Skip to main content
sharethis

เผยแรงงานไทยในไต้หวันเผชิญอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น สำนักแรงงานไทเปชี้ ทุกปัญหามีทางออก วอนร่วมด้วยช่วยกันหยุด “การฆ่าตัวตาย” แนะช่วยกันสังเกตและพูดคุยกับเพื่อนรอบข้างที่เก็บกดหรือมักมองโลกในแง่ลบ


ที่มาภาพประกอบ: Rti Fanpage

5 พ.ย. 2565 รายการขุนพลแรงงานไทยโดย Radio Taiwan International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2565 ระบุว่าปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก สำหรับแรงงานไทยในไต้หวันก็เช่นกัน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและทำอัตวินิบาตกรรมเพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่า 10 เดือนแรกของปี 2565 มีแรงงานไทยจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 15 คน สาเหตุส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากปัจจัยต่าง ๆ เช่นปัญหาครอบครัว ยาเสพติดและปัญหาสุขภาพ ส่วนวิธีฆ่าตัวตายเกือบทั้งหมดผูกคอตาย มีบางรายที่กินสารพิษเคมี สำนักงานแรงงานไทยเรียกร้องช่วยกันสอดส่องและยื่นมือให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการรับฟังและเป็นเพื่อน อาจช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้น และยับยั้งชั่งใจตัวเองได้

ตัวอย่างแรกเป็นคนงานไทยอายุ 27 ปีจากกรุงเทพฯ เดินทางมาทำงานในโรงงานผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ชื่อดังของไต้หวัน โรงงานที่เขตปาเต๋อ นครเถาหยวน แรงงานไทยรายนี้ปกติไม่ค่อยสุงสิงกับใคร มีอาการหงุดหงิดและเครียดจัดจากปัญหาส่วนตัว ขณะทำงานใจไม่อยู่กับที่มักจะเหม่อลอย ในวันเกิดเหตุ คือเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้ถือโอกาสที่ไม่มีใครอยู่แอบเข้าห้องแลบของโรงงาน ซึ่งห้ามพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป ยกโทลูอีน สารระเหยที่ใช้เช็ดคราบสุขภัณฑ์มาซด ถูกนำส่งล้างท้องที่โรงพยาบาลฉางเกิง สาขาหลินโข่ว แต่เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีพิษและออกฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง ทำลายระบบทางเดินอาหารของแรงงานไทยรายนี้เสียหายหนัก เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลา 4 วันต่อมา

ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่วัน แรงงานไทยอีกรายอายุเพียง 23 ปี มาจากจังหวัดตาก เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่ไซต์งานหล่อแท่นปูนฐานรากแบบกล่องกันคลื่นทะเล โครงการก่อสร้างสถานีรับและจ่ายแก๊สแห่งที่ 3 ของบริษัทการปิโตรเลียมไต้หวันหรือ CPC ที่เขตกวนอิน นครเถาหยวน แรงงานไทยรายนี้เป็นคนเงียบขรึม ไม่ชอบพูดจากับใคร การทำงานไม่มีปัญหา และก่อนเหตุช่วง 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันและมีคลื่นลมแรง ทัศนวิสัยไม่ดี ทำให้ไม่สามารถไปทำงานในทะเลได้ และเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 2565 แรงงานไทยรายนี้ออกไปนอกแคมป์พักแต่ลำพังโดยไม่บอกใคร ช่วงเช้ามีชาวบ้านไปพบผูกคอตายข้างถนนห่างจากแคมป์พักไม่ไกล

นอกจาก 2 รายกล่าวแล้ว ยังมีแรงงานไทยอีกหลายรายที่เสียชีวิตจากการทำอัตวินิบาตกรรม ที่ผ่านมาจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันที่เสียชีวิตทั้งหมดแต่ละปีจะมีประมาณ 70 ราย แต่สำหรับปีนี้ เฉพาะ 10 เดือนแรก มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 80 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้ากว่า 15 ราย

มีปัญหาควรหาทางระบายหรือปรึกษากับคนที่เรารู้จัก อย่าเก็บกดไว้คนเดียว ปัญหาทุกอย่างล้วนมีทางออก ไม่ควรแก้ปัญหาโดยวิธีตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพราะจะทำให้คนข้างหลังเศร้าโศกเสียใจ กระทั่งเดือดร้อน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง จะส่งผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงงานจะมีผลกระทบต่อคนได้เป็นจำนวนมาก ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากความถี่ของปัญหามีมากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งระดับความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคม ในขณะที่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตที่ลดลง

เมื่อพบว่า เพื่อนร่วมงานมีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้ว ต้องรีบให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คนที่คิดฆ่าตัวตายมักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ เราจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่ารอให้เขาร้องขอ โดยปกติ ก่อนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นสามารถสังเกตเห็นเป็นสัญญาณได้หลายอย่าง เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลวทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว สนใจข่าวการตาย ขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย จัดการกับภาระสุดท้ายต่างๆ เช่น ทำพินัยกรรมยกสมบัติส่วนตัวให้ผู้อื่น เป็นต้น

นางสาวประภาวดี แก้วศิริพงษ์ ผอ. สำนักงานแรงงานไทยกล่าวเรียกร้องว่าการรับฟังและเคียงข้างผู้ที่มีภาวะที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย แม้เพียงเวลาเล็กน้อย หรือเพียง 24 ชม. ก็อาจช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้น และยับยั้งชั่งใจตัวเองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net