Skip to main content
sharethis

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยันยืนไม่ต่อท่ออำนาจเผด็จการ พร้อมร่วมรัฐบาลกับฝั่งประชาธิปไตย ยันยืนหลักการพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน ระบุการเลือกตั้งมีความไม่ปกติสูงทำให้พรรคได้ที่นั่งน้อยกว่าที่คาดการณ์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (แฟ้มภาพสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา)

26 มี.ค. 2562 เดอะพับลิกโพสต์ออนไลน์ รายงานว่า เวลา 10.30 น. พรรคประชาชาติร่วมแถลงท่าทีและการจับมือร่วมรัฐบาล ภายหลัง กกต.ประกาศผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคประชาชาติได้ ส.ส.เขต 6 ที่นั่ง และลุ้น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้

วันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ค่อนข้างไม่ปกติ ทาง กกต. ซึ่งไม่ค่อยมีประสบการณ์ มีข้อบกพร่องเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นไม่สามารถจะทำได้อย่างที่คาดหวังกัน ขณะเดียวกันพบว่า ข้าราชการหลายระดับรับใช้นักการเมืองบางพรรค ซึ่ง กกต.ต้องหาทางแก้ไขและชี้แจงให้ได้

วันนอร์กล่าวถึงความพึงพอใจต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่า พอใจในระดับหนึ่ง ที่ประชาชนต้านทานกระแสซื้อเสียงขายเสียงและอำนาจของรัฐที่ไปกดดัน พรรคก็ฝ่ามรสุมคลื่นนี้มาได้ 7 เสียง แต่หากถามว่าพรรคควรจะทำได้มากกว่านี้หรือไม่ ตนคิดว่าถ้าเป็นการเลือกตั้งปกติ พรรคควรจะได้มากกว่านี้

วันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงการทาบทามพรรคประชาชาติจัดตั้งรัฐบาลว่า ตนมอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี เลขาธฺการพรรค ไปพูดคุยบ้างแล้ว แต่ไม่เป็นทางการ เพราะคะแนนการเลือกตั้งที่ชัดเจนควรจะรู้ในสัปดาห์นี้ เมื่อรู้คะแนนแล้วทุกพรรคคงหารือกันได้ชัดเจน เพราะจะเริ่มเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันนอร์กล่าววว่า จุดยืนของพรรคประชาชาตินั้นวางแนวทางไว้ว่าจะยืนเคียงข้างประชาธิปไตย เคียงข้างประชาชน และคงไม่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงการสืบทอดอำนาจของเผด็จการได้

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารพรรคได้มีมติและแนวทางชัดเจนว่า พรรคประชาชาตินั้นเราจะยืนเคียงข้างประชาธิปไตย และเคียงข้างกับความต้องการของพี่น้องประชาชนของประเทศนี้ เราไม่สามารถที่จะไปเชื่อมโยงการกับสืบทอดอำนาจจากเผด็จการได้” หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าว

วันนอร์คาดการณ์ว่า สัปดาห์หน้ากระบวนการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลคงจะเห็นภาพชัดเจน แต่ปัจจัยที่ไม่ปกติจาก ส.ว. 250 เสียงที่จะเข้ามาเป็นเงื่อนไขทำให้ 500 เสียงของสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

“แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศต่อไปหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ก็เป็นการบริหารโดยสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า ไปเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยเสียงของ ส.ว. รวมกับเสียงข้างน้อยของสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนก็จะได้รัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น” วันนอร์กล่าว

สำหรับความชอบธรรมในการจัดรัฐบาล ระหว่างพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด กับ พรรคที่ได้คะแนนรวมมากที่สุด หรือที่เรียกว่า “ป๊อปปูลาร์โหวต” นั้น วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เสียงที่จะสนับสนุนบุคคลให้เป็นนายกฯ คือ ส.ส. ดังนั้น จำนวน ส.ส.ที่ได้มากจึงชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

“ความจริงกระบวนการมันก็ง่ายๆ เพราะว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใช้เสียง ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการเลือกจากประชาชนโดยตรง โดยการโหวตจากประชาชน เพราะฉะนั้นเสียงที่จะสนับสนุนรัฐบาลหรือเลือกนายกฯ คือ เสียงของสภาผู้แทนราษฎร มันเป็นการเลือกตั้ง เรียกว่าการเลือกนายกทางอ้อม เพราะฉะนั้น จำนวน ส.ส. ที่มากกว่า ถึงจะชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป

แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งนายกโดยตรง ก็ใช้ป๊อบปูล่าโหวต แบบเลือกประธานาธิบดี แบบนั้นก็ไม่ต้องมาใช้เสียงสภา เพราะประชาชนเลือกโดยใช้เสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่นี่เราใช้ตัวแทนของประชาชนคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในการบริหารประเทศ นี่คือธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของประชาธิปไตย และถ้าเอาตามกฎหมายรัธรรมนูญฉบับนี้ความจริงก็ใช้ ส.ส.เช่นกัน แต่ตัวแปรคือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” วันนอร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net