Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแส "อีกี้" นักแสดงใน MV เพลง ธาตุทองซาวด์ ของ ยังโอม ที่แต่งตัวในยุค Y2K หรือแฟชั่นสมัย 20 ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้นำคนดังและผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำภาพตัวเองในยุคสมัยดังกล่าวมาโพสต์กันจนเป็นกระแสจนคำที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะ #y2k #วัยรุ่นy2k ฯลฯ ติดเทรนด์ใน Google และโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ 

นอกจากแฟชั่นการแต่งตัว เทคโนโลยีการถ่ายภาพในยุคสมัยนั้นแล้ว การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ที่ผ่านการแก้ไขเป็นบัตร 2 ใบ ก็มีผู้ย้อนไปนึกถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตามยังมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในโอกาสนี้จึงยกตัวอย่างบางประการดังนี้

1. บัตร 2 ใบ เหมือนกัน แต่เบอร์พรรค-คน เบอร์เดียวกัน

วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นในปี 2544 ใช้บัตร 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.เขตใบหนึ่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใบหนึ่ง โดยแต่ละพรรคจะได้ 'เบอร์เดียวกัน' หมายความว่า ถ้าพรรคหรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เบอร์ไหน ส.ส.เขตของพรรคนั้นไม่ว่าจะลงเขตไหนทั้งประเทศก็จะได้เบอร์เดียวกับพรรค ทำให้ประชาชนจดจำได้ง่าย

ต่อมาปี 2548 บัตร 2 ใบก็ยังเป็น 'เบอร์เดียวกัน' จากนั้นเกิดรัฐประหาร 2549 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ยังคงใช้บัตร 2 ใบ แต่ครั้งนี้ใช้ 'คนละเบอร์' กระทั่งในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการปรับแก้การแบ่งเขตเลือกตั้งอีกหนให้ย้อนกลับไปใช้บัตร 2 ใบ 'เบอร์เดียวกัน' ทำให้การเลือกตั้งปี 2544 ได้ใช้บัตร 2 ใบ 'เบอรเดียวกัน' ต่อมาเกิดรัฐประหารปี 2557 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งครั้งใหญ่ และใช้ 'บัตรใบเดียว' แต่ยังคงมีทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ในรัฐบาลประยุทธ์2 สภาได้มีการโหวตแก้ไขให้ระบบการเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบใกล้เคียงกับระบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 (แตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย) แต่คราวนี้เนื่องด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญกันไม่สะเด็ดน้ำ ทำให้แม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่าบัตร 2 ใบ 'เบอร์เดียวกัน' จะสะดวกต่อประชาชนที่สุด หาเสียงก็ง่ายชัดเจน แต่ก็ไม่กล้าโหวตในชั้นกรรมาธิการเนื่องจากกลัวจะขัดรัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์จึงออกมาครึ่งๆ กลางๆ ได้บัตร 2 ใบ แต่ 'คนละเบอร์' เหมือนการเลือกตั้งปี 2550

2. ปาร์ตี้ลิสต์ มีเกณฑ์ขั้นต่ำต้องได้มากกว่า ร้อยละ 5

ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนด “คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ไว้ที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ 

ทั้งนี้การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำด้านหนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่ แต่อีกด้านการไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำนั้นส่งผลเกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” หรือ ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

3. ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง

สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ม.121 ม.122 และ ม.130 บัญญัติไว้ว่า มาจากการเลือกตั้ง 200 คน การเลือกตั้งให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง กำหนดวาระ 6 ปี ซึ่งมีการเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อวันที่  4 มี.ค. 2543

โดยที่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ส.ว. จะถูกกำหนดให้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารหรือฝ่ายบริหาร หากย้อนไป ‘พฤฒสภา’ หรือชื่อเรียก ส.ว. เกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2489 และกำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง 

อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ก็กำหนดให้มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่ง และรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

4. ส.ว. ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ 

ปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ให้อำนาจ ส.ว.ในช่วง 5 ปีแรก มีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งถือเป็นการให้อำนาจ ส.ว.ครั้งแรก ส่วน ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ 

รวมถึง การพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

5. [แถม] องค์กรอิสระ มีต้นทางจากโยงกลับไปหาประชาชนได้

iLaw รายงานว่า องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ต่างเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีไว้เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่มีไว้ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง โดยในช่วงแรกที่มาองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่และมีผู้มีอำนาจในการคัดเลือก เช่น ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน พรรคการเมือง และมีวุฒิสภาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่เห็นชอบบุคคลให้เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ แต่การรัฐประหารสองครั้งหลังสุดข้าราชการ และตุลาการกลายเป็นผู้มีบทบาทหลังในการสรรหา

ข้อมูลเพิ่มเติม : 

  • ส.ว.: ประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง (โดยคณะรัฐประหาร) กับคำถาม “ยังจำเป็นต้องมี?”  https://prachatai.com/journal/2019/05/82524
  • รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นอย่างไร ใครๆ ก็พูดถึง https://ilaw.or.th/node/5426
  • บทเรียนบัตร 2 ใบคนละเบอร์ ปี 2550 ประชาชนสับสน? https://voicetv.co.th/read/q76Lcm3A0
  • เลือกตั้ง 66: คิดให้ดูทีละขั้น!! เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปัดเศษยังมีลุ้นได้ที่นั่ง https://ilaw.or.th/node/6377

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net