาน คือ “แรงงานนอกระบบ ได้รับความคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคมนำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/12/2561

การชุมนุมประท้วงบริษัทไทยพาฝัน จ.ปราจีนฯ ยุติ นายจ้างยอมจ่าย โบนัส 1.5 แบบมีเงื่อนไข ปีต่อไปจ่ายล่วงหน้า 15 วัน

ความคืบหน้าจากกรณีพนักงานบริษัทไทยพาฝันเกือบ 600 คน ชุมนุมเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัสจากฝ่ายบริษัทฯ ตามที่นำเสนอก่อนนี้นั้น นายสุระ ว่องไพบูลย์สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า กรณีลูกจ้างบริษัท ไทย พาฝัน ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มีลูกจ้างจำนวน 664 คน ประกอบกิจการ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ พักงาน เนื่องจากไม่พอใจโบนัสประจำปี 2561

ล่าสุด มีการเจรจาร่วมกันระหว่างฝ่ายนายจ้างโดยนายจิโร ฮาราซาวา และฝ่ายลูกจ้างทั้งหมด ณ โรงอาหารของบริษัท ซึ่งสามารถตกลงกันได้โดยผลการเจรจามีรายละเอียดดังนี้ บริษัทฯ จ่ายโบนัส 1.5 เท่า โดยแบ่งจ่าย 2 ครั้ง ดังนี้ สำหรับพนักงานรายเดือน จ่าย 0.7 เท่า ในวันที่ 25/12/61 และ 0.8 เท่า ในวันที่ 10/01/62 สำหรับพนักงานรายวัน จ่าย 1.0 เท่า ในวันที่ 25/12/61 และ 0.5 เท่า ในวันที่ 10/01/62 บริษัทฯ จะแจ้งการประกาศโบนัสปีต่อไป ก่อนล่วงหน้า 15 วัน ลูกจ้างพอใจสลายการชุมนุม

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 25/12/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net