Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักศึกษาใส่หน้ากาก N95 รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล ทวงคืนสิทธิในการหายใจ ชี้แม้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติแต่ภาครัฐไม่มีมาตรการชัดเจนเป็นรูปธรรม เสนอรัฐส่ง sms แจ้งเตือน เพิ่มจุดตรวจค่าฝุ่น เร่งวิจัยสาเหตุฝุ่น พิจารณาผลกระทบจากอีอีซี ระยะยาวบริการขนส่งสาธารณะต้องถูกลง วางผังเมืองเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้าน 'อนุพงษ์' รมว.มหาดไทย ระบุปัญหาฝุ่นเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไหนก็มี ทุกคนต้องช่วยกัน


ภาพจากเฟสบุ๊ค Alice Kerdplanant

 

14 ม.ค.2563 ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษาบางส่วน แสดงข้อความไล่ฝุ่นพร้อมใส่หน้ากาก N95 ในกิจกรรม NotMyPM (2.5) บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ทําให้เกิดวิกฤตคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชน และแม้รัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 แต่ผ่านมาเกือบหนึ่งปี ปัญหาฝุ่นยังคงกลับมาวิกฤตซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

ตัวแทนนิสิตนักศึกษา ระบุว่า แม้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะเริ่มรุนแรงมากขึ้น แต่ภาครัฐกลับไม่มีประกาศหรือมาตรการเฝ้าระวังอย่างชัดเจน รวมถึงไม่พบการสนับสนุนเร่งด่วนที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ทันเวลา

การรวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันนี้ เพื่อแสดงพลังและเรียกร้องให้ภาครัฐและผู้มีอํานาจตอบสนองกับปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาจะยื่นข้อเสนอทั้งหมดเป็นหนังสือต่อศูนย์ร้องทุกข์นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อทวงคืนสิทธิในการหายใจ การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดี ทวงสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของทุกคนกลับคืนมาใน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทั้งหมด 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการรับมือในระยะเร่งด่วน เรียกร้องให้

ภาครัฐกระจายข้อมูลข่าวสารและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชน เตรียมพร้อมและรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างกะทันหัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งสถานการณ์ฝุ่นละอองผ่าน SMS โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์

ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ผ่านโทรทัศน์ที่ติดตั้งบนรถโดยสาร

รายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศต้องเป็นการรายงานภายในเวลา 3 ชั่วโมงย้อนหลัง ให้สอดคล้องกับระยะเวลาจริง
ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนัก ภาครัฐต้องควบคุมให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษทุกชนิดหยุดลงโดยทันที รวมถึงให้โรงเรียน สถานประกอบการ โรงงาน หยุดงานชั่วคราวจนกว่าปัญหาจะทุเลา

โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดทําบัญชีระบายมลพิษ โดยแจ้งให้ภาครัฐและเปิดเผยต่อภาคประชาชน เพื่อทราบปริมาณควันพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตอันนําไปสู่การป้องกันและดําเนินการทางนโยบายต่อไป

2. ด้านการรับมือในระยะสั้น เรียกร้องให้

รัฐบาลต้องเพิ่มจุดตรวจ PM2.5 ให้ทั่วประเทศ และมีมาตรฐานเดียวกัน

ภาครัฐต้องสนับสนุนและอุดหนุนราคาหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ฟอกอากาศ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ รวมถึงอํานวยความสะดวกประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนการทําวิจัยเพื่อหาสาเหตุของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุออกมาชัดเจนว่าสาเหตุที่แท้จริงของฝุ่นพิษเกิดจากอะไร ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

รัฐบาลดําเนินการทางการทูตในเชิงรุก กรณีปัญหาในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ เช่น กรณีไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย

รัฐบาลพิจารณาผลกระทบจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ขยายพื้นที่ อุตสาหกรรมโดยขาดการวางผังเมืองร่วมกับคนในท้องที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้นายทุนข้ามชาติตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยควันพิษที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนโดยไม่มีการตรวจสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื้อรัง

3.ด้านการรับมือในระยะยาว เรียกร้องให้

รัฐบาลออกกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง โดยร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ

ปรับมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ให้ต่ำลง อ้างอิงตามองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง รวมถึงเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ด้วย เนื่องจากประเทศไทยกําหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ดังกล่าวสูงกว่าข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลกมาก ทําให้รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอื่น ๆ ได้อย่างจริงจัง และทําให้การแสดงผลค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยผ่าน AQI มีระดับความรุนแรงที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับความเป็นจริง

ภาครัฐต้องต้องจัดบริการขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนให้คนใช้บริการรถสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

ภาครัฐต้องออกแบบและวางผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแก้ไขหรือวางผังเมืองใหม่โดยคํานึงถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงกระจายอํานาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่นและกระจายความเจริญด้านวัตถุสู่ที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานครฯ เพื่อเพิ่มอํานาจประชาชนในการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่และลดความแออัดและการกระจุกตัวของประชากร

ภาครัฐต้องควบคุมวิถีการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนอย่างเคร่งครัด และออกกฎหมายควบคุมการผลิตของภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงการผลักภาระให้ประชาชน

ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องจัดตั้งองค์กรดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอํานาจครอบคลุมทั่วถึงในการดูแลและแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด และการปฏิบัติขององค์กรต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

ขณะที่วันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขเรื่องฝุ่น ว่าขณะนี้ปริมาณฝุ่นลดลง แต่ยังมีบางจังหวัดคือ กทม.และปริมณฑลบางส่วนที่ฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้ ทุกคนทราบดี บางห้วงเวลาเราจะเกิดปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยทั้งหมดนี้เราเป็นคนทำทั้งสิ้น หากอยากให้ลดหรือไม่ให้มีฝุ่นเลยก็อย่าดำเนินการให้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกันไป ทั้งนี้ ฝุ่นถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ทุกหนแห่ง แต่ถ้าหากช่วยกันลดได้จะเป็นเรื่องดี

 

เฟสบุ๊คแฟนเพจ Smoke Watch รายงานว่า สถานการณ์จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ VIIRS ประจำวันที่่ 12 มกราคม 2563 พบว่าประเทศที่พบจุดความร้อนมากที่สุดสามลำดับแรกได้แก่ ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่า โดยมีจุดความร้อน 2102 จุด 1573 จุด และ 1446 จุดตามลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net