Skip to main content
sharethis

19 ส.ค. 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าพรรคก้าวไกลจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 1 ซึ่งเป็นหมวดทั่วไป และหมวดที่ 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยยืนยันว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เพียงแต่สงวนความคิดเห็นไว้ ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องรับฟังความเห็น ส่วนประเด็นนี้จะทำให้คนอีกกลุ่มเกิดความไม่สบายใจหรือไม่ ย้ำว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 255 ได้กำหนดขอบเขตการแก้ไขไว้อยู่แล้ว น่าจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าการแก้ไขจะอยู่ในกรอบนี้

“เมื่อมีการชุมนุมของนักศึกษา ประชาชนข้างนอกก็กังวล และเรียกร้องให้สังคมมีวุฒิภาวะในการรับฟังพวกเขา จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็แล้วแต่ แต่ควรจะฟังและเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เรากังวลว่าถ้าไปล็อกไว้แบบนี้ จะยิ่งทำให้สังคมลดวุฒิภาวะในการรับฟังกันมากขึ้น และจะทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง” ชัยธวัช กล่าว

ชัยธวัช กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และฝ่ายค้านได้ยื่นแล้ว แต่ก็ได้สงวนสาระสำคัญบางส่วนและจะเข้าร่วมอภิปรายในสภาฯ ส่วนแนวทางของพรรคนั้น จะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยกเลิก มาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว.เพราะเป็นกล่องดวงใจในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ให้ ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้ง มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าพรรคอาจมีเพียง 54 เสียง ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 5 ของ ส.ส คือ 98 เสียง ดังนั้นจึงต้องขอเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีการหารือกันในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) หากสุดท้ายไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอ ก็จะเดินหน้าร่วมกับประชาชน 50,000 รายชื่อยื่นแก้ไขเข้าสู่สภาฯ

ชัยธวัช กล่าวด้วยว่า มีความเป็นห่วงว่าการอ้างถึงการก้าวล่วงสถาบันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ส่งผลดีต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ และที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2549 และวันนี้ยังมีความพยายามหยิบยกประเด็นนี้มาขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการตั้ง ส.ส.ร. และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง และหากปราบปรามผู้ชุมนุมขณะนี้ จะยิ่งทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน ดังนั้นทางออกของการเมือง คือ มี ส.ส.ร.ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อหาจุดสมดุลร่วมกัน สร้างระบบการเมืองให้เป็นที่ยอมรับ

วันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพร้อมสมาชิกพรรคแถลงว่า พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรมนูญ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรองตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขต้องไม่กระทบหมวด 1 และ หมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย

“ขอเสนอให้ ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน ต้องมีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรมนูญทุกชั้นตอนและทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยที่จะให้ยุบสภาฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน “ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสนับสนุนการกระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น มากที่สุด ต้องสร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาค การประกอบอาชีพของประชาชน การประกอบธุรกิของภาคเอกชน โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวกและเปิดกว้างการประกอบอาชีพ ให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

“รัฐต้องลดอำนาจการควบคุมที่เป็นลักษณะการสกัดกั้นและสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนมีความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพสุจริต ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่สนับสนุนการคุกคามผู้เห็นต่างทุกกรณี ทั้งการคุกคามโดยอำนาจ อาวุธ การคุกคามทางสังคมต่อผู้เห็นต่าง พรรคภูมิใจไทย เห็นว่าการให้พื้นที่ผู้เห็นต่าง การรับฟังความเห็นต่าง เป็นลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ด้านภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ผู้ร่วมลงชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีสมาชิก 61 คน จำเป็นต้องหาสมาชิกที่มีความคิดเห็นและมีแนวทางเดียวกันกับพรรคคือจะแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสงส.ร. ดังนั้น สมาชิกอีก 40 คนที่เหลือ หากใครมีแนวทางเดียวกัน สามารถร่วมเสนอกับพรรคภูมิใจไทยได้ ส่วนจะเป็นเมื่อใด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้ร่างของพรรค แล้วจะรีบรวบรวมรายชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาต่อไป

ขณะที่พัชรินทร์ ซําศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ มีมติเห็นชอบยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยแนวทางจะแก้ไขบางหมวด พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนหมวดอื่น ๆ ต้องพิจารณากันอีกครั้ง

พัชรินทร์ กล่าวถึงการพิจารณาโครงสร้างของ ส.ส.ร. ว่า ทางพรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงาน โดยในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐได้ส่งตัวแทน 3 คน คือ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานคณะทำงาน , ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นคณะทำงาน

พัชรินทร์ กล่าวยืนยันว่า ข้อเรียกร้องถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ซึ่งพร้อมจะเร่งดำเนินการผ่านกลไกสภานิติบัญญัติและไม่มีการประวิงเวลา แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน บนพื้นฐานของความเสมอภาคของคนไทยทุกกลุ่ม

ขณะที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตอบคำถามของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ระหว่างเข้าชี้แจงรายละเอียดงบประมาณของกองทัพบกต่อ กมธ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ถึงความคิดต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้พูดกับผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอว่าเราเป็นทหารที่มีประชาธิปไตย เราต้องคิดใหม่ ต้องค่อย ๆเปลี่ยนวัฒนธรรมของเรา ยืนยันไม่คิดจะเป็นศัตรูกับประชาชน เพราะทหารถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง และเมื่อเรากลับไปบ้านก็เจอกับครอบครัวที่เป็นประชาชน จึงทำให้เข้าใจถึงความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในถึงภายนอก แม้จะมีบางครั้งอาจจะมีวาทะหรือคำพูดบางอย่างออกไป ถือเป็นบทบาทหน้าที่ แต่ในฐานะประชาชนและข้าราชการ ไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกลไกทางการเมืองที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเสนอผ่านกระบวนการตามกฎหมาย    

“ผู้บัญชาการเหล่าทัพหารือกันว่าเราถูกตั้งเป็น ส.ว. เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เราต้องคุยกันว่าไม่ควรรับเงินเดือน 2 ทาง ในฐานะข้าราชการประจำเพราะเป็นคำสั่ง นอกจากไม่รับยังคืนเงิน และยังชักเนื้อ 1,000-2,000 บาทเก็บเข้าสวัสดิการ ส.ว.ด้วย ในฐานะประชาชนและข้าราชการ เราก็ยินดี ไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองท่านก็พูดออกมาเอง ท่านก็ยินดีตามกระบวนการ จะตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา ผมเรียนให้ท่านกรรมาธิการทราบ เมื่อถามมาในฐานะส่วนตัว ผมก็ตอบส่วนตัวแบบนี้” ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้หมวด 1บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะทำให้เกิดปัญหาในภาพรวมหรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องหารือกันก่อน พรรคพลังประชารัฐกำลังประชุมว่าจะแก้ไขเรื่องใดบ้าง ตนไม่เห็นด้วยหากจะแก้ไขหมวด 1 และหมวด2 เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องดูรายละเอียดก่อน

ต่อข้อถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้ามั่นใจในเสียงส.ส.ที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีส.ว.เพื่อร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันอยู่

ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับญัตติ แต่เมื่อได้ตรวจสอบว่าได้มีการขีดฆ่าชื่อออกไปจำนวน 21 รายชื่อจาก ส.ส.พรรคก้าวไกล ดังนั้นจึงต้องให้ ส.ส. ดังกล่าวมายืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีความประสงค์ถอนชื่อออกไป ซึ่งทาง ส.ส.พรรคก้าวไกลจะมาดำเนินการภายในวันนี้ ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้าน จะต้องมาทำหนังสือยืนยันอีกครั้ง ว่ารายชื่อที่เหลือจำนวน 153 รายชื่อ ยืนยันจะยังเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำนวน 153 รายชื่อนั้นเพียงพอต่อการยื่นญัตติ

นพ.สุกิจ กล่าวว่า หากกระบวนการทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ ซึ่งประธานสภาฯ ได้กำหนดให้มีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 28 ส.ค. นี้ โดยจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อจากร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด 3 ฉบับ

ที่มาจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net