Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ 'ไม่สมควร' ที่พรรคก้าวไกลตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ขณะที่ปมออกกฎหมายเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ขัดรัฐธรรมนูญยังไม่มีความรับผิดชอบ แม้นักวิชาการและภาคปชช. เรียกร้องให้รับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

31 พ.ค.2566 จากกรณีวานนี้ (30 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล สามารถขอข้อมูลกับหน่วยงานราชการได้หรือไม่ ว่า “มันไม่ควร มันไม่สมควร ส่วนราชการเขายังอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน วันหน้าเขาก็เตรียมข้อมูลต่างๆ ส่งมอบ ผมก็ย้ำไปหลายครั้งแล้ว” 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ไม่มีการละลาบละล้วงข้าราชการ ทำงานเป็นคณะเปลี่ยนผ่าน พูดคุยกับเอกชนก็ดี หรือข้าราชการต้องการพูดคุยกับพรรคการเมืองก็เป็นสิทธิของข้าราชการ เราไม่เคยเข้าไปละลาบละล้วงขอข้อมูล หรือขอดูงบประมาณในลักษณะนั้น หน่วยงานราชการเชิญเรามาเอง ถ้าเชิญมาเองก็เชิญในฐานะพรรคการเมืองมากกว่า เขามีความกังวลใจอยู่หลายๆ เรื่อง ที่ค้างอยู่ใน ครม.ชุดที่แล้ว และยังไม่ได้รับการผลักดัน ก็ได้รับการประสานงานในการพูดคุย แต่การไปพบแต่ละครั้งก็จะมีกรอบการทำงาน ไม่ได้ไปละลาบละล้วง หรือไปสั่งคนที่เป็นข้าราชการ เพราะจะทำให้สับสน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย มาตรา 22-25 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส่งผลให้ พ.ร.ก.ดังกล่าว 'ไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้น' ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาในงานเสวนาในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานขัดกับรัฐธรรมนูญจะต้องมีคนรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สภาเห็นชอบแต่กลับถูกฝ่ายบริหารมาแก้ไขเช่นนี้อีก โดยมีนักกฎหมายที่ร่วมแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเรื่องนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบแม้ว่าเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดกฎหมายของรัฐบาลตกช่วงที่ยุบสภาไปแล้วจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เพียงแค่พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูย แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัววิษณุ เครืองามเอง รวมถึงคณะรัฐมนตรีไม่มีการตรวจสอบคำขอของ สตช.ที่เป็นผู้ขอให้มีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทาง สตช.เองก็เคยมีการออกคำสั่ง สตช.ในเรื่องของการติดกล้องไว้แล้ว

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายมานานหลายปี ยังให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่าที่ผ่านมาทางตำรวจเองก็รับทราบเรื่องการออกฎหมายนี้มาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ อีกทั้งเขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.มาเลื่อนกฎหมายแต่ก็เป็นเพียง 4 มาตราของกฎหมายทั้งฉบับเท่านั้น แต่ในระหว่างช่วง 3 เดือนที่ผ่านก็ยังเกิดเหตุเช่นกรณีรัฐไทยผลักดันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า 3 คนกลับไปเผชิญความเสี่ยงและยังปรากฏข่าวว่ามี 1 ใน 3 สียชีวิตแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่บังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน

วันนี้ (31 พ.ค.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นความรับผิดชอบนี้ว่า หากยังไม่ได้ยุบสภาก่อนก็จะมีผลกระทบและรัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อถ้าไม่ผ่านโดยสภาแสดงว่าสภาไม่เห็นชอบ แต่เมื่อ พ.ร.ก.ไม่ผ่านโดยศาลก็มีนัยยะที่แตกต่างกันคือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่าเมื่อรัฐบาลยุบสภาฯ แล้วจะลาออกซ้ำก็ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีรัฐบาลรักษาการ การแสดงความรับผิดชอบไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายแต่เป็นมารยาททางการเมือง แต่หากมีคนไปร้องเรียนเอาผิดกับรัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่ตนก็ไม่ทราบว่าจะเอาผิดในข้อหาตามกฎหมายมาตราอะไร

เรียบเรียงจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์Voice TV และ ไทยโพสต์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net