Skip to main content
sharethis
  • พระยาศรยุทธเสนีและตี๋ ศรีสุวรรณ 2 พยานปากสำคัญยอมรับในภายหลังจากคดีหมดอายุความไปแล้วว่าถูกบังคับให้การเท็จเชื่อมโยงเรื่องการประชุมวางแผนของ ปรีดี, วัชรชัย, เฉลียว, ชิต และบุคคลอีกหนึ่งคน ที่บ้านของพระยาศรยุทธเสนี
  • ปัญหาของการตรวจพิสูจน์หลักฐานปืนที่เป็นของกลางมีปัญหา
  • ผลชันสูตรพลิกศพไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการยิงโดยพระองค์เองตามที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีสวรรคต

ตัวแทนครอบครัวชิต สิงหเสนี แถลงข้อมูลที่ใช้ขอให้ศาลอาญารื้อฟื้นคดีสวรรคตของ ร.8 หลัง "ชิต-บุศย์-เฉลียว" ถูกประหารมาแล้ว 69 ปีหวังคืนความเป็นธรรมให้ ข้อมูลใหม่พบความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการที่ ร.8 ยิงพระองค์เอง แม้ในอดีตศาลจะตัดทิ้งและสรุปว่าเป็นการลอบสังหารจนมีคำพิพากษาประหาร ชี้ปัญหาของการตรวจพิสูจน์หลักฐานและการชันสูตร รวมถึงการเมืองที่แทรกเข้ามา

18 ต.ค.2566 ที่มูลนิธิซีเนม่า โอเอซิส สุขุมวิท 43 มีการแถลงข่าวเปิดหลักฐานใหม่ในคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 โดย  มีผู้ร่วมแถลงข่าวคือกังวาฬ พุทธิวนิช ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากครอบครัวของชิต สิงหเสนีและเป็นผู้ติดตามศึกษาเรื่องนี้, นพ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ส่วนปรีชา สุวรรณทัตไม่สามารถมาร่วมแถลงได้เนื่องจากต้องไปพบแพทย์ที่รักษาอาการป่วย

ครอบครัว ‘ชิต สิงหเสนี’ ให้ตัวแทน ขอศาลอาญารื้อคดีสวรรคต ร.8 คืนความเป็นธรรม ‘ชิต-บุศย์-เฉลียว’

สมานรัชฎ์กล่าวเปิดการแถลงข่าวถึงสาเหตุที่เธอสนับสนุนการทำงานของกังวาฬ เนื่องจากที่ผ่านมากังวาฬเคยมาขอให้ช่วยประสานงานกับครอบครัวของชิตและรู้สึกถึงความจริงใจของกังวาฬในการทำเรื่องนี้ทั้งที่ไม่เคยต้องมาเผชิญกับสิ่งที่ครอบครัวเธอต้องเจอ

“มีคนมาขอดิฉันหลายคนรวมถึงอาจารย์ที่มีชื่อเสียงต่างๆ นาๆ ให้พาไปหาลูกของคุณตาชิต คุณยายหนู(ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยาของชิต) ดิฉันไม่เคยพาไปเลย เพราะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากๆ สำหรับครอบครัวเรา มันไม่ใช่เรื่องสนุก เราไม่มีวันจะให้ใครมาใช้ในเกมการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องนี้ ญาติของเราถูกใส่ความและประหารชีวิต เพราะเกมการเมืองโดยแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์” สมานรัชต์กล่าวถึงความเจ็บปวดที่ครอบครัวเธอต้องเจอและเป็นเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ชูเชื้อต้องมาอยู่ด้วยกันของครอบครัว

สมานรัชต์กล่าวต่อว่า ลูกๆ ของชิตที่ไปโรงเรียนก็ต้องเจอกับคนมาบอกว่า “พ่อแกฆ่าในหลวง” หรือตัวเธอเองที่ต้องเจอชื่อตาของตัวเองเป็นคนฆ่าในหลวงในวิชาประวัติศาสตร์ เป็นความรู้สึกที่แย่มาก เป็นความเจ็บปวดของครอบครัวที่ต้องมาเป็นพยานในประวัติศาสตร์

“ใครที่ไม่ต้องการให้ความจริงปรากฏก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไม มันไม่มีอะไรต้องกลัวหรอก” สมานรัชฎ์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนคำสาปของแผ่นดินและเป็นความอยุติธรรมที่รอการชำระล้างเพราะถ้าไม่ทำก็จะไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความมืดมนของเผด็จการทางจิตวิญญาณไปได้

ต้องการคืนความเป็นธรรมและอาจทำให้เรื่องราวกระจ่างมากขึ้น

จากนั้นกังวาฬขึ้นกล่าวต่อถึงเจตนาที่มารื้อฟื้นคดีนี้ว่ามีอยู่ 3 เหตุผล เหตุผลแรกคือต้องการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์แม้ว่าอาจจะมีบางคนคิดว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์แต่สุดท้ายแล้วเขาอยากให้มีการตัดสินเรื่องนี้อย่างเป็นทางการโดยศาลตามกระบวนการทางกฎหมาย

เหตุผลที่สอง ประเด็นการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีกันไปกันมา เพราะเดิมตามที่ศาลตัดสินก็คือมีการลอบปลงพระชนม์ การวางแผนหรือการบงการตามสำนวนของอัยการระบุไว้คือมีการวางแผนที่บ้านของพลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ส่วนมือสังหารคือเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ทำให้นอกจากชิต บุศย์ เฉลียวแล้วยังมีการพุ่งเป้าไปที่ปรีดี พนมยงค์ด้วย

กังวาฬกล่าวต่อไปว่าเรื่องนี้ภายหลังก็เกิดกระแสตีกลับคือ ตี๋ ศรีสุวรรณ และพระยาศรยุทธเสนีออกมาสารภาพว่าไม่มีการประชุมวางแผนที่บ้านของพระยาศรยุทธเสนีย์

กังวาฬกล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าทำให้ตัวเขาเองต้องตกอยู่กลางระหว่าง 2 ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ที่กล่าวหาว่าเขามาแก้ต่างให้กับปรีดี ส่วนฝ่ายที่มองว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากคนใกล้ชิดซึ่งเป็นคนในและเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายนี้เห็นไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายนี้มีจุดร่วมที่เชื่อตรงกัน 2 ข้อ

ข้อแรก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในหลวงรัชกาลที่ 8 ไม่สามารถยิงด้วยตนเองได้ต้องเป็นคนอื่นยิงเท่านั้น

ข้อสอง มหาดเล็กที่อยู่หน้าห้องบรรทมไม่พูดความจริง ปกปิดว่ามีคนเข้าไป

เหตุผลสุดท้ายที่กังวาฬกล่าวถึงสิ่งที่เขาทำว่าต้องการให้เป็นบทเรียนของสังคมไทยที่ไม่ได้ศึกษาละเอียดแล้วก็ทะเลาะกัน แต่ถ้ามีคำพิพากษาใหม่ก็น่าจะทำให้เรื่องราวยุติได้ แล้วก็ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

กังวาฬกล่าวถึงเจตนาของการทำเรื่องนี้อีกประเด็นว่า แม้ความพยายามรื้อฟื้นครั้งนี้จะทำแทนในของครอบครัวของชิต แต่ขอบเขตของเรื่องราวที่สืบหานี้ยังรวมไปถึงบุศย์และเฉลียวด้วย อีกทั้งเหตุการณ์นี้ในอดีตก็ได้สร้างผลกระทบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้นตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ แพทย์ที่เสนอความเห็น และตุลาการในเวลานั้นอีกด้วย

พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526

กังวาฬกล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายที่นำมาใช้ในการรื้อฟื้นคดีครั้งนี้ว่าเป็นการใช้กระบวนการตามมาตรา 5 และ มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ที่ออกมาตั้งแต่สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาเห็นว่าแม้จะเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้นำคดีที่สิ้นสุดไปแล้วกลับมาพิจารณาใหม่ได้ แต่ตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายนี้เพื่อขอให้ศาลนำคดีกลับมาพิจารณาใหม่เพียง 60 คดี แต่ไม่เคยมีคดีใดที่ศาลอนุญาตให้นำคดีกลับมาพิจารณาใหม่เลย มีเพียงคดีของครูจอมทรัพย์ที่ศาลนำมาไต่สวนแต่สุดท้ายแล้วศาลก็ยกคำร้องว่าพยานหลักฐานที่อ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่นั้นเมื่อเทียบกับพยานหลักฐานของตำรวจแล้วไม่มีมูลเหตุมากพอให้รื้อฟื้น

อย่างไรก็ตาม กังวาฬได้อธิบายว่าการขอรื้อฟื้นคดีด้วยมาตรา 5 นี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่จะให้รื้อฟื้นได้ไว้ 3 ประเด็น

ข้อแรก พยานบุคคลในคดีที่ศาลใช้คำเบิกความของพยานในการพิพากษาคดี พยานบุคคลดังกล่าวถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเบิกความเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง แล้วจึงใช้คำพิพากษาที่ตัดสินว่าพยานบุคคลให้การเท็จมาขอรื้อฟื้นคดีได้ตามกฎหมายนี้

กังวาฬอธิบายในประเด็นนี้ประกอบสไลด์ว่าจากการที่ตี๋ ศรีสุวรรณเขียนจดหมายถึงปรีดี พนมยงค์ในปี 2522 เพื่อขอโทษโดยยอมรับว่าตนถูกจ้างวานจากพระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) ประธานกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตเพื่อให้เขาให้การเท็จในคดี และพระยาศรยุทธเสนีก็ยังออกมายอมรับภายหลังในบันทึกของเขาว่าถูกบังคับให้การปรักปรำด้วยเช่น อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ พยานทั้งสองคนก็ได้เสียชีวิตไปแล้วหรือต่อให้ทั้งสองคนยังมีชีวิตอยู่คดีสวรรคตก็หมดอายุความไปแล้วจะฟ้องเป็นพยานเท็จก็ไม่ได้

ข้อที่สอง กฎหมายระบุว่าพยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตามข้อแรกที่ศาลนำมาใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดีจนถึงที่สุดนั้น มีการดำเนินการฟ้องว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานปลอม หรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นพยานหลักฐานปลอม หรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตามที่ฟ้องก็สามารถนำคำพิพากษานั้นมาขอรื้อฟื้นคดีกับศาลชั้นต้นได้

ประเด็นนี้กังวาฬชี้ว่าที่ผ่านมายังไม่มีศาลไหนเคยรับพิสูจน์ว่าพยานหลักฐานในคดีใดเป็นหลักฐานที่มีปัญหาตามกฎหมายเลย

ข้อที่สามคือมีพยานหลักฐานใหม่ที่ชัดแจ้งและมีความสำคัญต่อคดีก็จะขอให้ศาลเปิดการพิจารณาคดีใหม่ได้

กังวาฬกล่าวถึงประเด็นเรื่องผู้ที่มีสิทธิขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีได้นั้นจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบุคคลในคดี ซึ่งทางกังวาฬเองได้ขอให้ผ่องพรรณ และพวงศรี สิงหเสนี ลูกสาวของชิตมอบอำนาจให้แก่เขาและปรีชามาดำเนินการแทนแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะตีตกได้ด้วยเหตุที่ผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง

กังวาฬกล่าวถึงเรื่องเงื่อนเวลานากรขอรื้อฟื้นคดีตามมาตรา 20 มีอยู่ 2 ข้อคือ

ข้อแรก ถ้าค้นพบพยานหลักฐานใหม่ต้องยื่นขอภายในหนึ่งปีหลังพบพยานหลักฐานชิ้นนั้น ซึ่งการค้นพบหลักฐานใหม่ครั้งนี้ก็เลยเวลามาแล้ว

ข้อสอง การขอรื้อฟื้นต้องไม่เกิน 10 ปีนับตั้งแต่คดีที่ขอรื้อฟื้นมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่ง ณ วันนี้เวลาก็เกินมาแล้ว

อย่างไรก็ตามกังวาฬเห็นว่ายังมีอยู่อีกหนึ่งช่องทางซึ่งมีการระบุไว้ในมาตรา 20 คือ การยกเว้นให้กับคดีที่มี “พฤติการณ์พิเศษ” แต่ในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่าพฤติการณ์พิเศษดังกล่าวหมายถึงพฤติการณ์ใดไว้ชัดเจนกฎหมายอื่นก็ไม่ได้มีการเขียน “พฤติการณ์พิเศษ” เอาไว้มีเพียง พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีฯ ฉบับเดียวที่เขียนไว้เช่นนี้

เรื่องนี้ทำให้กังวาฬได้นำไปปรึกษากับทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ  จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ซึ่งทางอภิสิทธิ์ก็เคยให้คำแนะนำมาว่าเนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์จึงให้ขอกับทางสำนักพระราชวังเพื่อขอให้มีพระบรมราชานุญาตว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ทำให้เขาได้ยื่นถวายฎีกาถึงสำนักพระราชวังโดยผ่านพล.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขาธิการในพระองค์ ไปก่อนหน้านี้แต่ก็ยังไม่ได้มีคำตอบอะไรกลับมา

อย่างไรก็ตาม จรัญก็ได้ให้คำแนะนำกับเขาว่า คดีที่เข้าข่ายเป็นคดีที่มี “พฤติการณ์พิเศษ” จะต้องเป็นคดีที่กระทบต่อความสมัครสมานท์สามัคคีของคนในชาติหรือกระทบกับแนวความคิดที่แตกแยกแล้วก็จะนำไปสู่ความล่มสลาย ซึ่งจรัญเองก็เห็น่วาคดีสวรรคตนี้เข้าข่ายเป็นคดีที่มีพฤติการณ์พิเศษ และช่องทางที่จะไปฟ้องพยานบุคคลทั้งตี๋ ศรีสุวรรณและพระยาศรยุทธเสนีก็ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะเสียชีวิตกันไปทั้งคู่แม้ว่าจะมีคำให้การยอมรับว่าเคยให้การเท็จอยู่แต่ก็ต้องให้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนว่าพยานทั้งสองให้การเท็จเท่านั้น จึงเหลือเพียงช่องทางเดียวคือต้องมีพยานหลักฐานใหม่และพยานหลักฐานใหม่จะต้องพลิกรูปคดีด้วย แต่ถ้าหากศาลตีตกพยานหลักฐานที่ยื่นไปใหม่แล้วก็จะไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก

ส่วนเรื่องประเด็นปืนของกลาง จรัญมองว่าไม่นับเป็นหลักฐานใหม่เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในคดีอยู่แล้ว แต่ที่กังวาฬพบก็คือการตรวจพิสูจน์ปืนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นนั้นถือยังถือเป็นหลักฐานใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ามีบางประเด็นเช่น การตรวจพิสูจน์ปืนของกลาง ภาพการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และผลชันสูตร ที่จำเป็นต้องศึกษาสำนวนคดีที่อยู่ในการครอบครองของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากเป็นเอกสารที่ปิดเป็นความลับและต้องรอให้ครบ 75 ปีถึงจะมีการเปิดได้เผยตามกฎหมายซึ่งการนับเวลาการเปิดเผยเอกสารนี้ไม่ได้เริ่มนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สวรรคต แต่เป็นนับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อพ.ศ.2497 ซึ่งจะครบในพ.ศ. 2572

พยานหลักฐานใหม่ไม่ปิดตายข้อสันนิษฐานว่า ร.8 ยิงตัวเอง

นอกจากประเด็นเรื่องคำยอมรับว่าได้ให้การเท็จในคดีสวรรคตของทั้งตี๋ ศรีสุวรรณ และพระยาศรยุทธเสนี ที่ไม่สามารถนำมายื่นเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีได้แล้ว กังวาฬได้เปิดประเด็นที่เขามองว่าเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ในการรื้อฟื้นคดีครั้งนี้คือผลการตรวจหลักฐานของกลางคือปืนและผลการชันสูตรพระบรมศพ ซึ่งเขามองว่าวิทยาการในสมัยนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์และเกิดความเข้าใจผิดบางประการ

จากข้อสรุปของเขาในการศึกษาเรื่องนี้ คือการที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตนั้นไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่พระองค์จะยิงด้วยตัวเองออกไปได้ และถ้าหากเกิดจากการกระทำโดยพระองค์เองผู้ที่ถูกประหารทั้งสามคนก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเขาได้ทำตารางเปรียบเทียบข้อค้นพบของเขากับคำพิพากษาของศาลในอดีตเอาไว้ดังนี้

พระยาศรยุทธเสนีและตี๋ ศรีสุวรรณ

กังวาฬเริ่มจากกล่าวถึงพระยาศรยุทธเสนี ซึ่งถือเป็นพยานปากเอกของฝ่ายโจทก์ที่เคยให้การไว้ว่าปรีดีและพวกเคยมาประชุมที่บ้านของตนสองถึงสามครั้งก่อนเกิดเหตุการณ์สวรรคตและสิ่งที่เขาจำได้คือปรีดี เรือเอกวัชรชัย และเฉลียว พร้อมกับมีคนอีกสองคนที่พระยาศรยุทธเสนีไม่ทราบว่าเป็นใครแต่มีการชี้ตัวภายหลังว่าหนึ่งในสองคนนี้คือชิต สิงหเสนี  

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพระยาศรยุทธเสนีได้เขียนไว้ในบันทึกของตนว่าถูกพระพินิจชนคดีบังคับให้การเช่นนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่นักข่าวในเวลานั้นไม่มีการติดตามสัมภาษณ์พระพินิจชนคดีในประเด็นนี้หลังบันทึกของพระยายุทธเสนีถูกเปิดเผยเมื่อปี 2510 ก่อนที่พระพินิจชนคดีจะเสียชีวิตในปี 2513

ส่วนตี๋ ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นพยานที่เคยให้การว่าได้เห็นและได้ยินการประชุมวางแผนกันในบ้านของพระยายุทธเสนี แม้ว่าเบื้องต้นศาลเองจะไม่ได้ให้ความสนใจและไม่เชื่อในคำให้การของตี๋ในทุกประเด็นแต่ก็มีเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้นที่ไม่ได้สนใจ เพราะเมื่อคดีถึงศาลอุทธรณ์และฎีกากลับให้น้ำหนักแก่คำให้การของตี๋ โดยกังวาฬได้นำเสนอความแตกต่างแต่ละประเด็นที่ศาลแต่ละชั้นให้น้ำหนักแก่คำให้การของพยานที่รับรองตี๋ในฐานพยานและคำให้การของตี๋ไว้ดังนี้ (อ้างอิงตามตารางที่กังวาฬใส่ในสไลด์)

พยานชุดตี๋ ศรีสุวรรณ

ศาลอาญา

ศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกา

  1. การค้ำประกันยืนยันว่าตี๋ไม่ใช่พยานเท็จของบุคคลทั้ง 5 คนได้แก่ พระพินิจชนคดี, หลวงแผ้วพาลชน, พระยาศรยุทธ, ขุนเทพประสิทธิ์ และชวน จนิษฐ์

ไม่เชื่อ

เชื่อ

เชื่อ

  1. ตี๋มาพักอาศัยที่บ้านของพระยาศรยุทธเสนีก่อนสวรรณคต

ไม่เชื่อ

เชื่อ

เชื่อ

  1. ตี๋ล่วงรู้เห็นการมาประชุมวางแผนลอบปลงพระชนม์จริง

ไม่เชื่อ

ไม่เชื่อ

เชื่อ

  1. ตี๋เห็น ปรีดี, วัชรชัย, เฉลียว, ชิต และบุคคลอีกหนึ่งคน มาประชุมวางแผน

ไม่เชื่อ

ไม่เชื่อ

เชื่อ

  1. ถ้อยคำที่ตี๋แอบได้ยินเป็นเรื่องจริง

ไม่เชื่อ

ไม่เชื่อ

ไม่เชื่อ

 

ศาลไม่นำมาเป็นเหตุในการพิพากษาประหารชิต

ศาลไม่นำมาเป็นเหตุในการพิพากษาประหารบุศย์

เพราะฉะนั้นเมื่อถ้อยคำของตี๋ ศรีสุวรรณไม่ประกอบชอบด้วยเหตุผลสมควรที่ควรรับฟังก็ไม่มีทางที่จะลงโทษเฉลียว ปทุมรส

เป็นเหตุ 1 ใน 6 ข้อที่ศาลลากนายเฉลียวมาประหารฐานเป็นผู้วางแผนสังการมหาดเล็กทั้งสองคน

ตำแหน่งที่ตี๋ให้การว่าตนอยู่ในขณะแอบฟัง

กังวาฬชี้ว่าการที่ศาลฎีกาไม่เชื่อคำให้การของตี๋ว่าเรื่องที่ได้ยินเป็นความจริงแต่เชื่อในประเด็นที่เหลือทั้งเรื่ององค์ประชุมและมีการประชุมเกิดขึ้นจริง กลับเป็นเหตุที่ทำให้เฉลียวถูกดึงเข้ามาเป็นเหตุผลที่ใช้ในการประหารเฉลียว อีกทั้งเฉลียวยังเป็นหัวหน้าของชิตและบุศย์ด้วยเพราะถ้าจะก่อเหตุจะต้องมีคนสั่งการเพราะทั้งสองคนคงไม่ลงมือทำเนื่องจากไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวกันดังนั้นการที่จะตัดพยานสองคนนี้ออกจากสำนวนก็จะทำให้สำนวนคดีไม่สมบูรณ์และสั่งฟ้องไม่ได้ ซึ่งเขาก็อยากเห็นว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรกับการที่ไม่เชื่อคำให้การของตี๋ที่ว่าได้ยินการพูดคุยกันแต่เชื่อเห็นองค์ประชุมกลับมีผลในการตัดสิน

การตรวจปืนของกลางในเวลานั้นมีข้อผิดพลาด

กังวาฬกล่าวถึงประเด็นที่ถือว่าเป็นข้อมูลหลักฐานใหม่คือ การตรวจพิสูจน์ปืนของกลางที่ ดร.จ่าง รัตนะรัตได้มาตรวจในวันที่ 11 มิ.ย.2489 แล้วมีการระบุว่ามีการยิงมาก่อนถูกส่งตรวจพิสูจน์เป็นเวลา 8 วันนั้นการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวยังเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เขาเห็นว่าวิธีการตรวจที่เกิดขึ้นในเวลานั้นและยังคงถูกใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อพิสูจน์ว่าปืนกระบอกใดเคยถูกนำมาใช้ยิงหรือไม่นั้นไม่สามารถบอกได้ว่าถูกนำมายิงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ได้ เพียงแค่บอกได้ว่าเคยถูกนำมาใช้ยิงหรือไม่เท่านั้น

กังวาฬอธิบายในประเด็นนี้ว่ากระบวนการตรวจปืนว่าเคยถูกนำมาใช้ยิงหรือไม่จะใช้น้ำล้างปากลำกล้องปืนมาใส่สารเคมีเพื่อพิสูจน์ว่ามีสารไนเตรทและไนไตรท์หรือไม่ หากมีสองสารดังกล่าวน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูซึ่งแสดงว่าปืนที่ถูกส่งตรวจเคยถูกใช้ยิงมาก่อนและยังเป็นวิธีการที่กองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจใช้กันอยู่แต่ก็แค่บอกได้ว่าปืนเคยถูกนำมาใช้ยิงหรือไม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จ่างได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ตรวจและพิสูจน์ได้ว่าปืนของกลางเคยถูกใช้ยิง แต่เบื้องต้นเขาได้ตอบตำรวจว่าไม่สามารถบอกได้ว่าถูกใช้ยิงมาแล้วกี่วันเนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ

แต่หลังการรัฐประหาร 8 พ.ย 2490 โดย พล.ท ผิน ชุณหวัณและได้ให้จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จ่างถึงกลับมาพูดเรื่องนี้อีกครั้งว่าปืนกระบอกที่ส่งมาให้เขาตรวจนั้นถูกยิงมาก่อนแล้ว 8 วัน และให้เหตุผลที่เพิ่งมากลับคำให้การเรื่องนี้ว่าเขาไม่กล้าพูดเนื่องจากยังอยู่ภายใต้รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ เกรงจะมีภัยต่อตนเอง ซึ่งศาลรับฟังประเด็นนี้ของจ่าง

กังวาฬชี้ว่าหลักการตรวจพิสูจน์ของจ่างไม่ได้ผิด แต่ปืนของกลางที่จ่างได้รับมาหลังเกิดเหตุประมาณ 48 ชั่วโมงแล้วนำมาทำการตรวจโดยการใช้น้ำล้างปากกระบอกปืนเพื่อพิสูจน์ว่าการมีการยิงหรือไม่ แล้วจ่างก็เพียงแค่เขียนเป็นบันทึกว่าเป็นสีชมพูจางๆ ที่พิสูจน์ได้ว่ามีการยิงจริงแต่บอกไม่ได้ว่ายิงมาแล้วกี่วันแต่ก็ไม่ได้มีภาพถ่ายซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีกล้องที่จะถ่ายภาพไว้ได้ด้วย

กังวาฬกล่าวต่อว่าภายหลังจ่างก็มีการทดลองเปรียบเทียบอีก 4-5 ครั้งโดยเปรียบเทียบความเข้มของสีในน้ำล้างปากกระบอกปืนอื่นๆ แล้วสันนิษฐานตามที่เขาเห็นว่าความเข้มของสีในน้ำจากปืนของกลางไปตรงกับความเข้มของสีในน้ำที่ได้จากปืนที่ยิงมาแล้ว 8 วัน แต่การทดสอบก็ปรากฏด้วยว่าแม้จะถูกใช้ยิงมานานกว่านั้นความเข้มของสีในน้ำล้างกระบอกปืนก็มีสีเข้มกว่าปืนที่ถูกใช้ยิงมา 8 วันใด ซึ่งประเด็นนี้ก็ถูกนำมาใช้โต้แย้งในศาล แต่ศาลกลับเป็นว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดกับเฉพาะปืนที่ยิงมานานเกินกว่า 10 วันแล้วเท่านั้น เพราะปืนที่ยิงมานานน้อยกว่านั้นผลการตรวจยังไม่มีความผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม กังวาฬพบว่าเคยมีนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดลเคยทำการทดสอบแบบเดียวกันกับจ่าง แต่กลับพบว่า ความเข้มของสีในน้ำจากปืนที่ใช้ยิงมาแล้ว 3 วัน กลับเข้มกว่าน้ำจากปืนที่ใช้ยิงมาวันเดียว

“ผมเชื่อว่าการทำของดร.จ่างนั้นทำด้วยความบริสุทธิ์ใจแต่มันมีข้อผิดพลาด แล้วเมื่อไม่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ผมจะพูดต่อไปนี้มันก็จะมีข้อผิดพลาด”

กังวาฬกล่าวถึงปัจจัยที่ต้องควบคุมในการทดสอบว่ามีอยู่ 6 ข้อ

  1. ต้องใช้ปืนของกลางมาทดสอบ แต่การทดสอบของจ่างนั้นไม่ได้ทำด้วยปืนที่เป็นของกลาง แต่มีการใช้ปืนกระบอกอื่นกระสุนจากที่อื่นมาทำการทดลอง เพราะแม้จะใช้ปืนรุ่นเดียวกันแต่เป็นกระบอกอื่นก็มีปริมาณการคงค้างไม่เท่ากัน
  2. ระยะยิง จากการทดลองในปัจจุบันพบว่าการยิงใกล้หรือไกลจากเป้าหมายก็ทำให้สารคงค้างบนกระบอกไม่เท่ากัน แต่จ่างได้ปืนมาทดลองในวันที่ 11 มิ.ย.2489 และทำการทดลองเสร็จในวันที่ 15 มิ.ย. 4 วันหลังจากได้รับปืน แต่ผลการชันสูตรพระบรมศพและมีการทดลองยิงศพอื่นจนได้ผลออกมาว่าการยิงเกิดขึ้นในระยะ 5 ซม.ออกเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทดลองของจ่างเสร็จสิ้นไปก่อนจะได้รู้ระยะยิงจริงที่เกิดขึ้น
  3. ระยะเวลาการเก็บตัวอย่าง ปืนของกลางถูกส่งให้จ่างหลังเกิดเหตุ 48 ชั่วโมงไปแล้ว
  4. จำนวนกระสุนที่ยิงทำให้มีการสะสมของสารเคมีบนปืนไม่เท่ากัน ซึ่งการทดลองของจ่างบางครั้งก็มีการยิงมากกว่า 1 นัด
  5. อุณหภูมิความชื้นส่งผลต่อการสะสมของสารเคมีบนปืนที่ใช้ยิงไม่เท่ากัน
  6. วิธีการตรวจ ซึ่งเป็นเพียงการสังเกตด้วยตาของจ่างเท่านั้นแม้ภายหลังจะมีการใช้ Spectro Photometer มาวัดแต่ก็ไม่ได้มีกล้องมาถ่ายภาพสีไว้ได้ ทำให้ทดลองซ้ำไม่ได้

การชันสูตรพระบรมศพ

นพ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช กล่าวว่าเขามาสนใจเรื่องนี้เพราะเห็นการถกเถียงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งเขาเห็นว่าประเด็นที่ทำให้เกิดความวุ่นวายของเรื่องเกิดจากการทำงานของแพทย์ที่ทำการตรวจในสมัยนั้นเกือบ 20 คนที่ไม่มีคนใดเป็นแพทย์เฉพาะทางเรื่องนี้ด้วยและศาสตร์วิชาทางนิติวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นยังไม่เท่ากับในปัจจุบัน และการให้ความเห็นของแพทย์ในเวลานั้นก็สะเปะสะปะไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยังถูกนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม

นพ.กฤตินกล่าวถึงประเด็นเรื่องที่พบแผลที่หน้าผากของรัชกาลที่ 8 ใหญ่กว่าแผลที่ท้ายทอยซึ่งเป็นจุดทะลุของกระสุนแล้วถูกเข้าใจว่าแผลที่ด้านหลังเล็กกว่าจึงเป็นทางเข้าของกระสุนและออกทางหน้าผากจึงเป็นการยิงจากด้านหลังซึ่งทำให้มีข้อสรุปว่เกิดจากการกระทำโดยตัวของผู้ตายเองได้ยากและเป็นเรื่องที่แปลก ทำให้เกิดข่าวลือว่ารัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์จากทางด้านหลัง

ภาพรอยกระสุนออกที่ท้ายทอยของรัชกาลที่ 8

แพทย์นิติเวชกล่าวว่าจากภาพบาดแผลบนหน้าผากของรัชกาลที่ 8 มีความชัดเจนว่าปากกระบอกปืนประทับชิดกับศีรษะ ซึ่งการยิงในลักษณะนี้พบว่าเกิดจากการกระทำด้วยตัวเองถึง 94% ซึ่งไม่มีเหตุผลใดให้เอาเรื่องบาดแผลที่เกิดลักษณะนี้มาตัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นการกระทำของผู้ตายออกไป

“ใช้เหตุผลในเรื่องของบาดแผล ลักษณะบาดแผลหรือวิถีกระสุน มันมาชี้ในเรื่องของพฤติการณ์การตาย โดยเฉพาะเอามาตัดการกระทำตัวเองไม่ได้” นพ.กฤติน

ส่วนประเด็นเรื่องที่ในคำพิพากษาของศาลระบุว่าหากเป็นการยิงตนเองมือจะต้องตกอยู่บนอกไม่น่าจะอยู่แนบข้างลำตัว นพ.กฤตินกล่าวว่าในปัจจุบันก็พบว่าการยิงตัวเองมือจะอยู่ตำแหน่งใดก็ได้ ขึ้นกับท่าทางตอนยิงด้วย ไม่ใช่ว่าจะยิงตัวเองแล้วมือต้องตกอยู่อย่างไร ไม่ได้เป็นหลักการอะไร

แพทย์นิติเวชระบุว่าปัจจุบันถ้าอยากรู้ว่าเป็นการยิงตัวเองหรือไม่ก็จะทำการตรวจเขม่าดินปืนที่มือว่ามีหรือไม่ หรือดูจากระยะยิงแล้วก็หลักฐานอื่นอีกหลายอย่างประกอบ  

ประเด็นที่ในคำพิพากษาที่ใช้โต้แย้งว่าเกิดจากการยิงตัวเองคือความเห็นของแพทย์ที่ระบุว่าหากเป็นการยิงตัวตายที่ศีรษะ สมมองส่วนที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัวจะไม่มีการทำงานแล้ว มือและนิ้วมือก็ควรจะแข็งอยู่ในสภาพสุดท้ายก่อนสมองส่วนนี้ถูกทำลาย ทำให้มือและนิ้วอยู่ในท่าเดิมก่อนตาย แต่พระบรมศพไม่เกิดสภาพนี้แล้วก็ถูกเอามาสรุปในคำพิพากษาว่าไม่ได้เกิดจากการทำตัวเอง ซึ่งก็มีกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวที่มีการยืนยันแล้วว่าเป็นการยิงตัวตายแต่ปืนก็ไม่ได้อยู่ในกำมือ

กังวาฬกล่าวเสริมว่าจากผลสำรวจการยิงตัวตาย 600 กว่ากรณีในสหรัฐฯ พบว่ามีปืนอยู่ในมือผู้ตายเพียง 25.7% แต่ในเวลานั้นมีกรณีที่ถูกเอามาเทียบกับกรณีสวรรคตเพียงแค่ 3-4 กรณีเท่านั้นซึ่งน้อยเกินไป

กังวาฬกล่าวต่อว่าอัยการในคดีมีการตั้งข้อสงสัยอยู่ 6 ประเด็น

  1. รอยกดปืนที่หน้าผาก
  2. วิถีกระสุนที่เข้าหน้าผากทะลุท้ายทอย
  3. ตำแหน่งกระสุนทะลุหมอน
  4. หัวกระสุนที่ฝังในฝูก
  5. ปลอกกระสุนที่ตกอยู่ฝั่งซ้ายของร่างกาย
  6. พระหัตถ์ที่เปื้อนเลือด

นพ.กฤติน กล่าวถึงข้อแรกบาดแผลที่หน้าผากที่ฉีกเป็นกากบาท ในทางนิติเวชแล้วลักษณะบาดแผลแบบนี้ทำให้เห็นว่าเป็นการยิงแบบติดผิวหนัง คือมีการประทับกระบอกปืนกับผิวหนัง แล้วก็มีลอยแผลถลอกหรือฟกช้ำเป็นวงรีตรงตำแหน่งหกนาฬิกาตามที่วงสีแดงไว้ในภาพ ซึ่งปัจจุบันหากเห็นแผลลักษณะนี้ก็ไม่ต้องทดสอบหาระยะยิงแล้วและสามารถบอกได้เลยว่าเป็นการยิงติดผิวหนัง และจากแพทย์ที่ตรวจพระบรมศพเองก็มีการเอาชิ้นเนื้อไปตรวจแล้วพบว่ามีเขม่าดินปืนสีดำใต้บาดแผล

ข้อสอง กังวาฬกล่าวในประเด็นนี้ว่าวถีกระสุนชัดเจนว่าเข้าทางเหนือกระบอกตาแล้วทะลุออกท้ายทอยตามภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ข้อที่สามเรื่องตำแหน่งกระสุนทะลุฟูกที่อัยการสงสัยว่าหากมีการยิงทะลุลงไปตำแหน่งหมอนจะต้องอยู่ห่างจากหัวเตียง 40 ซม.ทำให้ท่านอนราบขายืดออกไปก็จะหลุดพ้นปลายเตียง แต่ถ้านอนชันเข่าบุศย์ก็เคยให้การว่าตอนที่เอาน้ำส้มไปให้รัชกาลที่ 8 กำลังนั่งชันเข่าแต่ก็เป็นท่าที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่เป็นประเด็นที่ไม่ถูกหยิบขึ้นมา

ข้อที่สี่ กระสุนที่ทะลุหมอนกับทะลุฝูกอยู่เยื้องกันและกระสุนฝังอยู่ในฟูกเพียง 3 นิ้ว แต่จากการทดลองยิงศพ 7 ศพที่ศิริราชซึ่งปรากกฎผลตามภาพประกอบ

กังวาฬกล่าวถึงเรื่องเลือดที่จะกระเส็นกลับมาจากบาดแผล ถ้าหากรัชกาลที่ 8 ยิงตนเองก็จะต้องมีเลือดที่พระหัตถ์ ซึ่งก็ได้มีการทำเทียบคำให้การของพยานที่ได้เห็นพระบรมศพในที่เกิดเหตุไว้และพบว่าไม่มีใครให้การถึงเรื่องพระหัตถ์มีเลือดสีแดงติดอยู่นอกจาก มังกร ภมรบุศย์ (ดูภาพตารางเปรียบเทียบท้ายข่าว)

นพ.กฤตินกล่าวเสริมว่า ไม่ว่าใครจะเป็นคนยิงในระยะเดียวกับกรณีนี้ก็มีโอกาสที่เลือดจะกระเส็นกลับใส่คนยิง ไม่ว่าจะกล่าวหาใครก็ตามว่าเป็นคนยิงควรจะมีรอยเลือดที่กระเส็นกลับมานี้ติดตามตัวคนยิงอยู่บ้าง

กังวาฬได้นำเสนอโดยนำข้อเท็จจริงต่างๆ มาเทียบกับข้อสงสัยของอัยการทั้ง 6 ข้อ

นอกจากนั้นกังวาฬยังได้จำลองภาพการถูกยิงของรัชกาลที่ 8 ขึ้นในท่านั่งขึ้นมา (ตามภาพ) ซึ่งเขาเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นและยังตอบข้อสงสัยของอัยการถึงเรื่องรอยทะลุบหมอนและฟูกได้ ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ 8 ไม่ได้ถูกยิงในขณะที่นอนอยู่

กังวาฬกล่าวถึงข้อสันนิษฐานของเขาถึงสาเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ 8 ถูกยิงในท่านี้ด้วยว่า จากคำให้การของมัลกร ภมรบุศย์ทราบว่าปืนของกลางนั้นเคยขัดลำกล้อง 2 ครั้งทำให้รัชกาลที่ 8 เคยมอบปืนให้กับมังกรนำปืนไปตรวจสอบ และในครั้งที่สองที่มอบให้กับมังกรไปตรวจในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็เคยเตือนด้วยว่าห้ามส่องดูจากปลายกระบอกไม่เช่นนั้นจะถูกยิงเข้าหน้าผากพร้อมกับใช้นิ้วชี้ตัวหน้าผากตนเอง นอกจากนั้นกรมหลวงชัยนาทนเรนทร ยังเคยให้การด้วยว่ารัชกาลที่ 8 เคยเอามาส่องดูกระสุนในลำกล้องแล้วบอกว่าปืนกระบอกนี้ไกปืนอ่อนลั่นได้ง่าย ซึ่งเขามองว่าข้อสันนิษฐานนี้ตอบข้อสงสัยของอัยการในคดีได้ทุกข้อ

“ตอนที่เกิดคดีสวรรคตขึ้นมา ทุกทิศทุกทาง พระแสงปืนก็ดี ความเห็นของหมอก็ดี การให้การของของคุณชิตที่มีพิรุธมันล้อมกรอบเขาทั้งหมด แล้วก็นำไปสู่การประหารชีวิต คุณฟักก็สู้อย่างโดดเดี่ยวไม่มีนักวิชาการใดๆ ไปช่วยไม่มีการทดลองทดสอบปืน เพราะฉะนั้นคุณชิตก็ถูกประหารด้วยเหตุผลต่างๆ ล้อมรอบ” กังวาฬกล่าว

กังวาฬกล่าวต่อไปว่า ณ วันนี้ด้วยประเด็นทั้งเรื่องการตรวจพิสูจน์ปืน ความเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ 8 จะยิงโดยตัวเอง ปัญหาของประจักษ์พยานทั้งสองคน และเรื่องที่เรือเอกวัชรชัยซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยิงสามารถกลับมาประเทศไทยแล้วทำการขอคืนยศคืนตำแหน่งได้ซึ่งถ้าเป็นผู้ยิงจริงก็คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ที่จะให้ผู้ที่เป็นคนทำร้ายพระมหากษัตริย์กลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วยังไปฟ้องหมิ่นประมาทคนอื่นได้อีก

“หรือยกเว้นว่าคดีมันบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองแล้ว เพราะฉะนั้นจะกลับมาอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร” กังวาฬกล่าวถึงข้อสันนิษฐานของตน

กังวาฬสรุปการแถลงของตนเองในครั้งนี้ว่าต้องการจะขอโอกาสพิสูจน์ความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์และเขาจะทำให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายก็เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งเขาก็ได้นำเสนอแล้วว่าคดีนี้มีพฤติการณ์พิเศษและมีพยานหลักฐานใหม่ตามที่เสนอไปและนอกจากที่นำเสนอไปก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมที่เป็นรายละเอียดอยู่อีกและมีพยานมากกว่านี้

ตารางเปรียบเทียบคำให้การของพยานที่กังวาฬทำเปรียบเทียบไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net