Skip to main content
sharethis

กมธ.กิจการเด็กฯ เตรียมสอบมูลนิธิทำร้ายร่างกายใช้แรงงานเด็ก

4 พ.ย. 2565 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ทำร้ายร่างกายและใช้แรงงานเด็ก ว่า กมธ.จับตาเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะการทำงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่บอกว่ามูลนิธิแห่งนี้ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย และมีประวัติที่ดี อีกทั้งเป็นมูลนิธิที่มีระยะการทำงานนานมาแล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม พมจ.ถึงมองว่ามูลนิธิแห่งนี้ปลอดภัย ไม่มีปัญหา ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไป

“แม้มูลนิธิดังกล่าวจะออกมาโต้แย้ง แต่คลิปหรือสิ่งที่เด็กบอกเล่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องให้น้ำหนัก แม้เป็นมูลนิธิเอกชน พมจ.ก็มีอำนาจเต็มที่จะเข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว เนื่องจากมีหน้าที่ปกป้องดูแลเด็ก ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน หากมีการเลือกปฏิบัติ พมจ.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้” นายธัญวัจน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มูลนิธิอ้างว่าจำเป็นต้องลงโทษเด็ก เพราะเด็กไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น นายธัญวัจน์ กล่าวว่า ต้องมองที่ต้นตอของปัญหาว่ายาเสพติดมาจากไหน ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับผู้เสพ เป็นการลงโทษด้วยการตีอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่าควรจะมองคนที่ใช้ยาเสพติด เป็นผู้ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือมากกว่าผู้ที่ได้รับการลงโทษ อย่างไรก็ตาม ทางออกเรื่องนี้ กมธ.คิดว่าจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณา และหารือในชั้น กมธ. ในสัปดาห์หน้า เพราะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 4/11/2565

ผลสำรวจเผยปี 2566 นายจ้างไทยพร้อมขึ้นเงินเดือน 4.5% จ่ายโบนัส 1.3-2.5 เดือน

เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เผยแพร่ผลสำรวจ Total Remuneration (TRS) ประจำปี 2565 ซึ่งสำรวจกับองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 พบว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนเมษายน 2565 การปรับค่าตอบแทน หรือ "เงินเดือน" มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย ที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยอยู่ที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่นับรวมอินเดีย) ซึ่งมีอัตราปรับขึ้น 4.4% 

ทั้งนี้ค่าอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.2% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค

เมลลา ดาราแคน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เมอร์เซอร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีความคาดหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังมีความระมัดระวังในการวางแผนที่จะรับมือผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เมอร์เซอร์ แนะนำให้ภาคธุรกิจพิจารณา และทบทวนกลยุทธ์บริหารค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กร เนื่องจากหลังโควิด-19 ธุรกิจอาจพบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงประสบความท้าทายในการดึงดูด และรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถไว้

ผลการสำรวจของเมอร์เซอร์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้นแนวโน้มในการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนในปีหน้าอาจจะยังใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำรวจพบว่า

อุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นเงินเดือนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีอัตราการขึ้นผลตอบแทนที่ 4.9% และ 4.8% ตามลำดับ

อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมประกันชีวิต คาดการณ์การปรับอัตราขึ้นเงินเดือน 4.5% และ 4.0% เพราะแม้อุปสงค์ต่อภาคยานยนต์ และประกันชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเกิดโรคระบาด

“การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ และการที่ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย ปรับขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้แรงงานที่มีรายได้น้อยคลายความกังวลในด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้มีเงินหมุนเวียนในมือประชาชนมากขึ้น และเพิ่มแรงกดดันให้กับภาคธุรกิจ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงสดใสเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” เมลลา หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เมอร์เซอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ผลสำรวจยัง คาดการณ์การจ่ายโบนัสว่า อยู่ที่ 1.3-2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน จากอุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด-19

ด้านนโยบายการปรับอัตรากำลังพนักงานในปี 2566 ผลสำรวจระบุว่า บริษัทในประเทศไทยที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (53%) ไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน และ 1 ใน 5 หรือ ราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมสำรวจมีแนวทางจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้น ที่บอกว่าจะลดพนักงานลง

ส่วนการลาออกของพนักงานหลังปี 2565 คาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งมีอัตราลาออกสูงกว่า 11.9% และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์จะมีพนักงานลาออกมากที่สุด นอกจากนี้ยังคาดว่า ในปี 65-66 ธุรกิจไทยจะอยู่ในช่วงการแข่งขันสูง มีการแย่งชิงบุคลากร ประกอบกับบุคลากรเองก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง จากที่เคยรักษาสถานะในช่วงโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะเปลี่ยนงานที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

จักรชัย บุญญะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ได้เห็นแนวโน้มการโยกย้ายงานเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ กลับมาจ้างงาน และเพิ่มจำนวนบุคลากร ขณะเดียวกันพนักงานที่เคยรักษาสถานภาพในช่วงโควิด-19 มีความคิดที่จะโยกย้ายงานใหม่ ซึ่งจากนี้ไปธุรกิจไทยอยู่ในช่วงแข่งขันสูง เกิดการแย่งชิงบุคลากร โดยมีการเสนอรายได้ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าวของ เมอร์เซอร์ สำรวจกับองค์กร 636 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ 86% เป็นบริษัทต่างชาติซึ่งมีสาขาในประเทศไทย และในจำนวนองค์กรทั้งหมดนี้ มี 30% ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นเงินเดือนจะมากหรือน้อยนั้น ต้องดูประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อด้วย ถึงจะสะท้อนถึง "เงินเดือนที่แท้จริง" ที่มนุษย์เงินเดือนรายนั้นๆ ได้รับว่า สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ บริษัทข้อมูล “อีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล” ได้รวบรวมข้อมูลจากบริษัทข้ามชาติกว่า 360 แห่งใน 68 ประเทศ และมีรายงานว่า ประเทศในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก มีอัตราการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริง (อัตราการเติบโตของค่าจ้างลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดย 8 ใน 10 ประเทศที่เงินเดือนแท้จริงเพิ่มขึ้นสูงสุดทั่วโลกในปีนี้ มาจากเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศอินเดียซึ่งมีรายได้แท้จริงเพิ่มขึ้นมากสุดที่ 4.6% ตามด้วย จีน 3.8%

สำหรับอินเดียนั้นคาดว่าจะมีเงินเดือนแท้จริงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก นั่นเป็นเพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย และ "ความจำเป็นในการเติบโตของเงินเดือนเพื่อแซงหน้าเงินเฟ้อ" ขณะเดียวกัน พนักงานในอินเดียก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเล็กๆ ทั่วโลกที่เงินเดือนแท้จริงเติบโตสูงสุดในปีนี้ และปีหน้าด้วย

 แม้เอเชีย-แปซิฟิก ดูแล้วดีกว่าภูมิภาคอื่นในปี 2566 แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีเรื่องให้ยินดี ประเทศอย่างลาวและเมียนมา จะประสบกับเงินเดือนแท้จริง “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง หรือในสิงคโปร์ แม้พนักงานจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 3.8% แต่เงินเฟ้อจะทำให้รายได้หลังหักภาษีลดลง ทำให้ค่าจ้างแท้จริงลดลง 1.7% ในปีนี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/11/2565

ประกันสังคมชี้แจงกรณีวิศวกรสาวร้องโรงพยาบาล ลักไก่เบิกสิทธิประกันสังคม

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณี วิศวกรสาว (ผู้ประกันตน) ร้องเรียน ขอความช่วยเหลือจากทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม หลังถูกโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จังหวัดนนทบุรี มั่วประวัติการรักษา ทั้งที่ไม่เคยแอดมิดนอน รพ.จริง แถมเอาไปเบิกสิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคม ทำให้เสียสิทธิประกันชีวิต นั้น ตนได้สั่งการให้นางสาวปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที พบว่า ประเด็นที่ 1 ข้อมูลการเข้ารักษาตัวของผู้ประกันตนตามเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2561 นั้นตรงกับข้อมูลการบันทึกเบิกการรักษาของประกันสังคม

สำหรับประเด็นที่ 2 กรณีเวชระเบียนของโรงพยาบาล ระบุผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในนอนพักรักษาตัว 4 วัน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 นั้น ตรวจสอบแล้ว ไม่มีการบันทึกเบิกสิทธิการรักษาของประกันสังคม ฉะนั้น ตามที่เป็นข่าวว่า ที่มีการบันทึกในเวชระเบียนของโรงพยาบาลจึงไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคมแต่อย่างใด

นายบุญสงค์ ฯ เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นการรักษาของสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบประกันสังคม จะร่วมดูแลผู้ประกันตนให้เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์กำหนด ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนเงิน และจำนวนครั้ง พร้อมกันนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีทีมแพทย์ตรวจประเมินคุณภาพ และมาตรฐาน ของสถานพยาบาล พร้อมพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์การเจ็บป่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพบริการแก่ผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/11/2565

กสม.ชง สธ.-ก.แรงงาน กำชับ รพ.รัฐ-เอกชน งดตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงาน

3 พ.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือน พ.ค. 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ แจ้งว่ามีผู้เสียหายรายหนึ่งได้สมัครทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาลในตำแหน่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

โดยในประกาศรับสมัครงานไม่ได้ระบุห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) เข้าปฏิบัติงาน แต่เมื่อผู้เสียหายทดลองปฏิบัติงานในแผนกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยประมาณครึ่งวัน และเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ จึงให้เขียนใบสมัครและกรอกเอกสารยินยอมให้ตรวจสุขภาพ ซึ่งผู้เสียหายทราบจากเจ้าหน้าที่ระหว่างการเจาะเลือดว่าจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย

นายวสันต์ กล่าวต่อว่าว่า ในการตรวจสุขภาพ แพทย์ได้ระบุในหนังสือรายงานผลการตรวจว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธการรับผู้เสียหายเข้าปฏิบัติงาน โดยให้เหตุผลว่าบริษัทผู้ถูกร้องไม่มีนโยบายรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าปฏิบัติงาน

กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระเบียบ ข้อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ให้รับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง สภาพทางกายหรือสุขภาพหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รับรองว่าทุกคนมีสิทธิในการทำงาน รวมทั้งสิทธิในการหาเลี้ยงชีพโดยงานที่ตนเลือกหรือรับอย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังคงมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงาน และนำเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีมาประกอบการพิจารณาตำแหน่งงาน การที่สถานพยาบาลหลายแห่งยังให้ผู้สมัครงานต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี แสดงให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา กสม.เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหลายกรณีแล้ว

ด้วยเหตุนี้ กสม.จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วยอีกทางหนึ่ง โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานมีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการโดยเคร่งครัด รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มการตรวจร่างกายในผู้สมัครงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและแจ้งเวียนเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 3/11/2565

เปิดรับสมัครสอบ 4 รอบ ผู้ชายอายุ 18-30 ปี จบ ม.6 หรือ ปวช. ปวส. ฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น รอบแรกวันที่ 21 พ.ย. 65 มีสวัสดิการ เงินเดือนให้

3 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน และองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (IM Japan) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานเทคนิคในสถานประกอบการของประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุด "กรมการจัดหางาน" ได้อนุมัติแผนการรับสมัครและสอบคัดเลือก ประจำปี 2566 โดยกำหนดการรับสมัครและสอบคัดเลือก จำนวน 4 ครั้ง ณ ศูนย์สอบจังหวัดอุดรธานี ลำปาง ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะเรียนจบ ม.6 ปวช. หรือ ปวส. สร้างความรู้และประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ รวมถึงสร้างรายได้ไปพร้อมกัน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ฝึกปฏิบัติ "งานเทคนิค" จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนแรก จำนวน 80,000 เยน หรือประมาณ 20,480 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด และเมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานครบ 3 ปี จะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน  ผ่านองค์กร IM Japan รวมทั้งเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ จำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 153,596 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565)

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสอบคัดเลือกจะมีการสอบข้อเขียน ด้านความรู้ทางคณิตศาสตร์ ด้านช่าง และภาษาญี่ปุ่น การทดสอบสมรรถภาพร่างกายและสอบสัมภาษณ์ เพื่อทดสอบทัศนคติ บุคลิกภาพ การปรับตัว และวุฒิภาวะทางอารมณ์

คุณสมบัติ

-เพศชายอายุ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์

-ความสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ สายตาปกติ ไม่บอดสี

-ไม่เป็นโรคต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น

-จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา

-พ้นภาระการรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

-ไม่มีรอยสักหรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย

-ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern”

-ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือพำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ

-ไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น

-สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้

การรับสมัครและคัดเลือก จะเปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ ดังนี้

ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 21 – 25 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่24 – 25 ธันวาคม 2565

ครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 23 – 27 มกราคม 2566 เพื่อสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 25 -26 กุมภาพันธ์ 2566

ครั้งที่ 3 รับสมัครระหว่างวันที่ 17 – 21  เมษายน 2566 เพื่อสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบจังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 20 -21 พฤษภาคม 2566

ครั้งที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 26 - 30  มิถุนายน 2566 เพื่อสอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22 -23 กรกฎาคม 2566

นายไพโรจน์ ระบุว่าเพิ่มเติมว่า ติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ทางเว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 9428 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วน กระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: คมชัดลึก, 3/11/2565

ครูยุ่นเข้ารับทราบข้อหาหลังถูกร้องมูลนิธิทำร้ายเด็ก-ใช้แรงงานเด็ก

จากกรณี นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่นำเอกสารมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 รับเด็กสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนไปยังสถานแรกรับของทางราชการ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองเด็กต่อโทรศัพท์ไปยัง อดีต สว. ซึ่งบอกว่าเป็นประธานมูลนิธิฯดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ พมจ.สมุทรสงคราม ได้นำเด็กในมูลนิธิออกไป 23 คน ยังไม่มีใครทราบว่านำไปที่ใด

ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 พ.ย.2565 นายแก้วสรร อติโพธิ์ เดินทางมาที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก เปิดเผยเบื้องต้นว่า เด็กพวกนี้ไม่มีบ้าน ถูกรังแก ถูกทำร้าย มูลนิธิแห่งนี้จึงรับมาดูแล มูลนิธิมีอำนาจการปกครองถูกต้อง สามารถทำโทษเด็กเหมือนพ่อทำโทษลูก ไม่ได้รุนแรงเกินกว่าเหตุ การที่มีเด็กร้องเรียนไม่กี่คน ซึ่งกลุ่มนี้บางคนติดยาเสพติด ถ้าเป็นที่อื่นก็จับส่งตำรวจหมดอนาคตไปแล้ว

นายแก้วสรร กล่าวต่อว่า แต่สถานที่แห่งนี้พยายามอบรมสั่งสอนเพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี จะมาหาว่าทำรุนแรงเกินไปได้อย่างไร เด็กทั้งหมดดูแลอย่างดี การจะมารับเด็กทั้ง 55 คนไป อาศัยอำนาจอะไร ถามเด็กทั้งหมดหรือยังสิ่งที่ถูกต้องควรฟังหูไว้หู ควรมาตรวจสอบแบบเงียบ ๆ เพื่อคุ้มครองเด็ก ๆ ไม่ใช่นำสื่อแห่กันมาแบบนี้ หากเจ้าหน้าที่ทำเกินว่าเหตุ ตนก็ไม่ยอมเหมือนกัน

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น อดีต สว.สมุทรสงคราม เดินทางมาที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ต.สวนหลวง อ.อัมพวา แล้วเดินเข้าไปทักทาย นายแก้วสรร และทนายความ ที่มาก่อนแล้ว โดยครูยุ่นบอกกับผู้สื่อข่าวให้ไปที่ สภ.อัมพวา จากนั้นก็พากันนั่งรถออกไปที่ สภ.อัมพวา พบพนักงานสอบสวน

กระทั่งเวลา 12.30 น. ครูยุ่น จึงออกมาบอกว่า มาตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อหาทำร้ายร่างกายเด็กและอาจจะมีข้อหาใช้แรงงานเด็กด้วย ขณะที่มีกระแสข่าวว่า เวลา 16.00 น.ของวันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีกำหนดการจะลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เพื่อติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดคดี

นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผวจ.สมุทรสงคราม รักษาราชการแทนผวจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ทางจังหวัดมอบให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม และทีมสหวิชาชีพสอบถามเด็กที่มีกรณีร้องเรียนว่าถูกทำร้าย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยนำตัวเด็กทั้ง 8 คน ออกจากมูลนิธิไปอยู่ในความคุ้มครองของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

นายศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเด็กที่เหลืออีก 47 คน ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้นำตัวเด็กออกมาได้อีก 23 คนไปอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม จึงเหลือเด็กอีก 24 คนที่สมัครใจอยู่ในมูลนิธิต่อ เป็นเด็กเล็ก 14 คน และเด็กโต 10 คน อายุน้อยที่สุด 2 ขวบ และอายุมากที่สุด 16 ปี ซึ่งแต่เดิมมูลนิธิมีเด็กในความดูแลทั้งหมด 55 คน

นายศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม และทีมสหวิชาชีพ ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสอบถามเด็กและผู้เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเสนอจังหวัดพิจารณา หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง เช่น กระทำทารุณกรรมเด็ก ใช้แรงงานเด็กตามที่มีผู้ร้องเรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมูลนิธิดังกล่าวได้

ที่มา: ข่าวสด, 3/11/2565

กลุ่มไรเดอร์ Grab รวมตัวร้องแก้ปัญหาปรับระบบทำงาน

3 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มไรเดอร์สายงาน GrabFood และ GrabMart รวมตัวบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย่านราชประสงค์ เรียกร้องกรณีระบบการจองรอบงาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่บริษัทปรับเปลี่ยนระบบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจองรอบการรับงาน

การรวมตัวในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ระบบการจองรอบ 2.ปัญหาการรับออเดอร์คู่ที่เข้ามาพร้อมกัน และ 3.ค่ารอบที่ไรเดอร์จะได้ลดลง 2-4 บาท ในแต่ละเที่ยววิ่ง

สำหรับระบบการจองรอบ กลุ่มไรเดอร์มองว่ายังไม่ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์ในกลุ่มงานอิสระและการกระจายงานที่ทั่วถึง โดยเห็นว่าจำกัดสิทธิมากเกินไปต่อโอกาสการได้รับงาน เนื่องจากบริษัทฯ บังคับโซนพื้นที่ให้วิ่งรับงาน แทนจากเดิมที่รับงานได้ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงการเลือกให้รับออเดอร์คู่พร้อมกัน แทนการรับทีละงาน จึงขอให้บริษัทฯ ยกเลิกการจองรอบที่ส่งผลกระทบอย่างมาก

นอกจากนี้ กลุ่มไรเดอร์ที่รวมตัวกันได้เคลื่อนออกจากบริเวณหน้าห้างฯ มุ่งหน้าไปยังบริษัท แกร็บแท็กซี่ฯ ซึ่งอยู่บริเวณถนนเพชรบุรี เพื่อย้ำข้อเรียกร้อง

ที่มา: Thai PBS, 3/11/2565

เตือนนักบัญชีเก่า-ใหม่ต้องขึ้นเป็นผู้ทำบัญชีถูกกฎหมาย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวถึงนักบัญชีเป็นวิชาชีพเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจแบบแยกออกจากกันไม่ได้ ธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเป็นต้องมี “ผู้ทำบัญชี”ที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจ เพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของธุรกิจที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี พระราชบัญญัติการบัญชีจึงได้มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ทำบัญชีไว้ชัดเจน โดยมีการแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบกับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือธุรกิจ ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกำหนด ดังนี้

1.มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 2.มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้ 3.เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี 4.ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในมาตรา 39(3) แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 เว้นแต่ต้องคำพิพากษา หรือ พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี 5.มีคุณวุฒิการศึกษาแบ่งตามขนาดของธุรกิจได้ 2 ระดับ คือ 5.1) ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นผู้ทำบัญชีให้กับธุรกิจได้ทุกประเภทและทุกขนาดกิจการ 5.2) ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นผู้ทำบัญชีให้กับธุรกิจได้เฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด ที่ ณ วันปิดบัญชีในรอบปีที่ผ่านมา มีทุกรายการต่อไปนี้ คือ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเป็นผู้ทำบัญชีแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

2. แจ้งรายละเอียดการทำบัญชีในระบบงานผู้ทำบัญชี e-Accountant ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มทำบัญชี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่แจ้งไว้ ต้องแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

3. พัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน มีชั่วโมงบัญชีไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง โดยสามารถแจ้ง CPD ได้ทันทีหลังทำกิจกรรม แต่ไม่เกิน 30 ม.ค. ของปีถัดไป โดยแจ้งผ่านทางระบบ e-Accountant หรือระบบ CPD Online ของสภาวิชาชีพบัญชี

4. ยืนยันรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชี และยืนยันการเป็นสมาชิกวิชาชีพบัญชี ผ่านทางระบบ e-Accountant ภายในวันที่30 ม.ค. ของปีถัดไป (เริ่มยืนยันตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป)

5. รับทำบัญชีได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน (โดยนับตามจำนวนรายธุรกิจ ไม่ได้นับตามรอบปีบัญชีงบการเงิน)

อย่างไรก็ตาม ผู้ทำบัญชีสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พ.ร.บ.การบัญชี 2543 และประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2557 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นจะมีบทลงโทษ คือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และอาจส่งผลต่อการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-filing

“ผู้ทำบัญชีมีบทบาทสำคัญในการจัดทำ และนำเสนอข้อมูลทางบัญชีของนิติบุคคล คุณภาพของผู้ทำบัญชีย่อมส่งผลต่อคุณภาพของข้อมูลทางด้านบัญชี ผู้ทำบัญชีจำเป็นต้องมีความรู้ และประสบการณ์ในการจัดทำบัญชี และนำเสนองบการเงิน การอัปเดตความรู้ทางด้านบัญชี ภาษีอากรและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับนักบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้น มักจะได้ยินพบนักบัญชีที่ช่วยผู้ประกอบการที่ทำบัญชีไม่ถูกต้อง จึงอยากแนะนำให้นักบัญชีทุกรายควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และจากข้อมูลในปัจจุบัน (ข้อมูล ณวันที่ 30 กันยายน 65) ประเทศไทยมีผู้ทำบัญชีประมาณ 78,816 คน สำนักงานบัญชี 10,156 แห่ง และสำนักงานบัญชีคุณภาพ จำนวน 166 แห่ง” นายทศพลกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/11/2565

กสร. เตือนนายจ้างจัดพักร้อนให้ลูกจ้างที่ทำงานครบหนึ่งปีพร้อมจ่ายค่าจ้าง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ กรมได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติ ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการชี้แจงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่นายจ้าง/ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนายจ้างจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องครอบคลุมทุกมิติ

นายนิยมฯ กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ/ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2660 2069 - 71 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 1/11/2565

สปส. เร่งมอบสิทธิประโยชน์เหยื่ออิแทวอน อดีตผู้ประกันตน ม.33

1 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ปรากฏข่าวมีคนไทยที่เสียชีวิต 1 ราย จากโศกนาฏกรรมในงานเทศกาลคืนวันฮัลโลวีนที่จัดขึ้นในย่านถนนอิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้คนไปร่วมงานจำนวนมาก เบียดเสียดกันแน่น ล้ม และเหยียบกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดอากาศหายใจ เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น

นายสุชาติกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเร่งตรวจสอบรายละเอียดผู้เสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ทราบว่า คนไทยที่ผู้เสียชีวิต ชื่อ น.ส.ณัฐธิชา มาแก้ว อายุ 27 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน และต่อมาได้ลาออกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565

“ผมจึงได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งญาติมีสิทธิได้รับค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 15,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 65,500 บาท”

ทั้งนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบในเบื้องต้นแล้ว และในวันนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ และมอบสิทธิประโยชน์ให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/11/2565

สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยเรียกร้องดูแลแรงงานนอกระบบ-ควบคุมราคาสินค้า

2 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน รับยื่นหนังสือจากนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน รองประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เรื่องขอให้ดูแลแรงงานนอกระบบให้เป็นเช่นเดียวกับที่แรงงานในระบบทั่วไปที่ได้รับการดูแลจากทางภาครัฐ โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1.ขอให้รัฐบาลมีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และราคาพลังงาน เช่น อาหาร นมผงเด็ก ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ก๊าซหุงต้ม น้ำมันพืช ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำมันเชื้อเพลิง และแก๊สที่ใช้สำหรับยานพาหนะ 2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าถึงการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแหล่งทุนในการซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่ออากาศที่บริสุทธิ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.ขอให้รัฐบาลคืนพื้นที่ทำการค้าให้แก่หาบเร่แผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง ถนนคนเดิน และตลาดในหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก และการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ ราคาถูก และยุติธรรม 4.ขอให้รัฐบาลส่งเสริมการจัดจ้างคนเก็บของเก่า และคนคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะอันก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน รวมทั้งขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการพิเศษ เรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง และงานบริการแก่ผู้ทำการผลิตรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นนิติบุคคล เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถผลิต และจำหน่ายสินค้า ให้มีรายได้และเกิดการหมุนเวียน ของเศรษฐกิจฐานราก

ทางด้านนายสุเทพ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะ กมธ. ในวันที่ 23 พ.ย. 2565 โดยจะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพราะแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการดูแล เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 2/10/2565

รวบนายทุนสัญชาติจีน หลอกแรงงานชาวไทยทำงาน ประเทศเพื่อนบ้าน บังคับทุบตีให้เป็น Scammer  หลอกลวงเงินผู้อื่นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

31 ต.ค. 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปคม. พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ รอง ผบก.ปคม. พ.ต.อ.แมน เม่นแย้ม ผกก.9 บก.รน. รรท.ผกก.4 บก.ปคม. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมนายหวง เทียนหยง หรือ อาหยง อายุ 33 ปี สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1112/2564 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2564 ข้อหา “สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ฯ และ ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกองค์อาชญากรรมกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานฯ” หลังจับกุมตัวได้ที่ บริเวณลานจอดรถย่าน ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2564 นายหวง ผู้ต้องหารายนี้พร้อมกับพวกซึ่งเป็นเครือข่ายขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ประกอบด้วยคนจีน ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า รวม 19 คน ร่วมกันหลอกคนไทยไปทำงาน ด้วยวิธีการลงโฆษณาในอินเตอร์เน็ตหลอกว่ามีการจัดหาคนไปทำงานที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อมีผู้หลงเชื่อตกลงไป  ก็จะถูกบังคับพาข้ามไปฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมาร์  ผ่านช่องทางธรรมชาติ  เมื่อไปถึงก็จะพาไปที่บริษัท JinXin Holdings จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมียวดี จากนั้นก็จะบังคับใช้แรงงานให้ทำงานเป็น Scammer หลอกลวงเงินผู้อื่นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในลักษณะหลอกอ้างให้นำเงินมาร่วมลงทุนธุรกิจเงินดิจิตอล หรือ บิทคอยท์

พล.ต.ต.ศารุติ กล่าวว่า โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถให้การช่วยเหลือกลุ่มเหยื่อถูกหลอกไปทำงานเหล่านี้ได้จำนวน 7 คน สอบปากคำจนทราบว่า กลุ่มผู้ต้องหาจะทำการสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมาในแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Tinder, Badoo, Blumboo, Jaumo Dating ฯลฯ แล้วบังคับให้กลุ่มเหยื่อแรงงานเหล่านี้นำไปใช้พูดคุยหลอกถามข้อมูลบุคคล และชักชวนคนมาลงทุน เมื่อมีคนสนใจทักกลับมาจะส่งต่อให้หัวหน้าทีมซึ่งเป็นชาวมาเลเซียและฟิลิปปินส์เป็นคนดำเนินการต่อ ซึ่งในแต่ละวันกลุ่มผู้เสียหายจะถูกบังคับให้ทำงานวันละ 12 ชม. ไม่มีวันหยุด ต้องทำยอดให้ได้ตามที่กำหนด หากว่าใครไม่ยอมทำงานหรือทำงานไม่ได้ตามยอดที่กำหนดจะถูกลงโทษโดยส่งไปขังที่ “ห้องดำ” หรือถูกทำร้ายร่างกายโดยการโกนผมและใช้ไฟฟ้าช็อตทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถขัดขืนได้ ถ้าผู้เสียหายคนใดต้องการกลับมาประเทศจะต้องนำเงินมาจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวจำนวน 50,000 บาท ถึงจะได้รับการปล่อยตัว บางรายต้องให้ญาติให้เอารถไปจำนำ หรือ กู้เงินนอกระบบ เพื่อนำมาให้กับกลุ่มผู้ต้องหา แลกกับการปล่อยตัวกลับมา ทางพนักงานสอบสวนจึงรวบพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับขบวนการดังกล่าว พร้อมกับตามจับกุมตัวมาได้แล้วจำนวน 7 ราย

พ.ต.อ.แมน กล่าวว่า กระทั่งล่าสุด เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสืบทราบเบาะแสว่า นายอาหยง ผู้ต้องหารายนี้ ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2565 เนื่องจากมีกิจการค่ายมวยชื่อ “อาหยงยิมส์” รวมถึงเป็นโปรโมเตอร์ในการจัดต่อยมวยตามเวทีต่างๆ ในประเทศไทย จึงแกะรอยตามจับกุมตัวได้ดังกล่าว จากการสอบปากคำเบื้องต้น ให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ จึงส่งตัวให้พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคม. ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับเตรียมขยายผลตาวจสอบธุรกิจต่างๆของผู้ต้องหาว่าเงินที่ใช้นำมาลงทุนนั้นเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดหรือไม่ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 31/10/2565

เจ้าหน้าที่ บุกทลาย ซอยกีบหมู พบ"แรงงานต่างด้าวเถื่อน" เตรียมส่งกลับประเทศ

31 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยนายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และพลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน นำเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ ของกรมการจัดหางานลงพื้นที่บริเวณถนนเจริญพัฒนา ซอยสุเหร่าคลอง 1 (ซอยกีบหมู) แขวงบางชัน เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร

โดยมีหน่วยงานความมั่นคง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) รวม 85 นาย เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้

กระทรวงแรงงาน พร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงาน เข้าตรวจสอบซอยกีบหมู พบ"แรงงานต่างด้าวเถื่อน" จำนวนมาก ด้าน"อธิบดีกรมการจัดหางาน" เตือนนายจ้าง ฝ่าฝืน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยนายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และพลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน นำเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ ของกรมการจัดหางานลงพื้นที่บริเวณถนนเจริญพัฒนา ซอยสุเหร่าคลอง 1 (ซอยกีบหมู) แขวงบางชัน เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร

โดยมีหน่วยงานความมั่นคง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) รวม 85 นาย เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65  มีมติคณะรัฐมนตรี ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมี "สถานะไม่ถูกต้อง" แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เพื่อสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้ไม่เกิน 13 ก.พ. 68  อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย ความมั่นคงของชาติ ตลอดจนป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานหรือบังคับใช้แรงงาน จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่ซอยกีบหมูในวันนี้

ด้านอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เนื่องจากซอยกีบหมูนี้ แต่ละวันจะมีนายจ้างมารับไปทำงานตามไซส์งานก่อสร้างต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีใบอนุญาตทำงาน แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบวันนี้พบ "แรงงานต่างด้าว" จำนวน 102 คน โดยพบว่า 31 คน มีความผิดตามพ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง ที่อยู่เกินกำหนดระยะอนุญาต หรือ Overstay หลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมายและผลักดันออกนอกประเทศ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ทั้งแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน แรงงานต่างด้าวที่เคยมีนายจ้างแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานกับนายจ้างแล้วแต่นายจ้างไม่ได้แจ้งออก และแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่นายจ้างเป็นนอมินี ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำตัวไปที่ สน.คันนายาว เพื่อสอบปากคำและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย ต้องมีนายจ้าง แรงงานเหล่านี้ไม่สามารประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบได้ เพราะจะเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ที่ผ่านมากรมการจัดหางานมีการจับตาดูซอยกีบหมูมาโดยตลอด และหลังจากนี้จะลงพื้นที่เพื่อกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 

"นายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 31/10/2565

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการให้สิทธิต่างชาติซื้อที่ดิน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการให้สิทธิต่างชาติซื้อที่ดิน และขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เปิดโอกาสให้คนต่างด้าวหรือนักลงทุนชาวต่างชาติได้สิทธิซื้อที่ดินในประเทศไทย ล่าสุดทาง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการให้สิทธิต่างชาติซื้อที่ดิน และขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายดังล่าว

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต อาชีพ แต่หลังจากที่รัฐบาลหลายยุคสมัยที่เน้นนโยบายการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยม เน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทอดทิ้งภาคเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้เกษตรกรเกิดภาวะความยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่ทำนา ปลูกพืช ปีละหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหลุดพ้นบ่วงหนี้ได้

สำคัญในยามนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาภาวะโลกร้อนเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้โลกขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกได้ รัฐเคยประกาศนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก

จากนโยบายของรัฐบาลก็ยังคงเดินตามนโยบายของระบบทุนเสรีนิยมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่สภาพโดยทั่วไปต่างประจักษ์ชัดแล้วว่า ทำให้คนส่วนใหญ่ลำบากยากจนลง หลักการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 รัฐบาลและกลไกรัฐกลับเพิกเฉยไม่นำพา เห็นได้ชัดจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25  ตุลาคม 2565 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ....

ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกณฑ์ที่เปลี่ยนไปจากกฎกระทรวงเดิม คือ มีการเพิ่มประเภทของกลุ่มต่างชาติ 4 กลุ่ม และปรับปรุงประเภทการลงทุนของกองทุนต่างๆ ที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เพิ่มประเภทการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลไทย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และต้องถือครองการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี

ที่มา: Spring News, 31/10/2565

กสร. เตือนนายจ้างจัดพักร้อนให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี พร้อมจ่ายค่าจ้าง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด

ทั้งนี้ กรมได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติ ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการชี้แจงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่นายจ้าง/ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนายจ้างจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องครอบคลุมทุกมิติ

นายนิยม กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ/ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2660 2069 – 71 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: PPTV, 31/10/2565

สธ.เผยข้อเสนอพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขต่างด้าว ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการของแรงงาน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร 3 ล้านกว่าคน ซึ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าวมักมีปัญหาในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและไม่ได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำ เนื่องจากปัจจัยความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว เน้นการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ การพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการ และสิ่งสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมา มีการอบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในการดูแลช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตร

“โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัจจัยจากระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว : กรณีศึกษาจังหวัดสมุทรสาครและระนอง” เพื่อวิเคราะห์การดำเนินงาน พสต.และ อสต. พบว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการเรื่อง พสต. และ อสต. มาอย่างยาวนาน เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารและความแตกต่างด้านสังคมวัฒนธรรม ประเด็นสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถ คือ ความรอบรู้สุขภาพที่จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพในแรงงานต่างด้าวได้ โดยพบว่า พสต. มีความรอบรู้สุขภาพมากกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไปจากการอบรมและดูแลติดตาม/เป็นพี่เลี้ยงที่เข้มข้นกว่า ทำให้มีโอกาสได้รับข้อมูลสุขภาพจากเจ้าหน้าที่มากกว่า ซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถของ พสต. และ อสต. ที่ผ่านมา มีจุดเด่นเรื่องหลักสูตรกลางที่เป็นมาตรฐานและการสนับสนุนสื่อในการพัฒนาขีดความสามารถ รวมถึงบางหน่วยงานคัดเลือก พสต. และ อสต. จากแรงจูงใจในการทำงานที่ไม่ใช่ตัวเงินร่วมด้วย เช่น ความเป็นจิตอาสา และความต้องการที่จะมีความรู้ด้านสุขภาพ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

โฆษก สธ. กล่าวว่า สำหรับจุดที่ต้องพัฒนาในการดำเนินการ คือ ความไม่แน่นอนของงบประมาณ ขาดระบบการติดตามและประเมินผลขีดความสามารถ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1.ภาครัฐ โดยเฉพาะ สธ. ควรกำหนดแหล่งงบประมาณในการจ้าง พสต. ให้ชัดเจน กำหนดขีดความสามารถขั้นพื้นฐานที่ พสต. และ อสต. ควรมี เช่น ทักษะด้านภาษา ความเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจความแตกต่างเรื่องสังคมวัฒนธรรม และความรอบรู้สุขภาพ เพื่อให้คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลน และเพิ่มความยั่งยืนของระบบ เช่น จ้างงาน พสต. ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงจากประเทศต้นทาง 2.ควรวางแผนการอบรมและติดตามการทำงานของ พสต. และ อสต.อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ และ 3.ควรให้ความสำคัญกับแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในการจูงใจให้ พสต. และ อสต. อยู่ในระบบ เช่น การได้รับการยอมรับในชุมชน การให้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ และการส่งเสริมให้พัฒนาขีดความสามารถตนเอง เช่น เปิดโอกาสให้เข้ารับการอบรมพัฒนาเป็นบุคลากรสุขภาพในระดับสูงขึ้นไปได้ เป็นต้น

ที่มา: มติชน, 30/10/2565

17 ลูกจ้างสวนสัตว์โคราช ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ร้องสภาทนายความช่วย หลังสำเร็จแล้ว 14 ราย ศาลสั่งจ่าย 1.7 ล้านบาท

30 ต.ค. 2565 ที่สำนักงานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา นางจิรชยา อาจปรุ อายุ 42 ปี อดีตลูกจ้างโครงการร้านอาหารสวนสัตว์นครราชสีมา พร้อมพวกซึ่งเป็นอดีตพนักงานลูกจ้างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (สวนสัตว์นครราชสีมา) รวม 17 ราย ได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือนายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา กรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ท่ามกลางความหวังหลังจากวันที่ 17 ต.ค ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลแรงงานภาค 3 นครราชสีมา ให้สวนสัตว์นครราชสีมา จ่ายเงินค่าชดเชยให้พนักงานลูกจ้าง 14 สำนวนคดี ตามอายุการทำงานของแต่ละบุคคลตั้งแต่รายละ 1.2-1.5 แสนบาท รวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท

นางจิรชยา เปิดเผยว่า ตนทำงานที่สวนสัตว์แห่งนี้ขาด 3 วัน จะครบ 15 ปี โดยมีอายุการทำงาน 14 ปี 362 วัน แต่ถูกเลิกจ้างเมื่อปี 2563 และไม่ได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรม สาเหตุที่พวกเราไม่ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องพร้อมกับลูกจ้างกลุ่มแรก เนื่องจากช่วงเวลานั้นเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขาดการติดต่อและการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดี จนกระทั่งมีการนำเสนอข่าว ระบุกลุ่มลูกจ้าง 14 ราย ได้รับการชดเชยแล้ว ตนและพวกจึงมีความหวังอีกครั้ง เพื่อนำเงินชดเชยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นทุนประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไป

ด้านนายพรเทพ ประธานสภาทนายความฯ กล่าวว่า หลังกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ในสวนสัตว์นครราชสีมาได้ถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนกว่า 40 ราย ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 14 ราย สำหรับอดีตลูกจ้างกลุ่มนี้ ได้มาขอความช่วยเหลือทางคดี เพื่อขอรับค่าชดเชยจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เฉลี่ยรายละ 9 หมื่นบาท – 1.2 แสนบาท รวม 1.8 ล้านบาท เบื้องต้นได้รับเรื่องและสภายินดีให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนำไปสู่การแต่งตั้งทนายความอาสา 1 คน ต่อ 3 คดี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/10/2565

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net