Skip to main content
sharethis

ฟังพรรคการเมืองตอบปมแก้ปัญหาการใช้ ม.112 ดำเนินคดีทางการเมืองกับ 'หยก' เด็กหญิงอายุ 15 ปี และผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่นๆ ช่วงชุมนุมแยกดินแดง หลังเจอ 'ตะวัน' บุกถามหลังจบงานเสวนาที่ มธ.

19 เม.ย. 2566 ช่องยูทูบ 'Friends Talk' ถ่ายทอดสดงานเสวนา “เวทีสัญญาประชาคมนโยบายพรรคการเมืองเรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”  ณ ห้องศาลจำลอง มารุต บุนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วานนี้ (18 เม.ย.) โดยหลังจบงานดังกล่าว ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ได้เดินไปขอสัมภาษณ์ถาม 3 พรรคการเมือง ต่อประเด็นเรื่องการดำเนินคดีทางการเมืองกับ ‘หยก’ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี และผู้ถูกคุมขังทางการเมืองคดีอื่นๆ เช่น ครอบครองวัตถุระเบิด ปาลูกกระทบ หรือครอบครองอาวุธปืน ในการชุมนุมสามเหลี่ยมดินแดงปี 2564

พปชร.: ชงทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน หาทางออกกระบวนยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม 

ระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้ถ้ามีประชาชนที่เป็นเยาวชนรู้สึกตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดี ก็อยากจะขอวิงวอนให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาช่วยเหลือดูแลประชาชนในส่วนที่นอกเหนือจากศาล 

ระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา (ที่มา: ชาวบ้านแถวธรรมศาสตร์)

"อยากให้กระทรวงยุติธรรมส่งคนลงไปตรวจสอบตามข้อเท็จจริง จะเข้าไปช่วยน้องๆ พวกนี้ได้อย่างไรบ้าง ผมว่าจะดีต่อทุกฝ่ายด้วย" ระพีพัฒน์ ระบุ

ในเรื่องของการปฏิเสธอำนาจศาลของ 'ธนลภย์' เนื่องจากศาลและตำรวจอาจไม่เป็นกลางนั้น ระพีพัฒน์ มองว่าอาจจะต้องนำเรื่องนี้มาคุยกันอย่างเปิดเผยบนข้อเท็จจริงว่า เยาวชนปฏิเสธอำนาจศาลจากเรื่องอะไร ติดตรงไหน และหน่วยงานศาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดูแลตรงไหนได้ เพื่อให้เยาวชนได้รับอิสระเร็วที่สุด 

สำหรับคดีครอบครองวัตถุระเบิดและความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐจากการชุมนุม ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เจ้าหน้าที่มีข้อกำหนด หรือข้อตกลงเรื่องการทำงาน (protocal) ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิดข้อกำหนดดังกล่าว ก็ต้องไปว่าที่เจ้าหน้าที่ทำผิด และประชาชนควรได้รับการเยียวยา แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำตามข้อกำหนดแล้ว แต่ประชาชนยังได้รับความรุนแรง ก็ต้องไปดูสาเหตุด้านความรุนแรงว่าอยู่ตรงไหน โดยอยู่บนหลักข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝั่งถึงจะเป็นธรรมกันทั้ง 2 ฝ่าย 

ระพีพัฒน์ เสริมว่า การหาทางออกให้กับสังคมที่กำลังมีความขัดแย้ง ต้องดูกระบวนยุติธรรม 3 มิติ คือ มิติทางสังคม มิติผู้เสียหาย และมิติผู้ถูกกล่าวหา ต้องดูทั้งหมด และมาคุยกัน เพื่อเปรียบเทียบกันบนหลักข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สังคมเดินต่อไปได้ 

"วันนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่ามันมีความขัดแย้ง มันมีความเห็นต่าง มาเอาความเห็นต่างมาคุยกัน เพื่อหาความเห็นร่วมกัน" ระพีพัฒน์ ทิ้งท้าย  

ปชป.: มองการดำเนินคดีทะลุแก๊ส เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง

วิชัย สังข์ประไพ พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า กรณีหยก เยาวชนอายุ 15 ปี เป็นส่วนของดุลยพินิจของศาลที่จะปล่อยตัวหรือไม่ ซึ่งจะต้องมาดูว่าดุลยพินิจเป็นอย่างไร 

ส่วนกรณีครอบครองวัตถุระเบิด วิชัย กล่าวว่า กฎหมายการชุมนุมนั้นต้องชุมนุมโดยสงบสันติ และไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ หรือไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่ปัญหาตรงนี้คือเรื่องครอบครองระเบิด มีการเขวี้ยงระเบิด เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีดำเนินคดี 

"ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรง แต่ผมจะเจรจา และผมบอกเลยว่า เด็กและเยาวชนเขามาเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ …ดูแลเขา เพราะผู้เรียกร้องคือประชาชน เมื่อประชาชนเดือดร้อนเขามาเรียกร้อง เราต้องดูแลเขาด้วย เราต้องดูแลไม่ให้เขาถูกทำร้าย ดังนั้น ผมเห็นด้วยเลยว่าตำรวจต้องดูแลผู้ชุมนุมด้วย แต่ที่มันมีปัญหาคือมันมีการปาระเบิด การทำร้ายเจ้าหน้าที่" วิชัย ระบุ

ต่อคำถามที่ว่าต่อให้ชุมนุมโดยสงบแล้ว แต่ก็ได้รับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่จากการสลายการชุมนุมที่ไม่ได้สัดส่วนทั้งรถฉีดน้ำ หรือกระสุนยาง จะทำให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างไร หรือกรณีครอบครองวัตถุระเบิด บางทีตำรวจก็อ้างว่าเป็นระเบิดปิงปอง ทั้งที่ความจริงคือประทัดยักษ์ ทางตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตอบแค่ว่า ต้องดูข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้น 

ก้าวไกล: ชงแก้ ม.112-นิรโทษกรรม

รังสิมันต์ โรม ตัวแทนพรรคก้าวไกล ระบุว่า กรณี อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ไลฟ์สดเมื่อ 10 เม.ย. 2566 ระหว่างเดินทางไปศาล และมีการพูดจาขู่ฆ่า 'หยก' เยาวชนหญิงอายุ 15 ปี นั้นถือว่าเป็นการกระทำความผิด และเสนอว่าหยก สามารถแต่งตั้งทนายความ เพื่อไปแจ้งความไว้ก่อน แม้ว่าตัวจะอยู่ในสถานพินิจ

รังสิมันต์ โรม (ถ่ายโดย ชาวบ้านแถวธรรมศาสตร์)

โรม เสนอให้มีการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ในการแก้ไขระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือคนให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมในขณะนี้

ต่อมา โรม เสนอเรื่องการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรืออื่นๆ จะต้องทำ อย่างมาตรา 112 ลดอัตราโทษ และไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมถึงให้สำนักพระราชวังเป็นตัวแทนฟ้องร้องคดีนี้เท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องกลั่นแกล้ง "ต้องยอมรับว่าการฟ้องร้องคดีมาตรา 112 มั่วไปหมด" 

ตัวแทนก้าวไกล กล่าวสรุปว่า เขาเชื่อว่าต้องมีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และมีกฎหมายนิรโทษกรรม น่าจะทำให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน  

สำหรับคดีครอบครองวัตถุระเบิดของผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส โรม มองว่า ถ้าถือหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ว่า สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เอาไว้ก่อน สิ่งที่เขาควรได้รับคือการประกันตัว เพื่อมาสู้คดีด้านนอก แต่การที่ให้เขาไปสู้คดีในคุก คือการบังคับให้เขาต้องยอมแพ้ และรับสารภาพ เพื่อแลกกับที่เมื่อถึงวันสำคัญต้องแลกกับการได้ลดโทษ หรืออาจจะได้ออกจากคุกเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคก้าวไกล เสนอต้องมีกฎหมายป้องกันการบิดเบือน เนื่องจากตำรวจบางทีหลักฐานไม่เพียงพอ และก็ยัดข้อหาที่อัตราโทษสูง ทำให้ศาลไม่กล้าให้ประกันตัว ถ้ามีกฎหมายตัวนี้ก็จะสามารถเอาผิดตำรวจ อัยการ รวมถึงพนักงานยุติธรรม ได้จำนวนมากถ้ามีการละเมิดกฎหมาย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net