Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน เผยเตรียมแก้ กม.ประกันสังคม นำเงินชราภาพช่วยแรงงานสู้โควิด อาจเข้า ครม.เดือน ก.ย. 2564

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณากระทู้สดของ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ถามนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถึงการเยียวยาผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ว่า กระทรวงแรงงานได้ดูแลนายจ้างและลูกจ้างอย่างไร  โดยบอร์ดการแพทย์สำนักงานประกันสังคมให้โรงพยาบาลเอกชนในเครือช่วยผู้ประกอบการ ตรวจคัดกรองในโรงงาน เพื่อลดการเคลื่อน้องแก่ย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้ตลาดการค้าต่างประเทศ ชื่นชมมาตรการดูแลของรัฐบาลไทย ทำให้ผู้รับสินค้าปลายทางมั่นใจว่าสินค้าปลอดภัย  โดยที่จ.สมุทรสาคร ตั้งเป้าตรวจให้ผู้ใช้แรงงาน 1 แสนคน จากจำนวนที่มี 2 แสนคน ทั้งนี้มีเงินให้นายจ้างกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้กู้ยืม โดยล่าสุดนั้น นายจ้างกู้เงินในส่วนดังกล่าวแล้ว 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยนายจ้างไม่ให้ลดคนงาน อีกทั้งยังลดส่งเงินสมทบเข้าระบบ

รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อ 15-21 ม.ค.มีแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง จำนวน 1 แสนคน และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง จำนวน 7,000 คน เป็นประเด็นที่วิเคราะห์ เบื้องต้นในส่วนของแรงงานหลักแสนคนนั้น เป็นแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยก่อนโควิด-19 ระบาด และที่เข้ามาทีหลัง คาดว่าจะอยู่ที่หลักหมื่นคน อย่างไรก็ตามในประเด็นการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบ ตนมองว่าไม่ถูกต้องที่จะนำภาษีของประชาชนจ่ายให้ ดังนั้นจึงต้องทำประกันสุขภาพ ราคา 3,200 บาท และหากแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ครบ 3 เดือน จะสามารถขอคืนเงินทำประกันสุขภาพได้ ขณะที่ค่าตรวจโรคนั้น ตามที่ได้เอ็มโอยู จะมีค่าใช้จ่ายที่ 2,300 บาท

น.ส.อนุสรี  กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้นำเงินบำนาญชราภาพออกมาช่วยเหลือก่อนเป็นไปได้หรือไม่ นายสุชาติ กล่าว่า ตนได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณานำเงินชราภาพ ออกมาใช้ 30% แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งพยายามแก้ไขให้โดยเร็วที่สุด หากสามารถแก้ไขได้ จะนำมาแก้ไข 3 เรื่อง ให้กองทุนชราภาพ สามารถค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ใช้ระบบบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน ซึ่งวิธีดังกล่าว ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจเข้าสู่ครม. ประมาณเดือนก.ย.นอกจากนั้นได้หารือกับสมาชิกวุฒิสภานอกรอบเพื่อพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว และได้มีการตีความและนำเสนอให้กฤษฎีกาตีความ เพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวช่วยเหลือประชาชน

ที่มา: สยามรัฐ, 22/1/2564

ธนาคารโลกแนะออกมาตรการอุ้มแรงงาน

ในการเปิดตัวรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย” (Thailand Economic) ฉบับใหม่ ภายใต้หัวข้อ Restoring Incomes : Recovering Jobs นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในระยะสั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเร่งด่วนกับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงช่วยเหลือทางการเงิน ในช่วงที่แรงงานยังไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงาน รวมไปถึงควรจัดให้มีการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆให้กับแรงงานในการใช้ประกอบอาชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ระยะยาวรัฐบาลควรเพิ่มผลิตภาพประเทศ ทำให้สังคมไทยสามารถเข้าสู่สังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งการเพิ่มทักษะให้กลุ่มคน ขยายระยะเวลาการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุให้ยาวนานขึ้น รวมถึงเพิ่มให้สตรีเข้ามามีบทบาทในแรงงานมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างของแรงงานลง

ทั้งนี้หากดูการออกมาตรการด้านการเงิน และการคลังของไทยที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ระดับสูงที่ระดับ 13% ของจีดีพี ซึ่งสูงหากเทียบกับหลายประเทศ โดยเฉพาะจากการคลังที่มีการใช้เม็ดเงินในการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจถึง 6% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา ดังนั้นในระยะข้างหน้า มองว่าภาคการคลังยังมีีพื้นที่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมได้

“ที่ผ่านมา เรามองว่าภาคการคลังมีการใช้นโยบายการควบคุม การเยียวยาได้ระดับที่ดี ซึ่งหากรวมด้านการเงินด้วยสูงถึง 13% และการทำนโยบายการคลังก็สามารถรักษาเสถียรภาพด้านการคลังได้ค่อนข้างดี อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่หากดูงบประมาณที่อนุมัติปัจจุบันถือว่ายังเบิกจ่ายไม่สูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเบิกจ่ายต่ำเป้า ดังนั้นการที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน เป็นไปได้ว่าการใช้วงเงินอาจจะล้าช้า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการคลัง ถือว่าอยู่ในภาวะที่ท้าทาย”

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ปีนี้คาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก ซึ่งภาครัฐน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดี ทำให้ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่ยอมรับว่าจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/1/2564

กทม.ประสานกระทรวงแรงงานตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีกระทรวงมหาดไทย (มท.) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งด่านคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นย้ำให้ทุกด่านใช้ระบบคัดกรอง BKK COVID-19 และแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนายจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในความดูแล โดยขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง ไม่เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ เพื่อให้สามารถสืบค้นและคัดกรองได้ อีกทั้งยังได้ประสานกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยสำรวจตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ จัดระบบแรงงานทุกประเภทให้เรียบร้อย รวมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวให้ดูแลแรงงานและจัดระบบความปลอดภัยด้านสาธารณสุขตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากพบแรงงานต่างด้าวหลบหนีให้จัดสถานที่ควบคุมดูแลให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 21/1/2564

หมอลำบุกขอความชัดเจนการจัดการแสดงถูกเลิกจ้างงานเพราะโควิด

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนหลายอาชีพได้รับความเดือดร้อนถูกเลิกจ้างงานนั้น20 มกราคม 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นางสาวจงถนอม สืบสิงห์ นักร้องอิสระ พร้อมตัวแทนหมอลำ นักดนตรี แดนซ์เซอร์ ผู้ประกอบการเวทีเครื่องเสียง และรถแห่ กว่า 10 ราย ทำหนังสือร้องเรียน และขอความช่วยเหลือพร้อมหาแนวทางแก้ไขผ่อนปรนให้จัดกิจกรรมมหรสพสมโภช เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าภาพที่จัดงานขอยกเลิกสัญญาการจ้างงานและขอเงินมัดจำคืน ไม่สามารถจัดงานได้ ส่งผลทำให้ไม่มีรายได้ในการดูแลครอบครัว โดยได้ร้องเรียนพร้อมทั้งยื่นต่อนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมอบหมายให้นายวชิระ อักษร เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม เป็นตัวแทน รับหนังสือ

จากการสอบถามนางสาวภัชฎาพร โทวันนัง หมอลำซิ่ง ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่ากลุ่มที่มารวมตัวกันวันนี้เป็นกลุ่มศิลปินขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีสมาชิก 20-30 คนเท่านั้น ที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการศิลปินที่มีทั้งหมอลำ นักร้อง นักดนตรี แดนซ์เซอร์ ผู้กอบการเวทีเครื่องเสียง ผู้ประกอบการรถแห่ ต่างได้รับความเดินร้อนจากสถานการณ์โควิด 19 เนื่องจากทางผู้จัดจ้างรวมที่เกิดขึ้นระลอกใหม่นี้อย่างหนัก ขาดรายได้จากการแสดง เนื่องจากเจ้าภาพที่จ้างงานขอยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน เพราะในหลายพื้นที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ให้จัดการแสดง โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงต้องการสอบถามความชัดเจน พร้อมทั้งขอความเห็นใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่อนปรนข้อบังคับ เพราะแต่ละคนต่างได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างไม่มีรายได้ดูแลครอบครัว "ต้องการความชัดเจน เพราะจากการติดตามสถานการณ์ พบว่าการจัดงานนั้นไม่ได้ใช้ดุลยพินิจไปในทิศทางเดียวกัน เพราะบางสถานที่จัดได้ บางสถานที่ไม่ให้จัด ทางเจ้าภาพที่จ้างงานเองบอกว่าหน่วยงานที่ดลไม่ให้จัดงาน ส่งผลให้ถูกยกเลิกการจ้างงานไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นไม่ให้จัดงาน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการมาโดยตลอด และเท่าที่ทราบนั้น ทางจังหวัดไม่ได้มีคำสั่งห้ามจัดงานแต่เป็นการขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ละอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหมอลำจึงรวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอความชัดเจนจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในการจัดงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้กลุ่มศิลปินแขนงต่างๆได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว" นางสาวภัชฎาพร กล่าว

ทางกลุ่มอาชีพทุกคนต้องการให้ทางจังหวัดระบุมาตรฐานในการให้จัดการแสดงภายใต้มาตรการป้องกันโรค ซึ่งทุกคนพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพียงแค่ขอให้มีงานทำ มีรายได้บ้าง เพราะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และที่ผ่านมาทางกลุ่มของเรามีการปฏิบัติตามที่ทางราชการบอกอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจคัดกรองคนในวง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ขอแค่ให้ทุกคนได้มีงานได้มีรายได้ ทุกคนพร้อมทำตามอย่างเข้มงวด เพราะงานของกลุ่มพวกเราไม่ได้มีจัดทุกวันมีแค่เป็นช่วงตามประเพณีเท่านั้น

ที่มา: Nation TV, 20/1/2564

สธ.ห่วงโควิดกระจายไปกับ พนง.ส่งของออนไลน์ แนะผู้ประกอบการตรวจคัดกรองเข้มงวด-คนงานในคลังสินค้าสวมแมสก์ตลอดเวลา

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลายคนทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือพยามออกจากบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่ระบาดของเชื้อ จึงนิยมหันมาสั่งของออนไลน์ ซึ่งต้องมีการรับ-ส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์กันมากขึ้น

กรมอนามัยจึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า โดยให้มีการคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อทุกวัน หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ให้หยุดงานและพบแพทย์ทันที รวมถึงให้ปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ทำงาน จัดให้จุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับพนักงานให้เพียงพอ กำหนดระยะห่างระหว่างปฏิบัติงาน อย่างน้อย 1 เมตร

ทำความสะอาดจุดที่ต้องสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ จำกัดคนที่เข้ามาในสถานที่ โดยอาจจัดบริเวณ ที่รับ-ส่งของเฉพาะ พร้อมทั้งบันทึกผู้เข้ามาในสถานที่ทุกคน และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่คลังสินค้า และพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยให้ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากคนอื่นในระยะ 1 เมตร เมื่อไอหรือจามให้ไอใส่กระดาษทิชชู หากไม่มีให้พับข้อศอกเข้าหาตัวแล้วไอ หลังจากนั้นให้ล้างมือทันที

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้รับของ เมื่อสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์มาส่งผู้รับควร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย จากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮออล์ภายหลังรับและเปิดสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่กล่องบรรจุภัณฑ์แต่ควรนำกล่องไปทิ้งให้เรียบร้อยทันที

“สำหรับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี (Delivery) ที่ต้องส่งให้กับผู้ซื้อที่บ้านให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าขอให้ห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น

ส่วนผู้สั่งซื้ออาหาร หรือผู้บริโภคหลังจากรับอาหารให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน จะช่วยให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโควิด–19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: TNN, 20/1/2564

สหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ หวั่นสภาพการจ้างเปลี่ยนหลังเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัทฯ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายมนัส โกศล พรัอมด้วยนายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือจากนายบรรจง บุญชื่น ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ประเทศไทย และคณะ เพื่อขอความช่วยเหลือ กรณี บริษัท ฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ (ประเทศไทย)จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ ห้องประชุม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยมีการโอนหุ้นให้กับบริษัท มีเดียกรุ๊ป จำกัด ทำให้ลูกจ้างมีความกังวลใจว่า ผู้ถือหุ้นรายใหม่ จะรักษาสภาพการจ้างของลูกจ้างหลังการโอนหุ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะขอใช้สิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม โดยขอใช้สิทธิลาออกก่อนเกษียณอายุที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ แต่หากบริษัทฯ ให้คำรับรองการรักษาสภาพการจ้างตามข้อตกลง ลูกจ้างก็ประสงค์ทำงานต่อไป ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะได้นัดหมายบริษัทฮิตาชิฯ บริษัทมีเดีย กรุ๊ป จำกัด และ สหภาพแรงงาน ร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 18/1/2564

เผย 'แอร์เอเชีย' ขยายเวลาให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ต่ออีก 4 เดือน

รายงานข่าวจาก บริษัท เอเชีย เอวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทย แอร์เอเชีย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมบริษัทฯ มีมติให้บริษัทฯ ดำเนินมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายองค์กรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการเดินทางลดลง โดยมีมติให้ บริษัทฯขอความร่วมมือให้ พนักงาน เข้าร่วมโครงการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave Without pay) เป็นระยะเวลา 4 เดือน คือตั้งแต่ ก.พ. - พ.ค. 2564

โดยแบ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.กลุ่มพนักงานที่เข้าโครงการต่อเนื่องจากช่วงปี 2563 ซึ่งบริษัทขอความร่วมมือให้หยุดงาน ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือน มี.ค. 2564 ได้ขอให้ขยายระยะเวลาการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างต่อออกไปอีกจนถึงเดือน พ.ค. 2564

2.กลุ่มพนักงานที่ปัจจุบันยังทำงานอยู่ มอบหมายให้หัวหน้างานทำการคัดเลือกพนักงานให้เข้าร่วมโครงการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. –พ.ค. 2564

“หากบริษัทดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะส่งผลให้สายการบินมีจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานเหลือเพียง 25% ของทั้งบริษัท ซึ่งมาตรการขอความร่วมมือให้มีการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างนั้น เป็นมาตรการที่สายการบิน ต้องการที่จะรักษาพนักงานและองค์กรไว้ให้สามารถเดินต่อไปได้ในช่วงวิกฤติ โดยไม่ต้องมีการปลดพนักงาน”

ที่มา: ข่าวสด, 19/1/2564

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน-องค์กรภาคี จี้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาแรงงาน 5 พัน ต่อเนื่อง 3 เดือน ร้องยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเปิดให้ชุมนุม

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เรียกร้องมาตรการเยียวยาในกลุ่มแรงงานจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มีความชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุม พร้อมทำกิจกรรมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ชูป้ายที่มีข้อความว่า "เงินเยียวยาแรงงานต้องได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เงินภาษีจากประชาชนทำไมต้องลงทะเบียน" โดยขอเรียกร้องที่ได้มีการยื่น ประกอบด้วย

1.ขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือนจนถึงช่วงรับวัคซีน

2.ปรับปรุงชั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังกล่าวข้างต้น โดยใช้ฐานข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยและคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติขอทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลแรงงานจากประเทศเพื่อน

ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว

กระจายรายได้ให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่

3. จากที่ผ่านมาแต่ละสถาบันการเงินจะใช้ดุลพินิจพักหนี้คราวละ 3 เดือน แต่การพักหนี้ระยะสั้นไม่ส่งผลดีต่อการวางแผนชีวิต สร้างงานใหม่ จึงควรให้ออกมาตรการพักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเตอร์เน็ต เป็นเวลา 3 เดือน (มกราคมถึงมีนาคม 2564)

4. ยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้ดำเนิการจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน เพราะการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับลด โยกย้ายงบประมาณจากส่วนอื่นๆลง อาทิ งบกองทัพและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาชดเชยเพื่อสร้างการศึกษาที่ดีสำหรับประชาชน

5.ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นดียวกับการมีสิทธิเลือกที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูลชนะ ของรัฐหรือไม่ก็ได้

6.จากบทเรียนกรออกมาตรการเยียวยาครั้งที่ผ่านมา ที่ประสบปัญหาสับสน คลุมเครือ มีการแบ่งแยกกีดกันกัน ระหว่างแรงงานบางกลุ่ม และให้สิทธิไม่ถ้วนหน้า ครั้งนี้รัฐไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำเดิม โดยต้องให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และจะต้องไม่นำงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยี่ยวยาอีก

7.รัฐต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งราชการ

8.มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อบ้าน

9.มีมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคงเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะต้องนำมาตรการเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้าและภาษีความมั่งคั่ง จากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ในสังคมไทยมาบังคับใช้

10.การแพร่ระบาดรอบสองถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายแก่ประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปี รวมถึงเป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง ในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ทางกลุ่มยังขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อเปิดโอกาสชุมนุม เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดการแพร่เชื้อจากการชุมนุม แต่มาจากการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย

ที่มา: ช่อง 8, 18/1/2564

เริ่มแล้วแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติกลุ่มผ่อนผันตามมติ ครม.แจ้งบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนต่างด้าวเป็นอย่างยิ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด–19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผน ปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่องการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด– 19 จากภายนอกประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน

2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน

3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้างและคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่วันที่15 ม.ค.-13 ก.พ. 2564 เป็นขั้นตอนแรกเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท

กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1.คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th – ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3.จัดทำทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)

4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564

5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/1/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net