Skip to main content
sharethis
  • ปอท.แจ้ง '112-พ.ร.บ.คอมฯ' ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ 'กูkult' โพสต์รูปตัดต่อ-เสียดสีสถาบันกษัตริย์ 12 โพสต์
  • 'ไบรท์ ชินวัตร' ถูกแจ้ง 112 อีกคดี หลังปราศรัยถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ในคดี #ม็อบ29พฤศจิกา 
  • สมาชิกการ์ดปลดแอกถูกแจ้งข้อหา ม.112 กรณีแขวนป้ายผ้าที่บางปู ศาลให้ประกันตัว

 

24 มี.ค.2564 การชุมนุมทางการเมืองระลอกใหญ่นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวนมาก จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีอย่างน้อย 75 ราย ใน 65 คดี 

ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีดังล่าว ดังนี้

ปอท.แจ้ง '112-พ.ร.บ.คอมฯ' ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ 'กูkult' โพสต์รูปตัดต่อ-เสียดสีสถาบันกษัตริย์ 12 โพสต์

22 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นรินทร์ (สงวนนามสกุล) พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบ 2 ข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3), (5) เหตุถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเพจหรือมีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “กูkult” และได้ทำการตัดต่อรูปภาพ รวมถึงข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จำนวน 12 โพสต์

พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) และ ร.ต.ท.หญิง รัฐฐานันท์ คชนันท์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 63 ร.ต.อ.ชยกฤต จันหา ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อหรือเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “กูKult” หรือ“@GuKultredemption”

จากการสืบสวนของผู้กล่าวหาพบว่า นรินทร์ เป็นผู้ดูแลหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง กับเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีการนําข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยได้โพสต์รูปภาพและข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศรวมทั้งจํานวน 12 โพสต์

สำหรับข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อนรินทร์ มี 2 ข้อกล่าวหา ด้วยกัน ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (5)

นรินทร์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นอกจากนี้ นรินทร์ยังปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาอีกด้วย

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวนรินทร์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่เขาถูกดำเนินคดี เหตุมีความเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” ก่อนหน้านี้ (21 ก.ย. 63) นรินทร์เคยถูกเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. บุกค้นบ้านพักย่านบางซื่อตามหมายค้นของศาลอาญา และถูกควบคุมตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่บก.ปอท. โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งได้เผยแพร่ข้อความเสียดสีสถาบันกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ โดยนรินทร์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลา 2 คืน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน หลังวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนนิรนามเป็นหลักประกัน

'ไบรท์ ชินวัตร' ถูกแจ้ง 112 อีกคดี หลังปราศรัยถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ในคดี #ม็อบ29พฤศจิกา

วันเดียวกัน (22 มี.ค.64) เวลา 10.00 น. ที่ สน. บางเขน “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และข้อหาอื่นๆ รวม 4 ข้อหา ขณะที่ชินวัตรถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย จากกรณีแห่ขันหมากให้กำลังใจ 8 ประชาชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เหตุ #ม็อบ29พฤศจิกา หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากการประชาชนราว 200 คน ไปให้กำลังใจนักกิจกรรมและประชาชน 8 ราย ในวันที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 และมาตรา 116 จากกรณี #ม็อบ29พฤศจิกา โดยประชาชนได้ตั้งขบวนแห่ขันหมากเดินไปส่งผู้ได้รับหมายที่หน้า สน.บางเขน ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรี และปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อให้กำลังใจประชาชนทั้ง 8 ที่มารับทราบข้อกล่าวหา

หลังการให้กำลังใจและรับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ โดย 5 ราย เป็นผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว และถูกดำเนินคดีอีกคดี ส่วนอีก 2 รายเป็นเพื่อนนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มีผู้มารับทราบข้อกล่าวหาเพียง 3 ราย ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และพรหมศร ไม่สามารถมารับทราบข้อกล่าวหาได้ เนื่องจาก 3 รายแรกนั้นยังถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างพิจารณาคดีในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ส่วนพรหมศรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับคดี 112 และถูกนำตัวไปฝากขัง

พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63 ผู้ต้องหากับพวกได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา แต่มีการจัดชุมนุมขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง และการชุมนุมนั้นกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ ประกอบกับการรวมตัว มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ต้องหากับพวกไม่ปฏิบัติตามและไม่เลิกการชุมนุม

เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 ข้อหา ได้แก่ "ไม่แจ้งการชุมนุมการชุมนุม" มาตรา 10 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, "ร่วมกันชุมนุม โดนกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐ" มาตรา 8 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อหา "ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต"

สำหรับชินวัตรนั้น พ.ต.ท.สราวุธ ยังได้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา อีก 1 ข้อหา โดยบรรยายพฤติการณ์ส่วนของชินวัตรว่า ในวันที่ผู้ต้องหาเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหานั้น ผู้ต้องหาได้ขึ้นพูดปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย โดยมีเนื้อหาคำปราศรัยตอนหนึ่งว่า “...กรณีที่ผม โดนฟ้องก็คือเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกา ที่หน้าราบ 11 คิดดูครับพี่น้อง แสดงว่าคนที่รักสถาบันรักได้แต่คนที่ใส่สีเหลืองใช่ไหม คนอย่างพวกเรามันรักไม่ได้เหรอ วันที่ 29 พฤศจิกา ผมก็พูดอธิบายให้พี่น้องได้ฟังว่า เมื่อก่อนโน้น ธุรกิจทุกอย่าง มรดกทุกอย่าง ของพระมหากษัตริย์จะไปอยู่ส่วนกลาง สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกต้องไหมครับ ตอนนี้พอมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 10 ปั๊บ เปลี่ยนกฎหมายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แล้วมันจริงไหมละครับพี่น้อง ผมก็เลยพูดต่อว่าใน เมื่อท่านเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปเขาจะใช้อะไร แล้วมันจะผิดตรงไหนละครับ..”

พนักงานสอบสวนระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระราชอํานาจของกษัตริย์ถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชมรดกและพระราชอํานาจโดยชอบธรรม เป็นการกล่าวโดยไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน แสดงถึงเจตนาบิดเบือนข้อมูลให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด ทําให้ผู้ฟังเกิดความสับสน ไขว้เขว กล่าวร้ายต่อกษัตริย์ ให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังในสถาบันกษัตริย์

ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยวรรณวลีและพิมพ์สิริจะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ส่วนชินวัตรจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ในวันนี้ ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากมารับทราบข้อหาตามหมายเรียก

ชินวัตรยังได้ให้การว่า ขอให้พนักงานสอบสวนส่งหนังสือไปสอบถามสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อตรวจสอบว่าได้มีการออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงสถานะของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์จริงหรือไม่

ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 รายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะทำเรื่องเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำต่อไป

สำหรับชินวัตร ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 4 แล้ว ก่อนหน้านี้เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11, การชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb และการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

สมาชิกการ์ดปลดแอกถูกแจ้งข้อหา ม.112 กรณีแขวนป้ายผ้าที่บางปู ศาลให้ประกันตัว

22 มี.ค. 64 เวลา 11.00 น. ที่สภ.บางปู “นุ่น” สุพรรษา เจือเพ็ชร หนึ่งในสมาชิกการ์ดปลดแอก เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีแขวนป้ายผ้าที่สถานที่พักตากอากาศบางปู เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 ตำรวจนำตัวสุพรรษาไปขอศาลฝากขัง ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้พบว่ามีการติดแผ่นป้ายที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 กับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เขียนว่าทรงพระเจริญ “นะจ๊ะ” ที่พระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางเข้าสถานที่พักตากอากาศบางปู และได้พบอีกแผ่นป้ายหนึ่งโดยมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เขียนว่า “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” มาแขวนไว้สะพานลอย หน้าสถานตากอากาศบางปู

ซึ่งถือว่าเป็นการลบหลู่ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เป็นการด้อยค่าและลดคุณค่าในสายตาประชาชน เพราะพระบรมฉายาลักษณ์เปรียบเสมือนกับพระองค์เอง ฉะนั้นการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็เหมือนกับการกระทำต่อพระองค์

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าจะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการในการออกหมายขัง โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งกับพยานหลักฐานและอาจจะหลบหนี ถึงแม้ว่าทนายจะแย้งว่าผู้ต้องหาได้มารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกก็ตาม

สุพรรษาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และให้ร่วมมือในการสอบสวนอย่างดี จึงไม่ได้มีเหตุที่จะนำตัวไปขอฝากขัง

ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาเดินทางมาตามหมายเรียก และไม่มีเหตุจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหา แต่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง

ต่อมาทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา โดยยืนยันเหตุผลเดิม โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโด และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในเวลาประมาณ 17.10 น.

บรรยากาศในวันนี้ มีการตั้งด่านจุดตรวจกั้นไม่ให้รถเข้าไปในบริเวณสภ.บางปู โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนกับตำรวจของสภ.บางปูยืนประจำการอยู่บริเวณทางเข้าอาคาร มีการตั้งจุดตรวจโควิดพร้อมวัดอุณหภูมิของประชาชนที่เดินเข้าออก ส่วนภายในห้องสอบสวน มีตำรวจในเครื่องแบบอยู่ประมาณ 8 คน และตำรวจนอกเครื่องแบบมากกว่า 4 คน คอยสังเกตการณ์เข้าออกห้อง คอยถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาการรับทราบข้อกล่าวหา

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net