Skip to main content
sharethis

วันนี้(28 เม.ย.48) เป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์คนร้ายลอบโจมตีฐานปฏิบัติการทหารและป้อมตำรวจ 11 จุด พร้อมกัน ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและสงขลา เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติการถึง 107 ศพ ตำรวจ 3 ศพและทหารอีก 2 ศพ

ในจำนวน 11 จุด มีจุดที่น่าสนใจคือ ที่มัสยิดกรือเซะที่มีคนตายถึง 32 ศพ ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ผลที่ออกมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุและให้มีการเยียวยา ซึ่งผลสอบดังกล่าวคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาตินำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว ส่วนจุดอื่นๆ ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปบ้างพอสมควร

ขณะเดียวกันและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ไปดำนินการเยียวยาผู้ที่สูญเสียจากเหตุนี้ทั้งหมด โดยจะมีการประชุมหารือกันในวันที่ 28 เมษายน 2548 นี้

ในวันเดียวกันนี้ จะมีการจัดงานครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ ที่กูดบร์(สุสานชาวมุสลิม) ที่มัสยิด หมู่ 2 ตำบลละแอ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และที่มัสยิดบ้านสุโสะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

กล่าวสำหรับบ้านสุโสะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่มีผู้เสียชีวิต 18 ศพ เหตุเกิดที่ป้อมตำรวตตลาดสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งจุดนี้มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ

ทั้ง 18 คน เป็นนักฟุตบอลของหมู่บ้าน ซึ่งจนกระทั่งวันนี้ ชาวบ้านยังสงสัยถึงการเสียชีวิตของทีมฟุตบอลทีมนี้และยังเรียกร้องของความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาหรือไม่ เช่นเดียวกับญาติผู้เสียชีวิตจุดอื่นๆ

แม้ว่าก่อนหน้านี้การประชุมรัฐสภาว่าด้วยการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2547 ได้มีการหยิบกรณีเหตุการณ์ที่สะบ้าย้อยมาอภิปรายในที่ประชุม ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จะนำคดีนี้มาพิจารณาใหม่ร่วมกับคดีอื่นที่มีการหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมด้วย แต่ชาวบ้านก็ยังรอคำตอบอยู่

วันนี้ ญาติผู้เสียชีวิตมีความเป็นอยู่อย่างไร ที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง

นายอุดม แมพรมมิ อายุ 69 ปี บ้านเลขที่ 31 หมู่ 2 ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา บิดาของนายกามารูดิง แมพรมมิ เล่าว่า นอกจากการช่วยเหลือของชาวบ้านด้วยกันเองแล้ว สิ่งที่ได้รับจากรัฐบาลหลังจากเกิดเหตุไม่นาน เป็นเพียง เงินช่วยเหลือจากแม่ทัพภาคที่ 4 ที่มอบให้พ่อแม่คนตาย คนละ 500 บาท

"แต่สิ่งที่ชาวบ้านรอคอยขณะนี้คือ เมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาบอกกับชาวบ้านเมื่อครั้งมาเยี่ยมพ่อแม่ที่เสียชีวิตที่นี่ว่า จะส่งเสียลูกของคนตาย รวมทั้งค่าเลี้ยงดู จนวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีเลย ชาวบ้านก็ได้แต่รอ" อุดมกล่าว

การเสียชีวิตของทีมฟุตบอลทั้ง 18 คนครั้งนั้น ทำให้มีเด็กกำพร้าเกิดขึ้น 13 คน พ่อตายขณะอยู่ในท้อง 4 คน เข้าโรงเรียนแล้ว 3 คน ขณะนี้ภาระตกอยู่ที่แม่ของเด็กอย่างเดียว อุดมกล่าวว่า อยากให้ภาครัฐรีบดำเนินการตามที่นายกฯ มาให้ความหวังด้วย หรือถ้าไม่อยากช่วยก็ให้มาบอกให้ชัดเจน ชาว บ้านจะได้ไม่ต้องรอ แต่ถ้าไม่ได้ชาวบ้านก็เสียใจอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องรอคอยนาน

อุดมกล่าวว่า สิ่งที่ต้องการอีกอย่างคือ ต้องให้ภาครัฐมอบเงินเพื่อนำไปจ้างทำพิธีอุทิศให้กับคนตายทั้งหมดด้วย เพราะจะทำให้เขาได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามได้ครบถ้วน

อุดมกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้งบประมาณมาแล้ว สำหรับสร้างถนน ชาวบ้านก็ได้ทำงานเป็นแรงงาน กับโครงการเกษตรของนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวบ้านก็ได้รวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการแต่ตนไม่ได้เข้าร่วมด้วย และก็ยังไม่ใช่หลักประกันให้กับเด็กพวกนี้

นายดาโอะ อาบูทัดสา บิดาของนายมะลายิ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ตนได้รับการยืนยันจากตำรวจภูธรภาค 9 ว่า ทางราชการได้มอบเงินช่วยเหลือมาแล้วรายละ 2 หมื่นบาท แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นเช่นกัน

นอกเหนือจากเรื่องการเยียวยาแล้ว อีกสิ่งที่ยังค้างคาใจของชาวบ้านที่นี่ คือ สาเหตุการเสียชีวิตของนักฟุตตบอลทั้งหมด นายมะนูยี พี่ชายของนายกามารูดิง กล่าวว่า ตนเป็นคนตรวจดูศพทุกศพ ที่ตายที่ตลาดสะบ้าย้อย มี 14 ศพที่ มีรอยถูกยิงที่ท้ายทอย รอยถูกยิงเช่นนี้มันหมายถึงอะไร เรื่องนี้ชาวบ้านก็ยังสงสัยอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ประกาศแล้วว่าจะต่อสู้คดีนี้ เพื่อให้มีการพิสูจน์ว่าเขาตายเพราะอะไร

นอกนี้ทีมฟุตบอลชุดใหม่ ที่จะมาแทนชุดเก่าที่เสียชีวิตเกือบยกทีม ก็เป็นความหวังของหมู่บ้านเช่น กัน นายเจะดารี ปุตะ อายุ 39 ปี นักพากษ์บอลประจำหมู่บ้านสุโสะ เล่าว่า โดยส่วนตัวจะสนิทสนมกับทีมฟุตบอลทีมเก่ามาก เวลาพวกเขาจะไปไหนก็จะตามไปด้วยตลอด หมู่บ้านสุโสะมีชื่อเสียงขึ้น
มาก็เพราะทีมฟุตบอลทีมนี้ แต่พวกเขามีเวลาน้อยไป เขาน่าจะอยู่ให้นานกว่านี้ เพราะว่าความ
สามารถทางด้านฟุตบอลกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

"ทีมฟุตบอลสุโสะ เริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ ปี 2527 แล้ว ชุดที่เสียชีวิตเมื่อันที่ 28 เมษายน 2547 นี้ เริ่มรวมกลุ่มกันจริงประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว ผมทำหน้าที่พากษ์ฟุตบอลประจำหมู่บ้านสุโสะ เคยพากษ์ทีมนี้มา 5-6 ครั้งแล้ว ใช้ภาษายาวีบ้างภาษาไทยบ้างปนกัน แต่พอหมดทีมนี้ก็ไม่ได้ พากษ์อีกเลย แต่ทีมใหม่ก็ตามไปเชียร์ให้กำลังใจอยู่ตลอด"

"ชาวบ้านทุกคนเสียดายที่พวกเขาต้องมาจากไป ตอนนี้ก็พยายามทำใจและลืมไปทีละน้อย ก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุก็ไม่เห็นว่ามีอะไรผิดปกติ ทุกคนเคร่งในศาสนาไม่เคยขาดละหมาด ไม่มีใครกินเหล้าเมายา แต่สูบบุหรี่มีบ้าง"

"วันนี้ชาวบ้านหวังว่าทีมใหม่จะสร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้านมากกว่า ทีมเก่า เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กอยู่ คนที่จะมาช่วยสร้างทีมใหม่ก็คือ นักบอลชุดเก่าอีก 2 คนที่ยังไม่ตาย จะมาช่วยตรงนี้ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net