Skip to main content
sharethis

เยียวยาให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งนอกระบบและภาคเกษตรกร หยุดพักการชำระหนี้ ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่ารถเมล์ ฯลฯ

22 เม.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 เม.ย.63) องค์กรแรงงาน 12 องค์กร นำโดย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ฯลฯ ออกจดหมายเปิดผนึกพร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องปรับปรุงมาตรการเยียวยาให้เป็นธรรมกับคนทำงานที่กำลังเดือดร้อน 5 ข้อต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 

ข้อ 1 ขยายการช่วยเหลือเยียวยาจากเดิมให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นงานที่จ้างตัวเอง (รวม 20 ล้านคน x 15,000/คน รวมสามแสนล้านบาท) และแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีประกันสังคม

ข้อ 2 หยุดพักการชำระหนี้ เช่น บ้าน รถ โดยงดจ่ายทั้งต้นทั้งดอกอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ข้อ 3 ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่ารถเมล์ 50% เป็นเวลา 6 เดือน ข้อ 4 สำหรับผู้ประกันตน ม.33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%  และ ข้อ 5 ยกเลิกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100%  

"ขบวนการแรงงานต้องผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการฉวยโอกาสของนายจ้าง เช่น เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง กลั่นแกล้งสหภาพแรงงาน และพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจการจ้างงานที่อาจตามมาจากนี้ แรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐจะต้องไม่ให้พวกเขาเสียสละตัวเองจนถึงขั้นล้มละลาย แต่จะต้องช่วยให้ฟื้นตัวจากวิกฤตให้รวดเร็ว" แถลงการณ์ระบุตอนท้าย

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ 

ข้อเสนอต่อรัฐบาล ขอให้ปรับปรุงมาตรการเยียวยาคนทำงานในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ต่อมารัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมจนถึง 30 เมษายน 2563 ตามมาด้วยมาตรการล็อคดาวน์ของจังหวัดต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสั่งปิดกิจการ ห้างร้าน สถานบันเทิง สถานบริการ ลดกิจกรรมสาธารณะ การเดินทาง เพื่อให้ประชาชนหยุดงานอยู่บ้าน ทำให้รายได้ของคนทำงานลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคเอกชน ได้แก่ คนหาเช้ากินค่ำ รับจ้างอิสระ คนงานในโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการเลิกจ้าง มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 140,000 รายในเดือนมีนาคม รวมจำนวนสะสม 700,000 ราย ซึ่งไม่สามารถหางานทำได้ในช่วงวิกฤตนี้

การออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบประกันสังคมของรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือคนทำงานที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง ดังกรณีเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (เมษายนถึงมิถุนายน 2563) ให้แก่แรงงานนอกระบบ เช่น คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย รับจ้างทั่วไป จำนวน 9 ล้านคน อีกทั้ง รัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัญหาการคัดกรองอย่างไม่เป็นธรรม ล่าช้า ตกหล่นเป็นจำนวนมาก และยังมีการจำกัดกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอื่นมารองรับ ซึ่งคือการจ่ายเหมาครั้งเดียวให้ครัวเรือนละ15,000 จำนวน 9 ล้านครัวเรือนที่อาจไม่เพียงพอ คนงานก่อสร้างเพราะยังทำงานอยู่ แรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานให้นายจ้างไทยไม่ให้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด ทั้งที่ความเป็นจริงมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ในการยังชีพ

ส่วนกรณีแรงงานในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน ในกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กำลังเผชิญปัญหาถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถูกสั่งหยุดงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ต้องไปขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 คนว่างงานรวมกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเองและถูกทางราชการสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจะได้รับเพียงเงินทดแทนในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม และนายจ้างผลักภาระไปให้ลูกจ้างในการจัดการปัญหา

เนื่องจากที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำหรือเงินเดือนพื้นฐานของแรงงานในสถานประกอบการอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ก่อนแล้ว จำต้องทำงานล่วงเวลาหรือหารายได้เสริมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้นอีกประมาณ 5,000-10,000 บาท ดังนั้น การทดแทนรายได้ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันจึงไม่เพียงพอ แม้จะมีการลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และพักชำระหนี้สิน แต่เป็นจำนวนน้อยเกินไป หนำซ้ำมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นที่รัฐไม่สามารถติดตามรับมือปัญหาได้ทั่วถึง

ล่าสุดรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 รวมทั้งสั่งให้กระทรวงต่างๆ คืนงบประมาณ 10% เพื่อนำไปแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 เครือข่ายแรงงานดังรายชื่อองค์กรด้านล่าง จึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอปรับปรุงมาตรการเยียวยาให้เป็นธรรมกับคนทำงานที่กำลังเดือดร้อน 5 ข้อต่อรัฐบาล ดังนี้ 

ข้อ 1 ขยายการช่วยเหลือเยียวยาจากเดิมให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นงานที่จ้างตัวเอง (รวม 20 ล้านคน x 15,000/คน รวมสามแสนล้านบาท) และแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีประกันสังคม

ข้อ 2 หยุดพักการชำระหนี้ เช่น บ้าน รถ โดยงดจ่ายทั้งต้นทั้งดอกอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ข้อ 3 ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่ารถเมล์ 50% เป็นเวลา 6 เดือน

ข้อ 4 สำหรับผู้ประกันตน ม.33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%

ข้อ 5 ยกเลิกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100%  

สุดท้ายนี้ ขบวนการแรงงานต้องผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการฉวยโอกาสของนายจ้าง เช่น เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง กลั่นแกล้งสหภาพแรงงาน และพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจการจ้างงานที่อาจตามมาจากนี้ แรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐจะต้องไม่ให้พวกเขาเสียสละตัวเองจนถึงขั้นล้มละลาย แต่จะต้องช่วยให้ฟื้นตัวจากวิกฤตให้รวดเร็ว

 

องค์กรที่สนับสนุนข้อเสนอ

  1. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทย
  2. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
  3. กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน
  4. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
  5. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
  6. สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
  7. สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย
  8. สหพันธ์แรงงานโตโยต้า
  9. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์
  10. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
  11. สมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย
  12. เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย (BWICT)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net