Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยศาลไม่ให้ประกัน 'พรหมศร' ครั้งที่ 2 แม้ขอติด EM ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม - ส่งฟ้องอีก 2 ราย คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง - ตร.บุกบ้าน ตจว. หนุ่มอายุ 19 เหตุแชร์โพสต์เพจ 'KonThaiUk' ก่อนนัดมาแจ้ง 112-พ.ร.บ.คอมฯ

24 มี.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หลังทนายจำเลยและครอบครัวยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 2 หลังพรหมศรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยดัดแปลงเนื้อเพลงที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างติดตามและเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีพ่นสีข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์และป้าย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 17 มี.ค. 2564 ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว 1 ครั้ง หลังพนักงานสอบสวนสภ.ธัญบุรีนำตัวพรหมศรไปขออนุญาตศาลฝากขัง แม้พรหมศรจะเดินทางมารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี นอกจากนี้ เมื่อ 2 วันก่อนรับทราบข้อหา เพิ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าพรหมศรจะหลบหนี และคดีนี้มีอัตราโทษสูง

ต่อมา ทนายได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 20 มี.ค. 2564 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยืนตามศาลจังหวัดธัญบุรี ไม่ให้ประกันตัวพรหมศร

สำหรับการยื่นประกันตัวครั้งนี้ ทนายได้ยื่นคำร้องโดยสรุปในประเด็นที่ว่า 

1. ก่อนถูกดําเนินคดี ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบสัมมาอาชีพ มีถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยต้องโทษคดีอาญา อีกทั้งไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับ พยานหลักฐานได้ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดําเนินคดีได้อย่างแน่นอน 
2. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด ซึ่งวันก่อนหน้า (วันที่ 16 มี.ค.) ผู้ต้องหาได้ประสบอุบัติเหตุทางท้องถนน มีบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่ง ต้องเย็บที่ปาก ศีรษะ ขา แขน และมือทั้งสองข้าง แต่ผู้ต้องหาก็มาตามกําหนดนัดในหมายเรียก ทั้งนี้ในท้ายคำร้อง ทนายได้แนบ ภาพบาดแผล และภาพพร้อมข้อความบรรยายบาดแผลบนเฟซบุ๊กของตัวผู้ต้องหา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด 
3. หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะทําให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเสาหลักเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว
4. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของประชาชน หรือก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง ต่อสังคมโดยรวมแต่อย่างใด
5. ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวหาว่ากระทําความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร อีกทั้งการถูกกล่าวหาคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญามิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความ เสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน 

ท้ายคำร้องยังได้หยิบยกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” ประกอบคำร้อง เพื่อให้ศาลพิจารณาในการปล่อยตัวชั่วคราว

นอกจากนี้ ทนายจำเลยได้ขอติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) เป็นเงื่อนไขการขอประกันตัว ประกอบกับเงินสด 150,000 บาท เป็นหลักประกัน แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันโดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

ปัจจุบัน พรหมศรถูกคุมขังที่เรือนจำอำเภอธัญบุรีมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2564 นับเป็นเวลา 8 วันแล้วที่เขาต้องถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวน นอกจากนี้ พรหมศรยังตัดสินใจอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. เช่นเดียวกับพริษฐ์ที่ตัดสินใจอดอาหารเป็นเวลาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว

ส่งฟ้องอีก 2 ราย คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่ศาลจังหวัดพะเยา พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรม #คนพะเยาบ่เอาแป้ง หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 ก่อนศาลจังหวัดพะเยาอนุญาตให้ปล่อยตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว

วันนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองรายได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดพะเยาตามการนัดหมายเพื่อส่งฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดพะเยา โดยถูกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 135/2564 คำฟ้องโดยสรุป อ้างถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร และประกาศการห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ณ ที่ใดๆ และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 จำเลยกับพวกและบุคคลไม่ปรากฏชื่ออีก 200 คน ได้บังอาจชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ สถานที่ใดๆ หน้าป้ายมหาวิทยาลัยพะเยา อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับ รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา ที่ถูกแยกฟ้องต่อศาลจังหวัดพะเยาไปก่อนหน้านี้

หลังถูกยื่นฟ้องทั้งสองได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาลจังหวัดพะเยาตั้งแต่เวลาประมาณ 10.45 น. ด้านทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันต่อศาล เนื่องจากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จากนั้นก่อนเวลา 12.00 น. ศาลจังหวัดพะเยาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองโดยไม่มีหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกันว่าจะมาตามนัดหมายของศาล หากผิดสัญญาให้ปรับเป็นเงิน 30,000 บาท

ศาลจังหวัดพะเยาได้นัดหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต่อไปในวันที่ 31 พ.ค. 2564 และนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การของจำเลย และตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลา 9.00 น. รวมกับคดีของจำเลยอีก 2 รายที่ถูกส่งฟ้องไปก่อนหน้านี้ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดการเอกสารและสัญญาประกันตัวของเจ้าหน้าที่ศาลมีความล่าช้า ทำให้เวลาประมาณ 14.00 น. จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งได้เซ็นเอกสารประกันตัว และได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังของศาลในเวลา 15.17 น. รวมแล้วทั้งสองถูกคุมขังในห้องขังระหว่างรอการประกันตัวเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง

ตามข้อเท็จจริงในวันชุมนุมที่เป็นมูลเหตุของการดำเนินคดีนั้น ในส่วนของนายชินภัทร ซึ่งเป็นอดีตนิสิตของมหาวิทยาลัยพะเยาและเคยมีประวัติการทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่พะเยา เพียงแต่เดินทางไปร่วมเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นปราศรัย เช่นเดียวกับนายธนวัฒน์ ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วยเท่านั้น ทั้งสองคนยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วย

ทนายความในคดีนี้ยังได้รับข้อมูลจากอัยการจังหวัดพะเยา เกี่ยวกับผู้ต้องหา 2 รายสุดท้ายในคดีนี้ คือ นายอานนท์ นำภา และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ทางอัยการยังไม่สามารถนัดหมายมาส่งฟ้องต่อศาลได้เนื่องจากทั้งสองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ในส่วนคดีของพริษฐ์ หรือ เพนกวิน อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาและส่งเรื่องให้ตำรวจ สภ.แม่กา ดำเนินการนำตัวมาฟ้องตามคำสั่งอัยการ และตำรวจได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ไปยังพริษฐ์แล้ว และจะดำเนินการขอออกหมายจับ เพื่อนำตัวมาฟ้องต่อศาลต่อไป  ส่วนของอานนท์นั้น สำนวนคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของอัยการภาค 5 แต่หากมีความเห็นสั่งฟ้องคดี คาดว่าจะมีการดำเนินการเช่นเดียวกับพริษฐ์ต่อไป

ตร.สภ.บางแก้ว บุกบ้าน ตจว. หนุ่มอายุ 19 เหตุแชร์โพสต์เพจ “KonThaiUk” ก่อนนัดมาแจ้ง 112-พ.ร.บ.คอมฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 ธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อายุ 19 ปี ถูกพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ นำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขังในชั้นสอบสวน หลังพนักงานสอบสวนนัดธีรวัชเข้าไปรับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5) โดยไม่มีหมายเรียกผู้ต้องหา ไม่มีทนายเข้าร่วมการสอบสวน และพนักงานสอบสวนเพียงแจ้งกับธีรวัชให้ไป “เซ็นเอกสารให้จบคดี” เท่านั้น

เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ธีรวัชได้รับหมายเรียกพยานจากสภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 เพื่อให้เข้าไปสอบปากคำเป็นพยานประกอบคดีว่าด้วยการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหมายระบุว่ามีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้ 

แต่เนื่องจากหมายเรียกพยานส่งไปที่บ้านในจังหวัดหนึ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันธีรวัชอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ มีภารกิจส่วนตัวด้านการเรียน จึงไม่ได้เดินทางเข้าไปพบพนักงานสอบสวนในช่วงที่ผ่านมา และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการออกหมายเรียกเพิ่มอีก เขาจึงไม่ได้เดินทางไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 เวลาราว 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.บางแก้วเดินทางไปหาธีรวัชที่บ้านต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียงย่าของธีรวัชอาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อไปถึงไม่พบธีรวัช จึงสอบถามย่าว่า ธีรวัชใช่หลานของย่าหรือไม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพใด

หลังจากนั้น จึงขอให้ย่าโทรศัพท์หาธีรวัช ขอคุยกับธีรวัชโดยตรง และแจ้งให้ธีรวัชเข้าไปพบพนักงานสอบสวนที่สภ.บางแก้ว เพื่อเข้าไปเซ็นเอกสารให้จบคดี ถ้าหากไม่เข้าไปพบในรอบนี้ จะออกหมายจับ โดยไม่ได้แจ้งกับธีรวัชว่า เป็นการเข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด 

ธีรวัชเผยว่า ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา และไม่ทราบว่าในวันนัดจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ในทันที เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่ก็คงไม่โกหก

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 ธีรวัชเดินทางไปที่สภ.บางแก้วตามที่นัดหมายกับตำรวจเพียงลำพัง และถูกนำตัวไปสอบปากคำถึง 4 ชั่วโมง โดยไม่มีทนายความ หรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนด้วย มีเพียงการได้โทรศัพท์คุยกับญาติระหว่างการสอบสวนเท่านั้น

ระหว่างการสอบคำให้การ พนักงานสอบสวนนำรูปโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความจากเพจ “KonThaiUk” มาให้ดู พร้อมกับพูดว่า ฝ่ายสืบทราบแล้วว่าธีรวัชเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ และได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง 

ด้านธีรวัชระบุ ตนจำไม่ได้แล้วว่าได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากได้ยินคำพูดของพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จึงให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย และเจ้าหน้าที่ยังไม่ให้สำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และสำเนาบันทึกประจำวันกับธีรวัช อีกด้วย

หลังจากเสร็จกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวธีรวัชไป โดยนัดหมายให้มาพบที่สภ.บางแก้วในวันถัดมา เพื่อนำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง 

คำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้ว บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 เวลา 10.00 น.  ขณะนายศิวพันธ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหาพักอยู่บ้านพักย่านบางพลี พบผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รวมพล ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ KonThaiUk โดยโพสต์ดังกล่าวพูดถึงการแต่งกายของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 พร้อมเขียนข้อความประกอบซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ จึงมาแจ้งความร้องทุกษ์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหาแก่ธีรวัช ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5)

ต่อมาวันที่ 22 มี.ค. 2564 ธีรวัช พร้อมทนายความ เดินทางไปที่สภ.บางแก้วตามนัดหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังในชั้นสอบสวน โดยในคำร้องขอฝากขังระบุ พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกหมายขังตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค. 64 แต่เนื่องจากศาลปิดทำการแล้ว จึงนำตัวผู้ต้องหามาในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. แทน 

ส่วนเหตุผลที่พนักงานสอบสวนขอออกหมายขัง อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง, ต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปากเพื่อยืนยันว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของธีรวัชหรือไม่ และเกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัว จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลนัดไต่สวนขั้นขอฝากขังในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน ธีรวัชให้การว่า ขณะให้การรับสารภาพนั้นไม่มีทนายความอยู่ด้วย ในตอนนี้ ธีรวัชต้องการให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งตนยังไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน มีเพียงหมายเรียกพยานเท่านั้น

เวลา 17.00 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขังธีรวัช ระบุเหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ธีรวัชจึงได้รับการปล่อยตัวไป 

“ตอนเย็นเมื่อวานเจ้าหน้าที่เขากำลังจะเอาโซ่มาล่ามขาผมแล้ว แต่พอดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจข้างนอกวิ่งมาบอกว่า คนนี้ได้ประกัน ผมเกือบไม่ได้ประกันแล้ว

“แล้วพี่รู้ไหมเงินที่ใช้ประกันพวกผมในคุก แพงที่สุดแล้วนะ จากทั้งหมดที่อยู่ในห้องขังตรงนั้น” ธีรวัชเผยหลังได้รับประกันตัวในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่เกิดจากการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์จำนวน 1 ข้อความ

คดีของธีรวัชเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี เผยให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 77 ราย ใน 68 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 28 คดี 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net