Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ระบุ กรณีประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลาเพื่ออุตสาหกรรมหิน ผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ แต่เป็นผู้ประกอบการทำเหมืองและนายทุนรับเหมาก่อสร้าง ด้านอุตสาหกรรม จ.ยะลายันไม่พบการทำอุตสาหกรรมรุกล้ำนอกเหนือพื้นที่ได้รับอนุญาต


ภาพจาก google.com/maps

11 มี.ค.2563 จากที่สัมพันธ์ โฆษิตพล อุตสาหกรรม จ.ยะลา ชี้แจงและให้ความเห็นเกี่ยวกับประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดลและ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ว่า ในกรณีของการประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เพื่ออุตสาหกรรมหินนั้น อยู่ในการตัดสินใจของประชาชน ว่าจะอนุรักษ์เขายะลา หรือ ยอมเสียสละเพื่ออุตสาหกรรมหิน ให้เศรษฐกิจราคาหินลดลง เนื่องจากในปัจจุบันนั้นราคาหินที่จังหวัดยะลาแพง คิวหนึ่งประมาณ 500 กว่าบาท ในขณะที่ภาคกลางหรือที่อื่นนั้น คิวหนึ่งอยู่ที่ 200 กว่าบาท ซึ่งถ้าหากประชาชนยอมสละภูเขายะลา ก็จะทำให้ราคาหินถูกลง นั้น

ขณะที่ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกจดหมายแสดงความเห็นต่อกรณีอุตสาหกรรมจังหวัดยะลาที่ชี้แจงการประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลาเพื่ออุตสาหกรรมหิน โดยเห็นว่า มุมมองดังกล่าวเป็นมุมมองที่มีทัศนคติที่แคบเกินไป ควรมองในมุมกว้างแบบภาพรวมมากกว่านี้ เพราะในความเป็นจริงผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดกลับไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ แต่เป็นผู้ประกอบการทำเหมืองและนายทุนรับเหมาก่อสร้าง

โดยรายละเอียดจดหมายเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มีดังนี้

ความเห็นต่อกรณีอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา

ชี้แจงการประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลาเพื่ออุตสาหกรรมหิน

ตามที่นายสัมพันธ์ โฆษิตพล อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ได้ออกมาชี้แจงและให้ความเห็นเกี่ยวกับประกาศ กรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ตำบลลิดลและตำบลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ว่า ในกรณีของการประกาศลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เพื่ออุตสาหกรรมหินนั้น อยู่ในการตัดสินใจ ของประชาชน ว่าจะอนุรักษ์เขายะลา หรือ ยอมเสียสละเพื่ออุตสาหกรรมหิน ให้ราคาหินลดลง เนื่องจากในปัจจุบัน นั้น ราคาหินที่จังหวัดยะลาแพง คิวหนึ่งประมาณ 500 กว่าบาท ในขณะที่ภาคกลางหรือที่อื่นนั้นคิวหนึ่งอยูที่ 200 กว่าบาท ซึ่งถ้าหากประชาชนยอมสละ ก็จะทำให้ราคาหินถูกลง ส่วนเรื่องการรุกล้ำพื้นที่เขตโบราณสถานนั้น นาย สัมพันธ์โฆษิต อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ระบุว่า การทำเหมืองนั้น จะอยู่ในการควบคุมของกรมอุตสาหกรรมและ การเหมืองแร่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอยู่ตลอดและจะไม่ปล่อยให้มีการทำเหมืองนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยทุก เดือนจะมีการทำรายงานและการตรวจสอบโดยวิศวกร ของกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่พบ การทำอุตสาหกรรมลุกล้ำนอกเหนือพื้นที่ได้รับอนุญาต นั้น

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่า มุมมองดังกล่าวเป็นมุมมองที่มีทัศนคติคับแคบเกินไป ซึ่งควร มองในมุมกว้างแบบภาพรวมมากกว่านี้ ซึ่งการอ้างว่า ต้องให้ประชาชนเสียสละเพื่อให้มีการทำเหมืองหิน อุตสาหกรรมต่อไปและจะทำให้หินมีราคาถูกลง แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดกลับไม่ใช่ ประชาชนในพื้นที่ แต่เป็นผู้ประกอบการทำเหมืองและนายทุนรับเหมาก่อสร้างที่ต้องการเกร็งกำไรในการประกอบ กิจการให้ได้มากกว่าเดิมเท่านั้น โดยการเสียสละของประชาชนต้องสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตที่สมควรได้จากสุนทรียะของหินในแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่เพียงในแง่ที่หินเหล่านั้นมีมูลค่าราคาตันละเท่าไหร่เท่านั้น ซึ่งการทำเหมืองหนึ่งๆ รวม ทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มักละเลยการคำนวนคุณค่าและผลประโยชน์ทางนิเวศวิทยา และบกพร่องในการคำนึง ถึงแรงตึงเครียดทางชีวภาพและกายภาพของพื้นที่หนึ่งๆ ที่จะต้องแบกรับจากการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาได้โดย ถ้าหากคำนึงในแง่การเสียสละของคนในพื้นที่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย และการที่คนในพื้นที่ออกมาปกป้อง อนุรักษ์และพยายามจัดการนิเวศวิทยาท้องถิ่น เนื่องจากเห็นถึงคุณประโยชน์ของการมีสุนทรียภาพและปฏิสัมพันธ์ ทางธรรมชาติในแง่มุมอื่น ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยชอบธรรม

ซึ่งความเห็นของอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราช บัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งกฎหมายแร่ไม่ได้อนุญาตหรืออนุโลมให้มีการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ในพื้นที่สงวน หวงห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้รวมทั้งไม่ได้บัญญัติให้อุตสาหกรรมจังหวัดยกเว้นการที่ต้องสำรวจ ตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ในเขตอำนาจของตัวเองว่า พื้นที่ใดควรจัดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้และพื้นที่ ใดเข้าข่ายเป็นเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องกันออกจาก การเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามกฎหมาย

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

11 มีนาคม 2563

 

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า สัมพันธ์ ชี้แจงประเด็นของการรุกล้ำพื้นที่เขตโบราณสถานว่า การทำเหมืองนั้นจะอยู่ในการควบคุมของกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอยู่ตลอดและจะไม่ปล่อยให้มีการทำเหมืองนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยทุกเดือนจะมีการทำรายงานและการตรวจสอบโดยวิศวกรของกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งถ้ามีการทำรุกล้ำไปก็จะมีความผิดชัดเจน แต่ที่ผ่านมายืนยันว่า ยังไม่พบการทำอุตสาหกรรมรุกล้ำนอกเหนือพื้นที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้นั้น มีแหล่งอุตสาหกรรมหินอยู่จำนวนทั้งสิ้น 8 จังหวัด 12 แห่ง ได้แก่ ชุมพร 1 แห่ง สุราษฎร์ธานี 4 แห่ง นครศรีธรรมราช 2 แห่ง ตรัง 1 แห่ง สตูล 1 แห่ง พัทลุง 1 แห่ง สงขลา 1 แห่ง และยะลา 1 แห่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net