Skip to main content
sharethis



เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา โครงการตลาดวิชา-มหาวิทยาลัยชาวบ้าน จัดงานวิชาการชุด 3 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ 4 เรื่อง "เศรษฐศาสตร์การเมือง 3 จังหวัดภาคใต้" ขึ้นที่อาคารประชาธิปกรำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจแก่สังคม ในมุมเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของ 3 จังหวัดภาคใต้

 


มุมหนึ่งที่งานเสวนาวิชาการนี้เห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันคือ ปัจจัยเร่งความรุนแรงในภาคใต้มาจากการพัฒนาของรัฐที่ต้องช่วงชิงทรัพยากรจากเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม ภายใต้แนวคิด "ตัวกู ของกู" แบบทุนนิยม


 


แนวคิดดังกล่าวนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพียงแต่ภาคใต้มี "ความต่าง" เป็นตัวหนุนเสริมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้รวดเร็ว และหากรัฐขาดความระวังในการเข้าใจและยอมรับ "ความต่าง" นี้ ปัญหาภาคใต้คงยากจะสิ้นสุด


 


000000000000


 


สุพจ จริงจิต กลุ่มศึกษาภาวะอุตสาหกรรม กล่าวถึง ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ไม่ระวัง จนเกิดการกระทบกระทั่งกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพียงแต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีวัฒนธรรมที่แข็ง


 


สุพจ กล่าวอีกว่า อิทธิพลจากต่างประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อวิธีคิดในการพัฒนาของรัฐ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สุพจ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นว่า มีการเก็บข้อมูลภาคใต้มากกว่าข้อมูลที่รัฐไทยมี เพื่อเตรียมพร้อมในฐานะที่เป็นทั้งผู้ลงทุนและแหล่งทุน ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงพร้อมเสมอในการสนับสนุนเมกะโปรเจ็คต่างๆ ของไทยที่จะเกิดในภาคใต้


 


ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น มาเลเซียมีส่วนผลักดันอย่างมากที่จะทำให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่อง สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT - GT) ที่ริเริ่มจากแนวคิดของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ.2536 เพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และการร่วมมือกันจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยบนพื้นที่ซับซ้อนทางทะเล (JDA) ใน พ.ศ.2540 ก็เกิดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยขึ้น


 


จากแผนพัฒนาต่างๆ ดังกล่าวนี้ ส่งผลทำให้บริเวณภาคเหนือของมาเลเซียและภาคใต้ของไทยจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่อไป สำหรับคนในพื้นที่คือการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่น โดยภาคอุตสาหกรรม


 


นอกจากนี้หากมองในมิติด้านแรงงานที่มีความต้องการเป็นจำนวนมากเพื่อป้อนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การอพยพโยกย้ายแรงงานจากพื้นที่อื่นๆ ลงมาจะมีมากขึ้น และในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแบบภาคใต้นี้อาจเกิดการปะทะทางวัฒนธรรมได้ คำถามก็คือว่า คนภาคใต้จะรับสถานการณ์แบบนี้ทันหรือไม่ และความรุนแรงจะทวีมากขึ้นหรือไม่ในอนาคต


 


สุดท้าย สุพจ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ต่อไปทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังมีบทบาทสูงทางการค้าโลกต่างต้องการเข้ามามีบทบาททางการค้าและต้องเกี่ยวข้องกับไทย นักวิชาการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะมองและศึกษาผลกระทบในประเด็นนี้ต่อไป


 


ด้าน รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองปัญหาเศรษฐศาสตร์การเมืองผ่านสถิติความรุนแรงในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา ว่าปัญหาความรุนแรงมีเรื่องของการค้ามืดเป็นแรงเสริม เช่น ยาเสพติด การค้าของหนีภาษีตามแนวชายแดน แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักของปัญหาความรุนแรง


 


ข้อมูลของ รศ.ดร. ศรีสมภพ ระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรงสูงถึง 3,546 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ ประมาณ 147 ครั้ง เป็นอัตราเพิ่ม 374 เปอร์เซ็นต์ของความไม่สงบในรอบ 11 ปีก่อนหน้านั้น โดยมีจุดเปลี่ยนจากปัจจัยภายในประเทศ คือ การยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และ พตท.43 ส่วนปัจจัยภายนอกคือ เหตุการณ์ 911 โดยมีเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เศรษฐกิจนอกระบบและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเป็นปัจจัยเสริม


 


จากการสำรวจข้อมูลยังพบอีกว่า เป้าหมายของการก่อการมุ่งไปที่ราษฎรทั่วไปมากที่สุด ซึ่งต้องไปศึกษาต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น รองลงมาคือทหารและตำรวจ ส่วนการเสียชีวิตนั้น เมื่อใช้เกณฑ์ทางศาสนาเป็นตัววัด พบว่า ผู้นับถือศาสนาอิสลามเสียชีวิตมากกว่าผู้นับถือศาสนาพุทธ แต่ผู้บาดเจ็บเป็นชาวไทยพุทธมากกว่า และแนวโน้มของเหตุการณ์ดูเหมือนกำลังเคลื่อนเข้าสู่สงขลา คือจะเห็นการกระจายของความรุนแรงมาที่อำเภอสะบ้าย้อย เทพา หาดใหญ่และสงขลา มากขึ้นในช่วงหลัง


 


เมื่อประเมินปัญหาที่เกี่ยวข้องแล้ว ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานะเป็นจุดพักเพื่อกระจายไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้มาจากทางราชการ โดยยาเสพติดที่มีมากได้แก่ กัญชา ยาบ้า สารระเหย ยาแก้ไอ Club Drugs และมีผู้เสพไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีผู้เสพรายใหม่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่ว่างงาน และขาดโอกาสทางการศึกษาทำให้ง่ายต่อการชักจูง


 


"กลุ่มนี้เกี่ยวพันกับการก่อเหตุแต่ไม่ใช่กลุ่มหลัก มันเป็นบางส่วนในโครงสร้างที่เป็นผลมาจากความไม่สงบ พวกนี้ถูกชักจูงเพื่อทำงานในระดับล่าง เช่น ก่อกวน พ่นสเปรย์ โปรยเรือใบ แต่ปฏิบัติการใหญ่ๆ ไม่ใช่ ปัญหายาเสพติดสร้างความสัมพันธ์แบบระนาบข้าง


 


"ตอนนี้ปัญหายาเสพติดหนักมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาหลักที่เป็นโครงสร้างทั้งเรื่องความยากจน ด้อยโอกาส เรื่องการศึกษา ที่รัฐต้องแก้ไขเยียวยาให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พื้นที่ความรุนแรงมีความทับซ้อนกับพื้นที่ยาเสพติด แต่หาความสัมพันธ์โดยตรงไม่ได้ ต้องระวังในการตีความ ปัญหาที่ต้องแก้คือโครงสร้าง" รศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว


 


ส่วน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้เกิดเพราะการพัฒนาและการไม่พัฒนาไปพร้อมกัน


 


ผลกระทบจากการพัฒนาคือ ความรู้สึกของคนในพื้นที่กำลังถูกกดดันเรื่องทรัพยากรธรรมชาติถูกริดรอน ดังคำคมของอินเดียนแดงที่ว่า


 


"เราสำคัญตัวเองว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นมรดกที่เราได้จากบรรพบุรุษ แต่ไม่ใช่ ทรัพยากรธรรมชาติคือสิ่งที่เราขโมยจากลูกหลานของเรา"


 


ศ.ดร.อัมมาร ได้ยกตัวอย่าง การทำอวนรุนอวนลาก กับการทำประมงพื้นบ้านว่า ทะเลอันเป็นทรัพยากรส่วนรวมกำลังถูกทุนอุตสาหกรรมช่วงชิงไป เมื่อรัฐเข้ามาปกป้องโดยการห้ามเรืออวนรุนอวนลากที่ทำลายทรัพยากรทางทะเลแบบกวาดเข้าทำการประมงใกล้ฝั่งเกิน 3 กิโลเมตร ก็ปกป้องในลักษณะข้อตกลงได้ในกระดาษเท่านั้น ผลบังคับใช้จริงมีน้อยมาก จึงมีความรู้สึกกดดัน ชาวบ้านบางส่วนทำประมงไม่ได้ก็อพยพโยกย้ายไปที่อื่น โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย


 


อีกกรณี คือเรื่องป่าพรุ ชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ร่วมกันเพื่อทำมาหากิน ในมุมของทุนหรือรัฐมองว่าเป็นที่ว่าง ที่เสื่อมโทรม ก็รุกไปทำรีสอร์ท ทำสวนปาล์ม ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ชาวบ้านถูกคุกคามตลอดเวลา


 


กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของกติกาที่มองปัญหาร่วมกันได้ แต่เราขาดการให้เกียรติชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน


 


ส่วนปัญหาที่มาจากการไม่พัฒนาก็เช่นเรื่องการศึกษาที่เราใช้เรื่องภาษาไทยเป็นหลักในพื้นที่ ทั้งๆที่คนในพื้นที่มีภาษาแม่คือภาษามลายู การศึกษาในระบบโรงเรียนหลวงแบบนี้ทำให้เด็กหมดกำลังใจเพราะพื้นฐานทางภาษาไทยน้อยกว่า เข้าใจเนื้อหาได้ยาก จึงทำให้เขาด้อยกว่า การศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาจากตรงนี้ และผู้ก่อการก็คิดว่ารัฐไทยต้องการใช้โรงเรียนในการกลืนอัตลักษณ์ของเขา


 


ดังนั้นในส่วนของการพัฒนาก็ทำให้คนหนี เช่นหนีจากภาคเกษตร หนีจากการประมง ส่วนการไม่พัฒนา ก็ทำให้เกิดการว่างงานสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย อายุ 20 - 30 ปี จากข้อมูลของอาจารย์ปิยะ กิจถาวร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำให้ทราบว่า พื้นที่สีแดงที่เป็นปัญหามักซ้อนกันอยู่กับพื้นที่ที่มีปัญหาทรัพยากร


 


อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อัมมาร สรุปตอนท้ายว่า ในความเชื่อส่วนตัวไม่คิดว่าปัญหาทางเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาหลักในการเกิดความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพียงแต่เป็นตัวเร่ง ปัญหาน่าจะมาจากนโยบายความมั่นคงเป็นหลัก มีบางคนกล่าวว่ามาจากการยุบ ศอ.บต. จนทำให้การข่าวผิดพลาดในการจับตัวผู้กระทำผิด คนหนุนในการก่อการก็มากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้คนในพื้นที่มีเหตุผลที่จะทำมากขึ้น


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net