Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 8 เม.ย. 48 "เราไม่มีหน้าที่ดูแลเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ดูแลเหตุการณ์รายวัน รายเดือน รายปี เราไม่มีหน้าที่ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ เรามีหน้าที่ทำให้เกิดความยุติธรรม ลดความไม่เข้าใจ ลดความไม่เชื่อใจ ลดความหวาดเกรงซึ่งกันและกัน" นายอานันท์ ปันยาชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสามานฉันท์แห่งชาติ ระบุ

การประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อบ่ายวานนี้ (8เม.ย.) ที่กระทรวงต่างประเทศ ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง โดยนายอานันท์กำชับถึงการให้ข่าวในนามกรรม การสมานฉันท์ฯ ว่า เป็น ภารกิจของประธานฯ เพียงคนเดียว

นายอานันท์ กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์มีหน้าที่ทำงานในระยะยาว และจุดมุ่งหมายสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์เพื่อจะนำไปสู่สันติสุข ความยุติธรรม และการเคารพมนุษย์สิทธิชน ตลอดจนความเลี่ยมล้ำของบุคคลบางกลุ่มได้รับการปฏิบัติ การไม่มีโอกาสทัดเทียมกัน การไม่ยอมรับความหมายที่แตกต่างกันในสัญลักษณ์บุคคล เอกลักษณ์ท้องถิ่น (อ่าน-คำต่อคำ "อานันท์" แจง เป้าหมายกก.สมานฉันท์)

ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในนำเสนอข่าวสาร โดยเฉพาะกรณีสัมภาษณ์แหล่งข่าวควรระบุชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ แทนตำแหน่งของคณะกรรมการสมานฉันท์

สำหรับการเปิดข้อมูลการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ความไม่สงบที่หน้า สภ.อ.ตากใบนั้น นายอานันท์เห็นว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจไปตัดสินให้เปิดหรือไม่เปิดเอกสารของทางราชการ

"เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเอกสาร เพียงแค่ราชการนำเอกสารมาให้กรรมการดูก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ถ้าโอนอำนาจให้เราตัดสินว่าจะเปิดหรือไม่ เราก็เห็นว่าเป็นเรื่องอันตราย ใครจะรับผิดชอบหลังการเปิดเผย แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าเปิดได้เลย เราก็สามารถเปิดได้" นายอานันท์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

นายอานันท์ ยังกล่าวย้ำในประเด็นเดิมอีกว่า จะรวบรวมผลสรุปของคณะทำงานชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ทั้งหมด เพื่อเรียนรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดขึ้นรายวัน ขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คณะกรรมการฯ ไม่มีหน้าที่ดูแลปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน รายอาทิตย์ หรือรายเดือน

"สื่อต้องเข้าใจก่อนว่า กอส.ตั้งขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อดูแลปัญหาการอุ้มทนายสมชาย กรือเซะ หรือตากใบ เราไม่ใช่องค์กรทางศาลที่มีหน้าที่ตัดสิน แต่ภารกิจของเรา คือ การทำหน้าที่มุ่งสู่อนาคต กรรม การชุดนี้เป็นการสร้างกระบวนการ อาจไม่มีข้อยุติเลยก็ได้ แต่แนวความคิดจะพัฒนาไปเรื่อยๆ เชื่อว่า 9 เดือน ถึง 1 ปีจะมีความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้" นายอานันท์สรุป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมฯ จะเริ่มขึ้น นายไพโรจน์ พลเพชร ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษย์ชน 11 องค์กร ได้มอบช่อดอกไม้เป็นกำลังใจคณะกรรมการฯ พร้อมยื่นข้อเสนอที่ควรดำเนินการเร่งด่วนเพื่อสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์และความจริงในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด 9 ข้อคือ

1.เปิดเผยผลสอบสวนเหตุการณ์กรือแซะและตากใบอย่างละเอียด 2.พิจารณาทบทวนหรือยกเลิกการประกาศยกอัยการศึกเพราะสร้างความอึดอัดให้ประชาชนส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันแบบอิสลาม 3. สะสางคดีอุ้มทนายความสิทธิมนุษย์ชน นายสมชาย นีละไพจิตร 4.ทบทวนบัญชีดำซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยจากการกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

5. ดำเนินการสะสางกรณีคดีอุ้มฆ่าที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 6. ควรพิจารณาสอบกระบวนการจับกุม การควบคุมผู้ต้องสงสัยบางคนไม่เป็นตามหลักความยุติธรรม 7.ควรพิจารณาถอนหรือลดจำนวนพลทั้งทหารและตำรวจในส่วนไม่จำเป็นออกจากพื้นที่ 8. เร่งดำเนินการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งจากเหตุการณ์กรือแซะ ตากใบ และการฆ่ารายวันก่อนหน้านี้ และ 9. พิจารณาการแก้ไขปัญหาบุคคลถือ 2 สัญชาติเป็นอย่างรอบครอบเพราะส่วนใหญ่เป็นสุจริตชน

นายไพโรจน์กล่าวว่า ความสมานฉันท์หรือกระบวนการสร้างสันติวิธีไม่ใช่แค่การที่นายกรัฐมนตรีหยุดพูดเท่านั้น แต่ต้องมีมาตรการ ให้กลไกรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนในพื้นที่ที่สร้างปัญหาปรับตัวตัวปรับพฤติกรรม และเสนอคณะกรรรมการฯ นำเอาปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดเป็น "วาระแห่งชาติ"

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net