Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 3 ก.พ. 49 นักวิชาการมหาวิทยาลัย ผนึกกำลังขับไล่ "ทักษิณ" ปฏิเสธเข้าพบนายกฯ เพราะสายเกินไป แนะดูผลวันที่ 4 ก.พ.

 


ร.ศ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะเชิญนักวิชาการ ภาคประชาชน เอ็นจีโอ เข้าหารือ ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คอรัปชั่น และปรับความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ ภายหลังจากที่อาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยออกมาแสดงเจตนารมณ์ ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีความไม่ชอบมาพากลในการขายหุ้นในกลุ่ม ชินคอร์เปอร์เรชั่น ว่า เชื่อว่าคงไม่มีนักวิชาการคนไหน ที่จะกล้าไปร่วมหารือด้วย เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ ไปไกลเกินกว่าที่จะมานั่งหารือกันแล้ว


 


"ไม่ใช่ว่านักวิชาการจะไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเรารู้มากกว่าที่รัฐบาลคิด ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอ และแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจ หรือรับฟังทั้งสิ้น ซ้ำมักถูกมองในแง่ร้าย ทุกอย่างให้รอดูสถานการณ์ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เท่านั้น" รศ.เจริญ กล่าว


 


ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำได้ทีมคณาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัย เปิดแถลงการณ์เพื่อทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง


 


โดยภายในจดหมายระบุว่า "ด้วยในขณะนี้ได้มีการก่อตัวของปรากฏการณ์ "วิกฤตการณ์ความไม่ชอบผู้นำประเทศ" ที่รุนแรงและชัดเจน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมในการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย หลายเรื่อง อาทิ การทำลายความเป็นอิสระของประชาชน การไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการนิติบัญญัติ การครอบงำบั่นทอนความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระตามระบบรัฐธรรมนูญ การปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวก ขาดความเป็นผู้นำประเทศที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ


 


การขาดจริยธรรมในการบริหารบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดความชอบธรรมของผู้นำประเทศ เป็นผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถทำหน้าที่ของผู้นำประเทศอีกต่อไป หาก พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจะยิ่งเป็นการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประชาชน พลเมือง และจะนำไปสู่วิกฤตอื่นๆ ตามมา ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและปัจจุบัน


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และคณะอื่นๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอยื่นข้อเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนดังต่อไปนี้


 


ข้อแรก ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม โดยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที ข้อที่สอง สนับสนุนให้สถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญ องค์กรและกลุ่มของประชาชน ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกฎเกณฑ์มาตรฐานทางการเมืองและจริยธรรมทางการเมืองใหม่ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยโดยเร็ว"


 


อ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "การออกมารวมตัวของอาจารย์ นักศึกษาจำนวนหนึ่งในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยหลังจากนี้จะมีการล่ารายชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะทำให้เกิดขบวนการรวมตัวของนักศึกษาตามมาอย่างแน่นอน เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีการรวมตัวของคณาจารย์ขึ้นมาก่อนเช่นเดียวกัน


 


อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ทางองค์กรไม่ได้มีมติให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วม แต่การตัดสินใจที่จะร่วมชุมนุมเป็นสิทธิของทุกคนที่จะพิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเอง"


 


รศ.ดร.พิทยา บวรพัฒนา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า "การแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนของความเป็นคณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาฯ ที่เน้นสอนการเมืองการปกครอง และสอนให้เป็นคนดี ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจากการปกครองของนายกฯ เป็นการปกครองที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาลตามตำราที่สอนนักศึกษาที่สอนว่าการเป็นนายกฯ ที่ดีนั้นมีคุณสมบัติ 4 ประการ หนึ่ง ควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง สอง มีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา สามจิตใจกว้างขวางมีความเป็นประชาธิปไตย สี่เป็นคนถ่อมตน ไม่เยาะเย้ยถากถาง"


 


ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า "ชาวรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่ไม่อยากปล่อยให้เหตุการณ์รุนแรงต่อไป และไม่มีใครหาทางออกให้สังคมที่เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา ดังนั้น จึงควรเริ่มกระบวนการสรรหานายกฯ คนใหม่ โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง"


 


อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า "ในฐานะนักวิชาการที่เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในช่วง 3 ปี แรก แต่หลังจากสาเหตุที่ต้องถอนตัวออกมาเนื่องจากเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำการตามที่เคยพูดไว้ นอกจากนี้ ในช่วงระยะหลังเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโดยส่วนตัวคิดว่านายกฯ ขาดความชอบธรรมไปนานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง


 


กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งรัฐเห็นช่องโหว่กฎหมายของการเลี่ยงภาษี คนดูแลรัฐหรือรัฐบาล ควรอุดช่องโหว่ตรงนั้น แต่ในกรณีนี้นอกจากจะไม่อุดช่องแล้วยังขยายให้ใหญ่เพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าไม่ควรที่จะบริหารรัฐบาลอีกต่อไป มันหมดความชอบธรรมแล้ว"


 


ด้าน อ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ปรากฏการณ์การรวมตัวของคณาจารย์ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เป็นปรากฏการณ์ที่ป้องกันไม่ให้รัฐบาลมากัดกร่อนประเทศไทยอีกเหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมา"


 


วันเดียวกัน ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต นายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาเปิดเผยว่า สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต อธิการบดีได้มีความเห็นตรงกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมลงชื่อเพื่อขอให้พ.ต.ท.ทักษิณ ยุติบทบาทเพื่อให้แผ่นดินอยู่รอด


 


 "เราคงยอมไม่ได้อีกแล้วแม้แต่วินาทีเดียวที่จะให้ผู้นำคนนี้มีอำนาจ เพราะคนๆนี้ปล้นชาติ ขายแผ่นดินยังน้อยไป ถ้าไม่จัดการออกไปเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาภาคใต้ ปัญหาความยากจนได้เลย" นายทวีเกียรติ กล่าว


 


ด้าน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนาม "กลุ่มวิชาการเพื่อสังคม จังหวัดขอนแก่น" จำนวน 10 คน ซึ่งนำโดย นายสมพนธ์ เตชะอธิก อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกัน


 


โดย นายสมพนธ์ เปิดเผยว่า "การออกแถลงการณ์ครั้งนี้ เพราะต้องการแสดงจุดยืนของกลุ่มนักวิชาการในจังหวัดขอนแก่นที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะพฤติกรรมความไม่โปร่งใส ทุจริตคอร์รัปชั่น โดยกลุ่มวิชาการเพื่อสังคม จังหวัดขอนแก่น เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำในการบริหารประเทศแล้ว"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net