Skip to main content
sharethis

โรงเรียนเทศบาลชายแดนใต้ปรับหลักสูตรอิสลามศึกษา-พุทธศาสนา กรรมการกลางอิสลามเผยกระทรวงต่างประเทศขอสอบประวัติอุสตาซจบตะวันออกกลาง เผยบางประเทศเลิกให้ทุนนักเรียนไทยแล้ว


 


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2548 ที่โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่วนวิชาการและมาตรฐานการศึกษาท้องถิ่น สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาปรับปรุงสาระการเรียนรู้อิสลามศึกษาและพุทธศาสนา ในหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดเทศบาล ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 มีนายสาโรช คัชมาลย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิด มีคณะทำงานทำงานพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรอิสลามศึกษาและพุทธศาสนา และครูสังกัดเทศบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 150 คน


 


นายสาโรช กล่าวว่า การปรับปรุงสาระการเรียนรู้อิสลามศึกษาและพุทธศาสนา ในหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดเทศบาล เชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลจะมีความคล่องตัวในการจัดการเรียนการสอนมากกว่า โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทางด้านการศึกษาในพื้นที่ได้มากที่สุด


 


จากนั้นได้มีการแยกประชุมระหว่างคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงสาระการเรียนรู้อิสลามศึกษาและคณะทำงานปรับปรุงสาระการเรียนรู้พุทธศาสนา


 


นายสมาน อาดำ ประธานคณะกรรมการฝ่ายการศึกษา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายอิรอน ซำสุรีย์ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี อภิปรายแนวคิดการจัดอิสลามศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ในการปรับปรุงหลักสูตร ควรจะให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้เรียนในพื้นที่ได้มีคุณภาพทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน


 


นายสมานกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของไทย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ มาขอให้ตนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับครูสอนศาสนา หรือ อุสตาซที่จะจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง เพื่อจะตรวจสืบประวัติของแต่ละคน ตนคิดว่ารัฐอาจสงสัยในอุสตาซบางคนว่าอาจจะนำแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนำกลับมาด้วย แต่ตนเห็นว่าอุสตาซส่วนใหญ่ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่ก้ยอมรับว่าบางคน ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย


 


นายสมานกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามตนได้เสนอไปว่า น่าจะเอากลุ่มคนเหล่านั้นมาเป็นกลไกของรัฐ เช่นเอามาเป็นข้าราชการ เพราะเขาจะมีเข้ามาช่วยทำประโยชน์ในรัฐได้มากกว่า อีกยังสามารถแบ่งเบาภาระของรัฐในการตรวจสอบบุคคลที่นำแนวคิดที่ไม่ดีได้ด้วย


 


"ผมได้แจ้งจำนวนคร่าวๆ เท่านั้นว่า มีอุสตาซที่จบจากต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 6,000 - 7,000 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายสมานได้เปิดเผยกับ "ประชาไทออนไลน์" หลังการประชุมว่า การรวบรวมข้อมูลอุสตาซทั้งหมดคงลำบากเนื่องจากมีจำนวนมาก ที่บอกได้ก็เพียงจำนวนคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งหากรัฐจะเพ่งเล็งเฉพาะอุสตาซที่จบจากต่างประเทศและอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คงไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะอุสตาซที่อยู่ในกรุงเทพมหานครก็มีอยู่จำนวนมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร หากอุสตาซที่จบจากตะวันนออกกลางมีปัญหา อุสตาซที่อยู่ในกรุงเทพก็น่าจะมีปัญหาด้วย


 


นายสมาน เปิดเผยอีกว่า ขณะกระทรวงต่างเทศได้เข้มงวดในการตรวจสอบทุนการศึกษาที่มาจากตะวันกลาง จนบางครั้งทำให้เจ้าของทุนรู้สึกว่ารัฐไทยกำลังเพ่งเล็งอยู่ ซึ่งขณะทุนการศึกษาทุกทุนจะต้องผ่านการตรวจสอบของกระทรวงต่างประเทศทั้งหมด ก่อนจะส่งไปที่จังหวัดต่างๆ เพื่อมอบให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนขอรับทุน จากเดิมที่สถานทูตของประเทศเจ้าของทุนจะสงให้โรงเรียนโดยตรง และเกือบทุกทุนตนจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างเจ้าของทุนกับผู้รับทุน ส่วนใหญ่จะเป็นทุนการศึกษาสาขาศาสนาอิสลาม


 


นายสมานเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้มีบางประเทศที่เลิกให้ทุนนักเรียนไทยแล้ว เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่หันไปมอบทุนการศึกษาให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งอาจจะเห็นว่ามีทุนจากประเทศต่างๆ ที่มอบให้นักเรียนไทยเป็นจำนวนมากแล้ว สำหรับประเทศที่ยังมอบทุนการศึกษาสาขาศาสนาอิสลามให้กับนักเรียนไทยอยู่ได้แก่ ทุนของมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร ประเทศอิยิปต์ ทุนจากประเทศโมรอคโค คูเวต และตุรกี ส่วนทุนการศึกษาในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียส่วนใหญ่ผู้รับทุนจะติดต่อกับเจ้าของทุนโดยตรง ไม่ผ่านตนแต่อย่างใด


 


รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา เดินทางมาเก็บข้อมูลอุสตาซในจังหวัดปัตตานี เพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นอุสตาซที่จบจากต่างประเทศ โดยเป็นงานวิจัยของกระทรวงการต่างประเทศ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net