Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ บทความวิชาการ ‘เมื่อโลกร้อนท้าทายตุลาการ’ วารสารนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน) 2566
  • บทความนี้ยังไม่ได้อัพเดทข้อมูลจำนวนสถิติการฟ้องคดีโลกร้อน ตามรายงานของ Global Climate Litigation Report: 2023 Status Review[1]

เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวที่ร้อนแรงพอๆ กับกระแสการเมืองของไทย คือประเด็นสภาวะโลกร้อนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่า “กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม” (Atlantic Meridional Overturning Circulation: AMOC) อาจล่มสลายลงภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า หากโลกยังคงร้อนอยู่เช่นนี้” ซึ่งกระแสน้ำอุ่นนี้เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิอากาศโลก ที่ช่วยควบคุมรูปแบบ (pattern) ของสภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งหากเกิดการล่มสลายจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบฤดูกาลของโลกที่จะผันผวนรุนแรงมากขึ้น[2] และต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาติ ได้กล่าวเตือนว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดแล้ว” และ “ยุคโลกเดือด global boiling เริ่มขึ้นแล้ว” แต่กระนั้น “เรายังสามารถหยุดสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้ แต่การจะหยุดได้ เราต้องเปลี่ยนปีแห่งความร้อนที่แผดเผาให้เป็นปีแห่งความตั้งใจแรงกล้า”[3] ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้ ทำให้ในทางระหว่างประเทศมีมาตรการรับมือผ่านการวางหลักการข้อตกลงร่วม กระนั้นการกดดันให้รัฐบาลของแต่ละประเทศให้มีการเตรียมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยังสามารถใช้ช่องทางกระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้รัฐบาลจำเป็นต้องปรับตัวกับสภาวะโลกร้อน

 

บทความชิ้นนี้ จึงต้องการศึกษาถึงการดำเนินคดีโลกร้อนที่เข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ว่ามีลักษณะเช่นใด และบทบาทของผู้พิพากษาที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อคดีเช่นนี้

 

หากพิจารณาเครื่องมือในเชิงนโยบายที่มีอยู่หลักๆ ที่องค์กรสหประชาชาติได้พยายามหาข้อตกลงร่วมกันคือ  อนุสัญญาสหประชาชาติว้าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่วางเป้าหมายเดียวกันของประเทศสมาชิกคือ การคงค่า (Stabilize) ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบธรรมชาติและสังคม ที่จะไม่ก่อให้เกิดการรบกวนโดยมนุษย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบภูมิอากาศของโลก พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) จนมาสู่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่วางเป้าหมายสำคัญ 3 คือ 1. หยุดยั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่าสององศาเซลเซียส และพยายามจำกัดไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม 2. เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัว และ 3. ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกิดกิจกรรมการปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก[4]

ผลจากการเกิดความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้ส่งผลให้มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 จนถึง 2022 พบว่า มีจำนวนคดีที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนมากขึ้น 2,002 คดี จำนวน 1,426 เป็นคดีในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ 576 เป็นคดี 43 ประเทศอื่นๆ หรือ 15 คดี ในศาลระหว่างประเทศหรือศาลระดับภูมิภาค หรืออนุญาโตตุลาการ[5] ขณะที่ประเทศทางในซีกโลกทางใต้ ปัจจุบัน มี 88 คดี 47 คดีในแถบละตินอเมริกา และคาริเบียน 28 คดีในเอเชียแปซิฟิค และ13 คดีในแอฟริกา[6] ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการต่อสู้คดีดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการต่อสู้คดีด้านสิ่งแวดล้อมแบบเดิมอีกต่อไป แต่หากเป็นการต่อสู้ที่พ่วงด้วยสิทธิมนุษยชนใหม่ๆ เช่น ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Healthy Environment) ความเป็นธรรมระหว่างคนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นต่อไป (Intrageneration and Intergeneration และความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) เป็นต้น ซึ่งศาลเองเป็นก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ถ่วงสมดุลให้กับสิทธิในการพัฒนาของรัฐและของเอกชนเช่นกัน

 

เมื่อโลกร้อนเข้าสู่ห้องพิจารณา

  • อะไรคือ คดีโลกร้อน?

ความหมาย “คดีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (ต่อไปจะเรียกว่า “คดีโลกร้อน”) ในทางวิชาการยังคงมีการถกเถียงการให้นิยามเกี่ยวกับศัพท์ดังกล่าวเพื่อให้มีความครอบคลุม แต่ก็ต้องสามารถแยกออกจากคดีสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปเช่นกัน ฉะนั้นจึงขอสรุปโดยภาพรวมคือ การดำเนินคดีที่คู่พิพาทต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทั้งทางตรง หรือการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เกี่ยวข้องประเด็นโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ การลดผลกระทบหรือการเตรียมรับมือจากโลกร้อน รวมถึงคดีที่ไม่นำประเด็นเกี่ยวกับโลกร้อนขึ้นโดยตรงแต่ผลของคดีมีความเกี่ยวข้องกับโลกร้อน เช่น การปรับเกณฑ์คุณภาพอากาศ การปล่อยมลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป เป็นต้น ทั้งนี้ การตั้งนิยามเกี่ยวกับการดำเนินคดีโลกร้อนจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากสามารถปรับให้เข้ากับข้อพิพาททางกฎหมายในแต่ละประเทศ และก้าวทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ฐานสิทธิการฟ้องคดีและฐานสิทธิการตัดสินคดี

โดยทั่วไปคดีโลกร้อน ผู้ที่สามารถฟ้องสามารถเป็นทั้งเอกชน บุคคล หรือองค์กร และรัฐบาล หน่วยงานของรัฐมักมีสถานะเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีมักใช้สิทธิเพื่อบังคับให้รัฐต้องดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นการใช้สิทธิตามสมควร ขณะเดียวกันผู้พิพากษาเองก็สามารถนำเอาหลักการตามกฎหมายเหล่านี้ เป็นหลักอ้างอิงและนำมาปรับใช้กับคดี และบริบทประเทศของตน เพื่อที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามหน้าที่ของตน การอ้างอิงฐานสิทธิในคดีโลกร้อน ได้แก่

1. กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือความตกลงปารีส (The Paris Agreement) ที่สามารถใช้เป็นหลักในการอ้างอิงและปรับใช้กับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้รัฐบาลมีหน้าที่ตามพันธะข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งตนได้ให้สัตยาบันหรือลงนามเข้าร่วม[7]

2. กฎหมายภายในประเทศ คือ สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายภายในประเทศที่บัญญัติรับรอง หรือนำหลักการระหว่างประเทศมาอนุวัติการในประเทศได้เสมือนเป็นกฎหมายภายในประเทศของตน ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งศาลทั่วโลกได้มีการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อมุ่งสู่การทำให้รัฐเตรียมรับมือหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[8]

3. ข้อผูกพันทางกฎหมายและนโยบาย (Statutory and Policy Commitments) รัฐบาลของแต่ละประเทศได้มีข้อพันธะผูกพันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และนโยบาย โดยรัฐบาลถูกฟ้องดำเนินคดีในศาลมากขึ้นเพราะล้มเหลวต่อการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[9]

การใช้ฐานสิทธิต่างๆ เหล่านี้เพื่อฟ้องคดี หรือตัดสินคดีย่อมขึ้นอยู่กับบริบทและเงื่อนไขการปรับใช้กฎหมายภายในประเทศของตน ซึ่งมีหลายตัวอย่างกรณีศึกษาที่มีการเชื่อมโยงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อปรับใช้กับกฎหมายที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ หรือระเบียบข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลได้ลงนามไว้

 

กรณีศึกษาคดีโลกร้อนในต่างประเทศ

ผู้เขียนได้นำกรณีศึกษาคดีโลกร้อนที่เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับโลกร้อนในหลายลักษณะที่ผู้พิพากษาในประเทศนั้นๆ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นโลกร้อนซึ่งมีตัวอย่างจากทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ผ่านกรณีศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ฐานสิทธิในการนำคดีโลกร้อนขึ้นสู่ศาล ซึ่งมีทั้งคดีที่ฟ้องร้องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อน และคดีที่มีการฟ้องร้องเพื่อให้มีการรับมือกับสภาวะโลกร้อนโดยตรง ขณะเดียวกันก็เพื่อให้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้พิพากษาในคดีเช่นนี้ ที่มีส่วนสำคัญในการวางหลักการพิจารณาคดี

  • คดี West Tower Condominium Corp v. First Philippine Industrial Corporation et al.

ในปี 2010 ศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ได้มีประกาศคำสั่งศาลสูงสุดว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมกับหลักที่เรียกว่า “a writ of kalikasan (nature)” ซึ่งเป็นหลักที่ว่าด้วยการปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีหน้าที่คล้ายกับการเยียวยาที่พิเศษ หลักการนี้จะใช้เพื่อบรรเทาจากการกระทำ หรือการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญในการที่จะรักษาสมดุลและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งนี้ การละเมิดหรือคุกคามจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีผลเสียต่อชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในเมืองหรือจังหวัด ตั้งแต่สองเมืองขึ้นไป คู่กรณีอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ เพื่อให้มีการบรรเทาอย่างรวดเร็ว โดยศาลต้องมีคำสั่งรับคำร้องภายใน 3 วันนับแต่วันที่มีการยื่นคำร้อง โดยศาลสามารถออกหมายเรียกและออกคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าออกคำสั่งเรียกหรือคำสั่งว่าจะมีการพิจารณามีขั้นตอนอย่างไร และต้องมีการไต่ส่วนมูลฟ้องและพิพากษาภายใน 60 วันนับแต่ยื่นคำร้อง โดยศาลอาจสั่งให้มีการบรรเทาเยียวยาในขอบเขตที่กว้าง รวมถึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นอกจากนี้ ศาลยังสามารถออกคำสั่งให้ใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน (the precautionary principle) โดยเฉพาะกรณีที่ขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถพิสูจน์ได้แน่นอนถึงการดำเนินการที่เป็นสาเหตุเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมของมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม [10] เงื่อนไขการใช้หลัก a writ of kalikasan กับคดีสิ่งแวดล้อม ศาลวางเงื่อนไขว่า (i) ความเสียหายในการอนุญาตนั้นมีความสมเหตุสมผล หรือมีสาเหตุที่เชื่อมโยงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือมีภัยคุมคามต่อสิ่งแวดล้อม (ii) คู่กรณี นั้นได้พยายามอย่างหนัก (หรือกำลังพยายาม) นำเรื่องเข้าสู่การเยียวยาทางปกครองทั้งหมดหรือศาลชั้นต้นแล้ว[11] เช่น ความเสียหายนั้นอาจเป็น สถานที่ที่ได้มีการยื่นใบอนุญาตเท็จหรือฉ้อฉลอย่างร้ายแรงอันส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ

และในปีเดียวกันนี้ ได้เกิดคดีท่อน้ำมันรั่วของบริษัท First Philippine Industrial Corporation et al ซึ่งถูกฟ้องร้องว่า ได้มีการวางระบบขนส่งน้ำมันความยาว 117 กิโลเมตรที่ได้มีการขนส่งเชื้อเพลิง เช่น ดีเซล น้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าด ทั่วกรุงมะนิลา และเกิดการรั่วไหลของท่อน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัย Barangays 2 แห่ง รวมทั้งคอนโดมิเนียมเวสต์ทาวเวอร์ (the West Tower Condominium) คดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดได้มีการบังคับใช้หลัก a writ of kalikasan และคำสั่งคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชั่วคราว โดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้อง (i) ดำเนินการหยุดใช้ทั่วส่งน้ำมันที่รั่วไหล (ii) ตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของโครงสร้างท่อส่ง (iii) ต้องใช้มาตรการเพื่อป้องกันเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดจากการรั่วไหล และรายงานเกี่ยวกับมาตรการเหล่านั้น

บทสรุปของคดี ศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ได้ยืนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยการสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขจนกว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการฟื้นฟู จึงจะอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถดำเนินการเปิดใช้ท่อส่งน้ำมันได้อีกครั้งภายใต้การกำกับและเงื่อนไขที่เข้มงวด คดีนี้ แม้ไม่ได้ยกประเด็นโลกร้อนเป็นสาระสำคัญของคดี แต่ผลกระทบจากน้ำมั่นรั่วไหลนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[12]

 

  • มติขอความเห็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสาธารณรัฐวานูอาตู (Vanuatu ICJ Initiative)

สืบเนื่องจากการประชุมผู้นำเกาะแปซิฟิค (the Pacific Islands) ครั้งที่ 51 ณ ฟิจิ (Fiji) เมื่อวันที่ 11-14 กรกฏาคม 2022 ได้มีลงมติในการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอความเห็นจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ว่าด้วยพันธกรณีทางกฎหมายของรัฐต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคตจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[13] การยื่นขอมติความเห็นครั้งนี้นำโดยสาธารณรัฐวานูอาตู ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญกับการเพิ่มระดับของน้ำทะเล และการเพิ่มขึ้นของพายุไซโคลน อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การยื่นมติขอความเห็นจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนี้ แม้จะไม่มีสภาพบังคับเพื่อผูกมัดกับเขตอำนาจศาลในประเทศต่างๆ ก็ตาม แต่ข้อความเห็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนี้ จะถือเป็นความเห็นของศาลอย่างเป็นทางการที่จะสามารถวางแนวทางการฟ้องคดีที่เกี่ยวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แต่ละประเทศทั่วโลก และช่วยเสริมจุดยืนให้กับประเทศกลุ่มเปราะบาง (the vulnerable countries) ให้มีอำนาจต่อรองในทางระหว่างประเทศ[14] การยื่นขอความเห็นดังกล่าวเป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังการประชุมรัฐภาคีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 27 (COP27) ที่ได้มีการตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage fund) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบาง (the Vulnerable Developing Countries) ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ สาธารณรัฐวานูอาตูได้ยื่นมติขอคำแนะนำจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในประเด็นหน้าที่ของรัฐที่ควรเคารพต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพูมิอากาศ (Request for an advisory opinion of the International Court of Justice on the obligations of States in respect of climate change) ซึ่งเป็นการกระทำในระดับระหว่างประเทศของรัฐที่เป็นสมาชิกในองค์กรสหประชาชาติสามารถกระทำการได้ตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตราที่ 96 ที่บัญญัติถึงการขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความเห็นเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับคำถามทางกฎหมายใดๆ[15] และธรรมนูญของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามมาตรา 65 ที่บัญญัติอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะให้ความเห็นแนะนำในปัญหากฎหมายใดๆ เมื่อได้รับคำขอจากบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากกฎบัตร สหประชาชาติ หรือที่ทำคำขอตามกฎบัตรสหประชาชาติ[16] โดยตั้งประเด็นคำถามว่า

“เมื่อคำนึงถึงกฎบัตรสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อตกลงปารีส อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล หน้าที่การตรวจสอบสถานะสิทธิเป็นที่ยอมรับในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหน้าที่ในการปกป้องและสงวนรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมทางทะเล,

  (a) อะไรคือหน้าที่ของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างความมั่นใจในการปกป้องระบบภูมิอากาศและส่วนอื่นๆ ของสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดกระทำของมนุษย์ สำหรับรัฐ และสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต;

  (b) อะไรคือผลทางกฎหมายภายใต้พันธกรณีของรัฐซึ่งเป็น “การกระทำและการละเว้นการกระทำ” อันเป็นสาหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อระบบสภาพภูมิอากาศ และส่วนอื่นๆ ของสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเคารพต่อ;

            (i) รัฐต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะเล็กๆ ที่เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และระดับความสามารถในการพัฒนา ที่หมายถึงการได้รับภยันตราย หรือผลกระทบพิเศษทั้งโดย หรือมีความเสี่ยงเป็นพิเศษอันเกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            (ii) ประชาชน และปัจเจกบุคคลของคนรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นอนาคตที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[17]

ภายใต้มติขอความเห็นดังกล่าว ยังปรากฏข้อเรียกร้องที่ให้ยอมรับต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ย่อมขึ้นอยู่กับการรับมือต่อสภาวะการณ์ดังกล่าวอย่างทันทีและเร่งด่วนของเรา[18]

นอกจากนี้ ยังปรากฏการให้ความสำคัญต่อกฎหมายระหว่างประเทศอื่นที่สะท้อนถึงสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล อนุสัญญาเวียนนาเพื่อการคุ้มครองชั้นโอโซน พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รวมถึงตราสารอื่นๆ หลักการที่เกี่ยวข้องและพันธรกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศรวมถึงสิ่งที่สะท้อนอยู่ในปฏิญญาของการประชุมสตอกโฮล์มว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงเรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และห่วงกังวลต่อช่องโหว่ในแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution, NDC) กับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่จำเป็นจะถูกควบคุมเพื่อควบคุมให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่า 2°C ก่อนยุคอุตสาหกรรม และเพื่อพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ที่ 1.5° C ก่อนยุคอุตสาหกรรม[19]  โดยตระหนักถึงความสามารถต่อการนำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีสไปใช้เพื่อบนฐานความเสมอภาคและหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันบนฐานของความแตกต่างและความสามารถในสถานการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เป็นต้น[20]

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มีนาคม 2023 มติขอความเห็นของประเทศวานูอาตูนี้ ได้รับคะแนนเสียงจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและสหประชาชาติ 132 ประเทศ ซึ่งมีฉันทามติรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ทำให้ในขั้นต่อไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะเริ่มกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งการรับข้อมติดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าประเทศต่างๆ ต่างตระหนักและมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสภาพอากาศ[21]

จากกรณีศึกษาทั้ง 2 ตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า บทบาทของผู้พิพากษามีความสำคัญอย่างต่อการทำให้รัฐ หรือเอกชนต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือการวางแผนรับมือต่อสภาวะโลกร้อน ผู้พิพากษากลายเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สามารทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับคำมั่นสัญญาที่ได้ลงนามไว้ ขณะเดียวกันการพิจารณาคดีเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่มีการหลักฐานที่ด้านวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานอื่นๆ ที่ในบางครั้ง ศาลจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทเชิงรุก (Active Role) เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่โจทก์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันศาลยังต้องรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ด้วยการพิจารณาถึงหยิบยกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมและปกป้องสิทธิของสิ่งแวดล้อม

กล่าวได้ว่า การดำเนินคดีโลกร้อนกลายเป็นคดีที่เชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนอย่างแยกไม่ได้ ซึ่งทำให้คดีโลกร้อนเป็นคดีที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ทั้งเชื่อมโยงกับหลักการระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หลักการตาม UNFCCC หรือความตกลงปารีส (Paris Agreement) หลักความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ความเป็นธรรมของคนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นต่อไป (Intrageneration and Intergeneration justice) และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Healthy Environment)[22] หลักการสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้พิพากษา จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เพราะไม่ว่าในเร็ววัน การพิจารณาคดีโลกร้อนก็จะมาเยือนห้องพิจารณาในสักวัน

 

 

 

อ้างอิง

 

[2] PPTVOline, หายนะสภาพอากาศโลก! ระบบ “กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม” อาจล่มสลายในปี 2025, https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/201913#.

[3] ThaiPublica, UN เตือน ‘ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว’ แต่เริ่มเข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด Global Boiling’, https://thaipublica.org/2023/07/un-chief-says-era-of-global-boiling-has-arrived/#:~:text=Sustainability%20%3E%20Global%20Issues-,UN%20เตือน%20%27ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว%27%20แต่เริ่ม,เดือด”%20หรือ%20Global%20Boiling%20แล้ว

[4] ชยา วรรธนะภูติ, ว่าด้วยชีวิตทางสังคม ชีวิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และชีวิตทางการเมืองของ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในมนุษยสมัย, “Anthropocene บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน”, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ฯ, 2564) หน้า 164-168.

[5] Setzer J. and Higham C. “Global Trends in Climate Change Litigation: 2022 Snapshot”, London: Grantham Research Institute on Climate Change and the Environment and Centre for Climate Change Economics and Policy, London School of Economics and Political Science, p 9.

[6] Ibid, p.10.

[7] Asian Development Bank, “Climate Change, Coming Soon to a Court Near You- Climate Litigation in Asia and the Pacific and Beyond”, (Access November 1, 2022), p.17.

[8] Ibid, p.27.

[9] Ibid, p 56.

[10] Ibid, p. 78

[11] Ibid, p. 79.

[12] Ibid, pp. 82-83. คดีนี้ผู้ร้องได้ขอให้ศาลตั้งกองทุนทรัสต์ (trust fund) พิเศษในกรณีที่อาจเกิดเหตุไม่สามารถคาดเดาในอนาคตได้ แต่ศาลได้ยกคำร้องดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่ากองทุนทรัสต์พิเศษตามคำขอนั้นอยู่นอกเหนือกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีสิ่งแวดล้อม เพราะการจัดตั้งกองทุนจำเป็นต้องดำเนินคดีแยกสำหรับความผิดอาญาและทางแพ่ง

[13] Vanuatu ICJ Initiative, “Vanuatu’s International Court of Justice Climate Initiative endorsed by the 51st Pacific Island Forum Leaders”, (Access 14 March, 2023), https://www.nab.vu/sites/default/files/news_attachments/Press%20Release_PIFs_endorsement_final.pdf.

[14] Climate Home News, “Vanuatu publishes draft resolution seeking climate justice at UN Court”, (Access 14 March, 2023), https://www.climatechangenews.com/2022/11/30/vanuatu-publishes-draft-resolution-seeking-climate-justice-at-un-court/.

[15] Chapter of the United Nations 1945, Article 96, https://legal.un.org/repertory/art96.shtml.

“1. The General Assembly or the Security Council may request the International Court of Justice to give an advisory opinion on any legal question.

2. Other organs of the United Nations and specialized agencies, which may at any time be so authorized by the General Assembly, may also request advisory opinions of the Court on legal question arising within the scope of their activities.”

[16] Statute of the International Court of Justice 1945, Article 65, https://www.icj-cij.org/statute.

1. The Court may give an advisory opinion on any legal question at the request of whatever body may be authorized by or in accordance with the Charter of the United Nations to make such a request.

2. Questions upon which the advisory opinion of the Court is asked shall be laid before the Court by means of a written request containing an exact statement of the question upon which an opinion is required, and accompanied by all documents likely to throw light upon the question.

[17] United Nations General Assembly 77 sesion, “Resolution adopted by the General Assembly on 29 March 2023”, A/RES/77/276, (Access 15 June 2023), https://drive.google.com/file/d/1p6U3S-u5cfTDNzJ0E-vJ0GpnjCocuj55/view

[18] Vanuatu ICJ Initiative, ICJ Resolution 77 session “Adopted Resolution”, (Access 15 June 2023), https://www.vanuatuicj.com/resolution.

[PP1] Recognizing that climate chage is an unprecedented challenge of civilizational proportions, and that the well-being of present and future generations of humankind depends on our immediate and urgent response to it.

[19] Ibid, ICJ Resolution 77 session “Adopted Resolution”.

[PP5] Recalling the United Nations Framework Convention on Climate Change, the Kyoto Protocol and the Paris Agreement, as expressions of the determination to address decisively the threat posed by climate change, urging all Parties to fully implement them, and noting with concern the significant gap both between the aggregate effect of States’ current nationally determined contributions and the emission reductions required to hold the increase in the global average temperature to well below 2°C above pre-industrial levels and to pursue efforts to limit the temperature increase to 1.5°C above pre-industrial levels, and between current levels of adaptation and levels needed to respond to the adverse effects of climate change.

[20] Ibid, ICJ Resolution 77 session “Adopted Resolution”

   [PP6] Recalling further that the United Nations Framework Convention on Climate Change and the Paris Agreement will be implemented to reflect equity and the principle of common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances,

[21] Vanuatu ICJ Initiative, ICJ Resolution 77 session “Adopted Resolution”, (Access 15 June 2023), https://www.vanuatuicj.com/resolution.

[22] เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 สมัชชาสหประชาชาติได้ลงข้อมติที่ว่า “การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชนสากล  (access to a “a clean, healthy, and sustainable environment” a human right) การยกระดับสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดียังช่วยแก้ไขความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและปกป้องคนกลุ่มเปราะบาง รวมถึงนักปกป้องสิทธิให้สามารถใช้กฎหมายนี้เป็นฐานสิทธิในการดำเนินคดีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาโลกร้อนได้เช่นกัน - UN environment programme, “In historic move, UN declares healthy environment a human right”, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566, https://www.unep.org/news-and-stories/story/historic-move-un-declares-healthy-environment-human-right.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net