Skip to main content
sharethis

"POST2010" นิทรรศการที่รวมภาพถ่ายการขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 12 ปี ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก "คนเสื้อแดง" ถูกล้อมปราบการชุมนุมเมื่อเมษา-พฤษภาปี 53 วงเสวนาสะท้อนถึงภาวะการถูกกดปราบเสรีภาพจากรัฐเผด็จการ แต่ผู้คนยังคงพยายามดันเพดานการใช้เสรีภาพที่จะพูดถึงใจกลางปัญหาการเมืองไทยอย่างสถาบันกษัตริย์จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา

10 มิ.ย.2565 ที่คาเทล อาร์ทสเปซ มีเสวนาประกอบนิทรรศการภาพถ่าย “POST2010” ของกานต์ ทัศนภักดิ์ ที่เล่าเรื่องราวของขบวนการประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน ในปัจจุบัน โดยในงานเสวนาได้กล่าวถึงประสบการณ์ของนักวิชาการ ศิลปิน นักเคลื่อนไหวที่ผ่านช่วงเวลานั้นมา

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่เคยร่วมอยู่ในศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ที่รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมครั้งนั้นที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน เหตุการณ์นี้ได้สร้างความเจ็บช้ำให้กับคนที่ต้องสูญเสียเพื่อนพี่น้องจากการถูกสลายการชุมนุม อีกทั้งหลังการสลายการชุมนุมไม่กี่วันคนกรุงที่ทนมองเห็นคนเสื้อแดงมานานนับเดือนต่างก็ออกมาร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อล้างคราบเลือดคนที่ถูกรัฐฆ่า

แต่จากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เกิดสื่อออนไลน์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพราะคนจำนวนมากก็รับไม่ได้กับการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในเวลานั้น

พวงทองเล่าอีกว่าเวลา 12 ปีที่ผ่านมา การรับรู้เกี่ยวกับการปราบคนเสื้อแดงเปลี่ยนไปเยอะมาก ในปี 2553 คนเสื้อแดงไม่เคยได้มีพื้นที่ในสื่อหรือพื้นที่ในแกลอรี่แบบนี้ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา ถ้าจะมีอยู่บ้างก็เป็นพื้นที่บนท้องถนนเป็นการรำลึกการเสียชีวิตที่จัดขึ้นที่แยกราชประสงค์เพื่อดึงพลังของคนเสื้อแดงให้กลับมาและประกาศว่าที่แห่งนั้นมีคนตาย แต่วันนี้คนรุ่นใหม่ก็ได้พยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนเสื้อแดงมากว่าจากคำบอกเล่าให้ร้ายคนเสื้อแดงของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามปฏิเสธการบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมืองเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ทำให้เห็นว่าความสูญเสียของคนเสื้อแดงเกิดจากการวางแผนสังหารหมู่คนเสื้อแดงของรัฐบาลในเวลานั้น

“ทำให้เห็นว่าถึงเราจะไม่สามารถครอบครองพื้นที่ในสื่อกระแสหลักหรือในหน่วยงานราชการหรือในพื้นที่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมครอบงำไว้ได้ แต่ถ้าเรายืนยันที่จะสู้ที่จะทำ ดิฉันว่าเมื่อการเมืองมันเปลี่ยนสิ่งที่เราทำและสะสมกันไว้ 10 ปี 12 ปี มันก็ปรากฏผลออกมา” อดีตนักวิชาการจาก ศปช.กล่าว และได้เล่าต่อว่าตลอดเวลาที่ทำ ศปช.เมื่อมีการจัดเสวนาในเวลานั้นก็ไม่ได้มีสื่อกระแสหลักมาติดตามมากนัก เท่าที่เธอจำได้ก็มีเพียงแค่นักข่าวจากไทยรัฐที่ติดตามแต่เมื่อไปปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เป็นเพียงข่าวกรอบเล็กๆ เท่านั้น สื่อส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะไม่รับรู้แล้วก็ไม่รายงาน แต่ทุกวันนี้เมื่อมีการพูดถึงการสลายการชุมนุมครั้งนั้นก็เห็นว่าข้อมูลที่ใช้ก็มาจากรายงาน ศปช.

พวงทองกล่าวถึงเรื่องราวในภาพถ่ายของกาณฑ์ว่าได้ทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของขบวนการการต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่กลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 จนถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ที่จับประเด็นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เรื่องสถาบันกษัตริย์ และเสรีภาพของประชาชน ทำให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้กลายเป็นภาระของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

เธอบอกว่าชอบภาพที่เห็นคนรุ่นป้าหรือรุ่นเดียวกับเธอไปถือป้ายเรียกร้องหน้าเรือนจำให้ปล่อยคนรุ่นใหม่ 14 คน ที่ถูกขังคุกอยู่ ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ความรู้สึกของเขาที่ไม่ยอมปล่อยให้คนรุ่นใหม่สู้ตามลำพัง

พวงทองเล่าต่อว่าก่อนครบรอบ 10 ปี สลายการชุมนุม เรื่องราวของคนเสื้อแดงถูกพูดถึงในสื่อว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรง ภาพการเผาบ้านเผาเมือง ส่วนการบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นมโนทัศน์หลักและเป็นภาพที่ฝ่ายขวาต้องการจะให้เห็น

แต่ถ้ามองว่าภาพถ่ายคือการบันทึกประวัติศาสตร์แบบหนึ่งถ้าจะไปมากกว่าความรุนแรงโดยรัฐแล้วมันยังมีแง่มุมอื่นอีกหรือไม่เกี่ยวกับการต่อสู้

พวงทองยกตัวอย่างถึงตอนทำเว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพจำจากเหตุการณ์ในเวลานั้นคือภาพคนถูกแขวนคอ การทำร้ายร่างกายนักศึกษา แต่จะเห็นว่าภาพเหล่านั้นคือการทำร้ายศพของคนที่เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ในยุคสมัยใหม่นี้ต่อให้เป็นศพของฆาตกรก็จริงแต่เมื่อตายแล้วจะไปย่ำยีศพเขาไม่ได้ แต่การทำร้ายศพคนที่ตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้เห็นถึงความเกลียดชังอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าเงื่อนไขอะไรทำให้เกิดความเกลียดชังได้ขนาดนั้นแสดงให้เห็นถึงการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งน่าสนใจว่าอะไรทำให้คนเปลี่ยนไปใช้ความรุนแรงได้ขนาดนั้นแล้วถ้ามองย้อนกลับมาอาจจะคิดได้ว่าทำไมถึงทำได้ขนาดนั้น

พวงทองเสนอว่าถ้าสามารถนำภาพถ่ายเหตุการณ์สลายการชุมนุมมาเรียงลำดับโดยไม่บิดเบือน จะทำให้เห็นว่าเหตุการณ์เผาที่เกิดขึ้นเหล่านี้จริงๆ แล้วมันเริ่มมาอย่างไรทำไมคนเสื้อแดงต้องเผายางเพราะในความเป็นจริงก็คือพวกเขาถูกยิงมาก่อนแล้วทำให้พวกเขาต้องเผายางที่นำมาใช้แทนบังเกอร์นี้เพื่อสร้างควันมาพรางตาป้องกันตัวเองไม่ได้เผาเพื่อทำลายทรัพย์สิน หรือกรณีเซนทรัลเวิล์ดก็จะเห็นว่าก่อนที่ห้างจะถูกเผาทหารก็อยู่รอบพื้นที่แล้วและจากคำบอกเล่าของหัวหน้าฝ่ายป้องกันอัคคีภัยของห้างก็ออกมาบอกว่าพอเกิดไฟไหม้แล้วแต่ทหารที่อยู่รอบๆ ก็ปล่อยให้ไฟไหม้แล้วก็ไม่ยอมให้รถดับเพลิงเข้าไปดับไฟ

“ดังนั้นภาพมันขึ้นอยู่กับคุณ คุณจะมีคำถามอะไรหรือมีประเด็นอะไร ก็อยากจะฝากไว้เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ก็มีหลายแง่มุม ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีด้านเดียว พวกเขาก็มีประวัติศาสตร์ของเขา เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้อีกยาวนาน”

กานต์ ทัศนภักดิ์(ซ้าย) พวงทอง ภวัครพันธุ์(กลาง) กฤติยา กาวีวงศ์(ขวา) ภาพโดย ตะวัน พงศ์แพทย์

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการ The Jim Thompson Art Center เล่าถึงแวดวงศิลปะในช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ศิลปินที่สนับสนุนคนเสื้อแดงหรือต้องการประชาธิปไตยไม่มีพื้นที่จัดแสดงงานหรือจะมีพื้นที่ที่จะสามารถคุยเรื่องการเมืองได้เลย แล้วหลังการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ไม่กี่วันก็มี Big Cleaning Day แล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพก็จะมีนิทรรศการชื่อ “ฝันถึงสันติภาพ” ทั้งที่เพิ่งมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น แต่เมื่อมีศิลปินไทยที่อยากจะแสดงผลงานประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องที่พูดไม่ได้ในเมืองไทยก็ต้องไปแสดงในต่างประเทศแทน

เธอเล่าถึงงานจัดแสดงศิลปะหัวข้อ “Bang-Kok” ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะในเกาหลีใต้ โดยหัวข้อของงานนี้เป็นการพูดถึงการแบ่งขั้วกันทางการเมืองอย่างชัดเจนในเวลานั้น ซึ่งในเวลาก็ได้นำงานของกานต์ที่เป็นชุดภาพถ่ายชื่อ “Grey Red shirt” ที่พูดถึงประเด็นอคติที่มีต่อคนเสื้อแดงไปจัดแสดง และยังได้นำงานศิลปะที่พูดถึงความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมของคนอื่นๆ ไปจัดแสดงด้วย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยเอางานที่ไปจัดแสดงในเกาหลีใต้กลับมาจัดแสดงในเมืองไทยเพราะเวลานั้นไม่มีที่ให้จัดแสดงได้

กฤติยาชี้ว่าการสลายการชุมนุมครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของศิลปินหลายคนที่ไม่เคยสนใจทางการเมืองก็ตาสว่างขึ้นมา มีความคิดทางการเมืองแล้วก็เริ่มผลิตผลงานที่มีความเป็นการเมืองมากขึ้น แล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก็เห็นความแตกต่างในวงการศิลปะมากขึ้น จากแต่เดิมที่หลายสถานที่ไม่อยากให้จัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เพราะกลัวจะถูกจับหรือในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 บางที่ก็เคยมีทหารมาปิดงานศิลปะแต่ปัจจุบันก็มีมากขึ้น หรือเมื่อสิบปีที่แล้วก็มีเพียงงานภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมี” ที่พูดถึงความรุนแรงจากรัฐในอดีตของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลที่ไปได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่พอจะทำให้คนในแวดวงพอจะดีใจได้บ้าง แต่ปัจจุบันงานเหล่านี้จะจัดที่ไหนก็ได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ(ซ้าย) ทัศนัย เศรษฐเสรี (ขวา) ภาพโดย ตะวัน พงศ์แพทย์

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวไกล กล่าวถึงงานนิทรรศการภาพถ่ายที่บันทึกการเคลื่อนไหวทางการเมืองตอลด 10 ปีนี้ว่าตัวเขาเองอยากจะตั้งชื่อให้กับนิทรรศการว่า “จากสมาพันธ์ ศรีเทพถึงวาฤทธิ์ สมน้อย” ซึ่งทั้งสองคนต่างก็เสียชีวิตในการชุมนุมทางการเมืองในช่วงอายุไล่เลี่ยกัน แม้ว่าทั้งการตายของทั้งสองคนจะเกิดห่างกันถึง 10 ปีก็ตาม

ธนาธรกล่าวต่อว่า 12 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ 4 เรื่อง เรื่องแรกคือสิ่งที่เคยพูดกันในที่ลับอย่างเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ก็ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในที่สาธารณะการจะพูดถึงจะต้องใส่รหัสกันเพราะไม่ปลอดภัย แต่ด้วยความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะซึ่งเรื่องนี้เป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยในวันนี้

เรื่องที่สองคือความตื่นตัวทางการเมืองเยอะขึ้นมากสำหรับคนรุ่นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีอนาคตอยู่ เพราะถ้าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องการเมืองก็คือสังคมนั้นหมดหวังแล้ว แล้วการเมืองที่คนรุ่นใหม่สนใจยังไปถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรณรงค์ล่ารายชื่อได้ล้านกว่าคนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ใช้เวลานานกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งแล้วยังออกสูตรคำนวน ส.ส.ปาตี้ลิสต์มาหลังเลือกตั้งไปแล้วจนทำให้ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่พวกเขาเลือกหายไปหลายคนทั้งที่หากคำนวนตามที่นักวิชาการและสื่อมวลชนคำนวนไว้วันนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะต้องได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งการล่ารายชื่อครั้งนั้นถือว่าเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการรณรงค์ล่ารายชื่อได้มากถึงขนาดนั้น

ธนาธรกล่าวต่อไปถึงเรื่องการเชื่อมโยงเข้าหากันของขบวนการเคลื่อนไหวที่ทำประเด็นแตกต่างกันทั้งด้านการเมืองและเรื่องทรัพยากรของคนชายขอบหรือการร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนเสื้อแดง ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ยังสนใจหนังสือวิชาการเพิ่มมากขึ้นด้วย

เรื่องที่สาม ความเบ่งบานของวัฒนธรรม แม้ว่าในอดีตจะเกิดขึ้นมาหลายครั้งทั้งยุคเข้าป่าที่มีบทเพลงบทกวีออกมามาก แล้วก็มียุคคนเสื้อแดงอย่างเพลงที่ออกมาในยุคนี้ก็คือเพลงที่เนื้อหาพูดถึงไพร่กับอำมาตย์ แต่ก็ถูกกดทับลดน้อยถอยลงไปในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 แต่พอมาถึงยุคนี้ก็กลับมาเบ่งบานมากอีกครั้งโดยเขายกตัวอย่างของเพลง “เราขอสู้ในนามจามจุรี” และเป็นที่มาเป็นแฮชแท็ก “เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมขนลุกเลยครับ เพราะเรารู้ว่า 1 ในมหาวิทยาลัยที่ผลิตซ้ำค่านิยมอนุรักษ์นิยมมากที่สุดในสังคมไทยก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็น 1 ในเสาหลักทางวิชาการของสังคมไทยแล้วเด็กๆ ก็ลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เอาแล้ว ต่อจากนี้เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป” หัวหน้าคณะก้าวไกลยังได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา และยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ของเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาลภายในจุฬาฯ ก็ยังกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทุกครั้งที่เขาออกมา

ธนาธรยังได้ยกตัวอย่างการทำกิจกรรมการเมืองที่เอาเรื่องการ์ตูนมาสอดแทรกอย่างม็อบ “แฮมทาโร่” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ก็ปรับเอาเพลงเปิดของการ์ตูนมาใส่เนื้อหาการเมืองได้ ไปจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาพใหญ่ของกลุ่ม LGBTQ+

“นี่คือยุคเบ่งบานของศิลปะวัฒนธรรมก้าวหน้า นี่คือยุคเบ่งบานของศิลปวัฒนธรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

เรื่องสุดท้ายก็คือ การตกต่ำอย่างถึงที่สุดของฝ่ายขวาที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ทำให้เห็นว่าฝ่ายขวาไม่มีผู้เล่นทั้งในสภาและนอกสภา ไม่มีตัวแทนทางความคิดและทางสังคมที่มีพลังหรือเสน่ห์ไม่มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากพอ

“ถ้าคุณประยุทธ์เป็นตัวแทนของฝ่ายขวาก็เป็นนายกฯ ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือตัวแทนของฝั่งอนุรักษ์นิยมได้ยังไง”

อย่างไรก็ตาม ธนาธรก็มองว่าการที่ฝ่ายขวาไม่มีตัวเลือกที่พอจะมาทัดทานพลังฝ่ายก้าวหน้าได้แบบนี้ก็เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะจะนำไปสู่การใช้อำนาจดิบอย่างเช่นกฎหมาย หรือการใช้อำนาจแบบอื่นๆ มาจัดการปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น

“การพูดถึง 2010 ก็เพื่อตระหนักถึงปัจจุบันและเพื่อหาทางออกในอนาคต แล้วสิ่งที่สำคัญที่ต้องตระหนักให้มากก็คือเพราะว่าเราไม่สามารถปกป้องสมาพันธ์ ศรีเทพได้เราจึงมีวาฤทธิ์ สมน้อยในวันนี้”

ธนาธรชี้ให้เห็นปัญหาของการลอยนวลพ้นผิด เพราะถ้าสามารถทำให้คนที่ก่ออาชญากรรมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้และรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำได้ก็จะไม่เกิดการสูญเสียแบบที่เกิดกับวาฤทธิ์ได้อีก และเป็นความผิดของพวกเราที่ทำให้คนยิงสมาพันธ์ ศรีเทพลอยนวลไปได้จนเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

ธนาธรยังกล่าวต่อไปอีกว่าการที่ฝ่ายขวายังจับนักกิจกรรมทางการเมืองไปเข้าคุกอีกเพราะเขาต้องการให้เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการทำให้คนลืมแล้วก็ลดเพดานให้กลับลงมาเท่าเดิม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดันเพดานนี้ไว้เพราะมีคนที่สูญเสียเลือด เสียชีวิต เสียน้ำตา อีกมากตลอด 12ปีเพื่อยกเพดานการใช้เสรีภาพได้สูงเท่าทุกวันนี้และหากดันไปสูงกว่านี้ไม่ได้การดันไว้ไม่ให้ต่ำลงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ธนาธรกล่าวทิ้งท้ายว่านิทรรศการภาพถ่ายนี้ได้ทำให้เห็นว่าครั้งหนึ่งฝ่ายขวาเคยกดหัวประชาชนเอาไว้ได้ทำให้ความสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมาถูกลืม ทำให้กว่าจะกอบกู้ศักดิ์ศรีคนสมัย 6 ตุลาฯ ต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี สำหรับคนเสื้อแดงต้องใช้เวลาถึง 10 ปี นิทรรศการนี้จึงเป็นการย้ำว่าอย่าปล่อยความสูญเสียเหล่านี้ต้องเสียไป เมื่อต่อสู้มาได้ไกลขนาดนี้แล้วก็ต้องปกป้องเอาไว้เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาฟรี

กานต์ ทัศนภักดิ์ ช่างภาพเจ้าของผลงานได้กล่าวถึงประสบการณ์ของเขาตอนปี 2553 ได้ทำโปรเขคต์วิจัยเรื่องเกี่ยวกับมวลชนเสื้อเหลืองเสื้อแดงทำให้ได้ใกล้ชิดกับคนทั้งสองฝั่ง และการได้เจอกับคนเสื้อแดงทำให้ได้รู้ว่านโยบายของรัฐบาลทักษิณได้ปลดปล่อยพวกเขาจากการต้องรอความสงเคราะห์ช่วยเหลือ เช่น การมี 30 บาทรักษาทุกโรคก็ทำให้พวกเขาไม่ต้องไปรอรับเสด็จเพื่อจะได้เข้าเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ แต่เขาได้ใช้นโยบายที่มาจากเงินของตัวเองไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใคร ทำให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจเรื่องคนเท่ากันมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วแม้ว่าพวกเขาอาจจะพูดถึงความเท่าเทียมด้วยภาษาอีกแบบ

กานต์เล่าต่อว่าหลังจากนั้นก็ได้เข้าไปในที่ชุมนุมและอยู่ในเหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 เขาได้เห็นการยิงเข้าใส่คนเสื้อแดงและจากระดับความสูงของรอยกระสุนในที่เกิดเหตุก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการยิงเอาชีวิตกัน แต่วันถัดมาสื่อกลับรายงานแต่เรื่องทหารบาดเจ็บคนเสื้อแดงมีอาวุธ แล้วพอถึงการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พ.ค.2553 สื่อก็ยังเอาคลิปณัฐวุฒิ ไสยเกื้อที่พูดว่า “เผาเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” มารีรันซ้ำในโทรทัศน์ทั้งที่เป็นการพูดที่เกิดขึ้นหน้าจะถึงวันที่ 19 นานหลายวันแล้วซึ่งเวลานั้นรัฐก็ควบคุมสื่อได้หมด

เขายังได้เล่าถึงงานชุด Grey Red Shirt ว่างานชุดนี้เป็นงานที่ตอนนั้นก็หาที่แสดงในไทยได้ยาก แต่นอกจากจะแสดงไม่ได้แล้วตอนไปจัดแสดงที่ฟิลิปปินส์ก็ยังติดปัญหาว่าพอแสดงเสร็จแล้วส่งกลับมาไทยภาพถ่ายชุดนี้ก็ยังไปติดอยู่ที่ด่านศุลกากรอยู่หนึ่งเดือน

กานต์ยังเล่าคอนเซปต์ของงานชุด Grey Red Shirt ด้วยว่าตอนนั้นเขาเคยวางแผนจะทำเป็นเรื่องราวของคนทั้งเหลืองแดง แต่พอได้เห็นสถานการณ์การเมืองในเวลานั้นแล้วเขาก็เปลี่ยนเป็นโปรเจคต์ Grey Red Shirt แทนเพราะอยากตั้งคำถามกับคนดูว่าถ้าไม่เห็นสีเสื้อแดงแล้วยังจะเห็นคนเหล่านี้เป็นมนุษย์อยู่อีกไหมแล้วก็ทำภาพเป็นขาวดำทั้งหมด

ส่วนงานชุดล่าสุดที่จัดแสดงอยู่นี้ก็เป็นการไปตามเก็บภาพถ่ายจากการชุมนุมหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2554 หลังจากคนเสื้อแดงล้อมปราบแต่การชุมนุมในเวลานั้นไม่ได้มีพลังทางสังคมมากเท่าตอนนี้คนไม่ได้รับรู้กว้างขวางเท่า การติดตามเผยแพร่ปัญหาของการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ยังต้องทำอย่างลับๆ แม้ว่าข้อมูลผู้ถูกดำเนินคดีจะไม่ได้มีเรื่องน่ากลัวอะไร หรือแม้กระทั่งเรื่องงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่เวลานี้จะมีการพูดถึงในที่สาธารณะแล้วแต่ในเวลานั้นการจะเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นเรื่องน่ากลัวมาก

กานต์มีความเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้นอกจากเทคโนโลยีการสื่อสารแล้วอีกปัจจัยคือการเปลี่ยนรัชกาล เขาอธิบายว่าเหตุการณ์ทางการเมืองมากกมายได้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 การพูดเรื่องการเมืองเรื่องใดก็เป็นเรื่องยากที่จะไม่เชื่อมโยงไปถึงตัวกษัตริย์ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนรัชสมัยทำให้กฎหมายมาตรา 112 ไม่คุ้มครองย้อนกลับไปถึงกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ควรจะต้องมานั่งคุยกันถึงเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ อย่างเปิดเผยได้ว่าความคิดของฝ่ายใดถูก

“ประวัติศาสตร์ต้องมีการบันทึก จะเป็นข้อมูล เป็นภาพ เป็นเพลง หรือกวี และทุกชนชั้นต้องมีสิทธิถูกจดจำ ไม่เฉพาะชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเด็ดขาด” กานต์กล่าวทิ้งท้ายถึงชุดผลงานทั้งสองชิ้นของเขา

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงพื้นที่ในการแสดงออกของศิลปินในช่วงก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ว่า ในเวลานั้นไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนก็ยังสามารถถกเถียงได้อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน แต่หลังจากนั้นมาการใช้กฎหมายมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็เพิ่มสูงขึ้นมากจากสถิติที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเคยทำไว้ทำให้เห็นว่ามีการใช้ข้อหาเพิ่มถึง 400% หลังจากสลายการชุมนุมปี 2553 เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “นิติอัปลักษณ์”

“หลังจากนั้นมาศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดง ควายแดงที่เป็นศิลปินนักวิชาการ ค่อยๆ ถูกด้อยค่าลง” ทัศนัยกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง 2553 ที่ทำให้ไม่สามารถพูดหรือถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมาเหมือนแต่ก่อนแล้วจะยังอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ แต่หลัง 53 มีการใช้กฎหมายในการดำเนินคดีคนที่ออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ทั้งที่หลังรัฐประหาร 2549 มาคนยังพอคุยเรื่องนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันสถิติการใช้มาตรา 112 ยังต่ำมาก

ทัศนัยกล่าวต่อว่านอกจากมุมของการใช้อำนาจของรัฐเผด็จการมาจำกัดเสรีภาพแล้ว แต่ยังเป็นการด้อยค่าทำลายความเป็นมนุษย์มากที่สุดหลัง 6 ตุลาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกินไปกว่าการใช้อำนาจของรัฐมาจำกัดเสรีภาพแล้วแต่ได้บดขยี้ทำลายด้อยค่าความเป็นมนุษย์ จินตนาการ ทำให้ไม่มีความฝันใดๆ และจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไรและทำให้เราต้องเลือกที่จะฆ่าตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาทำอะไรกับเรา

เขาเห็นว่าการทำลายความเป็นมนุษย์ค่อยๆ เป็นไปมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ในขณะที่ขบวนการประชาชนฝั่งอนุรักษ์นิยมค่อยๆ เติบโตมากขึ้น แต่อีกฝ่ายกลับไม่มีพื้นที่แสดงออกของตัวเองการแสดงผลงานก็ต้องทำไปอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เขาได้ยกตัวอย่างถึงตัวเขาและเพื่อนศิลปินที่ไม่มีพื้นที่แสดงงานในเชียงใหม่มีแม้กระทั่งการบุกรุกห้องทำงานตะโกนด่าในมหาวิทยาลัยหรือเรื่องที่กฤติยาเล่าว่าต้องไปจัดแสดงงานที่เกาหลีใต้ก็ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ นอกจากนั้นขบวนการเสื้อแดงก็ถูกทำลาย ถูกดำเนินคดีต่างๆ หลายคดี แล้วก็เกิดรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้กระบวนการของนิติอัปลักษณ์นี้สมบูรณ์

อีกทั้งมหาวิทลัยยังกลายเป็นค่ายทหารพอมีการจัดเสวนาก็มีทหารเข้ามาจับตาสอดส่องโดยยังมีทางฝ่ายบริหารของมหาวิทลัยคอยให้ถ่ายการกระทำของทหารอีกด้วย แล้วฝ่ายบริหารยังมาทำหน้าที่คอยควบคุมขัดขวางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของนักวิชาการหรือศิลปินที่ถูกประทับตราว่าเป็นพวก “ควายแดง” ที่การพิจารณาขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการถูกปล่อยค้างไว้เป็นสิบปีโดยไม่มีการพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่หรือแม้กระทั่งการปรับขึ้นเงินเดือนก็ไม่เคยได้ จนสุดท้ายแล้วก็ต้องไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ

ทัศนัยเล่าว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนศิลปะก็มีการสอนมาตลอดว่าศิลปินเป็นอาชีพที่มีอิสระมากที่สุด แต่เขาเห็นว่าศิลปินไทยจำนวนมากนั้นเข้าข่ายที่เรียกได้ว่าเป็น “สลิ่ม” และมีกลุ่มที่ไม่แสดงตัวหรือไม่สนใจการเมืองเลยอีกมากเพราะวงการศิลปะไทยได้ให้ทั้งรางวัล ชื่อเสียงและรายได้สูงมาก ทั้งที่ช่วง 2540-2548 ศิลปินไทยมีความเป็นคนหัวก้าวหน้าเป็นรุ่นที่ศิลปินจำนวนมากเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ศิลปินเลือกจะทำงานศิลปะที่มีความเป็นการเมืองหรือสร้างผลงานที่แปลกใหม่ทั้งวิธีการและการใช้วัสดุออกมามาก

“แต่ศิลปินไทยในยุค 40-50 ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของอิสรชน กลับสยบยอมกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กดทับ ไม่มีแม้แต่หมาสักตัวที่จะเปลี่ยนตัวเองออกมาให้เป็นควายแดง เพราะกลัวเขาจะไม่ชวนแสดงงาน กลัวว่าจะไม่มีพื้นที่ในหอศิลปกรุงเทพ กลัวแกลอรี่นี้จะไม่รัก กลัวปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะไม่รัก” ทัศนัยวิจารณ์ถึงบทบาทของศิลปินในไทยที่เขามองว่าทรยศต่ออาชีพและความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

ทัศนัยยังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมที่ธนาธรได้กล่าวไว้นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนทำงานศิลปะ แต่เกิดจากคนนอกโรงเรียนศิลปะที่ใช้วิธีการมากมายกว่าคนที่ฝึกฝนมาเป็นศิลปินและยังไม่สนใจด้วยว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นจะถูกนิยามว่าเป็นศิลปะหรือไม่แต่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของการไม่สยบยอมต่ออำนาจที่กดทับอยู่มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งการใช้วรรณกรรม วิชาการและศิลปะมาแสดงออกทางการเมืองเพราะในเวลานั้นไม่สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น การไปถือกระดาษเปล่า ชูสามนิ้ว ชูสาก

เมื่อการรัฐประหารผ่านไป 5 ปี การแสดงออกทางการเมืองก็เริ่มเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาทั้งความอยุติธรรมของมาตรา 112 ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ที่จะต้องปรับปรุง แต่ก่อนหน้านั้นใครพูดเรื่องเหล่านี้ก็ต้องลี้ภัยออกไปจากประเทศ

“เรื่องนี้ทำให้ผมมีความหวังมากขึ้น แต่ไม่ได้หวังจากโลกศิลปะหรือโลกวิชาการ ผมหวังกับกระบวนการกระเพื่อมทางสังคมเหล่านี้ ที่ประกอบไปด้วยภาคประชาสังคมจำนวนมาก ทั้งเสื้อแดง ไม่แดง เสื้อส้ม คนรุ่นใหม่ เยาวรุ่น หรือรุ่นหงำเหงือกอะไรตามที่มาปะติดปะต่อกันและเป็นพลังที่ต้านทานได้ยากแล้ว”

ทัศนัยแสดงตัวอย่างของปรากฏการณ์ข้างต้นว่า เช่นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคต่างๆ หรือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ ที่สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม จารีตนิยมเผด็จการได้พังทลายลงและฟื้นกลับมาไม่ได้

ทัศนัยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนหน้านี้เขารู้สึกสิ้นหวังมาก ทั้งจากการรัฐประหาร 2549 การด้อยค่าความเป็นมนุษย์ เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และอีกหลายเหตุการณ์หลังจากนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีความหวังมากขึ้นจากผู้คนที่ได้พบเจอในเวลานี้ การที่งานภาพถ่ายที่สะสมมาตลอด 12 ปีของกานต์ได้ถูกนำมาจัดแสดง

นิทรรศการ "POST2010" ของกานต์ ทัศนภักดิ์ จัดแสดงอยู่ที่ Cartel Artspace ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.-9 ก.ค.2565 ทุกวันในเวลา 13.00 - 18.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net