Skip to main content
sharethis

ประชาสังคมปาตานีจัดรณรงค์เนื่องในวันสันติภาพสากล 21 กันยายน ชวนเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ชูสองนิ้วติดปีกข้างเดียว พร้อมติดแฮชแท็ก Patani Peace เรียกร้องทุกคนหนุนเสริมให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้า วาดหวัง “สันติภาพเชิงบวก” เกิดขึ้นในพื้นที่ ขอทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการพูดคุยจริงจัง ขอรัฐสภามีบทบาทร่วมติดตามและประเมินผล ด้าน คสป.เตรียมเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เปิดจุดเน้น 6 ประการวันสันติภาพโลก พร้อมคำนิยาม สันติภาพเชิงลบ-สันติภาพเชิงบวก

Civil Society Assembly For Peace – CAP หรือสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวัน วันสันติภาพสากล (The International Day of Peace) วันที่ 21 กันยายนของทุกปี

โดย CAP เรียกร้องให้ร่วมกันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กของแต่ละคน (ซึ่ง CAP ได้ออกแบบไว้แล้ว) ด้วยภาพชูสองนิ้วที่บ่งบอกถึงสมางัต(ขวัญกำลังใจ) อันเป็นความมุ่งหมายจะสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้นให้จงได้ และภาพปีก หมายถึงความหวังของสันติภาพปาตานี แต่เป็นปีกที่มีเพียงข้างเดียวจะไม่สามารถบินได้ราบรื่น

“ดังนั้นจึงต้องมีปีกอีกข้างที่เป็นแรงพยุงจากประชาคมระหว่างประเทศ นั่นคือมาตรฐานสากลที่จะหนุนเสริมให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้ตามความใฝ่ฝันของประชาชน เพราะสันติภาพเป็นเรื่องของทุกคนบนโลก ความปรารถนาสูงสุดของการก่อตั้งสหประชาชาติ คือสันติภาพนั่นเอง”

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทุกร่วมแสดงการสนับสนุนสันติภาพ ด้วยการสวมชุดขาวและสวมหมกดำ (ซอเกาะ) พร้อมตั้งมือบนอกซ้าย แล้วถ่ายรูปเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กพร้อมติดแฮชแท็กว่า Patani Peace ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน นี้เป็นต้นไป

ส่วนในวันที่ 21 กันยายน นี้ ซึ่งตรงกับวันสันติภาพสากล จะมีกิจกรรมรวมกลุ่มที่สนามฟุตบอลตือเบาะ ในเขตเทศบาลนครยะลา เพื่อร่วมกิจกรรมที่แสดงสัญลักษณ์ถึงความต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนหรือ “สันติภาพเชิงบวก” ให้เกิดขึ้นในปาตานี

ขอรัฐและขบวนการเดินหน้าต่อพูดคุยการสันติภาพ

อัยยุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังจากการรณรงค์ครั้งนี้คือความต้องการให้เกิดสันติภาพเชิงบวกในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีจริง ๆ ไม่เฉพาะการไม่มีความรุนแรงอย่างเดียว แต่ต้องไม่มีการกดขี่ข่มเหงและความอยุติธรรมต่างๆ อยากให้คนในพื้นที่ได้ลิ้มรสสันติภาพที่แท้จริง ไม่เฉพาะคนนอกพื้นที่เท่านั้นที่ต้องการ

ผอ.CAP กล่าวด้วยว่า ส่วนความคาดหวังต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการ BRN ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือต้องการให้ทั้งสองฝ่ายได้เดินหน้าต่อ ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการหาทางออกจากความขัดแย้งและการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่

“ขอให้ทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจและจริงจังในกระบวนการสันติภาพที่สามารถจับต้องได้ มีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” อัยยุบ กล่าว

อัยยุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

ขอให้รัฐสภามีบทบาทร่วมกระบวนการสันติภาพ

อัยยุบ กล่าวว่า อยากให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ประกาศในคำแถลงนโยบายอย่างชัดเจน แต่ก็ขอให้เข้าใจว่ากระบวนการสันติภาพต้องเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ

ผอ.CAP เสนอด้วยว่า ขอให้รัฐสภามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างสันติภาพด้วย โดยรัฐสภาจะต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่าจะมีบทบาทอย่างไรและ จะต้องติดตามและประเมินผลของกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การพูดคุยอภิปรายอย่างเดียว

พร้อมทั้งกล่าวว่า ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่มีความพยายามผลักดันจากภาคประชาสังคมในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่การมีบทบาทเฉพาะแค่การศึกษาและมีข้อเสนอแนะเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น เนื่องจากการสร้างสันติภาพเกี่ยวข้องกับหลายประเด็นและหลายหน่วยงาน

“เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ และผลักดันการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพราะปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจากภาษีของคนทั้งประเทศมาใช้แก้ปัญหา เพราะฉะนั้นรัฐบาลและรัฐสภาจำเป็นต้องออกแบบแนวทางสร้างสันติภาพที่มีส่วนร่วมมากที่สุดด้วยเช่นกัน” อัยยุบ กล่าว

คณะสันติภาพภาคประชาชนเตรียมเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานคณะสันติภาพภาคประชาชน(คสป.) แจ้งด้วยว่า ในวันที่ 21 กันยายนนี้ ทางคณะสันติภาพภาคประชาชน(คสป.) จะถือโอกาสอ่านจดหมายเปิดผนึกเสนอกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องด้วยวันสันติภาพสากล 21 กันยายน ไปยังนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ด้วย ในเวลา 13.30 น. ณ มูลนิธิบ้านหะยีสุหลง(เมืองปัตตานี) วันที่ 21 กันยายน 2566

โดยคณะสันติภาพภาคประชาชน (คสป.) ประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนที่อยากเห็นสันติภาพในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างเร็ววัน

ความเป็นมา "วันสันติภาพสากล"

(เรียบเรียงจาก : www.peacedayphilly.org)

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล (International Peace Day) หรือ วันสันติภาพโลก (World Peace Day) ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้รำลึกถึงความสูญเสียจากสงคราม ความเจ็บปวดจากการสู้รบที่ผ่านมา และเป็นวันที่ประชาชนทุกคนจะปล่อยวางจากความโกรธแค้น ความเกลียดชัง และหันหน้าเข้าหากันอย่างสันติ

เดิมวันสันติภาพโลกตรงกับทุกวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน ซึ่งเริ่มประกาศใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1981 เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับ "สันติภาพ" อันหมายถึง ภาวะสันติสงบสุข ต่อมาในปี ค.ศ.2001 สหประชาชาติมีมติใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้วันสันติภาพโลก ตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันสันติภาพสากลของโลก ที่ต้องยุติการสู้รบ ลดใช้ความรุนแรง รวมถึงหยุดสู้รบในสงครามตลอดทั้งวัน

นับจากนั้นเป็นต้นมา วาระเรื่องสันติภาพก็กลายเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ จะต้องร่วมกันรณรงค์ และร่วมมือกันส่งเสริมสันติภาพทั่วโลก ยุติความรุนแรงไม่เพียงแต่ในสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหยุดการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมสันติภาพให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาคมโลก

จุดเน้น 6 ประการของวันสันติภาพโลก ประกอบด้วย

1. การคารพต่อชีวิตทั้งมวลและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่ลำเอียงและแบ่งชนชั้นวรรณะ

2. การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน

3. ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงทั้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ

4. การร่วมกันรับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม

5. การสงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก

6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้หญิง

"นกพิราบขาวคาบกิ่งมะกอก" สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

นกพิราบขาวคาบกิ่งมะกอก ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์วันสันติภาพสากล สื่อถึงสันติภาพและความสงบสุข ตามความเชื่อที่ว่า "นกพิราบ" เปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ของพระคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของพระเจ้าอีกด้วย

คำนิยาม สันติภาพเชิงลบ-สันติภาพเชิงบวก

Norbert Ropers ที่ปรึกษาอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ให้ความหมายของคำว่า สันติภาพเชิงลบ-สันติภาพเชิงบวก ในหนังสือ “เส้นทางสร้างสันติภาพ 2 แบบ” โดย Insider Peacebuilders Platform พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” IPP 6 ตุลาคม 2555 ดังนี้ 

สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace) หมายถึง สถานการณ์ที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ สันติภาพในลักษณะไม่มีการฆ่ากัน ไม่มีระเบิด ไม่มีความรุนแรงให้เห็น ดูสงบราบเรียบ แต่บางคนฟังแล้วอาจจะตั้งคำถามว่า เป็นสันติภาพจริงหรือ เพียงแค่ไม่มีความรุนแรงก็เรียกว่ามีสันติภาพแล้วหรือ แล้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างนายกับทาสที่ดูราบเรียบนั้น ถือว่าเป็นสันติภาพหรือไม่

ส่วน สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) หมายถึง สังคมที่มีความเป็นธรรม มีความเสมอภาค ผู้คนในสังคมมีเกียรติศักดิ์ศรีในจิตใจ

ที่มา https://peaceresourcecollaborative.org/wp-content/uploads/2020/04/IPP-6-1.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net