สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 ส.ค. 2563

เผยมีตำแหน่งงานกว่า 4 หมื่นอัตรา พื้นที่ EEC หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับประชาชนทั่วประเทศ และจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม จึงมอบหมายให้กรมการจัดหางาน เร่งหามาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการจ้างงาน โดยเตรียมตำแหน่งงานว่าง กว่า 40,000 อัตรา พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน

โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ  แรงงานทั่วไป 12,706 อัตรา 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา 3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา 7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 609 อัตรา 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี , ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี , ยาง , พลาสติก, โพลิเมอร์, สี , กระดาษ , น้ำมัน , เส้นใย , อาหารและเครื่องดื่ม)  จำนวน 604 อัตรา และ 10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา นอกจากนี้ ยังมีช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่น ๆ, แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ, ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า , เป็นต้น) อีก  9,770 อัตรา

โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป ทั้งนี้จากความต้องการแรงงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเรียนในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก และสายงานเหล่านี้ยังสามารถอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต ดังนั้น เพื่อรองรับต่อภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหากหันมาเลือกเรียนในสายอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และไม่ตกงาน อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินมาตรการให้แรงงานไทยได้บรรจุงาน มีงานทำ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะแรงงาน ด้วย เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อมารองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อไป

ที่มา: TNN, 15/8/2563

กต.-สธ.แจงมาตรการดูแลคนไทยในต่างประเทศช่วงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ข้อมูลคนไทยในต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคนนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าไปดูแลคนไทยอย่างใกล้ชิดผ่านการเยี่ยมเยียน การแจกถุงยังชีพ หรือแม้แต่การพูดคุยผ่านออนไลน์ มีการประสานเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นในการช่วยดูแลคนไทยที่เจ็บป่วย หรือติดเชื้อโควิด รวมทั้งประสานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยในการให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์ด้วย

"หากประเทศไหนที่ขาดแคลน เราได้จัดส่งอาหาร เวชภัณฑ์ ตลอดจนสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพไปให้คนไทยในประเทศนั้น รวมทั้งประสานกับแพทย์ไทย และ รพ.เอกชน ในการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ ส่วนคนไทยที่ติดเชื้อโควิด ทางสถานทูตและสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ ได้ติดตามดูแลการรักษา จัดส่งอุปกรณ์การดูแลที่จำเป็น โดยคำนึงถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดของประเทศนั้นๆ" นายเชิดเกียรติระบุ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 4 เม.ย.63 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศได้มีการติดต่อประสานงานเพื่อนำคนไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้ว 69,764 คน จากทั้งหมด 97 ประเทศ แบ่งเป็น ทางอากาศ 45,941 คน ทางบก 22,854 คน และทางน้ำ 969 คน และเฉพาะในเดือนส.ค.นี้ มีคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับ 14,080 คน ซึ่งได้ทยอยเดินทางกลับมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า การนำคนไทยกลับเข้าประเทศจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ผู้ป่วย กลุ่มเยาวชน โดยได้มีการคัดกรองมาตรการความพร้อมด้านสาธารณสุขในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการนำคนไทยกลับมาได้เพิ่มโควตาเป็นวันละ 600 คน จากเดิมวันละ 200 คน แต่ยืนยันว่าการเพิ่มโควตาดังกล่าวนี้ ได้คำนึงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขและความพร้อมรองรับผู้ที่จะเข้ามาพักในสถานที่กักตัวของรัฐ (State Quarantine) เป็นอย่างดีแล้ว

สำหรับสถิติคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.63 กระทรวงการต่างประเทศได้ออกเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศแล้วประมาณ 5,700 คน ซึ่งเป็น 11 กลุ่มบุคคลที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งของ ศบค.ที่ 8/2563 ซึ่งเมื่อคนต่างชาติเดินทางมาถึงไทยแล้ว จะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขภายในประเทศอย่างเคร่งครัด

"นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด กระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์และมาตรการของประเทศต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับคนไทย และได้มีการออกประกาศให้คำแนะนำตามสื่อต่างๆ ขณะเดียวกันได้ขอให้คนไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการของประเทศนั้นๆ อย่างเคร่งครัด หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อได้ที่สายด่วน กรมการกงสุล โทรศัพท์ 02-572-8442 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" นายเชิดเกียรติระบุ

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่คนไทยในต่างประเทศว่า กรมการแพทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลคนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ โดยมีทั้งคนป่วย คนตกงาน คนที่เอกสารไม่ครบ เป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งเที่ยวบินไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี การที่คนไทยตกค้างจะเดินทางกลับเข้าประเทศได้นั้น ต้องมีเอกสารสำคัญครบถ้วน โดยเอกสารที่จำเป็นมาก คือ ใบรับรองแพทย์จากประเทศต้นทางว่าสามารถเดินทางทางอากาศได้ (fit-to-fly) รวมทั้งเอกสารรับรองจากสถานทูตของประเทศต้นทาง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนที่ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข คือ การจัดเตรียมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉิน/โรคติดเชื้อ และโรคปอด จาก รพ.และสถาบันสังกัดกรมการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 ทีม การประสานการช่วยเหลือผ่านสถานกงสุลและสถานทูต มีการจัดระบบให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์และกรุ๊ปไลน์ รวมทั้งเตรียมการในระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อต้องอยู่ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงว่า ต้องติดตามสถานการณ์ในประเทศนั้นอย่างใกล้ชิด หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรเดินทางออกนอกที่พัก แต่ถ้าจำเป็นต้องออกนอกที่พักต้องไม่ลืมที่จะป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน พกเจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่าง โดยเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วควรจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโควิดได้

ส่วนความกังวลกรณีคนไทยกลับจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพักใน State Quarantine จะมีโอกาสเข้ามาแพร่เชื้อให้คนในประเทศนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีคนไทยที่กลับจากประเทศเมื่อเดินทางมาถึงไทยจะต้องถูกแยกตัวไปเข้าพักใน State Quarantine อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งหากตรวจไม่พบเชื้อก็จะสามารถกลับบ้านได้ แต่กรณีที่ตรวจพบเชื้อจะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ให้ครบ 14 วัน และหลังจากที่รักษาตัวหายแล้วเมื่อกลับบ้านไปจะต้องกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) ต่ออีกอย่างน้อย 14 วัน

พร้อมย้ำว่า กรณีผู้ป่วยแม้ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังมีอาการอยู่ แพทย์จะให้รักษาตัวต่อใน รพ.จนกว่าจะไม่มีอาการถึงให้กลับบ้านได้ ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าข้อมูลจนถึงปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำ หลังจากที่หายดีและเดินทางกลับบ้านแล้ว ที่ตรวจเจอเป็นเพียงอาการของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่เท่านั้น แต่หากมีอาการคล้ายโควิด-19 แพทย์จะขอให้แยกออกมากักตัวที่ รพ.เพื่อสังเกตและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/8/2563

สถานประกอบการลำพูน หยุดชั่วคราว/เลิกจ้าง จำนวน 163 แห่ง กระทบลูกจ้าง 40,235 คน

13 มิ.ย. 2563 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน(สนง.กนอ.จ.ลำพูน) หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายณรงค์ อ่อนสะอาด พร้อมด้วย พลโท อำพล ชูประทุม สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ลงพื้นที่พบประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นปัญหาการจ้างงาน และ แผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ร่วมกับจังหวัดลำพูน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด และสถานประกอบการในการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (กนอ.) ร่วมต้อนรับ

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวสรุปสถานการณ์แรงงานของจังหวัดลำพูน ว่า จังหวัดลำพูนมีผู้อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 ปี ขึ้นไป) จำนวนมากกว่า 3 แสนคน มีจำนวนผู้ว่างงาน 4,538 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.78 มีสถานประกอบการ 2,476 แห่ง ลูกจ้างรวมทั้งสิ้น 78,529 คน โดยเป็นสถานประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน เป็นส่วนใหญ่

สำหรับสถานการณ์แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นสถานประกอบกิจการหยุดชั่วคราว/เลิกจ้าง จำนวน 163 แห่ง ลูกจ้าง 40,235 คน, เป็นการหยุดชั่วคราวตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน จำนวน 21 แห่ง ลูกจ้าง 269 คน, หยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 119 แห่ง ลูกจ้าง 38,778 คน และเลิกจ้าง จำนวน 18 แห่ง ลูกจ้าง 1,074 คน

โดยนายจ้าง/สถานประกอบการมีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในการหยุดกิจการชั่วคราวหรือเลิกจ้าง สำหรับหยุดกิจการชั่วคราวส่วนใหญ่กลับเข้าทำงานที่เดิม ส่วนสถานประกอบการที่เลิกจ้างเป็นสถานประกอบการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องประดับ เจียระไนเพชร ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากแก้ว ผลิตภัณฑ์หลอดอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องโลหะทั่วไป สาเหตุเนื่องจากผลกระทบจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าลดลง

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือนั้น ให้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ลาออก และถูกเลิกจ้างงาน จำนวนทั้งสิ้น 22,643 คน เป็นเงิน -88,620,217.60 บาท รวมไปถึงจัดให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานรูปแบบใหม่ ตลอดจนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดลำพูนได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและแรงงานตามมาตรการของรัฐบาล รวมไปถึงมีการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานในรูปแบบใหม่ (New Normal) การฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลอดจนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอีกด้วย

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 13/8/2563

จ๊อบไทย เผยความต้องการแรงงานครึ่งปีแรก โควิด-19 ทำธุรกิจลดการจ้างงานสูงสุด 75% สายงานแพทย์/สาธารณสุข เนื้อหอมสุดในช่วงโควิด-19

กรุงเทพฯ 13 ส.ค. 2563 – จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ อันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งให้บริการเข้าสู่ปีที่ 20 เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม พบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกรวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา (เป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน) ซึ่งมีการเปิดรับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 124,629 อัตรา แต่ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนการจ้างงานลดลง 16.5% เทียบกับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนด้านผู้ใช้งาน หางาน สมัครงาน มีการใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน เติบโตขึ้น 7.5% ซึ่งมีการสมัครงาน 8,876,727 ครั้ง เติบโตขึ้น 31.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมตลาดแรงงาน จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ดังนี้

· 5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1. อาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะปรับตัวลดลง (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ประเภทธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

2. บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด ธุรกิจบริการด้านระบบ ธุรกิจบริการฝึกอบรม

3. ก่อสร้าง 41,353 อัตรา SCB EIC ได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4. ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในห้าอันดับแรกที่ต้องการแรงงานมากแต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

5. ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน

· 5 ประเภทธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานน้อยที่สุด

1. ธุรกิจท่องเที่ยว 1,690 อัตรา การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรงหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่มีประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการแรงงานในธุรกิจนี้ลดลงถึง 65.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

2. ธุรกิจความบันเทิง 2,075 อัตรา เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรค โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก รวมถึง การถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ โฆษณา

3. ธุรกิจกระดาษ/เครื่องเขียน 2,200 อัตรา ธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์มีความต้องการลดลง ส่วนธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แม้มีความต้องการใช้เติบโตขึ้น แต่โดยภาพรวมจะเห็นว่าธุรกิจนี้อยู่ในกลุ่มที่มีความความต้องการแรงงานน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม

4. ธุรกิจโรงแรม/Resort/Spa/สนามกอล์ฟ 2,820 อัตรา จากมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่กลุ่มนี้ ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างงานลดมากที่สุด โดยลดลงถึง 75.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

5. ธุรกิจอัญมณี/เครื่องประดับ 3,092 อัตรา การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวลดลง เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองธุรกิจที่สภาอุตสาหกรรมประเมินว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก

· 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง ขาย คิดเป็น 19.9% อันดับสอง ช่างเทคนิค คิดเป็น 10.3% อันดับสาม ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.9% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 5.8% อันดับห้า ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 5.7%

· 5 สายงานที่คนสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 12.7% อันดับสอง ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับสาม ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 9.1% อันดับสี่ งานบุคคล/ฝึกอบรม คิดเป็น 6.2% อันดับห้า ขนส่ง-คลังสินค้า คิดเป็น 6.1%

· 5 สายงานยอดนิยมที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด คือ นำเข้า-ส่งออก มีการแข่งขันอยู่ที่ 10.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสอง บุคคล/ฝึกอบรม โดยมีการแข่งขันอยู่ที่ 9.9 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสาม เลขานุการ การแข่งขันอยู่ที่ 9.4 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสี่ วิทยาศาสตร์/วิจัย การแข่งขันอยู่ที่ 8.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับห้า วิเคราะห์/เศรษฐศาสตร์ การแข่งขันอยู่ที่ 7.2 คน ต่อ 1 อัตรา

· 5 นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด อันดับหนึ่ง นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง 3,374 อัตรา อันดับสอง นิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี 3,140 อัตรา อันดับสาม นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 2,789 อัตรา อันดับสี่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา 2,339 อัตรา อันดับห้า เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 2,264 อัตรา

· 5 องค์กรที่มีอัตราการเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อันดับสี่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด อันดับห้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

· 5 องค์กรที่มีคนสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อันดับสี่ กลุ่มบริษัทเครือเบทาโกร จำกัด อันดับห้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับอนาคต สำหรับสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่ มีดังนี้

· 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีมากที่สุด อันดับหนึ่ง ขาย คิดเป็น 23.3% อันดับสอง บริการ คิดเป็น 11.8% อันดับสาม ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 9.0% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 7.2% อันดับห้า ช่างเทคนิค คิดเป็น 7.1%

· 5 สายงานที่นักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 15.8% อันดับสอง วิศวกร คิดเป็น 10.3% อันดับสาม ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับสี่ ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 8.0% อันดับห้า บริการ คิดเป็น 7.1%

เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ช่วงก่อนการระบาดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีแนวโน้มการจ้างงานที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเดือนมกราคม มีอัตราการเปิดรับ 119,122 เพิ่มขึ้น 8.7% จากธันวาคม 2562 และเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราการเปิดรับ 124,629 เพิ่มขึ้น 4.6% จากมกราคม 2563 โควิด-19 เริ่มมีการระบาดมากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน รวมทั้งมีการออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทำให้หลายสถานประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว ตลอดทั้งการประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ความต้องการแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมีนาคม มีอัตราการเปิดรับ 112,220 ลดลง 10.0% จากกุมภาพันธ์ 2563 และลดลงหนักสุดในช่วงเดือนเมษายน มีอัตราการเปิดรับ 91,382 ซึ่งลดลง 18.6% จากมีนาคม 2563 ส่วนเดือนพฤษภาคม อัตราที่เปิดรับ 86,966 ลดลง 4.8% จากเมษายน 2563 เดือนมิถุนายน อัตราที่เปิดรับ 90,347 เพิ่มขึ้น 3.9% จากพฤษภาคม 2563

· 5 ประเภทธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 อันดับหนึ่ง ธุรกิจโรงแรม ลดลง 75.7% อันดับสอง ธุรกิจท่องเที่ยว ลดลง 65.8% อันดับหนึ่งและสองเป็นผลกระทบโดยตรงการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรง อันดับสาม ธุรกิจที่ปรึกษา ลดลง 38.9% อันดับสี่ ธุรกิจสิ่งทอ ลดลง 37.9% อันดับห้า ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ลดลง 36.6%

· 5 ประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 พบว่า อันดับหนึ่ง ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม รับเพิ่ม 38.7% อันดับสอง ธุรกิจพลังงาน รับเพิ่ม 0.3% อันดับสาม ธุรกิจคอมพิวเตอร์/ไอที ลดลง 5.2% อันดับสี่ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์/เครื่องใช้ในบ้าน ลดลง 9.0% อันดับห้า ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 9.4%

หากแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนระบาดหนัก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ (มีนาคม-เมษายน) และ ช่วงคลายล็อกดาวน์ (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ มีสายงานเดียวที่เปิดรับคนเพิ่มขึ้น คือ แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนช่วงคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดรับ Freelance เพิ่มขึ้น 36.4%

นางสาวแสงเดือน กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ คนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคนี้ สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไปคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราดูสถิติช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พบว่า สายอาชีพที่มีแน้วโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ Freelance, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข สำหรับการหางาน สมัครงานในจ๊อบไทยมีการเติบโตขึ้นมาก ซึ่งจ๊อบไทยได้ออกฟีเจอร์การค้นหางานที่ให้ทำงานที่บ้านได้ (Work from Home) และค้นหางานที่เปิดรับสัมภาษณ์ออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและคนหางานด้วย

อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลของจ๊อบไทยยังมีตำแหน่งงานจากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ สำหรับผู้ที่ต้องการหางาน สมัครงาน สามารถใช้งานได้ที่ www.jobthai.com หรือดาวน์โหลด JobThai Application ทั้งในระบบ iOS, Android และ HUAWEI AppGallery

ที่มา: JobThai, 13/8/2563

คาดคนถูกเลิกจ้าง 10,000-50,000 คน เปลี่ยนมาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ศูนย์ได้ประเมินว่าในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปลดคนงาน 1-2 ล้านคน เพราะโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ยาแรง ด้วยการใช้งบอย่างน้อย 400,000-600,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ งบขาดดุลงบประมาณ งบค้างท่อ เพื่อพยุงไม่ให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือปลดคนงาน

สำหรับผู้ที่ทยอยถูกเลิกจ้างงาน หรือกลุ่มที่รายได้จากอาชีพอิสระลดลง คาดว่ามี 10,000-50,000 คน ได้เปลี่ยนมาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) มากขึ้น เห็นได้จากความต้องการสลากต่องวดสูงถึง 200 ล้านฉบับ แต่สำนักงานสลากพิมพ์ขายให้ตัวแทน 160,000 คนประมาณ 100 ล้านฉบับ ส่งผลให้ผู้ที่ตกงานต้องมารับซื้อสลากจากผู้ที่ได้โควตาในราคาแพง หรือเกือบ 80 บาทต่อใบแล้ว ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 90-100 บาทต่อใบ จากราคาที่สำนักงานสลากกำหนดที่ไม่เกิน 80 บาทต่อใบ

“ผมทราบว่าผู้ตกงาน คนขับวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ หันมาหารายได้เสริมจากการขายลอตเตอรี่จำนวนมาก เพราะหากไปขายสินค้าตามตลาดก็ยากมาก ซึ่งผลของจำนวนผู้ขายมีมาก ทำให้ความต้องการสลากสูงขึ้น และเป็นเหตุให้ราคาแพง แต่ผู้ค้าหลายรายเจ๊ง เพราะในระยะหลัง บางงวดขายไม่หมด จึงเป็นที่มาของการรื้อโควตาสลากใหม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายชื่อและตัดสิทธิ์นายหน้าที่ได้โควตาด้วย”

ทั้งนี้ จากการสอบถามเอสเอ็มอีพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ต้องการปลดพนักงาน หากสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 500,000 ล้านบาทได้ จึงเป็นหน้าที่ของทีมเศรษฐกิจที่จะหามาตรการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ หรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม เพื่อทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีมากขึ้น หากรวมกับมาตรการที่เข้มข้นและการปล่อยซอฟต์โลน อาจทำให้แรงงานไม่ตกงานถึง 2 ล้านคนได้ และยังต้องการให้รัฐบาลแก้กฎหมายให้สามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้จากปัจจุบันบังคับจ้างงานรายวัน

ที่มา: ไทยรัฐ, 13/8/2563

แรงงานไทยจากอุซเบกิสถาน 95 คน กลับถึงไทยแล้ว

13 ส.ค. 2563 แรงงานไทยในอุซเบกิสถาน 95 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เดินทางกลับถึงประเทศไทย ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 04.00 นาฬิกา โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้ เดินทางไปทำงานที่อุซเบกิสถาน กับบริษัทเอกชน ผ่านการคัดเลือกจัดหางานอย่างถูกต้อง โดยเดินทางไปทำงานภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือน มิถุนายน ถึง กรกฎาคมปีที่ผ่านมา กระทั่งครบกำหนดนายจ้างไม่สามารถจัดส่งคนหางานกลับได้ เนื่องจากรัฐบาลของอุซเบกิสถานออกกฎห้ามคนในประเทศออกนอกราชอาณาจักรถึงวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาและรวมถึงห้ามสายการบินพาณิชย์บินเข้าประเทศ เนื่องจากปัญหาการแรพ่ระบาดโรคโควิด 19 ทำให้แรงงานไทยโพสต์ข้อความเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานในอุซเบกิสถานกลุ่มนี้ตรวจสอบมีสถานะสมาชิกกองทุนคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ การช่วยเหลือจะเป็นไปตามเงื่อนไข กลุ่มแรกคนงานที่ทำงานครบสัญญาจ้างแล้ว 70 คน จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนฯ

ในกรณีสมาชิกฯ ประสบปัญหาในต่างประเทศรอการส่งกลับประเทศไทย ให้จ่ายเป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นแก่สมาชิกกองทุนระหว่างที่อยู่ในต่างประเทศ โดยให้จ่ายตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท และกลุ่มที่ 2 คนงานที่ทำงานยังไม่ครบสัญญาจ้าง จำนวน 24 คน จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนฯ ในกรณีสมาชิกฯ ประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนฯ เนื่องจากเกิดโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้วให้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนรายละ 15,000 บาท

นางเธียรรัตน์ ฝากถึงแรงงานหากต้องไปทำงานต่างประเทศควรสมัครเป็นสมาชิกกองทุน เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่า และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนอกจากนี้แรงงานไทยทุกคนจะต้องเข้าพักที่สถานที่กักตัวตามสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังระยะการฟักตัวของโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ที่มา: Thai PBS, 13/8/2563

ก.แรงงาน เตือน นศ.จบปริญญาใหม่ 5 แสนคน เสี่ยงตกงานถาวรจากโควิด-19

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนกังวลสถานการณ์ว่างงานในประเทศ โดยเฉพาะการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 493,875 คน อาจจะเข้าสู่การว่างงานแบบถาวร เพราะการจ้างงานในประเทศน้อยลง จนส่งผลให้ตลาดแรงงานไม่พอรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ เพราะนายจ้างมีปริมาณงานลดลง ปิดกิจการ ลดขนาดองค์กร สถานประกอบการหลายแห่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากเต็มเวลา เป็นการจ้างงานแบบ Part-time ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปรับงานอิสระที่สามารถกำหนดเวลาการทำงานได้เป็นบางช่วงเวลา งาน Part-time จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

ซึ่งขณะนี้ได้รับแจ้งตำแหน่งงาน 2,396 อัตรา อาทิ งานด้านการผลิต งานจัดส่งสินค้า เจ้าหน้าที่เก็บเงิน แคชเชียร์ พนักงานขายทอดตลาด เจ้าหน้าที่สินเชื่อ เจ้าหน้าที่การเงิน สนใจสมัครได้ที่เว็บไซต์ http://smartjob.doe.go.th หรือสมัครที่อาคาร 3 ชั้น หน้ากระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 12/8/2563

มอเตอร์ไซค์ส่งของแกร็บประท้วง ยื่น 5 ข้อขอความเป็นธรรม

10 ส.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรี กทม. กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ส่งของบริษัทแกร็บ แท็กซี่ กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บริหารบริษัทแกร็บแท็กซี่ประเทศไทย จำกัด โดยข้อเรียกร้องประกอบด้วย

1.เรื่องการข้ามเขตที่ระบบบังคับให้เปิดงานหมดทุกสาย ทำให้ต้องตีรถไป-กลับแบบสิ้นเปลืองน้ำมัน และเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับแต่บริษัทไม่รับผิดชอบและไม่จ่ายค่าปรับให้ บางครั้งเกิดการพิพาทกับวินมอเตอร์ไซค์พื้นที่จนถูกทำร้าย

2.การใช้ประเป๋าในสายงาน Express มีปัญหาและความปลอดภัยของผู้ใช้ เพราะบางครั้งขนาดสินค้าของลูกค้าไม่สามารถใส่กระเป๋าได้ และกระเป๋าบางรุ่นไม่สามารถพับเก็บได้

3.การคุ้มครองเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ แม้บริษัทฯมีประกันแต่ข้อจำกัดเรื่องความคุ้มครองเพราะคุ้มครองในช่วงเวลาที่กดรับงานเท่านั้น มิใช่คุ้มครองตั้งแต่เปิดรองาน และบริษัทประกันจะจ่ายให้เมื่อใช้ พรบ.รถครบวงเงิน

4.ในส่วนของ GrabFood มีปัญหาเรื่องการรับงานควบคู่(Batch) หากรับงาน 2-3 แห่งและส่ง 2-3 ที่ ถ้าเป็นร้านเดียวกันจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ระบบมักจ่ายงานในจุดที่อยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร บางครั้งอยู่กันคนละเส้นทาง ทำให้เสียเวลาและลูกค้าไม่พอใจในบริการเพราะต้องรอนาน

5.การระงับผู้ใช้โดยไม่เป็นธรรมจากรายงานของ Call Center ซึ่ง Call Center ควรมี 24 ชั่วโมง การระงับใดๆควรมีการไต่สวน สอบสวนความจริงจาก Parner

“สิ่งที่พวกเราได้เรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้มีปัญหาว่าสายงาน GrabFood จะมารับคน แต่เราอยากให้บริษัทและตัว Parner คำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมในการสวมเครื่องแบบและอุปกรณ์ที่เป็นโลโก้ของบริษัทฯ เมื่อเผชิญกับคิวมอเตอร์ไซค์หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ขนส่ง อย่างชัดเจนจะมีผลบกระทบต่อร่างกายและเงินทอง เช่น โดนทำร้ายและโดนค่าปรับ 2,000 บาท” ในหนังสือระบุ

ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ, 10/8/2563

ก.แรงงาน โอนเงินกองทุนช่วยแรงงานไทยในกรุงเบรุต พร้อมแจ้งหลีกเลี่ยงบริเวณการประท้วง

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเพิ่มเติมจากนาวาตรีวิทวัส กู้ประเสริฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ซึ่งดูแลแรงงานไทยในประเทศเลบานอน ถึงความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุระเบิดอย่างรุนแรงในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา สนร.ริยาดได้ดำเนินการโอนเงินกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศไปยัง นางสาวสิริอร ศรีวิรุฒ อาสาสมัครแรงงานกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เพื่อมอบให้แก่สมาชิกกองทุนฯ จำนวน 13 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากแรงงานไทยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้างและรอการเดินทางกลับประเทศไทยซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด – 19 แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากรอเที่ยวบินพิเศษ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้วยังได้รับความเสียหายและบาดเจ็บจากการระเบิดครั้งใหญ่

โดยสมาชิกที่ได้รับเงินจากกองทุนฯ พร้อมใจกันแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อไปจัดซื้ออาหารแห้งไปแจกจ่ายให้แก่แรงงานไทยที่มิได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อเป็นการแบ่งปันในยามฉุกเฉิน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ จัดทำถุงยังชีพเพื่อมอบให้แก่คนไทยและแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ทั่วถึงทุกคน

อย่างไรก็ดี สนร.ริยาด ยังรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีที่พักอาศัยของแรงงานไทยที่ได้รับความเสียหายนั้น เพื่อนแรงงานไทยได้ช่วยกันซ่อมแซมเพื่อเป็นการชั่วคราว และจัดหาวัสดุเท่าที่ทำได้ อีกทั้งบางรายยังได้ช่วยสถานประกอบการนายจ้างชาวเลบานอนอีกด้วย ทั้งนี้ จากการที่ชาวเลบานอนได้ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล เพื่อให้ประธานาธิบดี มิเชล โออุน และนายกรัฐมนตรี นายฮาสซาน ดีรับ ลาออกและมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บริเวณหน้ามัสยิด โมฮัมหมัด อัลอามิน ย่าน มาร์ทริส สแคว์ กรุงเบรุต นั้น สนร.ริยาด ได้แจ้งแก่แรงงานไทยทุกคนในกรุงเบรุตให้หลีกเลี่ยงในบริเวณดังกล่าวแล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/8/2563

ปล่อยกู้รายละ 1 หมื่น ให้ 'คนพิการ' ประกอบอาชีพสู้โควิด-19

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เผย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ พก. จึงออกมาตรการการเยียวยาคนพิการ โดยให้สามารถกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อประกอบอาชีพ ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระภายใน 5 ปี และปลอดชำระหนี้ในปีแรก

โดยสามารถยื่นกู้ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ พก. http://www.dep.go.th/ และศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

ที่มา: คลื่นข่าววิทยุ FM 100.5 MCOT News Network, 9/8/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท