Skip to main content
sharethis
  • ผู้ว่าฯ กทม. เปิดทดลองระบบราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์เป็นพื้นที่นำร่องในพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิของกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลหลักและให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากที่สุดผ่านการใช้เทคโนโลยี โดยดึงคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นลูกข่ายกับโรงพยาบาลในสังกัดกทม.
  • กลุ่มเส้นดายคาดหากกทม. ทำสำเร็จจะเป็นผลดีต่อประชาชนและโรงพยาบาลในระยะยาว

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม.

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. รายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมการงานเปิดโครงการราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์โมเดล รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์และร่วมทดลองระบบการปฎิบัติงานผ่านการจำลองสถานการณ์ เช่น การรับ-ส่งตัวผู้ป่วย, การคัดกรองและให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลเมดิซีน, การเข้ารักษาและวินิฉัยผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชน, จำลองการเยี่ยมบ้านไตรภาคีและการใช้เทเลโฮมแคร์

เดอะรีพอร์ตเตอร์  รายงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังร่วมงานการแถลงข่าว “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1: Health Security” ว่าในขณะนี้กทม. ได้จัดทำแซนด์บ็อกซ์ 2 แห่งทั้งดุสิตโมเดลและราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยยังเน้นไปถึงการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีเทเลเมดิซีนและการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายกับเครือข่ายเส้นเลือดฝอยระดับชุมชน

นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการเพิ่มจำนวนอสส. ประจำชุมชนและเพิ่มสัดส่วนของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัครเทคโนโลยีเพื่อส่งข้อมูลจากชุมชนให้แก่กทม. พื้นที่ 6 เขตในราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์นี้เป็นเพียงพื้นที่ทดสอบก่อนที่จะกระจายความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มปลุกกรุงเทพฯ และกลุ่มเส้นด้าย ได้ออกมาเรียกร้องและรณรงค์ให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุข รวมถึงผลักดันนโยบายระบบบริการสาธารณสุขด่านแรกหรือการแพทย์ปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ครอบคลุม

ดุสิตโมเดล-ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ คืออะไร?

ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบาย ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ว่าดุสิตโมเดล เป็นโครงการที่วชิระพยาบาล ปฏิบัติงานร่วมกับสำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคลินิกอบอุ่นในพื้นที่ ซึ่งเป็นการบูรณาการที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการเข้าถึงประชาชนอย่างใกล้ชิดที่สุดและให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดหนัก รวมทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อและเชื่อมต่อผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลเบื้องต้นและแบบซับซ้อน ไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่สอดคล้องกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนที่มีอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ทดลองที่มีมาก่อนราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากวชิรพยาบาลมีความพร้อมมากกว่า 

เฟซบุ๊กโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. รายงานว่าราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นจากการนำยุทธศาสตร์ “9ด้าน 9ดี” ของผู้ว่าฯ กทม. โดยจำทำเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทดลองเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิหรือสถานพยาบาลท้องถิ่น ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือและใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา,บางแค, หนองแขม, ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน โดยมีโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นแม่ข่ายผ่านการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์, ศูนย์บริการสาธารณสุข, สำนักอนามัย, สำนักงานเขตพื้นที่, สำนักงานหลักประกันสุขภาพ, สถานพยาบาลเอกชน, เครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่  ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบสาธารณสุขให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการรักษาปฐมภูมิ ระบบการส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการบริการ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นระบบภายในเขตพื้นที่การทดลอง

ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ประกอบด้วยหลายโครงการย่อย เช่น การเปิดศูนย์สนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง, ระบบให้คำปรึกษาผู้ป่วยออนไลน์ (Telemedicine), ระบบการปรึกษาระหว่างแพทย์ในคลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล (Telemedicine consult), ระบบการเยี่ยมบ้านและติดตามอาการออนไลน์ (Urban medicine home care), ระบบบริการสาธารณะสุขเคลื่อนที่ (Commu-lance) 

เป้าหมายเพื่ออะไร? ประชาชนได้อะไร?

โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ รายงานว่าการสร้างพื้นที่การทดลองในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากที่สุด ให้สามารถเทียบเคียงได้กับโรงพยาบาลหลักหนึ่งแห่ง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าเมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ปกติหรือในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ก็จะยังมีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลรองรับแน่นอน ประชาชนในทุกชุมชนจะสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม รวมไปถึงการส่งตัวผู้ป่วยในกรณีรุนแรงสามารถส่งต่อได้โดยตรง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็วขึ้น                                                                                                                                

การนำระบบปรึกษาแพทย์ออนไลน์มาใช้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกโดยตรงให้แก่ผู้ป่วยซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารับบริการภายในโรงพยาบาล โดยจะมีแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษา จ่ายยา เฝ้าสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดผ่านระบบดิจิทัล ระบบนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือการวิกฤตโรคระบาดในอนาคตได้ดีขึ้น เกิดช่องโหว่ในการทำงานน้อยลง 

นอกจากนั้นถ้าพื้นที่การทดลองนี้ประสบความสำเร็จ ยังจะส่งผลดีในระยะยาวต่อระบบสาธารณสุข ต่อการเชื่อมโยงโรงพยาบาลกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน, ร้านขายยา เป็นการช่วยลดความแออัดและภาระงานในโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยในกรณีที่รุนแรง

เกิดการทบทวนเอกสารใหม่และตรวจสอบสิทธิการการรักษาพยาบาลของประชาชนในพื้นที่ใหม่ รวมทั้งปรับวิธีการทำงานและระบบการทำงาน ใช้มาตรฐานในการกำกับเดียวกัน ซึ่งช่วยลดความล่าช้า และความยุ่งยากของงานเอกสารในศูนย์บริการสาธารณสุข โดยมีการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบเอกสารจากระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิที่สะดวก เป็นระบบมากขึ้นและไม่ต้องจัดหากำลังคนเพิ่มมาก                                                                                                                                  

โครงการนี้ดำเนินการอย่างไร?                                           

สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่าราชพิพัฒน์แซนด์บ๊อกซ์ใช้กลไกคลินิกเอกชน ที่เข้าร่วมกับโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นกว่า 20 แห่งที่กระจายอยู่ในทั้ง 5 ฝั่งธนบุรี โดยประชาชนที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลราชพิพัฒน์ทั้ง 3 กองทุน (บัตรทอง สปสช., ประกันสังคม, ข้าราชการ) สามารถเข้ารักษากับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ลงทะเบียนเป็นเครือข่ายไว้กับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ในฐานะแม่ข่ายจะทำการสำรองจ่ายล่วงหน้าให้ก่อน เนื่องจากทางประกันสังคมยังไม่สามารถเบิกจ่ายให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นได้โดยตรง รวมทั้งหากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือต้องการพบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกจะสามารถส่งตัวเพื่อไปรักษาต่อกับทางโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ได้ทันที  

นอกจากนี้ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกได้ จะมีการนำระบบปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (TeleMedicine) เข้ามาช่วยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปรึกษาทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าโดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลักเพียงอย่างเดียว รวมทั้งในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือรุนแรงก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก โดยระบบนี้จะทำให้ลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข                                                      

การรักษาปฐมภูมิที่หายไป จนความแออัดในโรงพยาบาลกลายเป็นภาพชินตา

สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานเพิ่มเติมว่าความหนาแน่ในโรงพยาบาล สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขกำลังเผชิญกับปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนต้องการที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิอยู่ ไม่ว่าจะป่วยมากหรือน้อยเพียงใด 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าระบบแพทย์ปฐมภูมิของคนกรุงเทพฯ ที่ช่วยส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู หายไปไหน ในเมื่อกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งทีมด่านหน้าอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุข 69 เเห่ง เนื่องจากเรายังไม่เห็นบทบาทที่ชัดเจนในเชิงรุกในการทำหน้าที่ส่งเสริมและป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล     

ปัญหาระบบการรักษาปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพฯ เเบ่งออกได้เป็น 6 หัวข้อ

  1. ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. มีไม่เพียงพอ 

คริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิเส้นด้าย ให้สัมภาษณ์ว่าในขณะที่ประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมกับประชากรแฝงนั้นมีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ส่วนทางกับศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. ที่มีเพียง 69 แห่ง ซึ่งหมายความว่าหนึ่งศูนย์ต้องดูแลประชากรกรุงเทพฯ มากถึงประมาณ 82,000 คน ดังนั้นศูนย์บริการสาธารณสุขจึงไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมการรักษาปฐมภูมิทั้งหมดของประชากรในกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน รวมทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นก็ปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการทุจริตของคลินิก

เมื่อมีศูนย์บริการสาธารณสุขน้อย ผู้ป่วยก็ต้องไปแออัดเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งทำให้โรงพยาบาลหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังคงต้องรองรับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาระดับปฐมภูมิและโรคพื้นฐานอยู่         

คริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิเส้นด้าย (แฟ้มภาพ)                             

สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ รายงานว่าในบางพื้นที่มีประชากรที่แอดอัดมาก แต่คลินิกที่เข้าร่วมให้บริการนั้นมีไม่เพียงพอ คนไข้บางคนอยู่ใกล้คลินิกแต่ก็ไม่สามารถเข้ารักษากับที่นั้นได้เนื่องจากคลินิกรับสิทธิคนเต็มแล้ว ทำให้คนไข้ต้องข้ามไปอีกเขตเพื่อรักษากับคลินิกที่สิทธิว่างอยู่ ซึ่งคนไข้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง คนไข้หลายคนจึงยอมที่จะเสียเงินรักษากับคลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากในการเดินทาง                                                                                                                 

  1. บุคคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุขมีจำนวนจำกัด

คริส ได้อธิบายเพิ่มเติมว่านอกจากจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอแล้วนั้น บุคคลากรทางการแพทย์ก็มีจำนวนจำกัดเช่นเดียวกัน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชาชนที่ต้องการเข้ามารับบริการ รวมทั้งแพทย์ในศูนย์ยังถูกแบ่งไปเพื่อออกตรวจผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างจำกัด, ต้องรอคิวการเข้ารักษานาน, ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาไม่ทั่วถึง, การบริการทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยในพื้นที่ได้รับการรักษากันอย่างตามมีตามเกิด

พยาบาลและบุคคลากรในศูนย์บริการสาธารณสุขต้องแบกรับภาระหน้าที่อย่างหนัก จึงทำให้ไม่ค่อยได้ออกไปเยี่ยมและติดตามอาการของผู้ป่วยตามชุมชน ผู้ป่วยติดเตียงที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกเพิกเฉยถึงแม้จะอยู่ในระบบแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทำให้เกิดการขอรับบริจาคทั้งๆ ที่ควรจะเป็นหน้าที่การรับผิดชอบของหน่วยงานกทม. หรือสปสช. ในการดูแล 

  1. ระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการได้ยากกว่าพื้นที่ในต่างจังหวัด 

สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่าระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ทำงานได้ยากกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด ด้วยข้อจำกัดทางระบบและความซับซ้อนของลักษณะชุมชน รวมทั้งประชากรที่มีมากกว่าในหลายๆ จังหวัด แม้ว่าหลายชุมชนจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง แต่พวกเขากลับไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ เนื่องจากหลายชุมชนประสบปัญหาที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียบกับทางเขตเพื่อจัดตั้งเป็นชุมชนได้ เนื่องได้มีประชากรไม่ถึง 80 ครัวเรือน ซึ่งทำให้ชุมชนเหล่านี้กลายเป็นชุมชนชายขอบ ที่คนในชุมชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิและไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล

คริส ให้ความเห็นด้วยว่าระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ดำเนินการได้ไม่ดีเท่าระบบสาธารณสุขของจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของจังหวัดอื่นมีระบบที่ชัดเจนกว่า ผู้ป่วยรู้อย่างชัดเจนว่าหากเกิดอาการเจ็บป่วยต้องเข้าไปรักษาที่ไหน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, โรงพยาบาลประจำอำเภอ, โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลในแต่ละระดับมีระบบการส่งตัวผู้ป่วยที่ชัดเจนและเป็นลำดับ ต่างกับในระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่หากศูนย์บริการสาธารณะสุขไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้และต้องการส่งตัวผู้ป่วยจะต้องทำใบดำเนินการส่งตัว แต่ทางศูนย์ไม่สามารถบังคับโรงพยาบาลนอกสังกัดกทม. ให้รับรักษาผู้ป่วยได้ ทำได้เพียงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกทม. เท่านั้น ซึ่งมีเพียง 11 แห่ง เนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการโรงพยาบาลนอกสังกัดกทม. รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ยังประสบกับปัญหาในหลายๆด้านมากกว่าโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทั้งโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลเอกชน                                

จากการสอบถามแพทย์ประจำคลีนิคเอกชนแห่งหนึ่ง พบปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความยุ่งยากในการจัดการเอกสารส่งตัวของผู้ป่วย ทำให้ส่งตัวผู้ป่วยได้ยากและเกิดการดันเคสกับคืนมาบ้าง รวมทั้งเกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาระดับปฐมภูมิอยู่ที่คลินิกใกล้บ้าน แต่ต้องการที่จะรับการรักษาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลตามสิทธิ ก็จำเป็นต้องกลับมาขอใบส่งตัวกับทางคลีนิกทุกครั้งก่อนถึงจะสามารถไปรับการรักษาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากที่จะแบกภาระนี้และต้องการให้ย้ายสิทธิกลับไปยังโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ดังเดิม

นิชาภา โพธาเจริญ ตัวแทนประชาชนจากกรุงเทพฯ เสนอประเด็นปัญหาว่าคลินิคหมอครอบครัวของพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมินั้นมีความแตกต่างกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากคลินิกหมอครอบครัวมีการนำคลีนิกเอกชนมาเป็นลูกข่าย และศูนย์บริการสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย ซึ่งทำให้มีปัญหาในการทำงานเชิงรุกในชุมชน เพราะเจ้าหน้าที่ที่ให้การรักษาประชาชนโดยตรงไม่ได้เป็นคนลงพื้นที่เอง แต่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแทนที่ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รวมถึงในกรณีพื้นที่รอยต่อของกรุงเทพฯ กับเขตปริมณฑล มีปัญหาในการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ จนทำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ขาดการเข้าถึงระบบการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นบางคลินิกเอกชนร่วมบริการของกทม. ยังเน้นในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาที่เต็มที่ตามสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาควรได้รับ 

  1. ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการรักษาปฐมภูมิของกทม.

คริส กล่าวว่าประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. ชนชั้นกลางและผู้ที่มีรายได้สูงเลือกที่จะเข้ารับการรักษากับทางโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิอยู่หรือโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า เนื่องจากมั่นใจในระบบบริการและความสามารถในการรักษา ทำให้ระบบการรักษาปฐมภูมิของกทม. กลายเป็นเพียงที่พึ่งพิงให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่มีทางเลือกเท่านั้นที่จะเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข                                                                                      

ถึงแม้ทางกทม. จะนำคลินิกเอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการรักษาปฐมภูมิแต่ประชาชนหลายคนก็ยังคงมีความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลใหญ่ มากกว่าคลินิกเอกชนอยู่ดี ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความแอดอัดในโรงพยาบาลหลักอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

นิชาภา กล่าวเพิ่มเติมว่าประชาชนในกรุงเทพฯ หลายคนยังไม่ทราบถึงสิทธิของตัวเอง รวมทั้งประชากรแฝงที่ตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่สิทธิอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำให้มีปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข นอกจากนี้ผู้ป่วยติดเตียงหลายคน ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้เพราะไม่มีค่าเดินทาง ทำได้แค่เพียงให้ญาติไปรับยา ซึ่งทำให้ขาดการรักษาฟื้นฟูที่ต่อเนื่อง 

  1. กทม. ไม่มีอำนาจสั่งการคลินิกชุมชนอบอุ่น

คริส ระบุว่ากทม. ยังขาดอำนาจการสั่งการคลินิกชุมชนอบอุ่นโดยตรง ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ในตอนแรกดำเนินงานเหมือนเป็นแม่ข่ายของคลินิคชุมชนอบอุ่น แต่ในการทำงานจริงแล้วศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้นมีหน้าที่และลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกันเลย  ศูนย์บริการสาธารณสุขไม่ได้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าและไม่ได้มีหน้าที่สั่งการคลินิกชุมชนอบอุ่น                

กทม. ก็มีอำนาจสั่งการได้เฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดของกทม. เท่านั้น ไม่สามารถสั่งการคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ ทำให้การดำเนินนโยบายของกทม. เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะสามารถดำเนินการได้ในเฉพาะส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในการควบคุมดูแลของกทม. เองเท่านั้น 

  1. ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิยังมีบทบาทน้อยในช่วงวิกฤต

ในช่วงวิกฤตเช่นนี้หลายชุมชนต้องร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อจัดศูนย์พักคอยกันเอง โดยไม่มีสาธารณสุขลงพื้นที่มาดูแล ไปเอายาก็ไม่ได้รับยา จะเข้าไปรักษาการไม่มีสิทธิในการรักษา    

คริส ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าจากการทำงานลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ผ่านมาก ยังไม่เห็นบทบาทของศูนย์บริการสาธารณสุขมากเท่าที่ควรในการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่แทบจะไม่มีบทบาทเลย ในภายหลังที่เปลี่ยนเป็นระบบเจอจ่ายจบ ศูนย์บริการสาธารณสุขจึงจะเข้ามีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น โดยมีการนำเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงตามชุมชน  

แต่ในขณะเดียวกันบางศูนย์ก็สามารถรับมือกับสถานการณ์และมีบทบาทในเชิงรุกได้ดีมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการของแต่ละศูนย์ว่ามีความสามารถเพียงใดในการบริหารจัดการ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ เขตหนองแขม เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการที่ดี มีการทำโรงพยาบาลสนามเอง รวมทั้งมีแนวทางการแยกกักผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน โดยที่ไม่ต้องรอการสั่งการจากภาครัฐเลย แต่เนื่องจากการบริหารงานของกทม. ยังเป็นระบบราชการอยู่มากจึงทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร                                                                                    

ถอดบทเรียนจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 สู่โมเดล Sand Box                                     

ทวิดา กล่าวว่า Sand Box เป็นต้นแบบที่เกิดมาจากการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ ผ่านการปรับปรุงระบบการแพทย์ปฐมภูมิหรือสาธารณะสุขเบื้องต้น เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข​ 69 แห่ง​, คลินิกชุมชนอบอุ่น, ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจะทำให้การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภามากขึ้น รวมทั้งยังลดความแอดอัดภายในโรงพยาบาลหลักได้อีกด้วย

ราชพิพัฒน์แซนด์บ๊อกซ์ เป็นระบบคิดคู่ขนาน ที่เป็นการขยายโครงการ Sand Box อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งการสร้างพื้นที่การทดลองนี้สามารถดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันหลายแห่งได้ ไม่จำเป็นต้องทำแค่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่เดียว 

หากพื้นที่การทดลองแห่งแรกพบข้อผิดพลาดหรือปัญหาจะต้องแก้ไขให้รวดเร็ว เพื่อนำไปเป็นบทเรียนของพื้นที่การทดลองแห่งใหม่ การดำเนินการสองโครงการควบคู่ไปพร้อมกันนั้นจะทำให้กทม. ได้เรียนรู้กลไกการทำงานในสองพื้นที่ที่มีบริบทที่แตกต่างกันสูงมากและเกิดการศึกษาการทำงานในพื้นที่ที่ต่างกันว่าควรจะเป็นอย่างไร 

พื้นที่การทดลองนี้ยังนำไปสู่การทบทวนข้องมูลในเชิงพื้นที่ เช่น ข้อมูลสิทธิการรักษาของประชาชน, ศักยภาพของสถานพยาบาลในสังกัดพื้นที่กรุงเทพฯ และนอกสังกัดพื้นที่กรุงเทพฯ, อัตรากำลังของการแพทย์และพยาบาล                                                                                                

ความคิดเห็นของเครือข่ายภาคประชาชนต่อโครงการนี้     

คริส ให้ความคิดเห็นว่าโครงการนี้มีข้อดีที่การเบิกจ่ายที่ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนเลยและโรงพยาบาลราชพิพัฒน์สามารถสำรองจ่ายให้กับคลินิกลูกข่ายได้โดยตรง และจะดียิ่งขึ้นหากมีคลินิกเอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น เข้ามาเป็นลูกข่ายเพิ่มขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ใกล้ชุมชนมากขึ้น โดยรวมในทางทฤษฎีคิดว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีคลินิกเอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการมากเพียงใดด้วย 

คริส กล่าวว่าโครงการนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเสนอที่กลุ่มเส้นดายเคยเสนอไปในช่วงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ปฎิรูประบบสาธารณสุขปฐมภูมิของกรุงเทพฯ แต่ในส่วนของผลลัพธ์ในการนำไปปฏิบัติจริงคงต้องรอดูในระยะยาว เพราะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงจากโครงการนี้มากนัก เนื่องจากเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

ข้อเสนอถึงกทม. ในการปฏิรูประบบสาธารณสุข

กลุ่มเส้นดาย นำเสนอสองแนวทางหลัก คือทางกทม. ต้องยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้ดีขึ้นและเปิดศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการของประชาชนผ่านการดำเนินการของทางกทม. เอง หรือกทม. ร่วมกับเอกชนเพื่อสร้างศูนย์ใหม่ในการรักษาระดับปฐมภูมิโดยเฉพาะ ผ่านการใช้งบประมาณของกทม. และให้เอกชนเป็นเข้ามาช่วยบริการและดำเนินงาน นอกจากนั้นกทม. ต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ให้มีแบบแผนเดียวกัน และให้กทม. มีอำนาจสั่งการได้โดยตรง 

คริส กล่าวว่าหากกทม. สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิได้จะส่งผลดีต่อประชาชน โดยเพิ่มบุคลลากรตามศูนย์เพิ่มขึ้น บริการประชาชนได้ดีและครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้ามารับบริการกับทางศูนย์บริการสาธารณสุข การรักษาปฐมภูมิสามารถรักษาและรับยาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง จะทำให้ลดความแออัดในโรงพยาบาล โรงพยาบาลในสังกัดกทม. จะสามารถทำหน้าที่รักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเฉพาะทางสามารถเข้าถึงบริการในโรงพยาบาลหลักได้ทั่วถึงและรวดเร็วทันท่วงทีมากขึ้น

ในระยะยาวการพัฒนาระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ จะนำไปสู่เวชศาสตร์ชุมชนและครอบครัว (Community Medicine) ที่เป็นการดูแลประชาชนในเชิงรุก รวมถึงการป้องกันและฟื้นฟู ซึ่งเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยได้ตั้งแต่ต้นทาง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลหลักไม่สามารถดำเนินการแทนระบบสาธารณะสุขปฐมภูมิได้                                                                                                                                                                                                                      

คลินิกชุมชนอบอุ่น 

คลินิกชุมชนอบอุ่นถือเป็นหนึ่งในระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีกระจายอยู่กว่า 190 แห่งในกทม. ซึ่งเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นด้านหน้าในการดูแล ติดตามอาการและประเมินอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นเคสเขียวและเหลือง ผ่านกระบวนการตามสปสช. โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น                

นพ. อาสาห์ วีรนวกรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของมิตรไมตรีการแพทย์ กล่าวว่าคลีนิคมิตรไมตรี สาขาบางไผ่ เป็นหนึ่งในคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ในพื้นที่การทดลองของราชพิพัฒน์ ในขณะนี้ทางคลินิกมีบทบาทในการให้บริการกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ที่ต้องการรับยารักษาโรคประจำตัวและพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเเอดอันภายในโรงพยาบาล ในกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงและต้องการพบแพทย์เฉพาะทาง คลีนิกจะทำการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลราชพิพัฒน์โดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในการเข้ารับบริการระบบสุขภาพจากปฐมภูมิไปยังทุติยภูมิ

อาสาห์ กล่าวเพิ่มเติมว่าระบบนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเชื่อมั่นจากทั้งผู้ประกอบการคลินิกเอกชน เเละโรงพยาบาลเเม่ข่ายในฐานะผู้จัดการระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ โดยทางคลินิกคาดหวังว่าจะได้รับเงินชดเชยจากโรงพยาบาลแม่ข่ายภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคลีนิคเอกชนได้เป็นอย่างมากในการเข้าร่วมโครงการนี้กับทางกทม.  

หมายเหตุ: สำหรับ จิณณพัต ทรัพย์ทวีวศิน ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองเเละการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net