วิจารณ์หนักเมื่อหน่วยงานรัฐอินโดฯ กีดกันคนท้อง-พิการ-LGBT ห้ามสมัครงาน

หลายกระทรวงในอินโดนีเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังออกประกาศรับสมัครงานในเชิงเหยียดหรือกีดกันคนหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนตั้งครรภ์ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) โดยทางการอินโดนีเซียใช้คำว่าพวกเขาต้องการ "ผู้สมัครที่เป็นคนปกติ"

ที่มาของภาพประกอบ AMANDA DEN HARTOG/THE ITHACAN

กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อผู้ตรวจการรัฐสภาของอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการที่สำนักงานอัยการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติยาวเหยียดให้ผู้สมัครเข้าทำงาน "ต้องไม่เป็นคนพิการทางจิตใจและไม่เผยให้เห็นว่ามีเพศวิถีหรือพฤติกรรมในเชิงเบี่ยงเบน"

นอกจากกรณีนี้แล้ว ผู้ตรวจการรัฐสภาซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบดูแลการทำงานของภาคส่วนราชการอินโดนีเซียยังเปิดเผยอีกว่าหน่วยงานอื่นๆ อย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพาณิชย์ก็มีลักษณะโฆษณาเปิดรับสมัครงานในแบบที่กีดกันกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ ทั้งกีดกันคนท้อง, คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

มูกรี โฆษกของสำนักงานอัยการแผ่นดินอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์ต่อจาการ์ตาโพสต์อ้างถึงสาเหตุที่มีการกีดกันในเรื่องนี้เพราะว่าพวกเขาจัดให้คนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศเป็น "อาการป่วยทางจิต" และอ้างว่าไม่ต้องการผู้รับสมัครที่พวกเขามองว่า "แปลกประหลาด" แต่ต้องการผู้ที่พวกเขามองว่า "ปกติ" เท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อจาการ์ตาโพสต์ถามมูกรีว่าการตั้งคุณสมบัติแบบนี้ถือเป็นการเหยียดหรือการกีดกันหรือไม่ มูกรีก็ไม่ตอบในเรื่องนี้

เรื่องการกีดกันนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ถึงขั้นทำให้ผู้ตรวจการรัฐสภาต้องเข้าตรวจสอบและประกาศว่าการตั้งคุณสมบัติเช่นนี้จากสำนักงานอัยการและจากกระทรวงต่างๆ ถือว่าเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติ

หนึ่งในผู้ตรวจการฯ คือ นินิก ราฮายู เปิดเผยว่าทางกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนการตั้งคุณสมบัติของผู้สมัครแล้ว แต่ทางสำนักงานอัยการยังคงมีการตั้งคุณสมบัติในลักษณะเดิม

ราฮายูยังได้วิจารณ์คำให้สัมภาษณ์ของโฆษกสำนักงานอัยการฯ ด้วยว่าเป็นถ้อยแถลงที่สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นจากข้ออ้างที่มูกรีบอกว่าต้องการรับ "คนปกติ" ราฮายูกล่าวอีกว่า "การสั่งห้ามบุคคลหนึ่งๆ ไม่ได้สมัครงานได้เพียงเพราะเขาเป็นคนข้ามเพศนั้นถือว่าเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

อาร์ซูล ซานี ส.ส.จากพรรคพีพีพีซึ่งเป็นพรรคที่มีฐานแนวคิดศาสนาอิสลามก็เรียกร้องให้มีการยกเลิกกีดกันการรับสมัครงานจากอัตลักษณ์ทางเพศเช่นกัน อาร์ซูลกล่าวว่า "พวกเขาไม่ควรกีดกันเพียงเพราะเพศวิถีของบุคคลเหล่านั้น" และยังกล่าวอีกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ชาว LGBT จะสมัครเป็นข้าราชการตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่ง

อุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการบริหารของแอมเนสตีอินโดนีเซียบอกว่าการเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานเช่นนี้ถือเป็น "การกระทำที่น่ารังเกียจ" และเรียกร้องให้มีการยกเลิกเกณฑ์คุณสมบัติในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัตินี้ทันทีเพราะขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและขัดกับข้อผูกมัดของอินโดนีเซียที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

ฮามิดกล่าวอีกว่าการกีดกันเช่นนี้ถือเป็น "นโยบายที่ตั้งอยู่บนฐานของความเกลียดชัง"

ถือแม้ว่าองค์กรต่างๆ และนักการเมืองส่วนหนึ่งจะให้ความร่วมมือในการยกเลิกการกีดกัน แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ชาว LGBT+ ในอินโดนีเซียต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งกลุ่มผู้นำศาสนาและกลุ่มกดดันที่พยายามทำให้การมีตัวตนอยู่ของพวกเขากลายเป็นอาชญากรรม เช่น ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาสภาของอินโดนีเซียก็พยายามผ่านร่างการแก้ไขกฎหมายอาญาที่จะทำให้การมีเพศสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันผิดกฎหมาย ทำให้ชาว LGBT+ และกลุ่มผู้สนับสนุนพวกเขาพากันออกมาประท้วงบนท้องถนน จากการที่มีผู้คนต่อต้านกันมากทำให้ในตอนนี้สภาอินโดนีเซียมีการเลื่อนพิจารณาการแก้ไขกฎหมายอาญาออกไปก่อน

เรียบเรียงจาก

'We just want the normal ones': AGO justifies refusal to recruit LGBT people as civil servants, The Jakarta Post, 23-11-2019

Indonesian ministries refuse to employ LGBT people as it ‘only wants the normal ones, not the odd ones’, Pink News, 23-11-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท