Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-26 พ.ย.47 น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ของแม่น้ำโขงว่า หลังจากที่จีนได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานโครงการอุตสาหกรรม และโครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์จากซือเหมาไปหลวงพระบาง ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในลักษณะข้ามพรมแดน ซึ่งมีแนวโน้มจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"ปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อน โดยเขื่อนแรก คือ เขื่อนมานวาน สร้างเสร็จเมื่อปี 2539 และกำลังก่อสร้างอีก 2 เขื่อน คือ เขื่อนเชี่ยวหลาน และเขื่อนจิงหง ซึ่ง เริ่มสร้างเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงนั้น เป็นความร่วมมือระหว่างจีน พม่า ลาว และไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการ ระเบิดแก่งไปแล้วบางส่วน บริเวณพรมแดนพม่ากับลาว จนสามารถเดินเรือขนาด 300 ตัน ลงมาจนถึงเชียงแสนได้แล้ว" น.ส.เพียรพร กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ทางรัฐบาลไทยได้มีมติระงับโครงการและให้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ใหม่ รวมทั้งทำบันทึกข้อตกลง( TOR) ทางน้ำ ระหว่างไทยกับลาวใหม่ ภายใต้ความรับผิดชอบกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546

น.ส.เพียรพร กล่าวว่า การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ได้ทำให้เกิดความผันผวนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขง เนื่องจากมีการเปิดเขื่อนเพียง 5 ชั่วโมง ในรอบ 4 วัน เพื่อสะดวกต่อการระเบิดแก่ง ซึ่งความผันผวนของระดับน้ำได้เกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในเดือนมกราคม ถึงเมษายน ที่ผ่านมา

หากว่าเขื่อนเซี่ยวหลาน และเขื่อนจิงหง สร้างเสร็จ เชื่อว่าความไม่แน่นอนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเขื่อนเซี่ยวหลานสูงถึง 292 เมตร ขณะที่เขื่อนจิงหง ตั้งอยู่ล่างสุดของแม่น้ำโขงตอนบนในจีน และห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพียงประมาณ 280 กิโลเมตร

"จะสังเกตได้ว่า ปริมาณน้ำในฤดูแล้งที่ลดลงและการผันผวนของระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์และชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงทางตอนล่าง นับตั้งแต่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ไทย แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว และแม่น้ำโขงทางตอนล่างลงไป รวมทั้งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้คนหาปลาหลายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำโขง ระบุตรงกันว่า นอกจากน้ำลดต่ำผิดปกติแล้ว น้ำยังขึ้นลงไม่ปกติด้วย ทำให้ปลาไม่เคลื่อนย้าย หรืออพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่าง ขึ้นไปหากินหรือวางไข่ทางตอนบนได้ และได้ส่งผลกระทบต่อคนหาปลา เพราะเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว" น.ส.เพียงพร กล่าว

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียฯ ยังระบุอีกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม พบว่า ชายฝังแถบอ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ได้ถูกน้ำโขงกัดเซาะอย่างรุนแรงหลายพื้นที่ และเกิดการพัง ทลายของตลิ่งบริเวณท่าเรือกินพื้นที่กว้าง ทำให้เกิดร่องน้ำเปลี่ยนทิศ และส่งผลกระทบต่อเส้นพรมแดนไทย-ลาว

โครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนทั้ง 2 โครงการ ได้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำนานา ชาติ ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์แม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรส่วนรวมที่ชุมชนสองฝั่งโขงใช้ร่วมกันมานาน

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net