Skip to main content
sharethis

พรรคพลัง ชูนโยบายความมั่นคงแรงงาน หลักประกันลูกจ้าง

จากกรณีที่ “พรรคพลัง” ได้ปล่อยนโยบาย 46 ข้อที่สนใจ สร้างกระแสและประชาชนได้พูดถึงครอบคลุมทั้งด้านการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม โดยเน้นแก้ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน โดยพรรคพลังโดยการนำทัพของนายลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง หัวหน้าพรรคพลัง

ล่าสุด นายมานิตย์ ปิยัง ประธานสหภาพแรงงานไดกิ้นและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลัง เบอร์ 9 กล่าวว่า เนื่องในวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย 2566 ขออวยพรให้พี่น้องประชาชนเดินทางปลอดภัยท่องเที่ยวให้สนุก พักผ่อนกับครอบครัวขอให้มีความสุขทุกท่าน ตนมีประสบการณ์เป็นผู้นำสหภาพแรงงานและปัจจุบันเป็นประธานสหภาพแรงงานไดกิ้น หลายสมัย เหตุผลที่เลือกสนับสนุนพรรคพลัง ชื่อพรรคสั้นๆจำง่าย(พะลัง) เป็นพรรคการเมืองใหม่ ที่ให้ความสำคัญต่อลูกจ้าง พี่น้องแรงงาน มีความสำคัญต่อหลักประกันลูกจ้าง สร้างความมั่นคงแรงงาน เป็นประโยชน์แก่พี่น้องลูกจ้างทั่วประเทศ นโยบายที่ตนและปีกแรงงานได้นำเสนอให้แก่พรรคพลังและกำหนดเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ สามารถ “ทำทันที” ได้แก่ (1)เงินประกันสังคม ลูกจ้างถอนคืนและกู้ได้ ไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี (2)กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถ้วนหน้า หลักประกันลูกจ้าง สร้างความมั่นคงแรงงาน (3)เพิ่มสิทธิเงินค่าคลอดบุตร 20,000 บาท ต่อครั้ง ใช้สิทธิเบิกทั้งสามีและภริยา (4)สิทธิเบิกเงินค่าสงเคราะห์บุตร แรกเกิดถึง 7 ปี เดือนละ 1,500 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร (5)ความมั่นคงแรงงาน กองทุนประกันสังคม หักสะสมครบ 15 ปี ได้สิทธิบำนาญและรักษาตลอดชีพ (6)กองทุนบำนาญลูกจ้าง เกษียณแล้วมีเงินเดือน 15,000 บาท ตลอดชีพ นโยบายดังกล่าวยังครอบคลุมถึง (7)เงินเดือนวุฒิปริญญาตรีภาคเอกชน เริ่มต้นที่ 30,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มสร้างหลักประกัน ความมั่นคงทางแรงงาน ตนขอเป็นตัวแทนเข้าสภา ให้พี่น้องแรงงานทั่วประเทศช่วยสนับสนุนพรรคพลัง ให้จำชื่อพรรค จำโลโก้พรรคและจำเบอร์ 9 เข้าคูหา กาเบอร์ 9

นายมานิตย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสวัสดิการสังคมที่ลูกจ้างควรได้รับ โดยมีนายประดิษฐ์ สมพล คณะกรรมการสหภาพแรงงานไดกิ้น นั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลัง แม่ทัพสำคัญร่วมกับนายชัชชัย ด้วงพิทักษ์ กรรมการบริหารพรรคพลัง ผู้คร่ำหวอดในสภาพแรงงานงาน จึงรู้ปัญหาว่าลูกจ้างไม่ความเป็นธรรมอย่างไร ลูกจ้างต้องการอะไร เพื่อความมั่นคงทางแรงงาน เพราะลูกจ้างมีความแตกต่างจากข้าราชการ พนักงานข้าราชการ หรือลูกจ้างในส่วนราชการ หากลูกจ้างถูกหักประกันสังคมแล้ว จะต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองให้ได้รับความมั่นคงทางแรงงาน ทั้งเงินเดือนที่เริ่มสตาร์ท สวัสดิการ และบำนาญแรงงาน โดยตนและปีกแรงงานได้เข้าไปเป็นตัวแทนพี่น้องแรงงานทั้งประเทศขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงทางแรงงาน พี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งช่วยกัน กากบาท กา เบอร์ 9 ให้ถล่มทลาย เพื่อจะเข้าไปผลักดันและเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องแรงงานทั้งประเทศ

นายประดิษฐ์ สมพล รองหัวหน้าพรรคพลัง(ปีกแรงงาน) กล่าวว่า ต้องกราบสวัสดีปีใหม่ พี่น้องประชาชนคนไทยในวันสงกรานต์ ปี 2566 เป็นวันปีใหม่ไทย ขอให้พักผ่อน ท่องเที่ยวให้สนุกและเดินทางปลอดภัย เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่พี่น้องแรงงานได้กลับบ้านไปหาครอบครัว ญาติที่ต่างจังหวัด ตนเป็นนักกิจกรรมและกรรมการสหภาพแรงงานไดกิ้นและได้ผ่านร่วมทำกิจกรรมกับแกนนำแรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ความมั่นคงแรงงานที่ท่านมานิตย์ ปิยัง ประธานสหภาพแรงงานไดกิ้นและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลัง เบอร์ 9 เป็นสิ่งที่ตนและนายชัชชัย ด้วงพิทักษ์ กก.บห.พรรคพลัง ปีกแรงงาน ได้คิดนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงแรงงาน เป็นหลักประกันความมั่นคงในภาคเอกชน ลูกจ้างเอกชนจะต้องมีหลักประกัน ทั้งระหว่างทำงาน และภายหลังเกษียณ ส่วนการขึ้นค่าจ้าง กำลังพิจารณาว่าจะขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ อย่างไร โดยพิจารณาไตรภาคี โดยยืนยันว่านโยบายทั้ง 7 ข้อ ความมั่นคงทางแรงงานสามารถทำได้และ“ทำทันที” นอกจากนี้ ผมยังได้เสนอนโยบายเกี่ยวกับความเสี่ยงภัยของนักผจญเพลิงท้องถิ่น ภูมิภาค โดยนโยบาย เพิ่มค่าเบี้ยเสี่ยงภัยนักผจญเพลิงท้องถิ่น ภูมิภาค เดือนละ 7,000 บาท และเพิ่มค่าตอบแทน อปพร.เดือนละ 7,000 บาท สาเหตุที่เพิ่มค่าเบี้ยเสี่ยงภัยนักผจญเพลิง ท้องถิ่นภูมิภาค เพราะค่าเสี่ยงภัยนักผจญเพลิงมีเฉพาะท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แต่ท้องถิ่นในภูมิภาค กลับไม่มี ซึ่งทุกคนเป็นด่านหน้าดับเพลิง มีความเสี่ยงภัยสูง แต่รัฐกลับไม่ได้กำหนดค่าเสี่ยงภัย ส่วนในอาสาสมัคร อปพร.ในฐานะที่ตนคลุกคลีกับอาสาสมัคร อปพร.พบว่า ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงและน้อยมาก โดยจะได้รับเฉพาะไปปฏิบัติหน้าที่ หากเทียบเคียงกับการเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อย หากยกระดับและให้ความสำคัญ ของ อปพร.โดยเพิ่มเป็นอัตราค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 7,000 บาท จะเหมาะสมและเชื่อว่าทุกคนทุ่มเททำงานและเป็นหูเป็นตา สอดส่องในระดับชุมชุน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพรรคพลัง ปราบยาเสพติด ปราบยาบ้า ให้สิ้นซาก ยกเลิกกัญชาเสรี ย้ำ ปราบยาบ้า ยกเลิกกัญชาเสรี จะได้เห็นเยาวชนและเด็ก ไม่พี้กัญชา ส่วนพืชกัญชานำไปรักษาโรค โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขควบคุมทางการแพทย์ตนเห็นด้วย แต่ปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายควบคุม ผมเห็นด้วยกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษย์ จอมแฉ ที่ออกมาคัดค้านนโยบายกัญชาเสรี แต่นายชูวิทย์ฯได้ออกมาหลังจาก พรรคพลังได้กำหนดเป็นนโยบายแล้ว ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของผู้บริหารพรรคที่มองถึงปัญหายาเสพติด ต้องกำจัดให้สิ้นซาก

นายชัชชัย ด้วงพิทักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลัง กล่าวว่า กระผมต้องกราบสวัสดีปีใหม่พี่น้องประชาชนคนไทย พี่น้องแรงงาน ในวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย ขอให้พี่น้องประชาชนเดินทางปลอดภัย ท่องเที่ยว พักผ่อนกับครอบครัวให้มีความสุขทุกท่าน ในฐานะปีกแรงงานได้ขับเคลื่อนนนโยบายความมั่นคงแรงงาน โดยนำปัญหาทางปฏิบัติมากำหนดนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันลูกจ้างเพื่อให้เกิดความมั่นคงในครอบครัว มีหลักประกันแก่ตัวลูกจ้าง มีผลให้ครอบครัวมีความมั่นคง โดยเฉพาะการคลอดบุตร เพิ่มเงินและสิทธิทั้งสามีและภรรยา เบิกได้ทั้งคู่ ถูกหักประกันสังคม สามารถถอนและกู้กองทุนประกันสังคมได้ หากลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ในเมื่อเป็นเงินของลูกจ้าง เหมือนกับฝากเงินธนาคาร เงินของเราจะต้องถอนได้และกู้ได้ หักประกันสังคม ครบ 15 ปีแล้ว จะต้องได้รับสิทธิบำนาญและรักษาตลอดชีพ ตรงนี้ยกระดับให้เหมือนกับข้าราชการ โดยข้าราชการเป็นวันแรก ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งครอบครัว ภาคเอกชนต้องมี พรรคพลังให้ความสำคัญของครอบครัวแรงงาน สิทธิเบิกเงินค่าสงเคราะห์บุตร แรกเกิดถึง 7 ปี เดือนละ 1,500 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร โดยขับเคลื่อนนโยบาย กองทุนบำนาญลูกจ้าง เกษียณแล้วมีเงินเดือน 15,000 บาท ตลอดชีพ ที่สำคัญกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้บังคับเด็ดขาดให้นายจ้างหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถ้วนหน้า ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค และเป็นช่องทางหลบเลี่ยงของนายจ้าง ตรงนี้ ตนยืนยันว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นหลักประกันลูกจ้าง สร้างความมั่นคงแรงงาน ให้พี่น้องแรงงาน ช่วยกันพี่น้องประชาชน จำชื่อพรรคพลัง สั้นๆ ไม่ได้เป็นเครือญาติของพรรคอื่น ให้จำโลโก้ ไม่ได้เป็นนอมินีของพรรคการเมืองใด และจดจำช่อง เบอร์ 9 สร้างความมั่นคงแรงงาน ให้กากบาท กา เบอร์ 9 ให้ถล่มทลาย ขอเป็นตัวแทนพี่น้องแรงงาน เข้าสภาเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ให้พี่น้องแรงงาน สร้างความมั่นคงและหลักประกันลูกจ้าง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/4/2566

กรมจัดหางานเตรียมส่ง 181 แรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เดนมาร์ก

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมให้โอวาทแก่แรงงานไทย จำนวน 181 คน ที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเดนมาร์ก โดยมีผู้บริหาร กกจ. ผู้แทนบริษัทจัดหางาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ห้องอบรมคนหางานก่อนไปทำงานต่างประเทศ ชั้น 11 อาคารสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การอบรมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นการเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี กฎหมาย ภาษา มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ โดยในวันนี้มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 181 คน จำแนกตามประเทศปลายทาง ได้แก่ เกาหลีใต้ 116 คน ไต้หวัน 45 คน เดนมาร์ก 13 คน ญี่ปุ่น 6 คน และฮ่องกง 1 คน

โดยผู้เข้ารับการอบรมฯ ที่เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในวันนี้ เป็นแรงงานกลุ่มทักษะฝีมือ วีซ่า E7 ตำแหน่งงานช่างเชื่อมในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ในส่วนของไต้หวันเดินทางไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม/ก่อสร้าง เดนมาร์ก และญี่ปุ่นในตำแหน่งช่างไม้ และฮ่องกงในตำแหน่งแม่บ้าน โดยผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดจะเดินทางในรูปแบบบริษัทจัดหางานจัดส่ง ซึ่งเป็น 1 ในวิธีการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี ประกอบด้วย 1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 2.กรมการจัดหางานจัดส่ง 3.เดินทางด้วยตัวเอง 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานในต่างประเทศ และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ

“สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายไพโรจน์ กล่าว

ด้าน นายสุรศักดิ์ กรุงพลี แรงงานไทยที่เข้ารับการอบรม กล่าวว่า ตนเป็นช่างเชื่อมที่กำลังจะเดินทางไปทำงานไปทำงานที่เกาหลีใต้ ในโรงงานอู่ต่อเรือ ก่อนหน้านี้เคยเดินทางไปทำงานเป็นช่างเชื่อมอย่างถูกกฎหมายหลายประเทศแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไปทำงานเกาหลีใต้ งานช่างเชื่อมที่เกาหลีใต้รายได้ดีมากเดือนละเกือบ 1 แสนบาท การไปทำงานไม่ได้ยุ่งยาก แต่ทางการเกาหลีใต้ตรวจเอกสารค่อนข้างละเอียด เพราะมีผีน้อยลักลอบไปทำงานมาก ส่งผลให้คนไทยที่จะไปทำงานเกาหลีอย่างถูกกฎหมายถูกตรวจสอบเข้มงวดตามไปด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/4/2566

ปลัดแรงงาน “สั่ง” ประกันสังคม “ตรวจสอบ” โรงพยาบาลชะลอการตรวจคนไข้ ด่วน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีสื่อมวลชนเผยแพร่หนังสือของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมแห่งหนึ่ง มีนโยบายกระตุ้นการให้บริการคนไข้ Premium Clinic โดยชะลอการตรวจคนไข้กลุ่มสิทธิประกันสังคมที่ไม่เร่งด่วนถึงแก่ชีวิตไว้ก่อน ทำให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลใน โครงการประกันสังคม อย่างเร่งด่วน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับข้อสั่งการ ได้มอบหมายให้ นางสาวปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ พร้อมด้วยนางกันยรัตน์ จันกลิ่น ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลดังกล่าวในทันที

ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เป็นความคลาดเคลื่อนของเนื้อหาบางส่วน ทำให้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ประกันตนในมาตรฐานและการให้บริการนั้น โดยโรงพยาบาลได้ดำเนินการยกเลิกประกาศหนังสือฉบับดังกล่าว และได้ทำหนังสือประกาศชี้แจงเพื่อสื่อสารความเข้าใจให้กับบุคลากรโรงพยาบาลและผู้ประกันตนในการให้บริการทางการแพทย์ การดูแลรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่มีความแตกต่างกับผู้ป่วยอื่นของสถานพยาบาลแต่อย่างใด

นางสาวปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ได้แจ้งให้ผู้บริหารโรงพยาบาลทราบถึงมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลประกันสังคม ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลคู่สัญญาจะต้องให้บริการผู้ประกันตนอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกับผู้ป่วยอื่นของโรงพยาบาล กรณีการเลือกปฏิบัติกับผู้ประกันตนแตกต่างจากผู้ป่วยอื่นขัดต่อสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณายกเลิกสัญญาจ้างฯ

“สำนักงานประกันสังคม คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันเป็นสำคัญ โดยได้เน้นย้ำและกำหนดให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคมทุกแห่ง ต้องให้การดูแลรักษารวมถึงการให้บริการต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และตามเงื่อนไขสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่แบ่งแยกและไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนทุกคนต้องได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดี อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม หากโรงพยาบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง หรือให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ จะนำข้อมูลมาพิจารณายกเลิกสัญญาจ้าง หรือทบทวนการต่อสัญญาในปีต่อไป” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: ข่าวสด, 12/4/2566

ตำรวจพัทยา บุกจับบาร์โฮส ลักลอบใช้แรงงานหนุ่มชาวลาว ทำงานบริการชงเหล้า และนั่งดริงค์

11 เม.ย. 2566 พ.ต.อ.ฐนพงศ์ โพธิ์ทิ ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สั่งการให้ พ.ต.ท.สุรเชษฐ์ เอนกศรี รอง ผกก.ป.สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.พิชิต ฉ่ำฮวบ สวป.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นำกำลังบุกไปจับกุมสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ภายในซอยกอไผ่ 4 เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สามารถจับกุมแรงงานเถื่อน สัญชาติลาว ลับลอบทำงานบริการชงเหล้า และนั่งดริงค์

การเข้าจับกุมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากได้รับร้องเรียนว่า ที่ร้านละอ่อนคลับพัทยา มีแรงงานต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย จึงนำกำลังบุกเข้าไปตรวจสอบ พบนักเที่ยวนั่งดื่มเต้นตามจังหวะดนตรี จึงสั่งให้ปิดเพลงและเปิดไฟ จากการตรวจพบมีนักเที่ยวชาวไทยประมาณ 20 คน และชายหนุ่มชาวลาวจำนวน 5 คน ซึ่งมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ยอมรับและมีประวัติทำงานอยู่ในร้านดังกล่าว ส่วนชาวลาวอีก 4 คน อ้างว่ามาเที่ยว

เบื้องต้นได้ควบคุมตัวผู้ดูแลร้าน รวมถึงกลุ่มชายหนุ่มชาวลาว ทั้งหมดซึ่งยังไม่สามารถนำพาสปอร์ตมาแสดงได้ไปตรวจสอบ หากพบว่าบุคคลใดมีความผิดก็จะต้องดำเนินคดีอย่างไม่มีข้อยกเว้น ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ที่มา: ข่าวช่อง7HD, 11/4/2566

สำนักนายกฯ ประกาศ แต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่ รวม 14 คน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ลงนามโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ก.ย. 2563, 29 มิ.ย. 2564 และ 15 มี.ค. 2565) อนุมัติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 จำนวน 14 คน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 27 ก.ย. 2563 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 และลงวันที่ 22 มี.ค. 2565 นั้น

บัดนี้ กรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 อนุมัติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่จ้างชุดที่ 22 จำนวน 14 คนตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1. นายนิยม สองแก้ว ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

2. นางสาววรวรรณ พลิคามิน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

3. นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

4. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

5. นางสาวศุภานัน ปลอดเหตุ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

6. นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

7. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

8. นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

9. นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

10. นายกัมปนาท ศรีพนมวรรณ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

11. นายสมชาย มูฮัมหมัด ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

12. นายอ่อนสี โมฆรัตน์ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

13. นายไพโรจน์ วิจิตร ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

14. นายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/4/2566

พรรคประชาชาติพบ รมว.ต่างประเทศ มาเลเซีย หารือปมใบอนุญาตทำงานแรงงานไทย

10 เม.ย. 2566 ที่กระทรวงการต่างประเทศ มาเลเซีย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค พร้อมคณะ เข้าพบ Dato’ seri Diraja Dr.Zambry Abdul Kadir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเลเซีย เพื่อหารือการอำนวยความสะดวกให้ชาวไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย ที่มีไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ในประเด็นใบอนุญาตทำงาน การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน และประเด็นอื่นๆ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เปิดเผยภายหลังเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเลเซีย ว่า ประการแรกที่มาพบ คือการขอบคุณรัฐบาลมาเลเซีย ที่ช่วยดูแลคนไทยที่มาประกอบอาชีพในมาเลเซียเป็นอย่างดี และได้รับทราบปัญหาจากคนไทยที่อยู่ในมาเลเซีย เพื่อขอความอนุเคราะห์ยังรัฐบาลมาเลเซียเป็นรายกรณีไป ดังนี้

1. การขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ของคนไทยที่มีขั้นตอนมาก ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก

2. การพิจารณาช่วงอายุผู้ได้รับในอนุญาตทำงาน ที่เดิมอนุญาตเฉพาะผู้มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งคนไทยที่มาทำงานที่นี่โดยเฉพาะกลุ่มพ่อครัวแม่ครัว ร้านอาหาร ที่มีอายุ 45 ปียังมีสุขภาพแข็งแรง และมีประสบการณ์ในการทำอาหารอย่างมาก จึงอยากให้มีการพิจารณาขยายเกณฑ์อายุในการขอใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้คนไทยทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย และมีบุคลากรที่มีฝีมือ มีประสบการณ์ในการทำงาน

3. การพิจารณาให้ใบอนุญาตทำงานแก่อาชีพอื่นๆ เช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร เพราะตอนนี้ยังต้องใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาทำงาน และต้องไปปั๊มพาสปอร์ตทุก 1 เดือน เป็นการสร้างภาระแก่แรงงาน

“…รัฐมนตรีต่างประเทศบอกว่า เห็นด้วยในหลายประการ แต่ท่านได้บอกว่าขอให้มาเจรจาอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง หวังว่ารัฐบาลใหม่ พวกเราจะได้เป็นรัฐบาลและมาเจรจาอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้รมต.ต่างประเทศ มาเลเซีย จะนำเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียรับทราบก่อนด้วย…” หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงบรรยากาศในการพูดคุยวันนี้ว่าเป็นไปในบรรยากาศที่ดีมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย ให้การต้อนรับและสนใจในประเด็นที่นำมาหารือเป็นอย่างมาก มีความเป็นกันเอง และเขาอยากจะช่วยเหลือ หากหลังเลือกตั้งพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาล จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ในวงพูดคุย ได้มีการปรึกษาหารือถึงความคืบหน้าของกระบวนการเจรจาสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมาเลเซียมีเป้าหมายอยากให้กระบวนการเดินไปสู่ความสำเร็จ และเราได้ชมเชยไปถึงรัฐบาลมาเลเซียว่า ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่มีท่าทีที่ดีมากต่อการแก้ปัญหาเรื่องนี้ รวมถึงหลังจากนี้มาเลเซียอยากให้มีพูดคุยระหว่างไทย-มาเลเซีย ในหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องเทคโนโลยี และเรื่องอื่นๆด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 10/4/2566

ด่านอรัญฯ แน่นเบียดเสียด แรงงานเขมรนับหมื่น แห่กลับบ้านช่วงสงกรานต์

ที่ด่าน ตม.อรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้มีแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย นับหมื่นคน ทยอยแห่เดินทางมาเพื่อจะเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวและเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านเกิดในฝั่งกัมพูชา จนทำให้บริเวณช่องทางเดินเท้าเข้าอาคารผู้โดยสารขาออกราชอาณาจักรด่าน ตม.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนืองแน่นและเต็มไปด้วยแรงงานชาวกัมพูชาที่ขนสัมภาระและหอบลูกจูงหลาน เพื่อจะเดินทางกลับไปเที่ยวสงกรานต์ที่บ้านเกิดในฝั่งกัมพูชา

พ.ต.อ.รุ่ง ทองมนต์ ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ได้สั่งระดมกำลัง จนท.ทั้งฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายธุรการและจนท.ชุดสืบสวน ตม.จว.สระแก้ว มาร่วมกันอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบการเข้าตรวจเอกสารการเดินทาง บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออกราชอาณาจักร ด่าน ตม.อรัญประเทศฯพร้อมทั้งจัด ล่ามอาสาสมัครชาวกัมพูชามาร่วมจัดระเบียบ เนื่องจากมีแรงงานกัมพูชาจำนวนมากต่างเบียดเสียดแย่งกันเพื่อเข้าตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้ จนท.ต้องจัดระเบียบการเข้าตรวจหนังสือเดินทางเป็นชุดๆเพื่อป้องกันการยื้อแย่งกันเข้าตรวจฯ นอกจากนี้ยังได้จัดระเบียบแยกช่องตรวจพาสปอร์ต(หนังสือเดินทาง) และบอเดอร์พาส(หนังสือเดินทางท้องถิ่น) ออกจากกันเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

นอกจากการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานกัมพูชาแล้ว พ.ต.อ.รุ่ง ทองมนต์ ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ได้จัดกำลัง จนท.ชุดสืบสวน ตม.จว.สระแก้ว ประสานความร่วมมือกับ พ.ต.อ.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ ผกก.สภ.คลองลึก,พ.ต.ท.จิรพัฒน์ เขียวศิริ สว.ส.ทท.สระแก้ว และ กองร้อยทหารพรานที่ 1302 ชุดควบคุมกรมทหารพรานที่13 สนธิกำลังร่วมกันมาดูแลความสงบเรียบร้อย และ เฝ้าตรวจเพื่อป้องกันผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับของศาลฯลักลอบเดินทางปะปนมากับแรงงานกัมพูชาเพื่อจะหลบหนีออกไปประเทศกัมพูชา อย่างเข้มงวด

พ.ต.อ.รุ่ง ทองมนต์ ผกก.ตม.จว.สระแก้วเผยว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่มากนัก แต่ปีนี้สถานการณ์โควิด-19 ได้ลดลงแล้ว คาดว่าในปีนี้จะมีแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย แห่เดินทางกลับไปฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านเกิดในฝั่งกัมพูชากันเป็นจำนวนมาก คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน

โดยจะเริ่มเดินทางกลับตั้งแต่วันนี้ที่ 9 เม.ย. – 13 เม.ย. 2566 ทำให้ จนท.ตม.จว.สระแก้ว ต้องระดมกำลังมาอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบที่บริเวณ ด่าน ตม.อรัญประเทศฯเพื่อป้องกันการตกค้างของแรงงานกัมพูชาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งชาวกัมพูชามีประเพณีสงกรานต์เหมือนประเทศไทยโดยชาวกัมพูชาจากทั่วโลกจะเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี และเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้ ตม.จว.สระแก้ว นอกจากระดมกำลังมาอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานกัมพูชาแล้ว ยังต้องจัดกำลังมาตรวจเข้มเพื่อป้องกันผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับฉวยโอกาสเดินทางปะปนมากับแรงงานกัมพูชาเพื่อหลบหนีออกไปประเทศกัมพูชา โดย ตม.จว.สระแก้ว ได้ประสานความร่วมมือกับ สภ.คลองลึก,ตร.ทท.สระแก้ว และ กองร้อยทหารพรานที่1302 บูรณาการกำลังมาร่วมกันเฝ้าตรวจอย่างเข้มงวดด้วย

ที่มา: แนวหน้า, 10/4/2566

สธ. เผยผลการศึกษาแนวทางพัฒนาประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) เปิดเผยว่า การจัดระบบประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยประเทศไทยนอกจากดูแลประชากรไทยแล้ว ยังมีการจัดระบบประกันสุขภาพให้กับกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน

ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยสถานการณ์การจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก โดยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวด้านกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน กระบวนการทำงานและระบบสารสนเทศ จากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ศึกษาดูงานในหน่วยงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกและอภิปรายกลุ่ม รวม 30 คน โดยเป็นผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว ทั้งที่เข้ามาโดยใช้ passport และ border pass ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือเข้ามาเช่าที่พักอาศัยทำงาน

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบประเด็นสำคัญ 4 เรื่องคือ 1) ระบบข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบันยังมีปัญหาทั้งความครบถ้วน ความถูกต้อง และทันเหตุการณ์ ไม่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการระบบประกันสุขภาพตามบทบาทและภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขได้ 2) มีช่องว่างของการจัดระบบประกันสุขภาพของ กระทรวงสาธารณสุข กับระบบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด 19 กรณีแรงงานต่างด้าวมาตรา 64 (พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560) และการขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่รอสิทธิประกันสังคมของบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 3) รูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพยังเป็นลักษณะตั้งรับ ทำให้นายจ้างมีภาระในการนำแรงงานต่างด้าวไปรับบริการที่โรงพยาบาล และ 4) มีข้อจำกัดในการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพในพื้นที่ชายแดน ทำให้ยังมีคนต่างด้าวบางกลุ่มในชุมชนที่เข้าถึงยาก

จากผลการวิจัยดังกล่าว จึงมีข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 และมาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2563 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ เพิ่มกลุ่มแรงงานต่างด้าว มาตรา 64 ที่นำเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน ตามประกาศกระทรวงแรงงาน, ปรับปรุงรูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่สถานประกอบการหรือชุมชน และระบบติดตามกำกับคุณภาพการตรวจสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการและติดตามประเมินผลการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากนี้ ในระยะสั้น 3 เดือน ควรหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงนำร่องศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีความพร้อม ส่วนในระยะยาว ควรศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการเสนอกฎหมายรองรับการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างชาติ (Health Insurance for non-Thai) ทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประเทศ

ที่มา: Hfocus, 9/4/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net