Skip to main content
sharethis

'Projection Bombing' ซี่รีย์ #ตามหาความจริง โผล่ตามจุดสำคัญสลายชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 ย้ำ 'คนสั่งฆ่ายังลอยนวล' ขณะที่แฮชแท็กนี้ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 โฆษกกลาโหมระบุฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามพิจารณาทางกฎหมายอยู่เพื่อตามหาผู้กระทำผิด

11 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ในเฟสบุ๊คมีผู้โพสต์และแชร์ภาพ 'Projection Bombing' ที่ชื่อว่า Photo Series #ตามหาความจริง ตามจุดสำคัญๆ ต่างๆ เช่น วัดปทุมวนาราม กระทรวงกลาโหม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรางรถไฟฟ้า ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและทหาร เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในทวิตเตอร์ #ตามหาความจริง ยังขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของประเทศไทยด้วย

ขณะที่ข่าวสดออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 กล่าว ว่า การฉายโปรเจคเตอร์ในลักษณะนี้มีหลายท้องที่ในกรุงเทพฯ สำหรับในพื้นที่ บก.น.6 นั้น ตนสั่งการให้ตำรวจโรงพักในท้องที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมข้อมูลรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงรับทราบ พร้อมสั่งการให้ออกตรวจตรา หากมีเหตุเกิดขึ้นอีกให้นำตัวผู้ก่อเหตุมาซักถาม แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่ากระทำดังกล่าวมีความผิดหรือไม่ อย่างไร เพราะต้องตรวจสอบก่อน

โฆษกกลาโหม ระบุฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามพิจารณาทางกฎหมายหาผู้กระทำผิด

ส่วนปฏิกิริยาจากกระทรวงกลาโหม มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวง กล่าวว่า ว่ายังไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้ดำเนินการว่าทำเพื่ออะไร แต่คาดว่าน่าจะทำกันเป็นขบวนการ และนำไปขยายผลเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เพื่อต้องการให้นึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต แต่ไปพาดพิงกับองค์กรและสถาบันทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับสังคม

การกระทำเช่นนี้มองว่าเป็นการแสดงออกและมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงของคนกลุ่มนั้นๆ มุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันและองค์กร ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามพิจารณาทางกฎหมายอยู่เพื่อตามหาผู้กระทำผิด และก็คงจะไม่ยากเกินไป

พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีกล้องวงจรปิดอยู่ สามารถตรวจสอบเหตุการณ์ได้ ทั้งนี้ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการแสดงออกสามารถทำได้แต่ไม่ควรยั่วยุ ทำให้สังคมแตกแยก ต้องย้อนถามกลุ่มที่ดำเนินการว่ามีวัตถุประสงค์อะไร ขณะนี้ขอพิจารณาในข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างต่อผู้ที่ดำเนินการดังกล่าว เพราะกระทำต่อที่สาธารณะ และอาจทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเข้าใจผิด ก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรนั้นได้

ที่ว่า 'คนสั่งฆ่ายังลอยนวล' คือ

สำหรับความไม่คืบหน้าของคดีแม้เวลาจะผ่านมา 10 ปี นั้น ในกลุ่มคดีไต่สวนการเสียชีวิตศาลชี้ 18 ศพกระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่เห็นได้ชัดว่าคดีสะดุดหลังรัฐประหาร ส่วนคดีฟ้องเอาผิดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่ามีความผิด “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 นั้น ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องสำนวนคดีที่อัยการฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาลเห็นว่า ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดยระบุว่าอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้คำร้องตกไป  แต่ก็ระบุว่าได้มีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ให้ดีเอสไอดำเนินการต่อ การกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และพลเอกอนุพงษ์กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

หรือแม้แต่ พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่วัดปทุมวนาราม 19 พ.ค.53 เองได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันนั้น (19 พ.ค.2553)ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น วันที่ 3 พ.ค.2562 พะเยาว์เปิดเผยว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยอัยการให้เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคลที่ระบุว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net