Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' ค้านกัญชาเสรี หวั่นเพื่อสันทนาการ หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุม เด็ก-เยาวชน เข้าถึงง่ายกว่าขนม จุดเริ่มต้นอนาคตของชาติขี้ยา - 'ภูมิใจไทย' ชี้ไม่มีใครสนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ ยืนยันพรรคไม่เคยพูด ไม่หวั่นหากสภาแก้ช่วงวาระ 2 - 'วิปรัฐบาล' ระบุ ส.ส. มีเอกสิทธิ์โหวต ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า-กัญชา

30 ต.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่าดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องการปลดล็อกกัญชา หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 7 ) ว่า การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ไทยกลายเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่แก้ไขกฎหมายให้กัญชาออกจากบัญชีสารเสพติด และใช้ในทางการแพทย์ได้ การปลดล็อกกัญชาโดยไร้กฎหมายควบคุมและขาดความรอบคอบได้ส่งผลเสียหายต่อสังคม ที่ผ่านมาแพทย์ทั่วประเทศ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ได้เรียกร้องให้ปิดสภาวะกัญชาเสรี หากยังไม่มีกฎหมายควบคุม
กัญชาเป็นยาเสพติด ที่ผ่านมามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากมาย ระบุว่ากัญชาได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและการเจริญเติบโตของสมองเด็ก และวัยรุ่นอย่างมากทั้งในฐานะผู้สูบด้วยตนเองหรือรับสารทางอ้อมจากคนในครอบครัว นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ได้จัดเวทีเสวนาขึ้นโดยข้อมูลจากวงเสวนา พบว่า ในระยะเวลาที่รัฐบาลเปิดให้อยู่ในสถานะกัญชาเสรี มี เยาวชนผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า เนื่องมาจากการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นเพราะกัญชาหาง่ายขึ้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดทางจิตจากกัญชาสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 14% ส่วนปี 2565 เกือบ 17% นอกจากนี้ยังพบว่ากัญชาที่ประชาชนปลูกมากกว่า มากกว่า 90 -95% คุณภาพของผลผลิตที่ได้ไม่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ เนื่องจากขาดองค์ความรู้ ทำให้เกิดคำถามว่า กัญชาท่ีขายไม่ได้ในทางการแพทย์ และอยู่ในภาวะล้นตลาดผลผลิตเหล่านี้หายไปไหน หรือเอาไปขายท่ีไหน ถ้าไม่มีการควบคุมผลผลิตจำนวนมากจะไหลเข้าสู่ตลาดของการเสพกัญชาเสรี

ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันชัดเจนมาตั้งแต่ต้นในการสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ ดังนั้นการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาต้องครอบคลุม เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ ส.ส.ทุกคนและทุกพรรคการเมืองมีเอกสิทธิ์ในการผ่านกฎหมาย ดังนั้นการชี้ให้เห็นว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่ามีโทษและการผ่านกฎหมายนั้นสำคัญเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่สนับสนุนกัญชาเสรีต้องกระทำ “อย่ามัวแต่โทษคนอื่น”

“วันนี้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ถึงแม้ว่ามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่…)พ.ศ… ในอนาคต แต่ช่องว่างการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ การสูบกัญชาในบ้านอันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล รัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า วันนี้กัญชาไม่ใช่สารเสพติดอีกต่อไปแล้ว การสูบเพื่อความบันเทิงกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนและอาจนำพาไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่นๆในอนาคต จะปราบยาเสพติดได้อย่างไรถ้าจุดเริ่มต้น เริ่มที่กัญชา” ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าว

กระทุ้งรัฐบาลเร่งช่วย ปชช.หลายพื้นที่ยังจมบาดาล แนะเร่งฟื้นฟูอาชีพ จัดระบบข้อมูลเยียวยา อย่าให้พลาด ฝ่ายค้านรอตรวจสอบเข้ม

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบางพื้นที่ในภาคใต้ ต่อเนื่องยาวนานมานานหลายเดือน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของเวลาการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงมาตรการในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายภายหลังน้ำลด แม้รัฐบาลจะประกาศแนวทางคร่าวๆในการเยียวยาความเสียหายมาบ้างแล้ว แต่ในระหว่างนี้ ณ ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังถูกน้ำท่วมบ้านมิดหลังคา พื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ซึ่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานอย่างปัจจัยสี่ที่มนุษย์ทุกคนพึ่งได้รับ ทั้งยารักษาโรค อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎเหล็ก 180 วันของ กกต.ที่ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือผู้ที่อาสาช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ทั้งที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน เข้าใจถึงหัวจิตหัวใจของพี่น้องประชาชนมากที่สุด แต่ถึงอย่างไรแม้ฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไรได้ในตอนนี้ รัฐบาลก็ไม่ควรช่วยเหลือประชาชนล่าช้า

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ขอเสนอแนะให้รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานให้ทันท่วงทีต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยต้องเร่งดำเนินการดังนี้

1.เร่งวางแผนฟื้นฟูโอกาสที่เสียไป ฟื้นฟูอาชีพและช่องทางทำมาหากินให้เป็นระบบอย่างชัดเจน

2.จัดระบบข้อมูลการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้มีมาตรฐาน อย่าให้มีการทุจริต เพราะคาดการณ์ว่าการเยียวยาจะกินเวลายาวนานกว่าอายุรัฐบาลนี้แน่นอน ซึ่งฝ่ายค้านจะติดตามตรวจสอบการจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด

3.การเยียวยาต้องมาพร้อมกับการสร้างอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยและรายจิ๋วที่ประสบปัญหา เพราะที่ผ่านมาถูกซ้ำเติมจากวิกฤตโควิดและน้ำท่วมอีก สินเชื่อที่ปล่อยกู้ 100,000 บาท/รายผ่าน ธ.ก.ส.ยังถือว่าดอกเบี้ยที่ 4% สูงมากเกินไป เกินกว่าที่ประชาชนจะสามารถจ่ายไหวในสถานการณ์นี้ รัฐบาลต้องเห็นใจประชาชนให้มากกว่านี้

“อยากให้รัฐบาลลดเวลาคิดถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองให้น้อยลง แล้วทำงานให้ประชาชนมากขึ้น ใช้เวลามาขจัดความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนบ้าง อย่ามัวแต่ใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในพรรคตนเองว่าแคนดิเดตนายกฯจะเป็นใคร อนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์จะเป็นอย่างไร รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก การเยียวยายังล้มเหลวซ้ำซากอีก มองไม่เห็นหัวใจของประชาชนแม้แต่น้อย” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว

'ภูมิใจไทย' ชี้ไม่มีใครสนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ ยืนยันพรรคไม่เคยพูด 

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 ว่านายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาระบุว่า พท.สนับสนุนกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรีเพื่อสันนาการ และจะเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ที่กำลังเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรให้มากที่สุดในวาระ 2 แต่ถ้าเสียงข้างมากยังดันทุรัง พรรคก็ต้องมีมติไม่เห็นด้วย ว่า ไม่มีใครสนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ หากไปย้อนดูข่าวย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ภท.พูดว่ากัญชาเพื่อการแพทย์และเชิงพาณิชย์ สร้างกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ไม่เคยพูดว่ากัญชาเสรีเพื่อสันทนาการ เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าเจตนารมณ์ทุกฝ่ายตรงกัน เพียงแต่มาปรับแก้ตรงที่มีปัญหา ซึ่งสามารถทำได้ในวาระ 2

เมื่อถามว่า นพ.ชลน่าน ระบุว่ากฎหมายนี้มีความหละหลวมมาก นายภราดร กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร หละหลวมก็ดี เพราะให้ทุกฝ่ายร่วมระดมความเห็นและแก้ไขในวาระที่ 2 ไม่ใช่ว่าเสร็จแล้ว แต่กำลังให้สภาพิจารณาแล้วไปช่วยกันแก้ไข

“ไม่มีใครเห็นด้วยกับการสันทนาการ แม้กระทั่งภูมิใจไทยก็ไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียวว่าเราทำเสรีเพื่อสันทนาการ ไม่มีหรอก แล้วเราก็ย้ำในสภาว่าเจตนาก็เหมือนกันทั้งหมด คือเพื่อการแพทย์กับเพื่อเศรษฐกิจ” นายภราดร กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลว่าการแก้ไขในวาระที่ 2 จะกระทบกับหลักการที่ ภท. วางไว้แต่แรกหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า ตอนที่ ภท.เสนอ เราเห็นว่ากัญชาถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติด ก็ต้องการกฎหมายที่จะมาควบคุมความเสรีของกัญชา ก็เลยเสนอกฎหมายฉบับนี้ออกมา และให้สภาร่วมกันพิจารณา ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ ที่มีเพียงแค่ให้มี พ.ร.บ. ว่าด้วยกัญชง กัญชา เพราะฉะนั้นเขียนอะไรก็เขียนได้

'วิปรัฐบาล' ระบุ ส.ส. มีเอกสิทธิ์โหวต ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า-กัญชา

30 ต.ค. 2565 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมวิปรัฐบาลเพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ว่า ในวันพรุ่งนี้ (31 ตุลาคม) เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมวิปรัฐบาลที่รัฐสภา โดยจะประชุมเรื่องหลักคือการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีกฎหมายที่เป็นที่สนใจอยู่ 2 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง  (ฉบับที่…) พ.ศ…. เข้าใจว่า 2 เรื่องนี้ทางวิปรัฐบาลจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากมีประเด็นสำคัญก็อาจจะต้องมีการเชิญผู้ที่เป็น กมธ.มาชี้แจงด้วย ว่าประเด็นที่มีการแก้ไขเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า จะมีการพูดถึงเรื่องการลงมติในร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเลยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เราจะมีการพูดถึงหลักการว่าในการพิจารณากฎหมายที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ก็จะเป็นเรื่อง กมธ.กับส.ส.ที่จะต้องมาแสดงความคิดเห็นกันเป็นรายมาตรา ฉะนั้น เราต้องฟังความคิดเห็นของกมธ.ทั้งเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมาก ตลอดจนผู้แปรญัตติ อย่างไรก็ตาม ในหลักการแล้ววิปรัฐบาลก็จะเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก ยกเว้นกรณีที่กมธ.มีเสียงก้ำกึ่งกันก็จะต้องมาดูแต่ละเรื่องไป แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่อง กมธ. กับ ส.ส.

เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ทางพรรค ปชป.ก็เคยมีจุดยืนว่าหากเป็นการใช้ในทางการแพทย์ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนนั้น จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ให้จบในวิปรัฐบาลเลยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า สำหรับหลักการนั้นแต่ละพรรคก็ยังยึดเหมือนเดิม ก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะกฎหมายที่เสนอเข้ามานั้นไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเสนอโดยรัฐบาลแต่เป็นการเสนอโดยพรรคการเมือง ฉะนั้น ก็จะต้องเป็นสิทธิของส.ส.แต่ละคนในการลงมติ 

เมื่อถามว่า หากเราเห็นแย้ง กับพ.ร.บ.กัญชา จะมีผลต่อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า คิดว่าทุกพรรคคงเข้าใจว่าเป็นเรื่องระหว่าง ส.ส.กับกมธ. แล้วส.ส.ก็มีเอกสิทธิ์ที่จะลงมติไม่อยู่ในอาณัติของใคร ซึ่งก็เคยประเด็นคือไม่ใช่ความขัดแย้งของรัฐบาล แต่ประเด็นคือการที่ส.ส.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด พิจารณาหรือตรวจสอบกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ อย่ามองแค่ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น 

เมื่อถามว่า นอกจากกฎหมายนี้จะมีกฎหมายสำคัญอะไรเข้าอีกหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองยังมีอีกหลายฉบับ แต่ร่างพ.ร.บ.ระเบียบงบประมาณหรือกฎหมายเกี่ยวกับการเงินอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มี ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับปฏิรูปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เช่น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้หรือร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และยังมีประเด็นที่ฝ่ายค้านจะเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ก็จะเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลคือการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันและยินดีที่จะให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่เราก็เรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลโดยรัฐมนตรีทุกกระทรวงแสดงผลงานให้ชัดเจนเพราะว่าเป็นช่วงสมัยสุดท้ายแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net