Skip to main content
sharethis

ม.มหิดล ชี้ในช่วง 20 ปี ไทยต้องการแรงงานทักษะสูงไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเกิดลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะขาดแคลนวัยแรงงาน จนถึงขั้นนำเข้า ล่าสุด "ม.มหิดล"วิจัยเตรียมรับแรงงานย้ายถิ่นคุณภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์  อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยสัดส่วนประชากรวัยแรงงานกำลังลดลงแต่สัดส่วนประชากรสูงอายุได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในอนาคตอันใกล้ราวปี 2572 ประชากรไทยจะเริ่มลดลงซึ่งจะทำให้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจุบันที่ประเทศไทยได้นำเข้าแรงงานข้ามชาติเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วจำนวน 3-4 ล้านคน

เพื่อวางแนวทางเพื่อรองรับปัญหาการลดลงของประชากรปัญหาขาดแคลนและตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงมหาวิทยาลัยมหิดลโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของไทย (International Migration in Thailand)

โดยมีระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมาเพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การย้ายถิ่นของไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และกำหนดแนวนโยบายด้านการย้ายถิ่นที่เหมาะสมโดยครอบคลุมการย้ายถิ่นของกลุ่มแรงงานข้ามชาตินักศึกษานานาชาติและผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติด้วย

"ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดต่อไปในอนาคตคือการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมและภาคบริการโดยแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นมากในระยะยาวคือแรงงานในภาคบริการและแรงงานประเภทแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ

เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นั้นจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูงควบคู่กันไปด้วยโดยคาดว่าประเทศไทยต้องการ"แรงงานทักษะสูง"ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้าโดยส่วนหนึ่งจะมาจากแรงงานทักษะสูงต่างชาติเนื่องจากเราไม่สามารถผลิตบุคลากรได้พอเพียง" ผศ.ดร.สักกรินทร์กล่าว

เป้าหมายสำคัญของการวิจัยนี้คือการศึกษานโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร (Replacement Migration Policy) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของประชากรอันเนื่องมาจากสังคมสูงวัย(ageing society)และการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยกำหนดนโยบายวีซ่าระยะยาวที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีคุณสมบัติตามที่ประเทศไทยต้องการและผลักดันมาตรการที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมถึงสวัสดิการต่างๆที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานย้ายถิ่นการบูรณาการทางสังคมและการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ย้ายถิ่นด้วย

ผศ.ดร.สักกรินทร์ เสนอแนะนำว่าการเตรียมพร้อมมาตรการนำเข้าแรงงานย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรของประเทศไทยว่าควรกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนตามหลักอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงานว่าควรเป็นไปในลักษณะจำนวนเท่าใดและมีวิธีการในการพิจารณาโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคตและชะลอผลกระทบจากปัญหาการลดลงของประชากรในระยะยาว

ทั้งนี้คาดว่าผลจากการวิจัยนี้จะทำให้กลุ่มผู้ย้ายถิ่นต่างๆทั้งแรงงานข้ามชาตินักเรียนนักศึกษานานาชาติรวมถึงผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติหันมามองประเทศไทยในฐานะบ้านที่2อันอบอุ่นและพร้อมเติบโตไปกับอนาคตที่สดใสของประเทศไทยร่วมกัน

ที่มา: คมชัดลึก, 14/1/2566

รมว.ท่องเที่ยว ห่วงปัญหาขาดบุคลากรท่องเที่ยว เร่งประสานสร้างบุคลากรเพิ่มเติม หลังหายไปกว่า 40%

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความคืบหน้า หลังจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยเข้ามาไทย หลังจีนเปิดประเทศเมื่อ 8 มกราคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก

เรื่องนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือประเมินร่วมกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ยังยืนยันว่า นักท่องเที่ยวจีนในเดือนนี้ (มกราคม) น่าจะยังมีมาไม่เกิน 1 แสนคน จากนั้นตัวเลขจะค่อยๆขยับเพิ่มขึ้นไป ตามเป้าที่วางไว้คือปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนได้ไม่ต่ำกว่า 5 – 7 ล้านคน

โดยปัญหาที่เจอในเวลานี้คือ จำนวนเที่ยวบินที่บินมาจากจีนยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และจำกัด แต่ก็ยังพอมีข่าวดีหลังจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้สายการบินของจีนหลายบริษัทได้ยื่นขอขยายเพิ่มเที่ยวบินมายังไทยอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะปลายทางกรุงเทพฯ แต่มีบินตรงไปลงที่เชียงใหม่ และภูเก็ต ด้วย คาดว่าทั้ง 2 จังหวัดท่องเที่ยวหลักของคนจีนไฟล์ทบินจะเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน เกินวันละสิบเที่ยวบินแน่นอน รวมถึงที่กรุงเทพทั้งสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ จะมีมากกว่าวันละ 40 เที่ยวบินแน่นอน

ทั้งนี้ยอมรับว่าเป้าที่วางไว้อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากการหายไปของบุคลากรด้านท่องเที่ยว ทั้ง ภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิง ข้อมูลตอนนี้หายไปถาวร มากถึง 40%  ตอนนี้กระทรวงฯพยายามแก้ปัญหาด้วยการร่วมมือกับ กรมการท่องเที่ยว เอกชน ท้องถิ่น สร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ผ่านโครงการอบรมให้ความรู้ด้านบริการ เบื้องต้นตอนนี้จะมีนักศึกษาที่จบด้านการท่องเที่ยว โดยกรมการท่องเที่ยวจะดึงมาฝึกอบรมเตรียมเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์,​ 13/1/2566

ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบแรงงานต่างด้าว “แย่งอาชีพคนไทย” พบเห็นแรงงานต่างด้าวทำงาน “นอกเหนือสิทธิ” โทร. 0 2354 1729

จากกระแสข่าวกรณีแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพ เร่ขายสินค้า ขายอาหาร นวดแผนไทย และช่างทำผมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นจำนวนมากนั้น

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจฯ กรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการตรวจแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย โดยเข้าตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ จำนวน 56 แห่ง พบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมากระทำความผิดประกอบอาชีพแย่งอาชีพคนไทยจำนวน 8 ราย และได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้ว

กระทรวงแรงงานเผยว่าอาชีพดังกล่าวข้างต้น เป็นอาชีพที่ชาวต่างด้าว “ห้ามทำโดยเด็ดขาด” ซึ่งมีระบุไว้ในประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งานแบ่งเป็น งานที่ห้ามทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน อ่านเพิ่มเติม คลิก https://shorturl.asia/Z3GdC

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะได้รับโทษ ดังนี้ :

• คนต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ

• นายจ้างที่จ้างคนต่างชาติ “ไม่มีใบอนุญาตทำงาน” หรือให้คนต่างชาติ “ทำงานนอกเหนือสิทธิ” จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท/คนต่างชาติที่จ้างหนึ่งคน

• หาก “กระทำผิดซ้ำ” ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างชาติทำงานเป็นเวลา 3 ปี

หาก ปชช. พบเห็นคนต่างด้าว “ทำงานนอกเหนือสิทธิ” หรือ พบเห็น “การจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย” สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ :

• สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

• สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ พื้นที่ 1-10

• สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2

• สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

• แจ้งเบาะแส “โดยตรง” ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 0 2354 1729

ที่มา: ทำเนียบรัฐบาล, 12/1/2566

“พรรคแรงงานสร้างชาติ” ดันแก้ ก.ม.กองทุนทดแทน ให้ความเป็นธรรมนายจ้าง

นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ (NLP) เปิดเผยว่า พรรคแรงงานสร้างชาติได้รับการร้องเรียนจากนายจ้างว่า อยากให้รัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นายจ้างผู้ประกอบการ ตามที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างได้ใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยเก็บเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 2% ตามระดับความเสี่ยงของประเภทกิจการของนายจ้าง ซึ่งเป็นการเก็บจากนายจ้าง (ฝ่ายเดียว) จำนวน 400,000 แห่ง โดยปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสม 70,000 ล้านบาท

“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายกำหนดให้การรักษาเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน กรณีค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่กิน 100,000 บาท และกรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้นายจ้างจำนวนมาก มองว่าไม่เป็นธรรมเพราะนายจ้างได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนไปแล้ว กรณีค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินก็ควรให้กองทุนรับผิดชอบทั้งหมด”นายมนัส กล่าวและว่า พรรคแรงงานสร้างชาติจะผลักดันให้เรื่องนี้มีการแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยวันที่ 13 ม.ค.พรรคแรงงานสร้างชาติจะมีการประชุมเสวนาเรื่องกองทุนทดแทนร่วมกับนายจ้าง SME ที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/1/2566

โรงแรมที่พักขนาดเล็กขาดแคลนแรงงาน จ.เชียงใหม่

หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซั่น ทำให้ยอดเข้าพักของผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก เพิ่มขึ้นร้อยละ 60-70 ซึ่งถือว่าเริ่มฟื้น แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงสินค้าปรับขึ้น และค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มปีหน้า จะส่งกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ห้องพักของผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กบริเวณชุมชนล่ามช้าง เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ยังว่างหลายห้อง แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงไฮซีซั่น ฤดูท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

นายวีระวิทย์ แสงจักร ผู้ประกอบการที่พักชุมชนล่ามช้าง อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่าหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวมากขึ้น แต่ปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบการ คือ ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากผลพวงของการปิดมานานกว่า 2 ปี ทำให้ลูกจ้างเดิมไปประกอบอาชีพอื่นๆ ขณะนี้ผู้ประกอบการจึงต้องเข้าไปดูแลบางส่วน

ด้านอำนาจ ดวงสิงห์ นายกสมาคมที่พักบูติคเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้การเข้าพักโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อยู่ที่ร้อยละ 60-70 แม้มองว่าเริ่มฟื้นตัว แต่ระยะนี้เป็นช่วงการท่องเที่ยว หลังเดือนมีนาคม คาดว่านักท่องเที่ยวจะลดลง ขณะที่ผู้ประอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ช่วงฟื้นตัว ยิ่งปีหน้าหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนเพราะไม่สามารถปรับค่าที่พักตามได้

ข้อมูลของสมาคมที่พักบูติคเชียงใหม่ ระบุว่า ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีที่พักขนาดกลาง และขนาดเล็ก กว่า 400 แห่ง จำนวนประมาณ 8,000 ห้อง ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้องปิดโรงแรมนานกว่า 2 ปี ผู้ประกอบการเดือดร้อนเพราะมีภาระใช้จ่ายทุกเดือน ปีนี้ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายแห่งกู้เงินมาปรับปรุงห้องพัก จึงอยากให้ภาครัฐหามาตรการเข้ามาดูแล ทั้งแหล่งเงินทุน รวมถึงจัดกิจกรรมกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด

ที่มา: Thai PBS, 12/1/2566

พนักงานธนาคารกรุงเทพประท้วงที่สำนักงานใหญ่

11 ม.ค. 2566 สมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพรวมตัวเรียกร้องสิทธิประโยชน์เรื่องเงินช่วยเหลือค่าครองชีพของพนักงานธนาคารกรุงเทพ ที่หน้าธนาคารสำนักงานใหญ่ เลขที่ 333 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก หลังการเจรจาระหว่างตัวแทนสหภาพกับผู้บริหารธนาคารทางออนไลน์ไปแล้ว 18 ครั้ง ในรอบ 5 เดือน ไม่สามารถตกลงกันได้

ที่มา: BBC, 11/1/2566

“กกร.” แนะเร่งหาแรงงานรับอุตฯ ท่องเที่ยว ชี้เศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3-3.5%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนม.ค.2566 ว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลเรื่องปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวต่อไป

“เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ อัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธ.ค.2565 อยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 ม.ค.2566 น่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20-25 ล้านคน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% การส่งออกคาดอยู่ในกรอบ 1.0-2.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%”

โดย กกร.ประเมินว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แม้ในช่วงแรกของการผ่อนคลายจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการส่งออกของจีนหดตัวลงเพิ่มเติมในระยะนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้ 5% ตามเป้าหมาย เทียบกับปีก่อนที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. ยังคงยืนยันในข้อเสนอ 5 ข้อเพื่อบรรเทาภาระค่า Ft ดังนี้ 1. ตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องผลักภาระต้นทุนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน 2. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืมและชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลังเนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดย ขอให้มีการปรับค่าFt แบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่าเพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น

4. ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองมากขึ้นโดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานและสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง4, ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์(แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้), ลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ฯและอุปกรณ์ รวมทั้งพิจารณา Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้นโดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานหรือ กรอ.ด้านพลังงาน

โดยข้อเสนอข้อที่ 5 นี้ ล่าสุด กกร. ได้ตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ โดยจะต้องวางแผนในระยะยาวให้มีความสมดุลทั้งด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันต่อไป

“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะลดค่า Ft ภาคธุรกิจเหลือหน่วยละ 5.33 บาท แต่ถือว่ายังสูงกว่าที่ต้องการให้พยุงไว้ที่หน่วยละ 4.72 บาท ดังนั้น ต้นทุนสินค้าก็นยังจะต้องปรับขึ้นระดับ 9-10% ถือเป็นระดับที่สูงอยู่ดี ซึ่งผู้ผลิตก็จะพยายามดูแลราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูงมากจนเกินไป ซึ่งความกังวนอีกอย่างคือ การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ นั้น แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่จะส่งผลถึงค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ปัจจุบันก็เกินมากพออยู่แล้ว แต่ถ้ามีในส่วนนี้มาอีกสัดส่วนต้นทุนภาระก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

“อีกความกังวลคือ หากรัฐบาลยุบสภาฯ จะทำให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาร่วมกันอาจเกินเกียร์ว่างอีก จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูในเรื่องของการแก้ปัญหาค่า Ft ระยะยาว เพราะล่าสุดโรงพยายาบลได้มีการปรับค่าบริการไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงนักธุรกิจด้วยกันเริ่มมีการชะลอและทบทวนสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากปัญหาการขึ้นค่า Ft เพราะเขามองว่าเป็นต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาคการลงทุนทั้งระบบ เพราะเรื่องพลังงานสำคัญเป็นหัวใจของการแข่งขัน ที่กระทบการผลิต และการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ และท้ายสุดจะเป็นการซ้ำเต็มเงินเฟ้อ จึงต้องแก้ปัญหาระยะสั้น กลาง ยาว จึงต้องมีการคุยกันใหม่ทั้งหมดในเรื่องของโครงสร้าง” นายเกรียงไกร กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/1/2566

เผยโครงการจ้างงานคนพิการทะลุเป้า 82% สร้างรายได้ให้ผู้พิการกว่า 390 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มุ่งสร้างโอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงแรงงาน ได้เชิญชวนสถานประกอบการภาคเอกชน เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ มีสถานประกอบการ จำนวน 337 แห่ง ตอบรับและดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ทั้งสิ้น 3,277 คน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,800 คน ถือว่าเกินเป้าหมายถึง 82% จะก่อให้เกิดรายได้แก่คนพิการ 392,322,440 บาทต่อปี

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ขอขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชน จำนวน 337 แห่ง อาทิ บจก. แฟลช เอ็กซ์เพรส บริษัท แคล-คอมพ์  อีเล็คโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด ที่ได้ให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมจ้างงานคนพิการเชิงสังคม

สำหรับโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ นายจ้างสถานประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยบริการสาธารณะ และผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล สามารถทำงานใกล้บ้าน ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ สถานประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสอบถามติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านระบบ e - Service กรมการจัดหางาน หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10/1/2566

กสร. ย้ำนายจ้างอย่าลืมส่งรายงาน จป. ครั้งที่ 2 ภายใน ม.ค. 2566

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 กำหนดให้นายจ้างจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน และครั้งที่สองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ทั้งนี้ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด กสร. จึงขอให้นายจ้างดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดส่งรายงานผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มกราคม 2566 ให้เรียบร้อยและถูกต้อง

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการ สามารถยื่นแบบดังกล่าวได้ 2 ช่องทาง โดยนำส่งด้วยตนเองหรือไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือยื่นแบบผ่านออนไลน์โดยการกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) ช่องทาง E-service (https://eservice.labour.go.th) ทั้งนี้ หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใด มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลและยื่นแบบรายงาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 10/1/2566

สำรวจวิทยาลัยอาชีวศึกษาขาดครูช่างกว่า 17,000 คน บางแห่งขาดถึง 200 คน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังวางแผนเรื่องการแก้ไขปัญหาขาดครูของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งภาพรวมจากการสำรวจข้อมูลพบขาดอัตรากำลังอยู่ประมาณ 17,000 อัตรา วิทยาลัยบางแห่งขาดอัตรากำลังครูมากถึง 200 คน  เบื้องต้นได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในการกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เป็นสาขาวิชาชีพที่เป็นความต้องการของวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาวิทยาลัยที่ขาดครูก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำเงินบำรุงการศึกษาและเงินที่ได้จากรายหัวนักศึกษาไปจ้างเหมาบริการแทน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้จะนำรายละเอียดการขาดครูเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา เพื่อเป็นมติรับรองอัตราว่างตามจริง ตามเกณฑ์ขาดครูที่ ก.ค.ศ.กำหนด จากนั้นจะเสนอรายละเอียดไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณมาเติมให้แก่วิทยาลัยที่ขาดครูในการจ้างครูมาสอน ขณะเดียวกันได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขออัตรากำลังครูของกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อมากำหนดตำแหน่งเป็นครูช่าง ซึ่งเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้การเรียนการสอนด้านสายอาชีพมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ขณะนี้มีเด็กสนใจเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น  ภายในเดือน ม.ค.นี้ น่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มองว่าการแก้ปัญหาขาดครูระยะยาวในอนาคตเราอาจนำสื่อเทคโนโลยีการสอนสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการช่วยสอนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10/1/2566

สปส.ลุย Kick off โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ร่วมมือ รพ.ใน 7 จังหวัดนำร่อง

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้ครอบคลุม การดูแลบริการและสิทธิประโยชน์ของแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มอบนโยบายมุ่งเน้นการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณสุขและสุขภาพของผู้ประกันตน โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จัดบริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเท่าเทียมกัน

โดยในปี 2566 รัฐบาล และ รมว.แรงงาน ได้มอบของขวัญชิ้นสำคัญ เพื่อดูแลสุขภาพพี่น้อง ผู้ประกันตน ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากล ทำให้แรงงานในระบบมั่นใจว่าเมื่อยามเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยให้สำนักงานประกันสังคมจัดทำ “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย และศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก และระบบด้านการจัดบริการและการป้องกันโรค

สำหรับวันนี้ (9 ม.ค.) สำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมมือกับสถานประกอบการ และสถานพยาบาลในพื้นที่ เริ่มดำเนิน “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” เพื่อค้นหาความเสี่ยงหลอดเลือดและหัวใจ นำร่องพร้อมกันใน 7 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี ร่วมมือกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ เข้าให้บริการตรวจค้นหาความเสี่ยงฯ ให้ผู้ประกันตน ณ บริษัทสักทอง (ไทย) จำกัด, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ เข้าให้บริการฯ ณ บจก.ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม และบจก.อินโนเวชั่น, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยอง ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ระยอง เข้าให้บริการฯ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับโรงพยาบาลการุญเวชอยุธยา เข้าให้บริการฯ ณ บริษัท ฮัทชินสัน เทคโนโลยี โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แมกเนคอมพ์ พรีชิชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน), สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์ เนชั่นแนล สมุทรสาคร เข้าให้บริการฯ ณ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และร่วมมือกับโรงพยาบาล ศิครินทร์ สมุทรปราการ ให้บริการฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร

ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ร่วมมือกับโรงพยาบาลการุณเวช ปทุมธานี ให้บริการฯ ณ บริษัท ปฐวิน จำกัด, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ให้บริการฯ ณ บจก.แวนด้าแพค และร่วมมือกับโรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง ให้บริการฯ ณ บจก.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท เกียรติผล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกันตนในสถานประกอบการดังกล่าว จะได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก คือ เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ, แบ่งกลุ่ม ตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน และติดตามผลระบบ Telemedicine พร้อมดำเนินการปรับพฤติกรรม โครงการฯ ดังกล่าว มีเป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย เกิดต้นแบบด้านการบริการและป้องกันโรคในสถานประกอบการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนต่อหัวเฉลี่ย รายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) วงเงิน 187.50 ล้านบาท

"โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการจะให้การคุ้มครองทางสังคมและสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้ประกันตนทุกคน สอดคล้องกับนโยบาย ของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้การดูแลผู้ใช้แรงงาน อย่างเท่าเทียมโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตน และพร้อมพัฒนางานด้านประกันสังคม ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานปรัชญาการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพ ของผู้ประกันตนต่อไป"

ที่มา: สยามรัฐ, 9/1/2566

เครือร้านอาหารไทยใน LA ถูกทางการสหรัฐปรับ 1.6 ล้านเหรียญฐานโกงค่าจ้าง

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้ประกาศผลการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติกรรมการจ่ายค่าจ้างของเครือข่ายร้านอาหารในลอสแองเจลิส โดยเรียกคืนค่าจ้างย้อนหลังทั้งหมด 1,651,550 ดอลลาร์จากเจ้าของชาวไทยเพียงคนเดียว

พนักงานสอบสวนของแผนกค่าจ้างและชั่วโมงของกรมแรงงาน สั่งให้ประไพ บุณยินดี จ่ายค่าเสียหายที่พวกเขาบอกว่าจงใจดำเนินการเพื่อปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างแรงงาน

ประไพ บุญยินดีเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย 6 แห่งในลอสแอนเจลิส ชื่อ Ocha Classic และร้านหนึ่งชื่อ Vim in Panorama City

ตามที่เจ้าหน้าที่เปิดเผยประไพ จงใจปฏิเสธการจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับคนงาน 83 คน โดยเก็บ "บันทึกเท็จ" เพื่อพยายามซ่อนการขโมยค่าจ้าง นอกจากนี้ เธอยังถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงบันทึกเพื่อแสดงให้เห็นว่าพนักงานไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและจงใจกีดกันค่าจ้างจากพนักงานสำหรับชั่วโมงล่วงเวลาที่พวกเขาทำงานเสร็จ  ซึ่งข้อกล่าวหาทั้งสองเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานยุติธรรม

ประไพ ได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าตอบแทนล่วงเวลา 825,775 ดอลลาร์ และค่าเสียหายจำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์หน่วยงานยังได้เพิ่มโทษปรับอีก 62,167 ดอลลาร์เนื่องจาก "ลักษณะจงใจของการละเมิด" ซึ่งมักจะเรียกเก็บค่าปรับเพิ่มเติมลักษณะนี้โดยอาศัยข้องบังคับชุดหนึ่งเพื่อยับยั้งการกระทำผิดเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอนาคต

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ความผิดในลักษณะนี้ - ที่ซึ่งคนงานถูกโกงเงินหลายหมื่นดอลลาร์จากค่าจ้างหรือทิปในอุตสาหกรรมบริการอาหาร กระทรวงแรงงานกล่าวว่าได้เรียกเก็บเงินค่าจ้างมากกว่า 27 ล้านดอลลาร์สำหรับพนักงานบริการอาหารกว่า 22,000 คนในปีงบประมาณ 2022 เพียงปีเดียว

โดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางได้ค่าจ้างคืนจากสถานประกอบการขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารย่านนอร์ทแคโรไลนา Jay's Kitchen ซึ่งเป็นของบริษัท Mugen Inc. ซึ่งพบในเดือนตุลาคม 2022 ที่ไม่จ่ายทิปให้พนักงาน รวมถึงจากเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น Krispy Kreme โดยในในเดือนพฤศจิกายน2022  Krispy Kreme ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างย้อนหลังเกือบ 1.2 ล้านดอลลาร์และชดเชยความเสียหายให้กับคนงาน 516 คนเพื่อแก้ไขการละเมิดกฎการทำงานล่วงเวลาในหลายสาขาทั่วประเทศ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 8/1/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net