Skip to main content
sharethis
  • บรรณาธิการ Deep South Watch ชี้ ‘BRN-รัฐไทย’ ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่เพิ่งได้ประเด็นที่ต้องเจรจากันต่อในอนาคต อธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการเจรจาอาจจะเป็นงานประจำของทั้ง 2 ฝ่าย 
  • ปฏิบัติการทางการทหารของ 'BRN-รัฐไทย' อาจจะมีผลต่ออำนาจการต่อรอง เสนอหากต้องลดความรุนแรง ฝ่ายหทารของทั้งสองฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกลไกสำคัญของกระบวนการสันติภาพ 
  • ย้ำความจริงจังสำคัญกว่าความจริงใจในการเจรจาและกระบวนการสันติภาพ วิเคราะห์‘BRN’ มีเครื่องมือที่จะตอบโต้รัฐไทยที่ดีกว่าการปฏิบัติการทางอาวุธหรือความรุนแรง
  • อธิบายปรากฎการณ์การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นการตอบโต้ในรูปแบบใหม่ของความขัดแย้ง มองปรากฎการณ์ระเบิด 14 จุดกลางเมืองยะลาปลาย ม.ค. 2565  ถือเป็นพัฒนาการการสื่อสารทางการเมือง
  • คู่ขัดแย้งหลักต่างต้องปรับตัวหวังตอบสนองกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้ความเห็นว่ารัฐไทยมองวิธีการแก้ปัญหาด้วยการปราบปราม ถือเป็นการมองการแก้ปัญหาระยะสั้น ย้ำฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าศักยภาพทางทหารไม่ใช่ตัวชี้ขาดของความขัดแย้ง 

หลังการเจรจาสันติภาพระหว่าง (Barisan Revolusi Nasional - BRN) กับรัฐบาลไทย (RTG, Royal Thai Government) เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี เริ่มที่จะมีท่าทีกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีการปิดล้อม ตรวจค้น ตรวจ DNA และการวิสามัญไปแล้วรวมทั้งหมด 14 ครั้งและมีผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวหลายรายในเดือน ม.ค. 2565  ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียที่กระดกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสถิติเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ทราบชัดว่ามีเหตุและปัจจัยหรือแรงจูงใจที่นำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังการเจรจาสันติภาพ 

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (แฟ้มภาพ : ประชาไท) 

ทั้งนี้จึงเชิญชวนผู้อ่านมาพูดคุยและมองการวิเคราะห์สถานการณ์กับ รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) องค์กรที่ทำงานวิจัยและสื่อสารประเด็นความรุนแรงในชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และมองถึงสาเหตุและปัจจัยโดยรวม สมมติฐานที่อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทำให้สถานการณ์ภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีนั้นเริ่มที่จะปะทุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง

‘BRN-รัฐไทย’ ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่เพิ่งได้ประเด็นที่ต้องเจรจากันต่อในอนาคต

รอมฎอน กล่าวว่า ในข้อแถลงจากทั้งสองฝ่ายอาจจะมีบางส่วนที่ไม่ตรงกันบ้าง ด้วยเหตุเพราะอาจจะต่างฝ่ายต่างแถลงแต่ว่าก็มีประเด็นจากข้อแถลงที่เหมือนกันก็คือสถานะการปฎิบัติการทางทหารหรือว่าการลดความรุนแรงมันใช้คำที่มีนัยยะของมันอยู่ มันเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่จะต้องมีการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายกันต่อ สถานะของประเด็นนี้คือเป็นประเด็นที่ต้องมีการเจรจากันต่อในรายละเอียด มันไม่ใช่ข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายว่าจะยุติการปฏิบัติการทางทหารหรือลดความรุนแรงหรือลดการบังคับใช้กฎหมาย สถานะของมันยังไม่ใช่ข้อตกลงแต่มันเป็นเพียงแค่การตกลงและเห็นพ้องต้องกันว่ามันจะต้องมีการเจรจากันต่อในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งมันเป็นประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิด และที่มาที่ไปของสามประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีแล้วไปตกลงกันในวันนั้นทันที มันต้องผ่านการทำงานกันมาก่อนหน้านี้ ทั้งการพูดคุยอย่างเป็นทางการและช่องทางหลังบ้านจนได้ข้อสรุปในสามประเด็น ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นก็เป็นประเด็นพื้นฐานที่ต้องเจรจาก่อนกันอยู่แล้ว 

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 3 ประเด็นนั้นยังไม่ได้พูดคุยถึงรายละเอียดแต่เป็นเพียงการยกประเด็นสำคัญขึ้นมาว่าควรที่จะต้องถกเถียงและพูดคุยรายละเอียดในประเด็นใดบ้าง ซึ่งเราต้องถอยออกมาก่อนเพราะทั้งสองฝ่ายแค่ตกลงว่าจะคุยกันในเรื่องใด ยังไม่ใช่ข้อสรุปหรือข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังไม่มีข้อตกลงในรายละเอียดก็มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการปฏิบัติการทางทหารจากทั้งสองฝ่าย และปรากฎการณ์ทางความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ต้องติดตามว่ามันมีนัยยะทางการเมืองหรือการพยายามสื่อสารจากทั้งสองฝ่ายในประเด็นใดบ้าง 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการเจรจาอาจจะเป็นงานประจำของทั้ง 2 ฝ่าย 

พื้นฐานที่สุดอาจจะเป็นการปฎิบัติงานประจำของทั้งสองฝ่ายอยู่แล้วที่ต้องมีการปฏิบัติการก็เป็นไปได้ หรือว่ามันมีพลวัตในระดับพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้มีการปฏิบัติการทางทหารเหล่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพในตัวมันเอง มีทั้งความเป็นไปได้หรืออาจเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่กล้าฟันธง อาจจะเป็นไปได้ในแง่ที่ว่าถ้าทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงการลดกำลังหรือการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกันว่าทั้งสองฝ่ายนั้นสามารถควบคุมกองกำลังของฝ่ายตนเองได้ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อกล่าวอ้างในการเจรจาเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเท่านั้น ก็ต้องไม่ลืมความจริงที่ว่า เราต้องมานั่งคุยกันทั้งสองฝ่าย เพราะความขัดแย้งมันไม่มีหนทางที่จะรับมือได้โดยการนั่งคุยกันเพื่อต่อรองภายใต้สถาบันทางการเมืองทางสังคมปกติที่ใช้กำลังกัน มันต้องบีบบังคับให้มีการใช้กำลังกันในทางกฎหมาย หรือจะมีการใช้กำลังเพื่อต่อต้านก็แล้วแต่ เพราะมีการใช้กำลังกันมันถึงจะต้องมีการเจรจากัน เพื่อที่จะเปลี่ยนให้ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งแบบสันติและต่อรองกันบนโต๊ะเจรจา ในระหว่างนี้ก็มีความเป็นไปได้การปฏิบัติทางทหารเพื่อสร้างข้อต่อรองของแต่ละฝ่าย และในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อให้อีกฝ่ายนั้นมั่นใจว่าอีกฝ่ายสามารถที่จะควบคุมกองกำลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้มีการปฏิบัติการทางอาวุธ และสั่งให้หยุดได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติการเหล่านี้จึงมีความหมายไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงในช่วงจังหวะเวลาไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังที่จะมีข้อตกลง ซึ่งการขึ้นการลงของความรุนแรงมันมีความหมาย แต่ทั้งหมดนี้ไม่อาจจะฟันธงได้ว่าการปิดล้อมตรวจค้น ในช่วงหลังจากมีการเจรจาว่ามันวางอยู่ข้อสมมติฐานชนิดไหน อาจจะแค่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามันตั้งอยู่ในข้อสมมติฐานกี่แบบแค่นั้น 

ปฏิบัติการทางการทหารของทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะมีผลต่ออำนาจการต่อรอง

ถ้าถอยออกมาเราพบว่าเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2564 โดยรวมทั้งปี มันเพิ่มจากปี 2563 มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หมายความว่าจากเดิมจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมันลดน้อยถอยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2553 แต่ว่าพอผ่านไปจนถึงปี 2563 เข้าปี 2564 สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรวมมันเริ่มกระดกเพิ่มสูงขึ้นแม้มันอาจจะไม่เยอะหากนำไปเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นหลายปี และที่สำคัญคือแนวโน้มชี้ให้เห็นถึงสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น และเรายังไม่รู้ว่าความหมายของมันจริงๆ คืออะไร แต่สิ่งที่เราค้นพบคือสถานการณ์ในพื้นที่น่าจะตึงเครียดมากยิ่งขึ้น การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองฝ่ายน่าจะสูงขึ้น อันนี้เราก็นับรวมทั้งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายรัฐไทยเองและก็ฝ่ายอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่การอธิบายแบบแผนเท่านั้น แต่ยังมีโครงสร้างและปรากฎการณ์ที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก

หากต้องการลดความรุนแรง ฝ่ายการทหารของทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ 

อยากลองชวนให้เรามาถกเถียงและชวนคิดกันว่า หน่วยรบหรือทหารยังไงก็เป็นหน่วยรบและทหาร ซึ่งไม่ใช่แค่ฝั่งรัฐบาลไทยเท่านั้นแต่รวมถึงฝ่าย BRN ด้วยก็นับว่าเป็นนักรบและทหาร เพียงแต่ว่าเป็นนักรบหรือทหารนอกเครื่องแบบซึ่งไม่มีความสมดุลในแง่ของการใช้กำลัง แต่ก็คือนักรบหรือทหารของทั้งฝ่าย และที่สำคัญคือหน้างานของทหารของทั้งสองฝ่ายก็คือการรบหรือการสงคราม แต่โจทย์ของการรบจะตอบสนองหรือสื่อสารอะไรนั้นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าจะพูดถึงการหยุดยิงหรือการลดการปฏิบัติการทางทหารหรือลดความรุนแรงก็ตามแต่ ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังกับกองกำลังระหว่างทหารกับทหารจากทั้งสองฝ่าย คือมันเป็นความจริงของโลกที่ว่าหากทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงคือต้องวางอาวุธลงก่อนจากทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญคือทั้งสองฝ่ายต้องมีการทำงานร่วมกัน ฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการและองค์ประกอบของกลไกที่จะต้องตอบสนองข้อเสนอเหล่านั้นในอนาคต 

ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่มีแต่ในอนาคตคิดว่าต้องมีแน่ๆ ถ้าหากทั้งสองฝ่ายจะต้องคุยกันในเรื่องลดความรุนแรงหรือการลดการปฏิบัติการทางการทหาร โจทย์ก็คือว่าจะดึงทหารหรือหน่วยรบจากทั้งสองฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างไร ถ้าหากความเป็นจริงที่ว่าจะลดความรุนแรงโดยที่ทหารของทั้งสองฝ่ายไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ หมายถึงก็คือลงคำสั่งไปเลยก็ได้ว่าให้ทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่นั้นหยุดยิง แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือว่าแม้แต่ฝ่ายรัฐไทยเอง การสั่งการหรือการบังคับบัญชาให้หน่วยรบที่ปฏิบัติหน้าที่มาเป็นระยะเวลาหลายปี มันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะหน่วยรบหรือทหารในพื้นที่นั้นมีลักษณะความเป็นอิสระที่สูงอยู่พอสมควรในการปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่ ในประเด็นนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงต่ออีกฝั่งเองก็คือ BRN อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เราสังเกตเห็นก็พบว่าการบังคับบัญชาทางการทหารก็ไม่ง่าย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ การเจรจาสันติภาพในปี พ.ศ. 2553 พอมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างปีกการเมืองและการทหารของ BRN มันก็มีความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ต้องมาพร้อมกับการทำให้ทิศทางการเจรจาสันติภาพกลายเป็นทิศทางหลักของทั้งสองฝ่ายและต้องมาพร้อมกับการดึงคนที่ถืออาวุธหรือฝ่ายกองกำลังต้องมามีส่วนร่วมต่อการเจรจาสันติภาพ หากมองในหลายพื้นที่ความขัดแย้ง เวลาจะออกแบบมันจะมีคณะทำงานชุดเล็กที่รับผิดชอบส่วนงานที่เกี่ยวกับการลดความรุนแรงหรือลดการปฏิบัติการทางทหาร และองค์ประกอบก็มาจากการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายมันปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องดึงสายที่สามารถบังคับบัญชาฝ่ายที่ติดอาวุธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

“ที่สำคัญผมได้รับคำชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการจากคณะเจรจาฝ่ายไทยว่า พ.อ.อิสรา จันทะกระยอม หรือที่เรารู้จักกันในนามผู้การหมู ซึ่งในตอนนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในคณะทำงานเชิงเทคนิคของฝ่ายรัฐไทยที่กำลังเตรียมไว้อยู่ เพียงแต่ว่าอาจจะรอจุดการเชื่อมต่อกันกับฝ่าย BRN ผมคิดว่าถ้า BRN จริงจังกับประเด็นที่ต้องเจรจา ผมเข้าใจว่าพวกเขาคงเตรียมอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะเตรียมคนในลักษณะไหน ประเภทไหน อยู่ในระดับใด อันนี้ก็คงไม่ทราบให้คำตอบได้เหมือนกัน” รอมฏอน กล่าว

ความจริงจังสำคัญกว่าความจริงใจในการเจรจาและกระบวนการสันติภาพ

เราเองในฐานะประชาชนซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งในพื้นที่โดยตรง เราประเมินได้เลยว่าทั้งสองฝ่ายจริงจังมากน้อยแค่ไหนในกระบวนการสันติภาพ แต่อย่าถามถึงเรื่องความจริงใจของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาในสภาวะการเมืองแบบนี้ ในสถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้ มันจะดูตื้นเขินและไร้เดียงสาเกินไป แต่เราควรดูที่ความจริงจังของทั้งสองฝ่าย และเราดูผ่านอะไรเราดูผ่านการออกแบบและการแต่งตั้งคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายว่าแต่ล่ะฝ่ายแต่งตั้งตัวแทนของฝ่ายตนนั้นเป็นคนในระดับไหน ระดับสูงมากที่สามารถควบคุมกองทหารของตนในพื้นที่ได้ไหม และที่สำคัญมาร่วมในกระบวนการสันติภาพได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งเราก็สามารถประเมินความจริงจังจากทั้งสองได้ว่าพวกเขาทั้งสองจริงจังมากน้อยแค่ไหน 

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือหากทั้งสองฝ่ายกันฝ่ายทหารของตนไม่ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพแล้วสื่งที่น่ากังวลก็คือหากกลุ่มเหล่านั้นต้องอยู่ในรอบนอกของกระบวนการและพวกเขามีอาวุธซึ่งหมายถึงมีศักยภาพที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพนั้นล่มได้ คือกลุ่มคนที่มีอาวุธหรือฝ่ายทหารและกองกำลังของทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นจึงสำคัญที่กลุ่มคนเหล่านี้คนที่มีอาวุธอยู่ในมือจำเป็นต้องมีที่นั้งหรือมีตำแหน่งแห่งที่ในกระบวนการสันติภาพ แม้จะดูขัดใจก็ตามแต่ตนคิดว่าเราจำเป็นต้องทำ

‘BRN’ มีเครื่องมือที่จะตอบโต้รัฐไทยที่ดีกว่าการปฏิบัติการทางอาวุธหรือความรุนแรง

รอมฎอนอธิบายว่า แม้ว่า BRN จะถูกโจมตีและถูกวิสามัญจากรัฐไทยหลังจากมีการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา แต่ BRN มีเครื่องมือในการที่จะตอบโต้รัฐไทยที่ดีกว่าการตอบโต้โดยการปฏิบัติการทางอาวุธหรือการใช้กำลังทหารในการตอบโต้กลับ ก็คงต้องบอกตรงๆ ว่าโปรดใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ให้ถี่ถ้วน เท่าที่ส่วนตัวทราบหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการทางการทหารของรัฐไทยที่มีปัญหาโดยเฉพาะล่าสุดในกรณีที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะระมัดระวังและมีความพยายามจะจำกัดการใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น วิสามัญ มากขึ้น หากพูดง่ายๆ ก็คือเสียงวิพากษ์ของประชาคม และผู้คนในสังคมมีน้ำหนักที่มากขึ้น ไม่ใช่ว่าทหารจะสามารถใช้กำลังได้โดยที่ไม่มีขีดจำกัด อย่างน้อยเสียงของประชาชนหรือการทักท้วงท้วงติงของบรรดาผู้แทนหรือคนในภาคส่วนต่างๆ ต้องเตือนคู่ขัดแย้งที่ใช้กำลังในการสู้รบจากทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่ตนเชื่อก็คือองค์กร BRN มีเครื่องมืออื่นๆ ที่มากกว่าการเลือกใช้กำลังและมีศักยภาพมากกว่า แม้กระทั่งจะเป็นการรณรงค์ การสื่อสารทางการเมือง ทั้งหมดที่กล่าวมาถ้าหาก BRN เลือกใช้แล้วทำได้มีประสิทธิภาพมันจะมีพลังมากกว่าการปฏิบัติการทางทหารหรือการใช้อาวุธ และก็ต้องยอมรับด้วยว่าการปฏิบัติการทางการทหารมันถึงจุดที่ว่าถ้าหากจะออกแบบให้มันมีนัยยะทางการเมืองมากกว่านี้ มันมีความเสี่ยงสูง หากพูดง่ายๆ ก็คือถ้าจะปฏิบัติการทางอาวุธราคาที่ต้องจ่ายมันมีมูลค่าที่สูง และก็ต้องพร้อมที่จะเสียต้นทุนทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟัง BRN ซึ่งรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเลยก็คือผู้คนในพื้นที่พร้อมที่จะฟังพวกเขา แม้จะมีบางคนที่อาจจะไม่ค่อยพอใจกับการปฏิบัติการทางการทหารของ BRN เมื่อตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเชื่อว่าเสียงของ BRN ก็จะยังคงถูกรับฟังอยู่จากคนในพื้นที่ปาตานี และโจทย์ก็อยู่ที่ BRN แล้วว่าจะออกแบบการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างไร

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นการตอบโต้ในรูปแบบใหม่ของความขัดแย้ง

มองว่าการทำวันทยหัตถ์เพื่อทำความเคารพศพของผุ้เสียชีวิตที่นิยามว่าเป็นนักรบ มันมีนัยยะทางการเมืองที่สูงพอสมควร ซึ่งหลังจากนั้นมันก็จะมี Pattern แบบนี้ตามมาซึ่งส่วนตัวก็จะมองว่านี้ก็คือหนึ่งในวิธีการตอบโต้ก็เป็นไปได้ ผู้คนจะเข้าใจว่าปรากฎการณ์นี้คือหนึ่งวิธีการตอบโต้ก็ได้ ซึ่งมันเป็นวิธีการตอบโต้ด้วยวิธีการอย่างสันติวิธีและตอบโต้ด้วยแนวทางทางการเมือง คล้ายๆ การชุมนุมผ่านพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมีนัยยะทางการเมือง ส่วนตัวคิดว่าถ้าหน่วยงานความมั้งคงเจอมุขแบบนี้ก็คงจะรับมือได้ยาก มองว่ามีข้อจำกัดมากในการรับมือที่สูง ซึ่งก็คงได้ทำเพียงแค่แผร่มลทิน ด้อยค่า ผ่านการปฏิบัติกาทางข่าวสารต่างๆ แต่ยิ่งการปฏิบัติงานข่าวสารของของฝ่ายรัฐไทยมีความพยายามด้อยค่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เหล่านั้นมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งให้เพิ่มน้ำหนักความศักดิ์สิทธิ์หรือความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของประชาชนปาตานีต่อนักรบมากขึ้นเท่านั้น นี้ก็คือหนึ่งในรูปธรรมที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติการตอบโต้ทางการเมืองอาจจะมีพลังมากกว่าการปฏิบัติการทางทหาร โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังในการตอบโต้กลับ 

“ปรากฎการณ์เหล่านั้นไม่ได้บ่งบอกว่าคนที่ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งกลุ่มขบวนการ BRN แต่มันคือปรากฎการณ์ทางสังคมที่บ่งบอกว่าฝ่าย BRN นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไปแล้ว พูดให้ชัดเพิ่มอีกก็คือความรู้สึกร่วมของผู้คนในสังคมต่อ BRN นั้นเริ่มที่จะมีมากขึ้น แต่กลับกันความรู้สึกร่วมต่อฝ่ายรัฐไทยกลับให้ความรู้สึกที่แปลกแยก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ ไม่ได้ใช้เพียงแค่ความรุนแรงเท่านั้นในความขัดแย้งนี้ แต่มันมีรูปแบบอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามา” รอมฏอน กล่าว

ปรากฎการณ์ระเบิด 14 จุดกลางเมืองยะลา เป็นพัฒนาการการสื่อสารทางการเมือง

ในขณะที่ฝั่งเจ้าหน้ารัฐ ที่ทำการปิดล้อมตรวจค้นและวิสามัญหนักหนาขึ้นมาตลอดหลายเดือน ด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า BRN มุ่งใช้กำลังอย่างเฉพาะเจาะจงถือเป็นแบบแผนที่เปลี่ยนไปอยู่พอสมควร ก็คือหมายความว่าแต่เดิมการปิดล้อมตรวจค้น จะปิดบ้าน ปิดทางเข้าออกทุกช่องทาง ล้อมบ้าน หว่านแห ซึ่งมันเคยเป็นแบบแผนอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในรอบนี้มันเป็นแบบแผนที่รอบคอบและเฉพาะเจาะจง แต่แน่นอนมันยังมีปัญหาอยู่ ทั้งระเบียบวิธีการที่สอดคล้องกับหลักกฏหมายหรือหลักสิทธิมนุษยชนขนาดไหน และนี้ก็คือข้อถกเถียงที่แตกไปจากทัศนะของรัฐและของชาวบ้าน 

หากมองปรากฎการณ์นี้ผ่านแถลงการณ์ของเทศบาลนครยะลาต่อกรณีระเบิดในตัวเมืองยะลา 14 จุด ซึ่งตีความว่าการสื่อสารผ่านยุทธ์วิธีทางการทหารโดยการวางระเบิด 14 จุดกลางเมืองยะลาที่ผ่านมาไม่ใช่การปฏิบัติการที่มีผลหรือแรงจูงใจมาจากที่อื่น และที่สำคัญที่สุดคือการแถลงการณ์โดยมีภาษาอังกฤษอยู่ด้วยนั้นบ่งบอกว่าเทศบาลนครยะลานั้นรู้ว่าผู้รับสารไม่ใช่มีเพียงแค่คู่ขัดแย้งเท่านั้นแต่ประชาคมโลกหรือนานาชาติที่เฝ้าคอยติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อยู่ด้วย ซึ่งการสื่อสารต่อประชาคมระหว่างประเทศนั้นอาจจะมีพลังมากกว่าเพื่อที่จะยืนยันว่าในฐานะตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งและต้องปกป้องประชาชนและตัวเมืองยะลา ซึ่งถือว่าน่าสนใจมากเพราะโดยตำแหน่งนายกเทศบาลยะลานั้นมีความชอบธรรมในทางการเมือง ซึ่งถือเป็นความชอบธรรมในอีกแบบที่แตกต่างกับความชอบธรรมจากทั้ง กอ.รมน หรือฝ่ายขบวนการ BRN  ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว 

คู่ขัดแย้งหลักต่างต้องปรับตัวหวังตอบสนองกฎหมายระหว่างประเทศ

ถ้ามองการปฏิบัติการทางการทหารของ BRN เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพบางอย่าง เช่น การระเบิดในพื้นที่ จ.ยะลา หลายจุดมันเป็น Pattern ที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะในเมืองยะลา แต่ในรอบนี้ถ้าหากเราดูตามช่วงจังหวะเวลา วิธีการการปฏิบัติการทางทหารของ BRN มีความพยายามที่จะลดผลกระทบต่อพลเรือน แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือการใช้ยุทธวิธีแบบการวางระเบิดมันกำหนดเป้าโจมตีได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ดีเราก็เห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนจุดนี้ 

มองว่ารัฐไทยก็ปรับเปลี่ยนแต่จะปรับมากปรับน้อยนั้นก็แตกต่างกัน เพราะรัฐรู้ว่าเขาถูกจับตามอง และ BRN เองก็รู้เช่นกันว่าพวกเขาก็ถูกจับตามอง ประเด็นนี้ก็แน่นอนเพราะด้วยว่า BRN นั้นได้ลงนามในข้อตกลงเจนีวาคอล ที่ระบุว่าต้องไม่ปฏิบัติการทางการทหารที่ไม่ละเมิดเด็กและไม่กระทบกับพลเรือน และอื่น ๆ คือพวกเขาต้องปรับอยู่แล้วเพราะด้วยที่ถูกจับตามองมากขึ้น ซึ่งก็มาจากที่พวกเขามีตัวตนมากขึ้นในทางการเมือง ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐไทยเองก็ต้องตามอีกทั้งมีความพยายามที่จะปรับอยู่เหมือนกันมากน้อยแค่ไหนอาจจะบอกไม่ได้แต่ว่า ประเด็นนี้ก็ถือเป็นพัฒนาการใหม่ของความขัดแย้งคือตัวแสดงหลักที่เป็นคู่ขัดแย้งนี้ก็ตอบรับตอบสนองต่อกติการะหว่างประเทศมากขึ้น แต่ส่วนตัวยังคิดว่ายังทำได้ไม่ค่อยดีซึ่งคิดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะทำได้มากกว่านี้ แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขของการปฏิบัติก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ล่ะฝ่าย

‘รัฐไทย’ แก้ปัญหาด้วยการปราบปรามเป็นการมองการแก้ปัญหาความรุนแรงระยะสั้น

ส่วนตัวคิดว่ามันมีความเชื่ออยู่ในฝั่งของรัฐไทยที่คิดว่าการลดศักยภาพฝ่ายทหารของฝ่ายตรงข้ามมันคือคำตอบและทางออก ซึ่งคือคำตอบในความหมายที่ว่าลดอำนาจต่อรองและบีบให้คู่ขัดแย้งเดินเข้ามาในช่องทางที่ฝ่ายรัฐไทยกำหนด อธิบายให้ชัดก็คือรัฐก็เชื่อว่าหากสามารถลดกำลังรบของอีกฝ่ายได้ศักยภาพที่จะต่อต้านก็จะน้อยลง แม้จะต่อให้ยังมีความคิดหรือว่าอุดมการณ์หรือความฝันที่เกี่ยวกับปาตานีเอกราช ซึ่งรัฐก้ใช้มาตรการอื่นในการทำงานไม่ว่าจะเป็นมาตรการสร้างความเข้าใจตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ดึงเอาผู้นำศาสนาเป็นพวก ดึงเอาองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นพวก มันมีหลายมาตรการ แน่ในทางการทหารก็ลดกำลังพลลดภัยคุกคาม ปัญหาข้อเดียวของสมมุติฐานแบบนี้ก็คือรัฐไม่ได้มองระยะยาวและมันไม่สามารถที่จะแก้รากเหง้าหรือปมของปัญหาได้ เพราะว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ฝ่ายรัฐไทยก็ใช้มาตลอดหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ และที่คิดก็คือเมื่อ 2 ปีให้หลังรัฐไทยมั่นใจมากขึ้นจากข้อมูลที่รัฐไทยมี ทั้งข้อมูลที่มาจากเทคโนโลยี ข้อมูลที่ได้มาจากการซักถามจากแหล่งข่าว

ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าศักยภาพทางทหารไม่ใช่ตัวชี้ขาดของความขัดแย้ง 

“ผมย้ำว่าฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าตัวชี้วัดไม่ใช่ศักยภาพของกองกำลังทหาร ถ้าหากสักคนใน BRN ที่เชื่อว่ากำลังทหารคือตัวชี้ขาดนั้นแหละคือผิดตั้งแต่แรก ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ BRN มีศักยภาพทางการเมืองมากน้อยแค่ไหนต่างหาก ซึ่งตอนนี้ก็ต้องติดตามและมอนีเตอร์สถานการณ์กันต่อไป” บรรณาธิการ Deep South Watch กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net