Skip to main content
sharethis









ภาพจาก เว็ปไซด์ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม


 

"เพราะว่าประชาธิปไตยในขณะนี้  ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจ  ยังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ  ฉะนั้น  จึงจำเป็น ที่ขบวนการประชาชน  ต้องวางยุทธศาสตร์ให้แน่ชัด ในเรื่องการช่วงชิงอำนาจในการปกครองให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนให้มากขึ้น"  ศ.นิธิ นักวิชาการผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในงานเวทีสภาประชาชนภาคเหนือ  ที่สถาบันวิชาการ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในหัวข้อ "14 ตุลา  วันประชาธิปไตย : เสรีภาพและสันติสุข" 

 


 


ศ.นิธิ  ได้เป็นประธานกล่าวเปิดพร้อมกล่าวปฐกถา  โดยได้เสนอยุทธวิธีการช่วงชิงอำนาจในการปกครองของรัฐ  ให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนให้กับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 10  องค์ กร  


 


ย้ำ "ขบวนประชาชน"  คือ สถาบันทางการเมือง


ศ.นิธิ  กล่าวว่า  นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา  เราจะพบว่า  การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยใช้กระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะมีเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และกลายเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยในโลกทุกแห่งปัจจุบันนี้  ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย ซึ่งขอเรียกว่า "ขบวนการประชาชน" ได้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง แต่ไม่มีใครพูดถึงขบวนการประชาชน 


 


"ซึ่งจริงๆ  แล้ว เป็นสถาบันทางการเมือง ที่เกิดขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  และเกิดขึ้นทุกแห่งในโลก  และได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญ และมีหลายรูปแบบ  ไม่ใช่มีเพียงรูปแบบเดียว  นับตั้งแต่ขบวนประชาชนกลางถนน  เช่น การเดินขบวนบนถนนราชดำเนิน เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535  หรือเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2516  โดยเฉพาะขบวนประชาชนบนถนนราชดำเนิน ปี 2516 ของประเทศไทย  ก็ได้เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาหลายแห่งด้วยกัน  ซึ่งเห็นได้ชัดที่ประเทศ  หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เกิดขบวนการล้มล้างอำนาจเผด็จการในประเทศกรีก  และขบวนการประชาชนกลางถนนในกรีกนั้น  มีคำขวัญที่ตะโกนกันว่า "BANGKOK" กันบนท้องถนน  คือได้เอาแบบอย่างขบวนการประชาชนบนถนนราชดำเนิน ในกรุงเทพฯไปใช้จนได้ผล  สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการในประเทศกรีกลงได้"


 


ศ.นิธิ  กล่าวว่า  หลัง 14 ตุลา  ได้เกิดขบวนการประชาชนตามมาอีกหลายแห่ง  ไม่ว่าขบวนการประชาชนทุบเขื่อนปากมูล  ขบวนการกลางป่า ที่ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน  แม้กระทั่งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์  การตั้งวนเกษตร ของผู้ใหญ่วิบูลย์  เหล่านี้ถือว่าเป็นขบวนการประชาชนทั้งสิ้น  เพื่อเป็นการหลบหลีกผลการตัดสินใจของคนอื่นที่มีอำนาจพยายามจะให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว  นี่ถือว่า  เป็นขบวนการประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งหากเราดูทั้งประเทศ  จะพบว่ามีขบวนการประชาชนในหลายรูปแบบ เป็นพันๆ  แห่ง  และมีความสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยด้วย


 


หัวใจคือ กระจายอำนาจสู่ภาคประชาชน


ศ.นิธิ  กล่าวว่า  จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึงบัดนี้  เชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตอนนี้  มันเปลี่ยนไปแล้ว  คือไม่ใช่แค่เรื่องต้องการรัฐธรรมนูญ  ต้องการเลือกตั้ง แต่จะมีการขยับเข้ามาในด้านเนื้อหามากขึ้น 


 


"ระบอบการเลือกตั้งที่ได้มาหลัง 14 ตุลา  เชื่อว่ายังคงเข้มแข็ง  ถึงแม้ว่าจะถูกรัฐประหารเมื่อปี 2534  จากกลุ่มคนที่มีอาวุธเข้ามายึดอำนาจไป  แต่ในความเป็นจริงพบว่า  มันอยู่ไม่ได้ ใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็เลิกเลย  ไปไม่รอด  เพราะฉะนั้น  ตนเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งในเมืองไทยนั้นมีความมั่นคงแน่นอน  แต่ยังไม่พอ  เพราะว่า  ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจ  ยังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ  ฉะนั้น  จึงจำเป็นที่ขบวนการประชาชน  ต้องวางยุทธศาสตร์ให้แน่ชัด ในเรื่องการช่วงชิงอำนาจในการปกครองให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนให้มากขึ้น"  


 


จะพัฒนาขบวนการประชาชนกันได้อย่างไรนั้น  อย่างแรก  จะต้องมีการกระจายอำนาจ  ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คืออำนาจในการจัดการและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ  ทรัพยากรทางสังคม  ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ  และทรัพยากรทางวัฒนธรรม  ซึ่งจะต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการให้กับชุมชนท้องถิ่น


 


"แต่ที่ผ่านมา  รัฐมักจะกระจายแต่งบประมาณจากส่วนกลาง  แต่ไม่เคยกระจายอำนาจในการจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น  ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์  ซึ่งการให้เงินอย่างเดียวนั้น  ไม่ได้เรียกว่า การกระจายอำนาจ  แต่เป็นการซื้ออำนาจ  เป็นการหวงอำนาจมากกว่า  ฉะนั้น  การกระจายงบประมาณ  จึงต้องมาพร้อมกับอำนาจในการจัดเก็บภาษี  และอำนาจในการจัดเก็บภาษี  ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องเป็นอำนาจในท้องถิ่น  ไม่เช่นนั้น  ไม่สามารถจัดการดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นได้ เพราะทุกวันนี้  รัฐได้ใช้ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นเครื่องมือในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ที่ถูกอยู่ใต้การปกครอง"


 


เน้นสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม


ศ.นิธิ  กล่าวว่า  วัฒนธรรมนั้นมีพลังและความสำคัญอย่างมาก หากเราปล่อยให้คนอื่นเข้ามาจัดการกับวัฒนธรรมของบ้านเราอย่างนี้  เราจะต้องยอมจำนนอยู่ตลอดไป  ฉะนั้น  การศึกษา ไม่ว่าวิธีการศึกษา กระบวนการศึกษา  ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด  โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ส่วนกลางเข้าไปกำหนดบทบาทการจัดการศึกษาทั้งระบบ  ไม่ใช่ว่าทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาการศึกษาจะต้องถูกรวมศูนย์ ตั้งแต่สุไหงโก-ลกยันถึงเชียงราย    แต่คนท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจในการกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง  ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่าว่าทุกคนนั้นเป็นคนไทย  และนิยามกันเองว่า คนไทยแปลว่าอะไร  ซึ่งเราต้องนิยามกันเองว่า คนไทยคืออะไร 


 


"คนที่เป็นชาวมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ในภาคใต้  เขาก็เป็นคนไทย  แต่เขาขอใช้สิทธินิยามว่า เป็นคนไทยแบบเขานั้นเป็นอย่างไร  แม้ชาวเขาที่อยู่บนดอย  เขาก็มีสิทธิที่จะนิยามว่า เป็นคนไทยแบบเขานั้นคืออะไร  เพราะฉะนั้น  จำเป็นต้องมีอำนาจในอัตลักษณ์ของตนเอง  แม้กระทั่งศาสนา  ประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างของสังคม"


 


เสนอสร้างแนวร่วมคนชั้นกลาง


ทั้งนี้  ศ.นิธิ  กล่าวว่า ในขณะนี้ ชนชั้นปกครองมีการแบ่งแยกมากขึ้น   เพราะฉะนั้น  ภาคประชาชนจะต้องสร้างแนวร่วมกับกลุ่มที่กำลังถูกเบียดขับออกไป นั่นหมายถึงคนชั้นกลาง  คืออย่าไปรังเกียจคนชั้นกลาง  เพราะว่าในขณะนี้  คนชั้นกลางมีจำนวนไม่น้อยที่กำลังเสียเปรียบ  กำลังถูกเบียดขับไปจากกระบวนการตัดสินใจ  ขบวนการภาคประชาชนจะต้องเข้าไปร่วมงานกันกับกลุ่มคนชั้นกลางให้มากขึ้น


 


"ขบวนประชาชน  จะต้องเข้าใจการทำงานของทุนนิยมด้วย  ซึ่งการทำงานของทุนนิยมนั้น  จริงๆ  แล้ว  มันมีช่องโหว่มากมาย  เราสามารถอาศัยช่องโหว่นั้นเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนได้  เพราะฉะนั้น  จะต้องเข้าใจทุน  และพยายามมองหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบทุน  และเข้าไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด" 


 


ศ.นิธิ  ได้พูดถึงประเด็น  การผูกขาดของนายทุนที่เข้าไปรวบสื่อเอาไว้ในมือ  โดยได้กล่าวว่า  สื่อส่วน กลางในเวลานี้  ทั้งในต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา  จะมีเจ้าของเพียง 5 รายเท่านั้น  ซึ่งน่ากลัวมาก  และในเมืองไทยกำลังมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น 


 


ศ.นิธิ ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ว่า  ขณะนี้  สื่อส่วนกลางมักจะอยู่ในมือของทุนอย่างหนาแน่น  เพราะทุนนิยมมันคิดแต่จะทำกำไร  ฉะนั้น สื่อที่อยู่ในมือทุน  จึงมีความจำเป็นที่จะยอมทำในสิ่งที่ขัดผลประโยชน์ของตัวเองในบางครั้งบางคราว  เช่น กรณีที่มีการเทคโอเวอร์สื่อในเครือมติชน กับบางกอกโพสต์ 


 


"ขอให้สังเกตให้ดีว่า  โทรทัศน์ที่เคยสยบยอมต่ออำนาจตลอดมา  ในช่วงนั้น  โทรทัศน์จะออกมาเสนอข่าวที่เป็นศัตรูกับฝ่ายที่เทคโอเวอร์  แม้กระทั่งช่องโทรทัศน์ที่นายทุนที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของ  ยังต้องรายงานข่าวออกมาในลักษณะที่เข้าข้างมติชนและบางกอกโพสต์  เพราะอะไรหรือ  ไม่ใช่เพราะว่ารักมติชน หรือบางกอกโพสต์  เพราะมันรักประชาธิปไตย  หรือเหตุเพราะมันรักประชาชนหรือ  ไม่ใช่หรอก  แต่เพราะว่า  กระแสสังคม  กระแสของประชาชนในขณะนั้นรุนแรง  จนกระ ทั่งว่า  ถ้าโทรทัศน์ของทุน  ไม่ออกมาเสนอข่าวอย่างนั้น  หวั่นกลัวว่าจะโดนกระแสต่อต้านของภาคประชาชนไปด้วย  กำไรก็จะหด  นี่คือจุดอ่อนของทุน" 


 


ศ.นิธิ  กล่าวต่อว่า  ฉะนั้น  เราจะต้องเข้าใจกลไกตลาดของระบบทุน  เพราะทุกวันนี้  เราอยู่ในระบบทุนนิยม  เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้  แต่ในเวลานี้  คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงระบบทุน  มักจะพูดถึงประโยชน์ส่วนตัวกันหมด   ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่  เพราะยังมีคนเข้าไปอยู่ในระบบทุน  ทำการตลาดเพื่อสังคม  หรือที่เรียกว่า  Social Marketing  เหมือนกับกรณีของพรรคกรีน ในประเทศยุโรป  สามารถเข้าไปสร้างกลไกทำให้พืชผลการผลิตที่มีสารพิษปนเปื้อนทั้งหลาย  แทบจะขายในยุโรปไม่ได้เลย   ดังนั้น  เราจะต้องคิดกันว่าเราจะใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวในขบวนประชาชนได้อย่างอย่างไร  เพื่อขยายอำนาจทางภาคประชาชน


 


นอกจากนั้น  ศ.นิธิ  ยังกล่าวอีกว่า  ขบวนประชาชนจะต้องมีการพัฒนารูปแบบองค์กรให้มีประสิทธิ


ภาพ  มีอำนาจในการจัดองค์กร มีความอิสระเสรีให้ได้  รวมทั้งจะต้องคิดถึงเครือข่ายองค์กรทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติว่าจะมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร 


 


"นี่คือภารกิจของเรา  ที่จะสานต่อจิตวิญญาณของ  14  ตุลา  ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งเรียกร้องประชาธิปไตย เพียงแค่การเลือกตั้งนั้นไม่ได้  แต่จะต้องช่วยกันคิดและลงมือกันว่า ทำอย่างไรถึงจะให้อำนาจของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยนั้นให้ได้" 


 


ศ.นิธิ  กล่าวอีกว่า  แน่นอน  พัฒนาการของประชาธิปไตยแบบนี้  ย่อมกระทบต่อรัฐชาติอย่างแน่นอน  เพราะว่ารัฐชาติในขณะนี้  ยังชอบรวมศูนย์อำนาจทั้งหมด  แต่หากประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้  รัฐชาติก็จะต้องยอมปรับตัวด้วย และยอมรับความหลากหลายให้มากขึ้น  ไม่ใช่เป็นรัฐชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างศตวรรษที่ 19  แต่ก็ยังมีความเป็นชาติอยู่เหมือนเดิม  แต่ว่าสำนึกที่มีต่อรัฐชาตินั้นจะแตกต่างกันไป


 


"ฉะนั้น  ถ้าเราจะรำลึกถึง  14  ตุลา  วันประชาธิปไตย  ก็อยากให้เรารำลึกถึงภารกิจของเรา  ที่จะต้องช่วยกันขยายพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าต่อไป  ไม่ใช่หยุดอยู่แต่เพียงหลักการและรูปแบบ  ที่ซึ่งเนื้อหาความเป็นจริงนั้น  ประชาธิปไตยในขณะนี้  ไม่ได้ให้อำนาจแท้จริงแก่ประชาชนเลย" ศ.ดร.นิธิ  กล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net