ป่าบราซิลผืนใหญ่อีกแห่งถูกถางครึ่งหนึ่งเพื่อเลี้ยงสัตว์-ปลูกถั่วเหลืองส่งตลาดโลก

ไม่เพียงแค่ผืนป่าอเมซอนเท่านั้นที่กำลังประสบภัยจากไฟป่าและการถางป่า สื่อซีเอ็นเอ็นรายงานว่า 'เซอร์ราโด' แหล่งธรรมชาติอีกแห่งในบราซิลเองก็กำลังประสบปัญหาในเรื่องพื้นที่ถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนไปทำฟาร์มปศุสัตว์และถั่วเหลืองตอบสนองความต้องการทางตลาด กระทบความหลากหลายทางชีวภาพจากการที่ผืนป่ามีพืชพรรณและสัตว์อาศัยอยู่ถึงร้อยละ 5 ของโลก

ภาพผืนป่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของเซอร์ราโด (ที่มา:วิกิพีเดีย)

24 ก.ย. 2562 ในขณะที่ความสนใจของสาธารณชนโลกต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกดึงไปมองไฟป่าในอเมซอน ป่าดิบชื้นเขตร้อนผืนใหญ่ที่สุดของโลกในบราซิล และการเรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วนทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีผืนป่าอื่นในบราซิลที่ถูกถางไปแล้วถึงครึ่งหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ผืนป่าที่ไม่ค่อยได้รับการตระหนักถึงนี้เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเมื่อภาคส่วนเศรษฐกิจไม่เอาด้วยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างที่ผู้นำโลกพยายามผลักดัน

สื่อซีเอ็นเอ็นรายงานสภาวะวิกฤตของเขตทุ่งหญ้าเซอร์ราโดในบราซิลที่เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์จำนวนร้อยละ 5 ของโลกและเป็นแหล่งสำคัญในการดูดซับคาร์บอน ซีเอ็นเอ็นระบุว่าเขตพื้นที่นี้ถูกทำลายในอัตราที่รวดเร็วกว่าป่าอเมซอน เซอร์ราโดประกอบด้วยพื้นที่ทุ่งสะวันนา ทุ่งหญ้า และเขตป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของภูมิภาคแถบนั้นโดยมีขนาดพื้นที่ 2 ล้าน ตร.กม.

เมอร์เซเดส บุสตามานเต นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งบราซิลเลียกล่าวว่าในพื้นที่เซอร์ราโดมีจำนวนประชากรนกอยู่ 837 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 120 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 150 ชนิด มีปลาอาศัยอยู่นับพัน แมลง 90,000 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 199 ชนิด

จากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่ามีสัตว์มากกว่า 4,800 ชนิดที่อาศัยอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่เซอร์ราโดเท่านั้น เช่นเสือจากัวร์ นากยักษ์ และสมเสร็จ มีพืชอีกมากกว่า 11,000 ชนิดที่พบเจอได้ในเซอร์ราโดเท่านั้น

เซอร์ราโดถูกถางป่าไปแล้วร้อยละ 50 จากคำบอกเล่าของเอเดการ์ เดอ โอลิวีรา โรซา ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของ WWF บราซิล เขาบอกอีกว่าพื้นที่ป่าในเซอร์ราโดถูกทำลายไปราว 700 ตร.กม. ต่อปี

ภาพจำลองขนาดผืนป่าเซอร์ราโด (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าป่าเซอร์ราโดถูกถางเพื่อทำเป็นแหล่งปศุสัตว์และปลูกพืชอย่างถั่วเหลืองเพื่อเอาไว้เลี้ยงปศุสัตว์หรือส่งออกไปในที่อื่นของโลก สาเหตุหนึ่งที่มีการถางป่าอย่างมากในบราซิลเป็นเพราะว่าจีนหันมาเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบถั่วเหลืองจากบราซิลในช่วงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่การเกษตรที่บูมในบราซิลก็ชวนให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งธรรมชาติที่สำคัญอย่างเซอร์ราโด

จากการวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสด้านห่วงโซอุปสงค์โลก TRASE ระบุว่า ประเทศบราซิล อาร์เจนตินาและปารากวัยผลิตถั่วเหลืองส่งออกให้โลกร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจากเดิมคือร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับศตวรรษก่อน โทบี การ์ดเนอร์ ผู้อำนวยการของ TRASE กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบราซิลขยายฐานการปลูกถั่วเหลืองในเซอร์ราโดเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งทำให้พื้นที่ป่าของเซอร์ราโดเหลือไม่มากนัก

ทั้งนี้สถานะการคุ้มครองเซอร์ราโดยังย่ำแย่กว่าป่าอเมซอนด้วยจากการที่ป่าอเมซอนมีพื้นที่คุ้มครองอยู๋ร้อยละ 50 ขณะที่เซอร์ราโดมีพื้นที่คุ้มครองอยู่เพียงร้อยละ 8 และเซอร์ราโดก็สูญเสียพื้นที่ไปแล้ว 3 เท่าเมื่อเทียบกับอเมซอน

นอกจากเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว การที่ผืนป่าเซอร์ราโดถูกทำลายยังทำให้วิกฤตโลกร้อนแย่ลงด้วย เพราะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนเพิ่มสูงขึ้น โดยพืชพรรณที่เหลือในเซอร์ราโดตอนนี้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไว้ได้ 13.7 กิกะตันเท่านั้น จากข้อมูลของกรีนพีช

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เคยเตือนว่าการถางป่าของมนุษย์จะทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของป่าลดลงได้

การ์ดเนอร์บอกว่าถึงแม้ป่าอเมซอนจะกำลังประสบปัญหาใหญ่ของตัวเองซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่โลกจับตามอง แต่ก็อยากให้รู้ว่านอกจากอเมซอนแล้วยังมีพื้นที่ระบบนิเวศน์อื่นๆ อีกที่กำลังสูญหายไปและพวกเราก็รู้เรื่องนี้เมื่อสายไปแล้ว

ความตื่นตระหนกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นทางสังคมทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการนัดเดินขบวนประท้วง 'Global Climate Strike' ทั่วโลกเพื่อรณรงค์ เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเรื่องภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ หรือที่เรียกกันคุ้นหูในชื่อ 'ภาวะโลกร้อน' มีผู้ร่วมเดินขบวนในหลายเมืองทั่วโลกหลายล้านคน ที่กรุงเทพฯ ก็มีการเดินขบวนไปที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม​ เพื่ออ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพแวดล้อม และให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนรวมถึงออกนโยบายอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

การเดินขบวน Global Climate Strike ที่กรุงเทพฯ (ที่มา:Facebook/Prachatai English)

ไล่เรียงมาจนถึงการอภิปรายบนเวทีเรื่องสิ่งแวดล้อมในงานประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติปี 2562 ที่กำลังมีขึ้นในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาของเกรธา ทุนแบร์ย เยาวชนชาวสวีเดนอายุ 16 ปีที่กลายเป็นดาวเด่นในทางสัญลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ประณามการเพิกเฉยและโป้ปดของผู้นำประเทศต่อปัญหาภาวะโลกร้อน ระบุว่าแนวคิดการแก้ปัญหาโดยอิงกับเศรษฐกิจนั้นช่างสวนทางกับความร้ายแรงของสภาวะปัญหาที่กำลังเป็นอยู่ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโดยรวมของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อันจะนำไปสู่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในแบบที่โลกฟื้นฟูตัวเองกลับมาเองไม่ได้

เรียบเรียงจาก

Greta Thunberg condemns world leaders in emotional speech at UN, The Guardian, Sep. 23, 2019

The Amazon burns. But another part of Brazil is being destroyed faster, CNN, Sep. 22, 2019

Global climate strike: Greta Thunberg and school students lead climate crisis protest – as it happened, The Guardian, Sep. 21, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท