Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์' นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เผยผลสำรวจคนกรุงฯ 66.5% หนุนยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยใช้การสมัครใจเป็นพลทหารอาชีพแทน ระบุเหตุ กองทัพไทยมีขนาดใหญ่เกินกว่าความจำเป็น, หมดยุคแล้ว, เสียเวลาของชีวิตเยาวชน และการรักชาติร่วมสร้างชาตินั้นไปทำอาชีพใดๆ ก็ได้ เป็นต้น

 

23 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ม.ค.) เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน กับข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก การบังคับเกณฑ์ทหาร โดยใช้การสมัครใจเป็นพลทหารอาชีพแทน”

ธำรงศักดิ์ ระบุว่าผลการวิจัยพบว่า

1. คนกรุงเทพฯ เห็นว่า ต้องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร จำนวน 798 คน คิดเป็นร้อยละ 66.50 คนกรุงเทพฯเห็นว่า ยังต้องมีบังคับเกณฑ์ทหาร 188 คน คิดเป็นร้อยละ 15.67 ส่วนไม่แสดงความเห็น 214 คน คิดเป็นร้อยละ 17.83

2. ทัศนคติคนกรุงเทพฯ มีทิศทางไปทางเดียวกับทัศนคติคน Gen Z ทั้งประเทศ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ร้อยละ 84.7 คน Gen Z ที่เห็นว่า ยังต้องมีบังคับเกณฑ์ทหาร ร้อยละ 5.7 ส่วนไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.6

3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร นั้นมีคำอธิบายในแนวทางเดียวกันกับของคน Gen Z เช่น มีทหารไปทำไม, กองทัพไทยมีขนาดใหญ่เกินกว่าความจำเป็นของประเทศ, หมดยุคทหารเกณฑ์, คนทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อมีร่างกายจิตใจเป็นทหาร, เสียเวลาของชีวิตเยาวชน, เยาวชนเสียเวลาไปเปล่าๆ, ควรให้เยาวชนเอาเวลาไปสร้างสรรค์ชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจ, การรักชาติร่วมสร้างชาตินั้นไปทำอาชีพใดๆ ก็ได้, คนมีความหลากหลายจึงมีความสามารถและรสนิยมที่แตกต่างกันไป, เยาวชนต้องมีความทรงจำที่เจ็บปวด, กองทัพไทยถึงยุคต้องจิ๋วแต่แจ๋ว, ศตวรรษนี้เป็นยุคไฮเทคโนโลยีไม่ใช่ยุคทหารเกณฑ์, สิทธิเสรีภาพของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด, ทหารเกณฑ์คือช่องคอรัปชั่นของนายทหารในกองทัพ, ทหารเกณฑ์ไม่ใช่แรงงานฟรีแบบไพร่ทาสของนายทหาร, เกณฑ์ทหารเพื่อไปถูกฝึกซ้อมจนบาดเจ็บล้มตายไปทำไม, ต้องเลิก ร.ด. ด้วย

สำหรับคนกรุงเทพฯ ฝ่ายที่ยังต้องให้มีการบังคับเกณฑ์ทหาร ให้คำอธิบายว่า ชาติต้องการทหารไว้ปกป้องประเทศ, ทหารเกณฑ์มีไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ, การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของคนไทย, ไม่มีทหารเกณฑ์แล้วกองทัพจะอยู่ได้อย่างไร, ต้องมีทหารเกณฑ์ไว้เป็นแรงงานในการช่วยเหลือบ้านเมืองยามมีภัยพิบัติธรรมชาติ, ทหารเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย, การเกณฑ์ทหารทำให้คนไทยมีระเบียบวินัย, ทหารเกณฑ์คือการบ่มเพาะให้คนไทยรู้รักสามัคคี, เกณฑ์ทหารคือการสร้างสำนึกในการรักชาติ, เกณฑ์ทหารทำให้เยาวชนไทยมีความกล้าหาญอดทน, ชาติไทยต้องการให้คนไทยมีการฝึกเพื่อความพร้อมในการปกป้องประเทศชาติยามถูกข้าศึกรุกราน, อาจมีสงคราม เราจึงต้องเตรียมพร้อมด้านกำลังพล ดูตัวอย่างการเสียกรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)

ทีมผู้ช่วยวิจัย : สหรัฐ เวียงอินทร์ ชนวีย์ กฤตเมธาวี ศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net