Skip to main content
sharethis

ในท่ามกลางการใช้ความรุนแรง การเผชิญหน้าทุกครั้งย่อมเกิดความสูญเสีย ทั้งในรูปของการบาดเจ็บ ทั้งในรูปของการล้มหายตายจาก

แน่นอน บางครั้งเป็นความสูญเสียฝ่ายเดียว หลายครั้งพบความสูญเสียกันทั้ง 2 ฝ่าย

เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา ก็ไม่แตกต่างไปจากการเผชิญหน้าที่แล้วมา

ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์อีก 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

ในระหว่างการขนย้ายจากหน้าโรงพักตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต 78 ราย บาดเจ็บอีกหลายสิบคน บางคนถึงขั้นพิการชั่วชีวิต

ใช่จะมีแต่ฝ่ายชาวบ้านผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จากตำบลศาลใหม่ อำเภอตากใบ 6 คนเท่านั้น ที่ได้รับบาดเจ็บล้มตาย

ทว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการสลายการชุมนุม ก็ถูกตอบโต้ได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 5 นาย ประกอบด้วย ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา, ส.ต.ท.ปรีชา โสภณ, ส.ต.อ.นราศักดิ์ เกื้อกูล, จ.ส.ต.สมพงษ์ อิวิโส และด.ต.สวัสดิ์ หราระเริง

ถึงกระนั้น อัตราความสูญเสียระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมกับผู้สลายการชุมนุม ดูจะแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

เนื่องเพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเพียง "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส

เนื่องจากถูกยิงระหว่างเข้าสลายการชุมนุมที่หัวไหล่ซ้าย ใต้แขนขวา และที่ชายโครงขวาด้านหลัง ซึ่งจุดนี้กระสุนยังคงฝังอยู่ในร่าง

ขณะที่ตำรวจอีก 4 นาย ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
ขณะนี้ "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" ศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจภูธร 9 วัย 25 ปี กลับไปพักฟื้นร่างกายอยู่ที่บ้านเกิด กลางสวนยางพารา ณ บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ที่ 13 บ้านวังเจริญ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยมี "พ่อ" กับ "แม่" คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ถึงแม้อาการโดยรวมจะดีขึ้น ทว่า ตำรวจชั้นประทวนผู้นี้ ยังต้องเดินทางไปทำกาย
ภาพบำบัด ที่โรงพยาบาลปะเหลียนทุกวัน

"ประชาไท" เดินทางไปเยี่ยม "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" ถึงบ้านเกิดเชิงเทือกเขาบรรทัด
"ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่หน้าโรงพักตากใบ ในวันแห่งการเผชิญหน้าว่า …
"เกือบ 8 โมงเช้าวันนั้น ผมได้รับคำสั่งจาก "ร.ต.อ.ไพฑูรย์ บัดสูงเนิน" รักษาการหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ให้ออกมาเตรียมพร้อมที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ

พอผมไปถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ก็ได้รับคำสั่งให้ขึ้นรถกระบะออกไปกับหัวหน้าชุด ชุดของผมมี 12 นาย ผมไม่รู้เลยว่า เขาให้ไปไหน

พอรถเคลื่อนออกไปไม่ไกล ก็ต้องเลี้ยวกลับมา เพราะมีคำสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดปราบจลาจล มีโล่ห์พร้อมหมวกกันน็อก ส่วนปืน เอช.เค. ยังคงสะพายอยู่เหมือนเดิม

จากนั้น ก็ขึ้นรถออกมาหยุดตั้งแถวรักษาความปลอดภัย ที่จุดกลับรถบนถนนเส้นจะไปสุไหงโก - ลก ห่างจาก 3 แยกตากใบประมาณ 200 เมตร มีตำรวจจากโรงพักตากใบ มารออยู่ตรงนี้ก่อนแล้ว 3 - 4 นาย ส่วน 3 แยกตากใบ ที่อยู่ห่างออกไป มีทหารมาตั้งด่านอยู่ก่อนแล้ว

ตอนนั้น มีประชาชนขบรถมาตามเส้นทางสุไหงโก - ลกเยอะมาก เจ้าหน้าที่จึงนำรถ 10 ล้อมาจอดขวางทางฝั่งที่มาจากสุไหงโก - ลก ปรากฏว่ารถติดไปจนถึงสะพานที่อยู่ห่างกันเป็นกิโล มีทั้งรถกระบะ ที่มีคนอยู่เต็มคันรถ และรถมอเตอร์ไซค์เป็นร้อยคัน

ตรงนี้ผมเจอคนรู้จักคนหนึ่ง เขาอยู่สุไหงปาดี ผมถามเขาว่า จะไปไหน ทำไมถึงมากันเยอะแยะมากมาย เขาบอกว่า มีคนให้เงินไปกินเหนียวคนละ 200 บาท

พอเอารถไปขวาง คนก็ลงมาเดินเท้าไปตากใบ พอเดินผ่านรถ 10 ล้อที่นำมาขวางถนนไว้ ก็ชวนกันเคาะรถ 10 ล้อ สุดท้ายคนมากจนเอาไม่อยู่ ต้องเอารถ 10 ที่ขวางถนนออกไป ชาวบ้านบางส่วน จึงกลับไปเอารถขับเข้ามา

พอคนชวนกันเดินไปตากใบ ชุดของผมก็ขึ้นรถขับตามหลังไปช้าๆ ถึง 3 แยกตากใบ ชาวบ้านเลี้ยวไปตามถนนใหญ่เข้าตลาดตากใบ ส่วนรถของผมขับตรงเข้าไปตามถนนในหมู่บ้าน ใช้เป็นทางลัดตรงไปหน้าโรงพักตากใบ ตอนนั้นเวลาประมาณ 9 โมงเช้า

พอรถผมไปถึงหลังโรงพัก พวกผมก็ได้รับคำสั่งให้มาปิดถนน ไม่ให้คนเข้าไปที่โรงพัก ผมไม่ทราบว่ามีการปิดถนนเส้นอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า เพราะเห็นคนทยอยเข้าไปชุมนุมกันที่หน้าโรงพักมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มไปหมด

ตอนนั้น มีคน 200 - 300 คน บุกโรงพัก เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า คนที่บุกเข้ามาจึงสงบ เพื่อนตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดแรกที่มาถึงโรงพักตากใบ เล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่เพิ่งมาถึงหน้าโรงพัก คนที่ชุมนุมกรูเข้ามาทุบกระจกรถฮัมวี่ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ แต่ไม่แตกเพราะเป็นกระจกกันกระสุน มีไฟหน้ารถอย่างเดียวที่แตก

เขาทุบกระจกรถ เพราะต้องการเอาปืนในรถ แต่เอาไปไม่ได้ เลยชวนกันยกรถ กะจะพลิกให้คว่ำ แต่พลิกไม่ทัน เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เสียก่อน

จากนั้น ผมได้รับคำสั่งให้ไปรักษาความปลอดภัย "พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์" ผู้บัญชากตำรวจภูธรภาค 9 ที่ริมถนนใหญ่ในตลาด ตอนนั้นผู้บัญชาการตำรวจภาค 9 เพิ่งเดินทางมาถึง แต่ผมไม่ทราบว่า แม่ทัพภาค 4 มาถึงตากใบตอนไหน

ปราะมาณเที่ยงครึ่ง ผมได้รับคำสั่งจากหัวหน้าชุดให้ไปด้านหน้าโรงพัก ตั้งแถวเตรียม
พร้อมปราบจลาจล สมทบกับตำรวจปราบจลาจลที่มารออยู่ก่อนแล้วรวมเป็น 60 นาย ทั้งหมดเป็นตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตอนนี้ในส่วนของทหารก็มากันมาก พวกเราพยายามจำกัดเขตกลุ่มคนชุมนุมเอาไว้ ให้อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนตรงหน้าโรงพัก

ตอนที่ตั้งแถวเตรียมรับมืออยู่นั้น ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีท่าทีไม่ยอมรับฟังท่าเดียว เจ้าหน้าที่มาพูดผ่านไมโครโฟนก็ไม่ฟัง โต๊ะอิหม่ามมาพูดด้วย พวกเขาก็ไล่ให้ถอดหมวก อันนี้ เพื่อนตำรวจที่เข้าใจภาษายาวีแปลให้ฟัง

คนชุมนุมที่อยู่ข้างหน้าเกือบทั้งหมด มีผ้าปิดหน้า คนที่อยู่ข้างหลัง ถึงจะไม่ปิดหน้า แต่ก็โผล่หน้าออกมาโห่ไล่ แล้วถอยกลับไปอยู่ข้างหลัง อยู่เป็นระยะ

ผมยืนเฝ้าอยู่ตรงนั้น จนถึงตอนฉีดน้ำ เพื่อดันให้คนชุมนุมออกไปจากหน้าโรงพัก ก่อนที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะโยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมโยนกลับมาตกตรงหน้าแถวที่ผมอยู่ แต่เจ้าหน้าที่โยนกลับเข้าไปใหม่

ต่อมา ผมได้ยินเสียงปืนก็เลยถอยกลับเข้ามาที่โรงพัก เอาโล่ห์มาวางไว้ ซักพักก็ได้รับคำสั่งให้เคลียร์พื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงกรูกันออกไปหน้าโรงพัก คนอื่นๆ ก็ออกไปด้วย ตอนนั้น ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนไปที่บริเวณริมแม่น้ำตากใบ

ตอนที่ชุลมุนกันอยู่นั้น ผมจับผู้ชุมนุมที่อยู่แถวหน้าได้คนหนึ่ง จับด้วยมือซ้าย รวบมือเขามาไว้ข้างหลัง ส่วนมือขวาสะพายปืน พอหันหลังจะเอาตัวเขามาที่โรงพัก ผมก็ถูกยิงมาจากด้านหลัง ไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง และไม่ทราบชนิดของปืน

ผมเลยปล่อยคนที่ผมจับให้กับทหารคนหนึ่ง แล้ววิ่งไปเรียกนายตำรวจบอกว่า หมวดๆ ผมถูกยิง จึงมีเจ้าหน้าที่มาประคองนำผมขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาลตากใบ พอหมอทำแผลเสร็จ ก็นำผมส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ทันที

หลังจากนั้นผมก็ไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร มารู้อีกที่ว่า มีคนตายเยอะมากจากข่าวโทรทัศน์

ผมพักรักษาตัวอยู่ที่นั่น 10 วัน ก็ขอย้ายกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลปะเหลียน เพราะใกล้บ้าน

หมอบอกว่า ยังมีสะเก็ดกระสุนฝังอยู่ตรงที่ชายโครงด้านขวาค่อนไปทางด้านหลัง ติดกับปอด ยังไม่ได้ผ่าออก หมอให้ร่างกายขจัดออกมาเอง ส่วนแผลถูกยิงอีกสองแห่ง คือ ที่หัวไหล่ขวาด้านหลัง กับใต้แขนขวา หมอไม่ได้บอกว่า เป็นกระสุนชนิดไหน แต่ผมคิดว่าน่าจะขนาด 9 มม.

ตอนนี้อาการดีขึ้นมาก ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล เพียงแต่ไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลทุกวัน ยังออกกำลังกายไม่ได้ เจ็บที่แผลตรงชายโครงด้านหลัง ต้องหยุดพักรักษาตัวไม่มีกำหนด แผลหายเมื่อไหร่ ถึงจะกลับไปทำงาน

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากย้ายกลับบ้านที่จังหวัดตรัง กลับมาอยู่ดูแลพ่อ - แม่ เพราะตอนนี้ไม่มีใครอยู่ดูแล ถ้าย้ายไม่ได้ ก็ต้องกลับไปทำงานที่จังหวัดนราธิวาส เพราะมันเป็นหน้าที่ของผม…"

คำตอบที่ได้รับจากบาดแผลของ "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" ก็คือ ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงขนาดไหน และปริมาณอาวุธมีมากน้อยเท่าไร

ประเด็นที่น่าสนใจ จึงอยู่ที่คำบอกเล่า ซึ่งหล่นจากปากของ "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" ว่า มีคนรู้จักกันบอกกับตำรวจชั้นประทวนผู้นี้ ขณะที่คนผู้นั้น กำลังมุ่งหน้าไปยังโรงพักตากใบว่า มีคนให้เงินไปกินเหนียว 200 บาทต่อคน

ด้วยเพราะไม่ว่าคำบอกเล่านี้ จะเป็นข้อเท็จหรือข้อจริงก็ตาม ย่อมบ่งชี้ถึงที่มาที่ไปของการชุมนุมครั้งนี้ และบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับคนของรัฐ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

ประการแรก ถ้าคำบอกเล่าเป็นเรื่องจริง แน่นอน ย่อมต้องมีคนจำนวนหนึ่ง เป็นผู้จัดการ คอยอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมครั้งนี้ พูดง่ายๆ ว่า ม็อบนี้มีคนอยู่เบื้องหลัง

ประการต่อมา ถ้าคำบอกเล่านี้เป็นข้อเท็จ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนของรัฐกับชาวบ้านว่า อยู่ในสภาพที่ไม่ไว้วางใจกันอย่างยิ่ง ไม่ไว้วางใจถึงขนาดปล่อยข้อมูลผิดๆ ออกไปให้คนของรัฐรับรู้ เพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

อันนี้ ขอที่จะไม่ตั้งข้อสังเกตไปถึงพล็อตของคำบอกเล่าแบบนี้ว่า อยู่ภายใต้กระบวนการต่อต้านข่าวกรอง โดยเลือกที่จะปล่อยข่าวผ่าน "ส.ต.ท.วุฒิชัย โงกเขา" หรือไม่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net