คนทำงานในญี่ปุ่นกังวลใจนายจ้างกดดันให้ฉีดวัคซีน COVID-19

แม้ในญี่ปุ่น "การบังคับฉีดวัคซีน COVID-19" อาจจะเข้าข่ายเป็น "การล่วงละเมิดในที่ทำงาน" แต่กระนั้นคนทำงานในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็กังวลใจต่อการ "ร้องขอ" ด้วยวิธีการต่าง ๆ ของนายจ้าง ที่ดูเหมือนจะ "กดดัน" ให้พวกเขาฉีดวัคซีน


ที่มาภาพประกอบ: 中日新聞

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 สำนักข่าว Kyodo ของญี่ปุ่นรายงานว่าการร้องขอของบริษัทต่าง ๆ ต่อพนักงานของตน ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 กำลังสร้างความกังวลใจให้กับคนทำงานบางส่วนในประเทศ ภายใต้การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron

โครงการฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นไปอย่างเชื่องช้าในญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูร้อนปีที่แล้วผ่านการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนในสถานที่ทำงานและศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ ในขณะที่รัฐบาลเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในต้นเดือน ธ.ค. 2564 (ข้อมูลจาก Our World in Data ระบุว่า ณ ต้นเดือน ม.ค. 2565 ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนไปแล้ว 202 ล้านโดส มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 โดสแล้ว 99.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 79.1 ของสัดส่วนประชากร)

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ จะต้องให้คำแนะนำอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการ "คุกคามเพื่อให้ฉีดวัคซีน" แม้ว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบต่อสุขภาพของพนักงานก็ตาม ชิโนบุ ยานางิตะ ทนายความผู้เชี่ยวชาญประเด็นการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงานกล่าว  

"อาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิด หากมีคนถูกกระตุ้นให้ไปฉีดวัคซีน ด้วยการกดดันหรือชักชวนโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง" เธอกล่าว

บริษัทในญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากบริษัทในต่างประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้กำหนด "ข้อบังคับ" ให้พนักงานของตนต้องฉีดวัคซีน COVID-19 และการบังคับเช่นนั้นอาจจะถือว่าเข้าข่ายการล่วงละเมิดในที่ทำงานตามกฎหมายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้กับบริษัทใหญ่ ๆ เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งกฎหมายนี้กำลังจะมีผลบังคับใช้สำหรับกับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 เป็นต้นไป

แต่สำนักข่าว Kyodo ระบุว่ามีบริษัทบางแห่งยังคงกดดันพนักงานฉีดวัคซีนอยู่

ผู้หญิงคนหนึ่งในบริษัทแห่งหนึ่งในโตเกียวกล่าวว่าเธอได้รับอีเมลจากประธานบริษัทเรียกร้องให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 ไม่ให้แพร่กระจายในที่ทำงาน

"ถ้ามีคนในบริษัทติดเชื้อ มันจะสร้างงานหนักให้เรา ที่จะนำไปสู่การสูญเสีย" อีเมลจากประธานบริษัทของเธอระบุไว้ "ไม่มีใครมีเหตุผลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ในการที่จะไม่รับการฉีดวัคซีนในบริษัทนี้"

แม้ว่าผู้หญิงคนนี้ตัดสินใจรับการฉีดวัคซีนก่อนที่เธอจะได้รับอีเมลฉบับนี้ก็ตาม เนื่องจากเธอคิดว่ามันจะช่วยป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัวของเธอติดเชื้อได้ แต่ถึงกระนั้นเธอรู้สึกไม่สบายใจ เพราะเธอไม่แน่ใจว่าจดหมายนั้นส่งถึงพนักงานทุกคนหรือเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้น

"เธอบอกเราว่ามันยากสำหรับเธอที่จะไปทำงานเพราะเธอรู้สึกกดดัน (ต้องฉีดวัคซีน) ฉันหวังว่า (บริษัท) จะพิจารณาว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาได้รับข้อความดังกล่าว" สมาชิกในครอบครัวของผู้หญิงคนนี้กล่าว

ยานางิตะ ทนายความผู้เชี่ยวชาญประเด็นการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงาน ยังกล่าวว่ากรณีของผู้หญิงคนนี้น่าจะเป็นการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงาน เนื่องจากข้อความดังกล่าวแสดงถึงการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมของประธานบริษัท

"นอกจากนี้การระบุว่าการปฏิเสธวัคซีนเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวและจะสร้างความเสียหายต่อบริษัท อาจจะเป็นปัญหา" ยานางิตะกล่าว พร้อมเสริมว่าการกระทำแบบนี้ยิ่งจะสร้างแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานในการฉีดวัคซีน

สำนักข่าว Kyodo ระบุว่ามีคนทำงานจำนวนหนึ่งได้ขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากบริการให้คำปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงยุติธรรมในปี 2564 เกี่ยวกับประเด็นการฉีดวัคซีน COVID-19 ผู้ขอคำปรึกษาบางรายระบุว่าพวกเขาถูกขู่ย้ายงานถ้าหากไม่รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่บริษัทหนึ่งมีการบังคับให้ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมระบุ

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ยังมีบริการให้คำปรึกษาด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากคนทำงานส่วนใหญ่ที่ขอความช่วยเหลือมักไม่เต็มใจที่จะให้รายละเอียดมากพอ เพราะกลัวว่าบริษัทจะระบุตัวตนของพวกเขาได้

เมื่อสหพันธ์เนติบัณฑิตยสภาแห่งประเทศญี่ปุ่นให้บริการคำปรึกษาเป็นเวลา 4 วันรวมกันในเดือน พ.ค. และ ต.ค. ปี 2564 สหพันธ์ฯ ได้รับโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องการฉีดวัคซีนประมาณ 300 ครั้ง

"ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ร้ายแรงกำลังเกิดขึ้น รวมถึงการเลิกจ้างผู้ที่ที่ไม่ได้รับวัคซีน" ชิโร คาวาคามิ หัวหน้าคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสหพันธ์เนติบัณฑิตยสภากล่าว

คาวาคามิกล่าวว่าบริษัทต่าง ๆ ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทาย เช่น วิธีตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการเปิดเผยสถานะการฉีดวัคซีนของพนักงาน และการเลือกปฏิบัติในการตั้งคำถามต่อผู้มาสมัครงานเกี่ยวกับสถานะการฉีดวัคซีน COVID-19 ระหว่างการสัมภาษณ์ เป็นต้น

ที่มาข่าว
FOCUS: COVID vaccination requests at work pose worry in Japan's booster push (KYODO NEWS, 11 January 2022) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท