Skip to main content
sharethis








 

ประชาไท - 29 ส.ค.48      "หากบริษัทยาสหรัฐสามารถผูกขาดยาได้ถึง 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 836.7-5,411.4 ล้านเหรียญสหรัฐ"งานวิจัยของดร.ชุติมา อครีพันธ์ นักวิชาการประจำกระทรวงสาธารณสุขระบุ

 



ทั้งนี้ ดร.ชุติมา นำเสนองานวิจัยดังกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียว่าด้วยข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคี จัดโดย เครือข่ายโลกที่สาม หรือ Third World Network และรัฐบาลมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

รายงานข่าวระบุว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบยาในประเทศไทย หากไทยต้องขยายสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ ซึ่งแม้ในขณะนี้สหรัฐจะยังไม่ยื่นข้อเรียกร้องในประเด็นนี้กับไทย แต่จากการทำวิจัยพบว่า ในเอฟทีเอที่สหรัฐทำต่อทุกประเทศมีการระบุถึงการผูกขาดข้อมูลการทดลองยา, ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาต้องรับผิดชอบด้านการออกสิทธิบัตรด้วย, ให้ชดเชยระยะเวลาสิทธิบัตรอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา


 


นอกจากนี้ยังบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด, จำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิให้เหลือเพียงกรณีการบังคับใช้ของรัฐบาล, จำกัดหรือยกเลิกการนำเข้าซ้อน, จำกัดการถอนสิทธิบัตร ข้อเรียก ร้องเหล่านี้ถือว่าเกินกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือ เรียกว่า ทริปส์พลัส (TRIPs Plus)

งานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลให้รักษาจุดยืนการทำเอฟทีเอว่า ไทยไม่ควรรับข้อเสนอ ทริปส์พลัสของสหรัฐ เพราะจะสร้างภาระเพิ่มอย่างมหาศาลแก่คนไทย และการขยายอายุสิทธิบัตรอันเนื่องมาจากความล่าช้าในกระบวนการออกสิทธิบัตรควรพิจารณารายกรณี รวมทั้งต้องรักษาสิทธิในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในการผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรหรือนำเข้าซ้อนในกรณีฉุกเฉิน และจะต้องระวังไม่ให้มีการเชื่อมโยงกลไกการออกสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยาไว้ด้วยกัน


โดยในงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันตัวเลขการบริโภคยาของคนไทยอยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจำนวนนี้ 53.6% เป็นการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ และจากตัวเลขปี 2546 ยาสามัญ (generic drug) ที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนยาต้นแบบ (Original drug) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินได้มากถึง 264.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หากไม่มียาสามัญประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อยาชนิดเดียวกันมากถึง 517 ล้านเหรียญสหรัฐ


 


อีกทั้งหากตลาดยาถูกผูกขาด โดยการเพิ่มอายุสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อเรียกร้องของสหรัฐจะส่งผลกระทบด้านราคา ทำให้ยาแต่ละชนิดมีราคาแพงขึ้น 0.1 - 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งภายในระยะเวลา 10 ปีของการผูกขาด ยาแต่ละตัวจะแพงขึ้น 13.9 -90.2 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทั้งนี้ จากประมาณการยาขึ้นทะเบียนใหม่เฉลี่ยปีละ 60 ชนิด จะทำให้รายจ่ายของประเทศต้องเพิ่มขึ้น 6.4-65.9 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหนึ่งปีของการผูกขาด และหากบริษัทยาสามารถผูกขาดยาได้ถึง 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงถึง 836.7-5,411.4 ล้านเหรียญสหรัฐ


นอกจากนี้งานวิจัยได้ชี้ด้วยว่า หากรัฐบาลไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ อุตสาหกรรมยาในประเทศจะถูกจำกัดการพัฒนา โรงงานของคนไทยจะต้องเลิกกิจการหรือถูกบรรษัทข้ามชาติซื้อกิจการ ผู้บริโภคชาวไทยจะต้องพึ่งพิงอยู่กับยาราคาแพงที่ติดสิทธิบัตร และลดจำนวนผู้เข้าถึงยาไปอีกยาวนาน

ด้าน ศ.ปีเตอร์ ดราฮอส จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า จากบทเรียนที่ออสเตรเลียทำเอฟทีเอกับสหรัฐ ภาคเกษตรที่หวังจะส่งสินค้าออกมากขึ้น ไม่ได้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่กลับต้องสูญเสียโครงการควบคุมราคายา หรือ PBS ที่ถือว่าดีที่สุดในโลก โดยหลังเอฟทีเอบังคับใช้อุตสาหกรรมยาสามัญของออสเตรเลีย 6 บริษัทต้องย้ายฐานออกไปจากออสเตรเลีย บริษัทที่เหลืออีกจำนวนมากต้องปิดกิจการหรือต้องร่วมทุนอย่างไม่สมัครใจกับบริษัทยาแบรนด์เนมซึ่งส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐ

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุด้วยว่า วัตถุประสงค์หลักของการทำเอฟทีเอของสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่เพื่อกระจายความร่ำรวยไปยังประเทศคู่เจรจา แต่เพื่อรักษาราคายาในตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดให้สูงเอาไว้ เพื่อกำไรของอุตสาหกรรมยาที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลสหรัฐและนักการเมืองส่วนใหญ่


 


โดยมี 3 ยุทธศาสตร์คือ 1. ห้ามคนอเมริกันนำยาเข้าจากประเทศที่ขายถูกกว่า ห้ามการนำเข้าซ้อน 2. ห้ามประเทศอื่นนำยาเข้าสหรัฐ โดยจะบังคับให้ยอมรับกฎการส่งออกตามระบบสิทธิบัตร และ 3. รักษาราคายาในต่างประเทศให้สูงไว้ เพื่อคนอเมริกันจะได้ไม่รู้สึกเปรียบเทียบ โดยใช้ข้อเรียกร้องแบบทริปส์พลัสของสหรัฐในเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ

น.ส.ซันย่า สมิทธ นักวิจัยเครือข่ายโลกที่สาม ระบุว่า ในการทำเอฟทีเอกับสหรัฐนั้น ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกนำเข้ามาเป็นหนึ่งในประเด็นการลงทุนที่ประเทศภาคีจะต้องให้ความคุ้มครอง หากรัฐไปทำการยึดทรัพย์หรือเสมือนว่ายึดทรัพย์ เช่นการออกนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็อาจจะถูกฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยกำไรจากเงินภาษีของประชาชน ดังที่เกิดขึ้นในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ นาฟ ต้า

ด้านมาร์ติน คอร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายโลกที่สาม กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจาเอฟทีเอของสหรัฐกับหลายประเทศกำลังหยุดชะงัก เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเงื่อนไขการขยายและเข้มงวดระบบทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์พลัสของสหรัฐ ดังเช่น ที่เกิดในการเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกา และกรณีสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ที่ระบุว่า หากมีการบังคับให้รับทริปส์พลัสจะไม่ยอมเจรจาด้วย


 

ด้าน รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาคประชาชนไทยทำรายงานถึงคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมที่เจนีวา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทยได้ตอบข้อซักถามนี้ว่า การเจรจาเอฟทีเอจะไม่ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น และจะยืนยันตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือ ทริปส์เท่านั้น ไม่ใช่ ทริปส์พลัส ดังนั้น ภาคประชาชนไทยจะถือว่านี่คือ สัญญาประชาคมที่รัฐบาลให้ไว้ต่อคนไทยและประชาคมโลก ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า รัฐบาลรักษาสัญญานี้หรือไม่


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net