Skip to main content
sharethis

ภาคีนักกฎหมายฯ ออกแถลงการณ์ท้วงติงศาลการไม่ให้สิทธิประกันตัวคดีการเมืองที่ผ่านมาอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นยังสวนทางนโยบาย ปธ.ศาลฎีกาที่จะลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น สถาบันศาลควรส่งเสริมสิทธิไม่ใช่พรากสิทธิ

4 พ.ค.2565 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรื่อง "ว่าด้วยอุดมการณ์ผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในคดีการเมือง" ชี้ปัญหาการไม่ให้สิทธิประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่น ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ม.112) หรือเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้กล่าวถึงนโยบายปรับปรุงการฝากขังและการปล่อยชั่วคราวเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น รวมถึงพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันพร้อมกับการสร้างความปลอดภัยให้สังคมของประธานศาลฎีกาคนที่ 47 

อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ก็ได้ระบุถึงปัญหาของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวน ระหว่างพิจารณาคดี ไปจนถึงคดีที่ยังคงอยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา และยังรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตและหลักปล่อยตัวชั่วคราวที่จะต้องไม่กำหนดเงื่อนไขเกินความจำเป็น 

นอกจากนั้นในแถลงการณ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าคำสั่งศาลให้ถอนประกันณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ)และเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.โดยรับฟังตามเหตุผลที่พนักงานสอบสวนยกเหตุผลการถอนประกันว่าการโพสต์ชักชวนชุมนุมของพวกเธออาจก่อความวุ่นวายและอาศัยเหตุที่กลุ่มของพวกเธอมีการโต้เถียงกันกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ทำให้เกิดความชุลมุนนั้น คำสั่งดังกล่าวยังอาจเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยโดยภาคีนักกฎหมายให้เหตุผลไว้ 2 ประการคือ

หนึ่ง เหตุการณ์ที่พนักงานสอบสวนอ้างนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565 ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการโต้เถียงชุลมุนเล็กน้อยในเวลาไม่นาน ไม่ถึงขนาดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

"แสดงให้เห็นถึงรากฐานแนวคิดและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมที่คับแคบและผิวเผิน ผิดไปจากเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่" แถลงการณ์ระบุ

เหตุผลที่สองคือ การกำหนดเงื่อนไขประกันว่า "ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้" ในคดีของทะลุวังทั้งสองคนรวมถึงคดีอื่นๆ นั้นเป็นการกระทำที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นความผิด

"คำสั่งในลักษณะดังกล่าวอาจถูกตั้งคำถามว่าไม่ชอบด้วยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย นอกจากนี้อาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นการใช้กฎหมายที่เกินกว่าขอบเขตอำนาจของศาลและมุ่งหมายเพื่อปิดปากประชาชนหรือไม่"

ภาคีนักกฎหมายฯ ยังระบุต่อไปว่าแม้การพิจารณาคดีจะเป็นดุลพินิจอิสระของศาลแต่ดุลพินิจที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่ชัดเจนต้องได้รับการตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจและมุ่งผลทางการเมืองภายใต้อคติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสรภาพของประชาชนได้อย่างมาก

"ศาลคือผู้รักษากฎกติกาสูงสุดที่สังคมยอมรับร่วมกัน สังคมได้มอบความเชื่อถือไว้วางใจให้สถาบันศาลเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างรัฐและประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองให้ยังคงมีพื้นที่ที่เป็นธรรมในการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ยืนยันหลักการ แนวคิด ความเชื่อของตนเอง เพื่อสร้างสังคมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ที่สุดแล้วอาจกล่าวได้ว่า สถาบันศาลหรือสถาบันตุลาการท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ควรเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม" แถลงการณ์ระบุ

ในท้ายแถลงการณ์ได้มีองค์กรกฎหมายร่วมลงชื่อแล้ว 11 องค์กร และยังคงเปิดรับรายชื่อบุคคลและองค์กรเพิ่มเติมอีก ตามลิงก์ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfFEWyGErwtXyH72eXJ48lRvdYwux-Uxmo_Gh3OLaBKfT0rJQ/viewform 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

แถลงการณ์ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ว่าด้วยอุดมการณ์ผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในคดีการเมือง

ภายใต้สถานการณ์สังคมที่รัฐใช้อำนาจและกฎหมายตามอำเภอใจนั้น ประธานศาลฎีกาคนที่ 47 ได้กำหนดนโยบายเข้ารับตำแหน่ง คือ ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย และได้กำหนดนโยบายข้อ 1 คือ ส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม โดยปรับปรุงกระบวนการในชั้นฝากขังและการปล่อยชั่วคราวให้เกิดการบูรณาการเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้สังคม

ภายใต้นโยบายส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรมนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหลายคนไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว แม้จะยังอยู่ในฐานะผู้ต้องหาเท่านั้น ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) , โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) , พรพจน์ แจ้งกระจ่าง (เพชร พระอุมา), เวหา แสนชนชนะศึก, ปฏิมา ฝากทอง , ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ), เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) ฯลฯ และคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน , สมบัติ ทองย้อย ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและไม่เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา

บางคดีแม้ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัวเพื่อป้องกันการหลบหนีแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีการกำหนดระยะเวลาห้ามออกจากเคหสถาน เช่น กรณีของบุ้ง ใบปอ และเมนู(สุพิชฌาย์ ชัยลอม) กลุ่มทะลุวัง ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 16.00 – 06.00 น. และในคดีของไผ่ , จิตริน , ต๋ง และทรงพล กลุ่มทะลุฟ้า ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 – 06.00 น. ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตและขัดต่อหลักการปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 112 วรรคท้ายที่บัญญัติว่า “ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว หรือผู้ประกันต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งถอนประกันใบปอและบุ้ง กลุ่มทะลุวัง โดยให้เหตุผลทำนองว่า จากการที่กลุ่มผู้ต้องหาโพสต์ข้อความชักชวนให้เข้าร่วมเหตุชุมนุม จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีลักษณะและวิธีการในทำนองเดียวกันกับการกระทำของผู้ต้องหากับพวกตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังมาแล้ว และการโพสต์ดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากกลุ่มของผู้ต้องหาเข้าร่วมชุมนุมหรือสังเกตการณ์การชุมนุมของผู้ต้องหากับพวกด้วย อันอาจทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ และได้ปรากฏข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายท้ายคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวว่า นอกจากกลุ่มของผู้ต้องหากับพวกแล้ว ยังมีกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร่วมชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้ต้องหากับพวก ร่วมกันทำกิจกรรมอยู่ด้วย และในระหว่างทำกิจกรรมมีเหตุชุลมุนเนื่องจากมวลชนกลุ่มทะลุวัง ได้เดินเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม ศปปส. การกระทำของผู้ต้องหาจึงถือได้ว่า เป็นการเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามตามที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา

คำสั่งศาลที่ให้เหตุผลในการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามจาก

นักกฎหมาย ทนายความและสาธารณชนเป็นอย่างมากว่า อาจเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ

ประการแรก ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วันที่ 13 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเหตุที่นำมาอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนั้น เป็นเพียงเหตุการณ์โต้เถียง ชุลมุนกันเล็กน้อยในระยะเวลาไม่นาน และเป็นปกติธรรมดาของการชุมนุม ไม่ถึงขนาดเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การที่ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงรากฐานแนวคิดและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมที่คับแคบและผิวเผิน ผิดไปจากเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ประการที่สอง เงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทั้งในคดีของกลุ่มทะลุวัง และในคดีที่ประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอื่นๆ ทั้งที่ “การกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” นั้น ยังไม่ถูกฟ้องเป็นคดีหรือยังไม่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด คำสั่งในลักษณะดังกล่าวอาจถูกตั้งคำถามว่าไม่ชอบด้วยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย นอกจากนี้อาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นการใช้กฎหมายที่เกินกว่าขอบเขตอำนาจของศาลและมุ่งหมายเพื่อปิดปากประชาชนหรือไม่

แม้การพิจารณาอรรถคดีจะเป็นดุลพินิจอิสระของศาล แต่ดุลพินิจที่ขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง พึงได้รับการตรวจสอบ ไม่เช่นนั้น การใช้ดุลพินิจอิสระของศาลอาจเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ และมุ่งหมายผลในทางการเมือง ภายใต้อคติความชอบ ความชัง ความกลัว ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมาก

ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 1 อุดมการณ์ของผู้พิพากษาถูกกำหนดไว้ในข้อ 1 ว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

ข้อ 33 กำหนดไว้ว่า

“ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ”

ศาลคือผู้รักษากฎกติกาสูงสุดที่สังคมยอมรับร่วมกัน สังคมได้มอบความเชื่อถือไว้วางใจให้สถาบันศาลเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างรัฐและประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองให้ยังคงมีพื้นที่ที่เป็นธรรมในการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ยืนยันหลักการ แนวคิด ความเชื่อของตนเอง เพื่อสร้างสังคมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ที่สุดแล้วอาจกล่าวได้ว่า สถาบันศาลหรือสถาบันตุลาการท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ควรเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย #คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ #คำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมืองต่อไป

 

4 พฤษภาคม 2565

องค์กรผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์

  1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
  2. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
  3. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
  4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
  5. ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน
  6. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
  7. ศิลปะปลดแอก
  8. มูลนิธิเพื้อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  9. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  10. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน อำเภอศีขรภูมิ
  11. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net