Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงพระโขนงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฉีกบัตรประชามติ ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยช์ลดเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี เพราะศาลเห็นว่าก่อให้เกิดความวุ่นวายและอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

วันนี้ (21 ก.ค.63) ศาลจังหวัดพระโขนง มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ปิยะรัฐ จงเทพ (โตโต้) จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ถูกฟ้องเป็นคดีจากการที่ปิยรัฐฉีกบัตรออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่หน่วยออกเสียงประชามติเขตบางนา โดยจิรวัฒน์และทรงธรรมได้ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก

ซ้ายมาขวา : ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ปิยะรัฐ จงเทพ (โตโต้) และจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์

ทั้งนี้ส่วนของปิยรัฐ อัยการฟ้องด้วย 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายเอกสารผู้อื่น ในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 358 และข้อหาทำลายบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 รวมทั้งต่อมาได้แจ้งเพิ่มเติมในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ส่วนจำเลยอีกสองคนอัยการฟ้องด้วยข้อหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสามคนตามศาลอุทธรณ์ เนื่องจากฏีกาของฝ่ายจำเลยฝั่งไม่ขึ้นเพราะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในหน่วยลงคะแนนและจงใจทำให้สาธารณชนเห็น อาจทำให้เกิดการเลียนแบบได้ จึงให้ลงโทษปิยรัฐฐานทำลายบัตรออกเสียงและก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษในข้อหาก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 60(9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ส่วนจำเลยอีกสองคนลงโทษตามฐานความผิดฐานเดียวกัน

ศาลให้ทั้งสามคนมีโทษจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 4 เดือนปรับ 4,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี

ศูนย์ทนายความฯ ได้ลงข้อต่อสู้ของจำเลยในการยื่นฎีกาเอาไว้ว่าการกระทำของปิยรัฐไม่เข้าข่ายเป็นการทำลายบัตรเนื่องจากเป็นเพียงบัตรที่ยังไม่ถูกกาลงคะแนนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลการออกเสียงประชามติ และก็ไม่ได้ก่อความวุ่นวายเนื่องจากทำไปโดยไม่มีอาวุธและเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐเท่านั้นซึ่งเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสงบตามวิถีทางประชาธิปไตย และการออกเสียงประชามติก็ยังดำเนินต่อไปได้โดยไม่ได้ถูกรบกวนจากการกระทำของจำเลย

ส่วนข้อต่อสู้ของของจำเลยอีกสองคนคือพวกเขาทั้งสามคนไม่ได้นัดกันมาก่อน จิรวัฒน์และทรงธรรมก็ไม่ได้เข้าไปสนับสนุนการกระทำของปิยรัฐหรือเข้าขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เพียงแต่บันทึกภาพเหตุการณ์อยู่นอกหน่วยออกเสียงเท่านั้น

ปิยรัฐ ให้สัมภาษณ์ ฝ่ายจำเลยเป็นคนยื่นฎีกาเองเนื่องจากเห็นว่าการกระทำของเราไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่ศาลก็ยังเห็นว่าเป็นการกระทำที่เผยแพร่ออกไปในทางสาธารณะ แม้ว่าจะไม่ได้เกิดความวุ่นวายในหน่วยแต่ก็ทำให้ประชาชนที่รับสารตื่นตระหนก ศาลก็เลยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ในส่วนของศาลก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ส่วนตัวแล้วก็ยืนยันว่าเราไม่ได้ก่อความวุ่นวาย แต่ศาลตัดสินมาแบบนั้นแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ยอมรับการตัดสิน แต่ก็ไม่ได้เกินคาดหมายเพราะตามแนวทางการดำเนินคดีมาแบบนี้เราก็คาดเอาไว้แต่ต้นอยู่แล้ว

ปิยรัฐกล่าวว่าตอนนี้ไม่ได้มีข้อกังวลหรือห่วงอะไร เนื่องจากเท่าที่ปรึกษากับนักกฎหมายแล้ว การพิพากษาของที่ให้รอลงอาญาโทษจำคุก 1 ปี จะต้องเป็นการลงโทษในฐานความผิดเดิม คือต้องเป็นการกระทำความผิดที่มีอยู่ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ การที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่มีพ.ร.บ.ประชามติฯ มาบังคับใช้ก็ไม่อาจนำมาซึ่งการลงโทษได้ในความผิดฐานเดียวกันนี้

ในขณะนี้ปิยรัฐยังเหลือคดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาลอีก 2 คดี ได้แก่ คดีกลุ่มแกนนำคนอยากเลือกตั้งที่ธรรมศาสตร์-สหประชาชาติ (UN62) และวิ่งไล่ลุงที่กาฬสินธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net