Skip to main content
sharethis

อนุทิน เปิดข้อมูล 4 ปี “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตุ มีสิทธิทุกที่” ดูแลผู้ป่วยทุกสิทธิเข้าถึงการรักษาเร่งด่วน 7.6 หมื่นครั้ง รวมยอดเบิกจ่ายค่ารักษา 1.87 พันล้านบาท ระบุเป็นนโยบายประชาชนได้ประโยชน์ ย้ำรัฐบาลยืนยันสนับสนุนต่อเนื่อง ด้าน หมอศักดิ์ชัย เผย สปสช. ร่วมหนุนนโยบายตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมเผยข้อมูลระบบบัตรทอง 4 ปี ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 4.9 หมื่นครั้ง   

14 ธ.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า บริการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้เห็นชอบเรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 โดยบอร์ด สปสช.ร่วมผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมาตรการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาในยามฉุกเฉินวิกฤตได้ ทั้งกรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ ณ จุดเกิดเหตุที่สุดได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีเรื่องค่ารักษาที่เป็นอุปสรรค โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่สนับสนุนจัดทำระบบข้อมูลและการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาพยาบาล UCEP ให้กับประชาชนทุกสิทธิการรักษา ได้แก่ สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม กรุงเทพมหานคร ข้าราชการท้องถิ่น และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมถึงสิทธิอื่น    

ทั้งนี้จากข้อมูลการเข้ารับบริการ UCEP และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ภาพรวม 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 – กันยายน 2563 พบว่า ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทุกสิทธิการรักษาเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 75,946 ครั้ง โดยปี 2560 (1 เม.ย. – 30 ก.ย. 60) เป็นจำนวนรับบริการ 2,693 ครั้ง ปี 2561 จำนวน 21,217 ครั้ง ปี 2562 จำนวน 27,177 ครั้ง และปี 2563 (1 ต.ค. 2562 – 28 ก.ย. 63) จำนวน 24,859 ครั้ง ขณะที่ภาพรวมการจ่ายค่าบริการ UCEP ทั้ง 4 ปี อยู่ที่จำนวน 1,867.01 ล้านบาท โดยแยกเป็นการจ่ายค่าบริการรายปี ปี 2560 จำนวน 60.66 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 487.75 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 660.44 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 658.16 ล้านบาท นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงวิกฤตที่ประชาชนได้รับการดูแล 

“ในช่วงเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง การรักษาพยาบาลในภาวะเร่งด่วนถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดอัตราความพิการและเสียชีวิตลงได้ และจากข้อมูลการดำเนินนโยบาย UCEP นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาล จึงนับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ยังประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันให้สนับสนุนนโยบายนี้ต่อไปเพื่อประชาชนทุกคน” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว       

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล UCEP เฉพาะในระบบบัตรทอง ภาพรวมตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 – กันยายน 2563 มีผู้ป่วยบัตรทองเข้ารับบริการ UCEP ทั้งสิ้นจำนวน 48,802 ครั้ง โดยปี 2560 (1 เม.ย. – 30 ก.ย. 60) มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 1,868 ครั้ง ปี 2561 จำนวน 13,631 ครั้ง ปี 2562 จำนวน 17,323 ครั้ง และปี 2563 จำนวน 15,980 ครั้ง ทั้งนี้เป็นจำนวนการจ่ายค่าบริการ UCEP ในระบบบัตรทองทั้งสิ้น 1,186.05 ล้านบาท ในจำนวนนี้แยกเป็นค่าบริการในปี 2560 จำนวน 40.23 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 316.11 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 422.12 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 407.58 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อดูข้อมูลการรับบริการโดยแบ่งตามเขตพื้นที่หน่วยบริการประจำ ภาพรวมในช่วง 4 ปี พื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร มีจำนวนการรับบริการ UCEP มากที่สุด จำนวน 14,151 ครั้ง และ 3 เขตรองลงมา คือ เขต 6 ระยอง จำนวน 6,742 ครั้ง เขต 4 สระบุรี จำนวน 4,537 ครั้ง และเขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 3,738 ครั้ง 

“ในส่วนของ สปสช. ได้สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ (EMCO) ที่ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และต่อมาได้มีการพัฒนาทั้งในส่วนหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าบริการ และความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน จนสู่โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ที่ทำให้เกิดผลดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างที่ปรากฏนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net