Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมจัดงาน ‘ถ้อยแถลงคำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชน: สมรสเท่าเทียม’ ในวัน IDAHOT ที่หน้าหอศิลป์ฯ ชี้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 ขัด รธน. ต้องขยายสิทธิสมรสให้ครอบคลุมทุกคน  

 

17 พ.ค. 2565 ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม ‘Mobdata’ รายงานวันนี้ (17 พ.ค.) เวลา 17.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่มเสรีเทยพลัส เฟมินิสต์ปลดแอก และกลุ่มอื่นๆ ร่วมจัดกิจกรรมถ้อยแถลงคำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชน เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia - IDAHOT)

บรรยากาศกิจกรรม (ที่มา iLaw)

เวลา 17.25 น. ผู้ร่วมกิจกรรมทยอยมารวมตัวกันที่สกายวอล์คปทุมวัน เช่น ‘แรปเตอร์’ สิรภพ อัตโตหิ มาในชุดเดรสยาวสีขาวและ ‘ต้น’ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ สวมชุดธีมสีรุ้ง เขียนข้อความที่หน้าผากว่า #สมรสเท่าเทียม มีการแสดงภาพคำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชนที่ 1/2565

เวลา 17.38 น. แรปเตอร์ อธิบายเรื่องวันที่ 17 พ.ค.ของทุกปีว่า เป็นวัน IDAHOT หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ และกล่าวทำนองว่า ไทยเป็นประเทศที่มักจะมองว่า เป็นสวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีกรณีความรุนแรงทางเพศ หลายครั้งเรามองข้ามความรุนแรงความเกลียดกลัวที่ทั้งปรากฏตัวและแอบซ่อนอยู่ในสังคมไป การรวมตัวในวันนี้คือการบอกว่า ประเทศที่ถูกมองว่า ยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้นยังมีความเกลียดกลัวและอคติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ วันนี้เราจะยืนยันสิทธิและเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ขอเชิญชวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาเป็นเพื่อนและต่อต้าน ยุติความเกลียดกลัวต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ด้าน ‘ต้นอ้อ’ เฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวถึง Feminist judgment ว่าเป็นสิ่งที่มีขึ้นในหลายประเทศ ยืนยันว่า ประชาชนสามารถออกแบบคำพิพากษาเองได้  ในส่วนของไทยมีการออกแบบคำพิพากษาร่วมกันเช่นของคณะตุลาการประชาชนในวันนี้

เวลา 17.44 น. ตัวแทนอ่านคำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชนที่ 1/2565 โดยสรุปเป็นเรื่องของเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคํา ยื่นคําร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้มีคําสั่งรับจดทะเบียนสมรส เนื่องจากทั้งสองเป็นผู้หญิงและผู้หญิง และอยู่กินกันมากกว่า 10 ปี ทั้งคู่ต้องการได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายผ่านการจดทะเบียนสมรส โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ผู้ร้องทั้ง 2 คนยื่นจดขอทะเบียนสมรส แต่ได้รับการปฏิเสธจากนายทะเบียน เนื่องจากกฎหมายกําหนดให้ บุคคล ชายและหญิง เท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการ สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งต่อคําร้องของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับเลือกไม่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คณะตุลาการประชาชนเห็นว่า มาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขัดต่อมาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 รัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 27 จะบัญญัติว่า ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ก็มิได้หมายความว่าบุคคลที่มีเพศสภาพหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างออกไปไม่มีสิทธิเสมอกัน การไม่เลือก ปฏิบัติทางเพศนั้นย่อมหมายความรวมถึงบุคคลทุกคนไม่ว่าเพศไหน หากกฎหมายยังคงจํากัดเพศอยู่เพียงหญิง และชาย อันเป็นเพียงเพศกําเนิด ย่อมทําให้บุคคลส่วนหนึ่งของสังคมถูกเลือกปฏิบัติในทางเพศ เป็นการไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

‘ต้น’ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ สวมชุดธีมสีรุ้ง เขียนข้อความที่หน้าผากว่า #สมรสเท่าเทียม (ที่มา iLaw)

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะตุลาการประชาชนจึงวินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 จึงมีคําสั่งให้

1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1448 และมาตราที่รับรองการสมรสเพียงชายและหญิงทั้งหมดขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขัดกับหลักความเสมอภาค เพราะไม่ได้รวมบุคลทุกคน แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนของการสมรสของหญิงและชาย

2) ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทําการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1448 มาตราต่างๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสทั้งหมด เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ทุกคนได้เข้าถึงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศภายใน 1 ปี

3) ในระหว่างที่มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง ให้คู่รักเพศหลากหลายจดทะเบียนสมรสได้ก่อน เพื่อรับรองสิทธิของบุคคล และให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม

4) ให้มีการศึกษากฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ ที่อ้างอิงกฎหมายสมรสเดิมทั้งรัฐและเอกชนและออก กฎหมายหรือแก้ไขให้สอดคล้องใหม่ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตั้งครรภ์ กฎหมายว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ภายใน 1 ปี

ระหว่างที่คำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชน มีนักกิจกรรมมา #ยืนหยุดขัง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่น้อยกว่า 11 คน จากนั้น เมื่ออ่านคำวินิจฉัยเสร็จมีการแสดงสีดาลุยไฟ เพื่อต่อต้านการเพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมทางเพศและเคลื่อนขบวนไปที่นิทรรศการ #ซุ่มเสียง ซึ่งจัดที่ลิโด้ คอนเน็ค 

สำหรับการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังไม่มากนักบริเวณสกายวอล์คปทุมวัน โดยที่ด้านข้างวังสระปทุม ฝั่งสยามดิสคัฟเวอรี่มีตำรวจหญิงในชุดเสื้อโปโล กางเกงสีกรมท่าวางกำลังอยู่

 

อ่านคำวินิจฉัยตุลาการประชาชนฉบับเต็ม: https://drive.google.com/file/d/13r5XlFhcMyIDgVKv2NgAGRf1TjFqDAyK/view?usp=drivesdk
 

ภาพจาก iLaw บรรยากาศกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net