Skip to main content
sharethis

เศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อหลังประชุม ครม. กรณีขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ อัตรา 2-16 บาท ทั่วประเทศนั้น ทาง รมว.แรงงาน ได้มีการเสนอแล้ว แต่ขอถอนวาระไปคิดสูตรคำนวณใหม่ คาดเสนอใหม่ใน 2 สัปดาห์ โฆษกสำนักนายกฯ ย้ำ ครม.ไม่มีอำนาจสั่งทบทวน

 

13 ธ.ค. 2566 เว็บไซต์สื่อ 'ทูเดย์' รายงานวานนี้ (12 ธ.ค.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (12 ธ.ค.) กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 ที่คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี เคาะขึ้นในอัตรา 2-16 บาท

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นำมาเสนอในที่ประชุม ครม. และสรุปเองว่า ต้องกลับไปตั้งข้อสังเกต และพิจารณาเรื่องสูตรการคิดค่าแรง "ท่านก็เอามาเสนอแล้วดึงกลับไปเอง"

เมื่อสื่อถามว่า เรื่องค่าแรงต้องปรับมากกว่านี้ใช่หรือไม่ เศรษฐา ตอบว่า ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ก็ต้องแล้วแต่ ก็ต้องให้เกียรติคณะกรรมการฯ

เมื่อสื่อถามจะเสนอเรื่องกลับมาทันช่วงปีใหม่หรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าสัปดาห์หน้า หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธ.ค. 66

เมื่อสื่อถามย้ำว่า ตัวเลขที่นายกฯ หวังคืออะไร เศรษฐา "ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน" ก็ต้องฟังเขาก่อน เพราะว่ามีข้อกฎหมายอะไรหลายๆ อย่างที่ทักท้วงกันมาก แต่ที่ตนต้องการ ตัวเลขก็ไม่ใช่จำนวนนี้

เมื่อสื่อถามว่า ใช่ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เศรษฐา ไม่ตอบ เพียงแต่พยักหน้าเบาเบา และพูดว่า "คำถามต่อไปครับ"

'พิพัฒน์' ย้ำไม่เห็นด้วยมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อ 12 ธ.ค. มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่า จะนำกลับเข้ามาในครม. ก่อนสิ้นปี 2566 

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง” พิพัฒน์ กล่าว

ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ เมื่อต้องนำกลับไปพิจารณาใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้าหรือไม่นั้น พิพัฒน์ ยอมรับว่า การดำเนินการจะทำให้เร็วที่สุด และจะได้ข้อสรุปให้เดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

โฆษกสำนักนายกฯ ย้ำ ครม. ไม่มีอำนาจสั่งทบทวน

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จากกรณีคณะกรรมการไตรภาคี มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราวันละ 2-16 บาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่ง รมว.แรงงาน ได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ แต่เนื่องจากในที่ประชุม รมว.แรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกต โดยมองว่าหากการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 87 เป็นการใช้หลักเกณฑ์โดยนำตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ย

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่มา: www.thaigov.go.th)

พิพัฒน์ มองว่า การนำเอาตัวเลขปี 2563 และ 2564 มาร่วมพิจารณา ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาคำนวณ ทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งน่าจะมีวิธีคำนวณที่ดีกว่า ซึ่ง ครม.ก็รับทราบและแสดงความเห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว

"เมื่อ ครม. รับทราบและเห็นด้วย จึงมอบสิทธิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะยังคงยืนยันเสนอให้ครม.รับทราบหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงขออนุญาตขอถอนออกไปก่อน" ชัย กล่าว

ทั้งนี้ ชัย ย้ำว่า การถอนเรื่องออกไปเป็นอำนาจรมว.แรงงาน ซึ่ง ครม.ไม่มีอำนาจในการสั่งทบทวนอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นข้อสรุปของคณะกรรมการฯ จะนำมาเสนอ ครม.อีกครั้งเมื่อใด ส่วนจะมีการทบทวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ครม. แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net