Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรยากาศหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ของประเทศต่างแซ่ซ้องดีใจเพราะถึงคราวที่ประเทศของพวกเขาเปลี่ยนแปลงได้เสียที หลังจากต้องทนอยู่ใต้ระบอบประยุทธ์มานานค่อน 9 ปี หากแต่เมื่อสลับไปดูฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยเดิม เราอาจพบว่าอารมณ์ของพวกเขากลับเป็นตรงกันข้าม และเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาเริ่มเกลียดและกลัวรัฐบาลใหม่ในหลายประเด็น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโฆษณาชวนเชื่อที่ปล่อยออกมาผ่านสื่อฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตย ทั้งข่าวปลอม ข้อมูลที่บิดเบือน และทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่ได้ยินมากที่สุดช่วงนี้คือทฤษฎีที่เปรียบคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนในขณะนี้ ซึ่งหากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “ยูเครน 2” อย่างเลี่ยงไม่ได้

นับตั้งแต่การรุกรานเริ่มเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 พวกสื่อใต้การควบคุมของรัสเซียได้พยายามอย่างหนักในการแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยอ้างอย่างไม่มีหลักฐานว่าเพราะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน รวมถึงความหวาดระแวงที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ เนโท (NATO) จะขยายเข้ามาประชิดพรมแดนรัสเซีย เนื่องจากเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะร่วมเนโท ดังนั้น รัสเซียจึงจำเป็นต้องชิงลงมือก่อนเพื่อหยุดทั้งเนโทและยูเครน โดยไม่ได้มีสำนึกว่าตนเป็นภัยคุกคามของยูเครนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ค.ศ. 2014 ที่มีสงครามในแคว้นดอนบาสและการที่ตนผนวกไครเมียจากยูเครนด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับที่เยอรมันทำช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้เหตุผลของรัสเซียดูจะไม่ค่อยมีน้ำหนัก กลับกันมันสร้างความชอบธรรมให้การรุกรานอย่างหน้าไม่อาย แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมเชื่อใน “นิทานหลอกเด็ก” ของรัสเซีย และคนกลุ่มนั้นก็มีมากในไทยเสียด้วย โดยเฉพาะบรรดาคนที่กล้าเรียกตนเองว่า “ผู้รักชาติ”  ที่เสพโฆษณาชวนเชื่อรัสเซียผ่านสื่อตรงข้ามประชาธิปไตยราวกับต้องฉีดเข้าเส้นเลือดทุกวัน 

เมื่อเราอ่านความคิดคนพวกนี้ ผมขอแนะนำให้คิดว่าโลกของพวกเขาเป็นโลกอีกมิติที่ผู้อ่านต้องหากระจกทวิภพเพื่อเดินทางไปถึง ในประเด็นสงคราม พวกเขาจะคิดว่ามันไม่ใช่รัสเซียรุกรานยูเครน (โดยที่ตะวันตกสนับสนุนเรื่องยุทโธปกรณ์และการคว่ำบาตร) หากแต่เป็นรัสเซียกำลังสู้กับพันธมิตรเนโทและสหรัฐฯโดยตรง ซึ่งยูเครน “โชคร้าย” เป็นเพียงสนามรบระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น พวกนี้ก็จะตอบไปในทิศทางว่าเพราะยูเครนได้ผู้นำใฝ่ตะวันตกอย่างเซเลนสกี้ที่ไปชักนำบรรดาชาติตะวันตกอย่างเนโทให้เข้ามาแผ่อำนาจถึงยูเครนซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ดังนั้น โดยเทคนิคแล้วจึงเท่ากับว่าเซเลนสกี้คือคนยั่วยุรัสเซียให้มาทำสงครามด้วยตนเอง เท่ากับว่าเซเลนสกี้เป็นฝ่ายผิด และฝ่ายเนโทกับสหรัฐฯ ก็ผิดด้วยเพราะเป็นตัวการอยู่เบื้องหลังความพินาศของชาวยูเครน

กระนั้น ฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยก็ยังมีจิตใจเมตตา “สงสาร” อยู่เช่นกัน เพราะพวกเขายังคงเชื่อว่ายูเครนเป็น “เหยื่อ” ในสงคราม เพียงแต่ไม่ได้เป็นเหยื่อจากการรุกรานโดยรัสเซีย กลับเป็นเหยื่อของการขยายอำนาจโดยพวกตะวันตกผ่านการกระทำอันไม่เห็นแก่บ้านเมืองของเซเลนสกี้แทน หากเกิดอาชญากรรมสงครามหรือเรื่องไม่ดีที่รัสเซียกระทำ คนเหล่านี้จะโทษเซเลนสกี้ด้วยคำอธิบายราวว่า “ถ้านายไม่เข้าข้างตะวันตกตอนนั้น เรื่องราวก็คงไม่เหมือนตอนนี้” และเนื่องด้วยความคิดแบบนี้ เมื่อมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น ไม่ว่ากับอาคารบ้านเรือนหรือชีวิตชาวยูเครน พวกเขาก็จะถือว่ารัฐบาลยูเครน เนโทและสหรัฐฯ เป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัสเซีย

พูดถึงสหรัฐฯ ต้องกล่าวว่าพวกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามประชาธิปไตยจะมีความเกลียดชังต่อสหรัฐฯเป็นพิเศษ ส่วนสาเหตุว่าทำไมนั้น ผมว่าเป็นประเด็นที่ควรนำมาต่อยอดทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์กันอย่างจริงจัง แต่อาจเป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้เกลียดชังชาติผู้นำประชาธิปไตยเพราะตนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ “คนดี” อยู่ ดังนั้น ถ้าสื่อฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยจะปลุกปั่นให้เกลียดใครก็จะเกลียดตามด้วย เพราะคุณยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลคนดีที่ฉันรัก คุณจึงเป็นคนชั่ว ยิ่งสื่อเหล่านั้นชูตนด้วยสโลแกน “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว” หรือเป็นสื่อ “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลคนดีด้วยแล้ว พวกเขาจึงยิ่งเชื่อ ไม่ว่าเรื่องสหรัฐฯจะตั้งฐานทัพหรือเรื่องใดก็ตาม แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งที่ดูย้อนแย้งกันดี เพราะในขณะที่คนเหล่านี้เกลียดสหรัฐฯ พวกเขามักจะเกลียดในเชิงการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น เพราะหากบุตรหลานได้มีโอกาสไปศึกษาหรือทำงานที่สหรัฐฯ หรือแม้แต่ประเทศตะวันตกที่ใดก็ตาม คนเหล่านี้มักไม่ต่อต้านแต่อย่างใด ซ้ำยังยินดี มองข้าม “ความชั่ว” ของสหรัฐฯไปเสียอย่างนั้น 

เพราะคุณพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งและมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับเผด็จการ คนพวกนี้จึงจินตนาการว่าหากได้เป็นรัฐบาลแล้วจะโอนเข้าหาสหรัฐฯ แม้คุณพิธากล่าวเองว่าการทูตไทยต้องสมดุลเพราะที่ผ่านมาเราเอียงข้างจีนเกินไปก็ตาม ประกอบกับเมื่อคนพวกนี้มีชุดความคิดว่า “เซเลนสกีมันชักศึกเข้าบ้าน” “สหรัฐอเมริกามันเลว” และ “รัฐบาลที่ฉันสนับสนุนเป็นฝ่ายธรรมะ” แล้ว การนำสองบุคคลมาเปรียบเทียบกันเพื่อทำลายความชอบธรรมจึงเกิดขึ้น โดยโฆษณาชวนเชื่อให้บรรดาผู้รักชาติทั้งหลายเห็นว่าถ้าคุณพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี คุณพิธาจะทำเช่นเดียวกับเซเลนสกี้ที่พาประเทศไปเป็นสนามรบของรัสเซียและตะวันตก ซึ่งเป็นไปได้อีกว่าพวกเขาคงต้องการให้รัฐบาลคนดีที่รักกลับมาด้วย เพราะคนดีของเขานั้นช่างรักชาติปานจะกลืนกินและไม่มีทางเหมือนผู้นำยูเครนแน่

หากไม่นับชาติอดีตสนธิสัญญาวอร์ซอซึ่งทุกวันนี้ไม่ต้องการให้เรียกเป็นยุโรปตะวันออกแล้ว ยุโรปตะวันออก ณ ตอนนี้จะเหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่เบลารุส รัสเซีย และยูเครน แต่ประเทศเดียวที่คงสถาบันประชาธิปไตยไว้ได้เหนียวแน่นที่สุดคือยูเครน อย่างน้อยที่สุดมีการเลือกตั้งเปลี่ยนผู้นำกันได้อย่างแท้จริง และเมื่อมีการรุกรานเกิดขึ้น ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ได้ทุกหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องชาติของตนจากการรุกราน ไม่หลบหนีอย่างที่ใครบางคนกล่าวหา หากแต่ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชนมาตลอด

หากมีใครกล่าวหาว่าคุณพิธาคือเซเลนสกี้ คงต้องถามกลับก่อนว่าแล้วเซเลนสกี้ทำความผิดอะไรก่อนจะถามคำถามว่าคุณพิธาเหมือนตรงไหนเสียด้วยซ้ำ และสมมติว่าเหมือน การที่เหมือนประธานาธิบดีที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และไม่ได้ใช้ทหารจี้เพื่อยึดอำนาจคนอื่นมามันไม่ดีอย่างไร?

น่าคิดว่าหากมีชาติใดรุกรานไทยขึ้นมาจริงในอนาคต โดยที่ชาตินั้นเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ผมล่ะอยากถามเหลือเกินว่าคนเหล่านี้จะกล้ายินดีกับผู้รุกรานและด่าทอรัฐบาลตนเองที่ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องชาติเหมือนที่เซเลนสกี้กำลังทำเพื่อประเทศของเขาหรือไม่?

โถ ผู้รักชาติเอ๋ย

 

อ้างอิง:
มติชน. (2566, 2 มิถุนายน). 'พิธา' มั่นใจ รีดไขมันกองทัพ มีงบผลักดัน 'รัฐสวัสดิการ' ลั่น เบื้องหลังคือ 'ประชาชน' ไม่ใช่อเมริกา. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/politics/news_4009807
Nato. (n.d.). Relations with Ukraine. NATO. https://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_37750.htm
Pifer, S. (2022, March 9). NATO’s Ukraine challenge. Brookings. https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2019/06/06/natos-ukraine-challenge/
Reid, J. (2023, February 21). “They started the war”: Russia’s Putin blames West and Ukraine for provoking conflict. CNBC. https://www.cnbc.com/2023/02/21/russias-putin-blames-west-and-ukraine-for-provoking-conflict.html
‘Smells of genocide’: How Putin justifies Russia’s war in Ukraine. (2022, March 9). Russia-Ukraine War News | Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/news/2022/3/9/smells-of-genocide-how-putin-justifies-russias-war-in-ukraine


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net