Skip to main content
sharethis

15 มิ.ย. ครบรอบ 2 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยต่อสาธารณะว่า กษัตริย์ทรงเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 ก่อนที่ 5 เดือนหลังจากนั้นออกมาบอกว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุมีอย่างน้อย 201 คน ใน 216 คดี ม. 112

ภาพและรายงานที่ BBC ไทย โพสต์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะนี้มีผู้นำมาแชร์เพื่อย้อนทบทวน

17 มิ.ย.2565 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 2 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกกล่าวถึงการดำเนินคดีตาม ม.112 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลานั้นที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังข่าวการถูกอุ้มหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชาถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. 63 สร้างปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องการหาตัวเขา พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก #saveวันเฉลิม และ #RIPวันเฉลิม ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องกว่า 2 วัน จากนั้นในวันที่ 7 มิ.ย.63 ในทวิเตอร์ #ยกเลิก112 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อีกด้วยยอดกว่า 50 K ทวีต ก่อนสิ้นวันไปที่ 352K ทวีต

ตามรายงานของ BBC ไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. กล่าวถึงความกังวลต่อการละเมิดการก้าวล่วงสถาบัน พร้อมขอร้องทุกคนอย่าไปเชื่อกลุ่มที่บิดเบือน ที่สร้างความเกลียดชัง ยึดโยงโน่นนี่กันมา มันไม่มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว โดย นายกฯ กล่าว ซึ่งคาดว่าหมายถึงการเชื่อมโยงสถาบันกับการหายตัวไปของ วันเฉลิม 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าแม้จะมีกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินคดี

"สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ หมายความว่ายังไง ต้องการอะไรกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า เขามีความจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ ส่วนกรณีนายวันเฉลิมนั้น กัมพูชาบอกว่าพร้อมจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ หากมีคนไปแจ้งความหรือร้องทุกข์ ซึ่งทางกัมพูชาได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นสถานการณ์การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนถึงมีข้อเสนอเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ยังคงดำเนินต่อเนื่องทั้งการปราศรัยและการชุมนุม รวมทั้งความพยายามสลายการชุมนุมของรัฐ ขณะที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนองยิ่งสร้างแรงปฏิกิริยาจากผู้ชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันมากขึ้น

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 201 คน ใน 216 คดี 112

จนวันที่ 20 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับ ดำเนินคดีผู้ชุมนุม ส่งผลให้การใช้ ม.112 กลับมาจำนวนมาก

ล่าสุด 16 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เกาะติดคดีนี้ รายงานว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความฯ นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 201 คน ใน 216 คดี

  • ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 101 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
  • พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 44 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 55 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 107 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 10 คดี
  • ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 16 ราย
  • ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 73 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษามธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ
  • คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 122 คดี

แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี
  • อานนท์ นำภา 14 คดี
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี
  • ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี
  • เบนจา อะปัญ 7 คดี
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 6 คดี
  • พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี
  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี
  • ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี
  • วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี
  • ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี
  • สมพล (นามสมมติ) 6 คดี

อ่านรายละเอียดสถิติข้อมูลคดี ม.112 ได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/23983

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกกลับมาใช้งานนั้น ตามประชาไทเคยรายงานไว้เมื่อปลายปี 2562 พบว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ในช่วงที่ผ่านมาจากการแสดงความคิดเห็นแม้จะลดลง หรืออาจจะเรียกว่าไม่มีคดีใหม่เลย ทางหนึ่งอาจเป็นการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” แต่อีกกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ใช้จัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่ ‘ถูก’ เจ้าหน้าที่มองว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็มีกระบวนการคุมตัว บังคับให้ข้อมูลและทำข้อตกลงหรือ MOU ที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออก มองว่า ไม่ถือว่าอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย เพราะหากตามกฎหมายนั้นไม่ต้องทำความยินยอม เมื่อมีหมายจับหรือหมายเรียกก็ต้องปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงกระบวนการนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือให้เซ็นชื่อยินยอมให้ข้อมูลที่ไม่ได้แจ้งผู้ถูกซักถามตั้งแต่แรก ทำให้คนเหล่านั้นไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการมัดมือชกภายหลัง ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายนั้นต้องมีหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หรือต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา ที่ไม่สามารถเอาตัวหรือเรียกว่าเชิญตัวไปคุยก่อน รวมทั้งการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net