Skip to main content
sharethis


 


วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2006 18:49น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ขณะนี้ พบว่า ขบวนการก่อความไม่สงบมิใช่สาเหตุเดียว แต่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างจากปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ การศึกษา ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และ เงื่อนไขทางวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้ขบวนการก่อความไม่สงบก่อเหตุขยายความรุนแรงงออกไปได้เรื่อย โดยที่ยังมิถูกปราบปรามให้หมดสิ้นไป


 


แนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว กอส.เชื่อว่า แม้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรง แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นและควรเป็นเป้าหมายหลักของ การแก้ไขปัญหา คือ การสร้างความเป็นธรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อลดอิทธิพลของขบวนการและการเผยแพร่อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน รวมทั้งส่งเสริม ให้ประชาชนมีทางเลือกหรือกระบวนการในการจัดการกับปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง


 


ปัจจัยชั้นโครงสร้าง: ประชากร, เศรษฐกิจท้องถิ่น, การศึกษา, กฎหมาย และ ภูมิศาสตร์


ประชากร ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดกันในบ้าน สัดส่วนประชากรในปี 2546 มีจำนวน ร้อยละ 79.3 หรือ 1.39 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 1.75 ล้านคน ในขณะที่มีชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เมื่อรัฐบาลสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2543 พบว่ามีมุสลิมทั่วประเทศไทยอยู่ 2.78 ล้านคน หรือเพียงร้อยละ 4.56 ของประชากรไทยทั้งหมด


 


ขณะเดียวกันสัดส่วนของพุทธศาสนิกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 26 ในปี 2503 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2546 โดยที่อัตราการขยายตัวของประชากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือ การที่ประชากรชาวไทยพุทธลดจำนวนลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ผลโดยรวมคือ สัดส่วนประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้น


 


เศรษฐกิจท้องถิ่น ในช่วงระหว่างปี 2541-2546 เศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ และประเทศไทยโดยรวมอย่างมาก หมายความว่าก่อเหตุรุนแรงปะทุหนักในปี 2547 ภาวะเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เข้มแข็งนัก พึ่งพิงภาคเกษตรเป็นหลัก แม้จะตัดภาคประมง (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภาคอื่นๆ เช่นกัน) ออกไปแล้ว ภาคเกษตรของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย


 


ยิ่งเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2541-2546 และพบว่าผลผลิตในภาคเกษตรที่มิใช่ประมงขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ขณะที่ผลผลิตในภาคประมงในช่วงเวลาเดียวกันกลับขยายตัวลดลงในอัตราร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งแสดงว่าปัญหาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลมาจากความตกต่ำในภาคเกษตร


 


สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังติดอันดับ 1-4 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายได้มากที่สุดของภูมิภาค โดยมีจำนวนรวมสูงถึง 311,500 คน คิดเป็นร้อยละ 47.6 ของคนจนทั้งภูมิภาค นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันสูง


 


อาจกล่าวได้ว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจของสามจังหวัดนี้พึ่งพิงภาคเกษตรมากเกินไป ทำให้ต้องมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยรองรับกระบวนการผลิต แต่ทรัพยากรธรรมชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกแรงกดดันอย่างมาก เมื่อภาคที่ใช้แรงงานมากที่สุดถูกแรงกดดันเช่นนี้ ผู้คนที่หาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรก็จะออกไปแสวงหางานหรืออาชีพในภาคอื่นๆ


 


แต่กลับเป็นว่า โอกาสมีงานทำของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างน้อย เป็นเหตุให้แรงงานที่อยู่ในวัย 20-24 ปี ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัดส่วนว่างงานสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของระบบการศึกษาสามัญ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้กลุ่มหรือขบวนการของผู้ก่อความไม่สงบสามารถหาแนวร่วมหรือพวกพ้องมาร่วมก่อความรุนแรงได้ง่ายขึ้น


 


การศึกษา ช่วงปี 2547-2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนทุกประเภทรวม 1,517 แห่ง (เป็นโรงเรียนของรัฐ 929 แห่ง เป็นโรงเรียนเอกชน 588 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนปอเนาะ 360 แห่ง) มีครูทั้งสิ้น 18,275 คน และมีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 457,624 คน ปรากฏว่า ในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายมีนักเรียนนิยมเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 65 และ 64 ตามลำดับ ที่เหลือเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล มีประชากรวัยเรียนสามารถจบการศึกษาระดับอุดมได้ร้อยละ 2 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนระดับประเทศทุกวิชา และมีคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม และยังมีนักเรียนในระบบโรงเรียนขอออกระบบโรงเรียนขอออกกลางคันด้วยเหตุผลต่างๆร้อยละ 20


 


ขณะนี้โรงเรียนที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นคือ โรงเรียนปอเนาะหรือสถาบันการศึกษาปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาแบบดั้งเดิม ขณะนี้มีโรงเรียนปอเนาะจดทะเบียนในเขตพื้นที่ 303 แห่ง นักเรียนส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป มักเรียนจบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และ ประมาณร้อยละ 80 เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


กฎหมาย ระหว่างเดือนมกราคม 2545 ถึง มิถุนายน 2548 มีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่กระบวนการยุติธรรม "ไม่ควรกระทำ" ต่อประชาชนที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกกล่าวหา ผู้กระทำผิดหรือ จำเลยแล้วแต่กรณี และ ต่อญาติพี่น้องของบุคคลเหล่านั้น คนเหล่านี้กลายเป็น"เหยื่อของกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" 11 ประการคือ


 


• การดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่นในกรณีการจับกุมนายแพทย์ แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ กับพวกในข้อหา เจไอ


• การใช้อำนาจบังคับเพื่อมาให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย


• การจับกุมเด็กและเยาวชนที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย


• การใช้วิธีการสอบสวนที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย จับตัวไปทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ


• การใช้อำนาจค้นที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย


• การควบคุมตัวระหว่างจับกุมและสอบสวน เช่นกรณีการสลายการชุมนุมของประชาชนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอ ตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้มีผู้ถูกจับกุมราว 1,300 คน มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ 79 คน ถูกดำเนินคดี 59 คน และ สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง


• การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีและการปล่อยตัวชั่วคราว


• การไม่คืนของกลาง เช่น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าปิดล้อมปอเนาะในจังหวัดปัตตานีเพื่อทำการตรวจค้น จากนั้นได้ยึดคอมพิวเตอร์และเอกสารต่างๆ รวมทั้งรถจักรยานยนต์ ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโต๊ะครู แต่ก็ไม่มีการคืนของกลางที่ยึดไว้ให้โต๊ะครูแต่อย่างใด


• การลักพาตัวบุคคลในกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเอง เช่นในกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร


• การใช้มาตรฐานสองหน้า (double standards) ที่ปรากฏจากความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกับประชาชนกระทำผิด


• การใช้วิธีการวิสามัญฆาตกรรมในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยเฉพาะเหตุที่เกิดขึ้นกับ เด็กหนุ่ม 19 คนที่สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา


 


ภูมิศาสตร์ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของมาเลเซียเป็นระยะยาวถึง 573 กิโลเมตร ประชากรทั้งสองประเทศในเขตนี้มีใกล้ชิดกันมาก ความใกล้ชิดในสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการ


 


ประการแรก ปัญหาคนสองสัญชาติซึ่งบางฝ่ายเห็นว่ามีจำนวนร่วมแสนคน เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นปัญหา


 


ประการที่สอง การอพยพข้ามไปฝั่งมาเลเซีย เช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีคนไทย 131 คนอพยพไปอยู่ในกลันตัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 ปฏิกิริยาจากมาเลเซีย โดยผู้ว่าการรัฐกลันตันและผู้นำพรรค PAS กำหนดท่าทีผู้อพยพจากฝั่งไทยขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง แต่รัฐกลันตัน ถือว่าการอพยพของคนกลุ่มนี้สำคัญมากสำหรับชาวกลันตัน เพราะญาติพี่น้องของชาวกลันตันจำนวนมากยังติดอยู่ในความขัดแย้งในเขตไทย ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในลักษณะนี้ พลเอก กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาค 4 จึงชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซียดังนั้นจะมองมาเลเซียเป็นผู้ร้ายไม่ได้


 


ปัจจัยชั้นวัฒนธรรม: ภาษา, ศาสนา และ ประวัติศาสตร์


 


ศาสนา-ภาษา


เมื่อถามชาวบ้านในพื้นที่ว่าเขาเป็นใคร คำตอบที่ได้คือ เป็น"คนมลายูมุสลิม คือ เชื้อชาติมลายูนับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่กล้าตอบว่าเป็น "คนไทย"เพราะในความเข้าใจของผู้คนส่วนหนึ่ง "คนไทยหรือคนสยามคือชาวพุทธ" หากตอบว่าเป็น"ออแฆซีแย" หรือ "คนไทย" อาจทำให้เขาต้องตก"มุรตัด"คือหลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม ในแง่นี้ภาษา และ ศาสนาก่อร่างสร้างรูปเป็นอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมที่เข้มข้นและต่อเนื่องมานาน


 


 


ภาษามลายู เป็นเครื่องเชื่อมร้อยผู้คนในปัจจุบันเข้ากับอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรปัตตานี ยิ่งเมื่อแหลมมลายูตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิสลาม ผู้คนในดินแดนนี้ก็นำอักษรอาหรับมาเขียนในระบบภาษามลายู ภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรอาหรับจึงไม่เพียงมีคุณค่าทางการสื่อสาร แต่ยังมีความหมายศาสนาเพราะใช้ในการศึกษาและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ตลอดจนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ภาษามลายูจึงเป็นดังขุมทรัพย์ทรงค่าทางวัฒนธรรม และเป็นเกียรติภูมิของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในเวลาเดียวกัน


 


ในทางหนึ่งความเป็น"มลายู"นี้แตกต่างจากคนมาเลย์ในประเทศมาเลเซีย เพราะขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20นี้ ปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามหนึ่งในสองแห่งในอุษาคเนย์ (อีกแห่งหนึ่งคือ อาเจะห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นประตูสู่นครมักกะห์อันศักดิ์สิทธิ์)มากว่า 700 ปีแล้ว


 


เมื่อสามร้อยปีก่อน ปัตตานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู ตำราทางศาสนาอิสลามทั้งหมดที่เขียนโดยปวงปราชญ์ปัตตานีนั้น ถ้าไม่เป็นภาษาอาหรับก็เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรอาหรับที่เรียกว่าตัวหนังสือยาวี


 


ผู้คนส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม และเช่นเดียวกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในโลกพวกเขาเป็นสายซุนนะห์(Sunni) อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามเชื่อมผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับชะตากรรมของโลกมุสลิม และดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโลกที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมเข้าไว้ด้วย


 


ในบริบทของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอยู่ 2 เรื่อง


 


1) ความเคร่งครัดทางศาสนาของชาวมุสลิม ในทางหลักการชาวมุสลิมทุกคนทั้งชายหญิงจึงอยู่ในฐานะทั้งเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม จึงต้องปฏิบัติตัวตามกรอบของศาสนา ศาสนาอิสลามกำหนดวิถีชีวิตของมุสลิมทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ การแต่งกาย และการประพฤติปฏิบัติต่างๆ


 


ศาสนาอิสลามก็ไม่ต่างอะไรจากระบบวัฒนธรรมอื่นๆที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรม ขณะที่วัฒนธรรมในสังคมไทยเป็นแบบแผนทางสังคม แต่แบบแผนพฤติกรรมของชาวมุสลิมเป็นปัญหาทางศาสนาและจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ด้วยเหตุนี้เรื่องซึ่งดูเหมือนเล็กน้อย ก็กลายเป็นปมขยายความขัดแย้งให้เคลื่อนเข้าหาความรุนแรงได้


 


2) ทัศนะของชาวมุสลิมต่อความยุติธรรมและการต่อสู้ คำกล่าวว่า "ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของสันติภาพ"ดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริงในโลก เมื่อพิจารณาเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางและในที่อื่นๆ ต้องเข้าใจปมสำคัญของปัญหานี้ด้วยว่า สำหรับมุสลิม"สันติภาพ"หมายรวมถึงความยุติธรรมด้วย


 


ศาสนาอิสลามอนุญาตให้ชาวมุสลิมต่อสู้ได้เพื่อปกป้องพิทักษ์สัจจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่ และการละเมิดรุกราน ต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง และความไม่เป็นธรรมจากน้ำมือของฝ่ายอธรรม อย่างน้อยที่สุดก็ด้วยการอพยพหลบหนีไปยังสถานที่อันปลอดภัย ชีวิตของชาวมุสลิมดำรงอยู่ในโลกที่มีพระผู้สร้าง ต้องพยายามอดทนกับชะตากรรมในฐานะบททดสอบจากพระเป็นเจ้า และให้พยายามต่อสู้เปลี่ยนแปลงโลกที่ไม่เป็นธรรมให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องตระหนักว่า การต่อสู้เช่นนี้มิใช่เป็นเพียงประเด็นทางการเมือง แต่เป็นภาระทางจิตวิญญาณที่ผู้ศรัทธาต้องหาหนทางให้กับตัวเอง วัฒนธรรมอิสลามมีระบบความหมายที่พร้อมจะให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่แล้ว จากมุมมองของมุสลิมภาวะที่ไร้ความเป็นธรรมจึงเป็นเหตุผลรองรับการต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้าที่ทรงพลังยิ่ง


 


ประวัติศาสตร์


สามปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ.2325 ปัตตานีมิได้ส่งบรรณาการให้แก่กรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี จนยอมแพ้ต่อสยาม ในปี พ.ศ.2351 ทรงโปรดให้แยกดินแดนนั้นออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และ ระแงะ


 


แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งกว่าเกิดขึ้นพร้อมกับกำเนิดของรัฐชาติสยามใหม่ในรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ ด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางปรับปรุงระบบภาษีอากรตามระเบียบกระทรวงการคลังใหม่ ผลประการหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับผู้นำท้องถิ่นทั้งในเรื่องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีการเป็นผู้ปกครองเดิม


 


จนในปี พ.ศ.2445 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า"ขบถ ร.ศ. 121" คือ เกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ในภาคเหนือ ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน และ ขบถ "เจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" อาจกล่าวได้ว่าขบถในทุกภาคของประเทศเช่นนี้ เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นต่อการรวมศูนย์อำนาจของรัฐสยามใหม่ เมื่อเหตุการณ์ยุติลง ตนกูอับดุลกาเดร์ หรือ พระยาวิชิตภักดีก็ถูกรัฐบาลกรุงเทพฯจับกุมตัวไป นับเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี


 


ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2452 สยามลงนามในสัญญากรุงเทพฯ ยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และ ปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงคิดเป็นเนื้อที่ 15,000 ตารางไมล์และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษ โดยฝ่ายอังกฤษรับรองว่าจะให้รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจัดการหนี้สินที่รัฐเหล่านั้นมีกับรัฐบาลสยามให้เรียบร้อย กับจะยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลในสยาม ถ้าสยามปฏิรูปกฎหมายเรียบร้อยแล้ว


 


ดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณาจักรปัตตานีถูกแยกออกเป็นสองส่วน ด้านเหนือกลายมาเป็นของรัฐสยามและด้านใต้ตกอยู่ใต้บังคับของบริติช มลายา กล่าวได้ว่า นับแต่นั้นมาตอนเหนือของอาณาจักรปัตตานีเดิมก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามใหม่ เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นเอกรัฐ แบ่งแยกไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับแต่เปลี่ยนการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา


 


ในแง่นี้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือได้ว่าเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ เพราะที่แผ่นดินทางใต้และทางเหนือต่างก็มีประวัติศาสตร์ของตนเองมาคนละทางกัน แต่เกี่ยวข้องกันมานานนับร้อยปี ผลประการหนึ่งคือ ความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ"บ้าน"ของผู้คนในปัตตานีที่ยังทรงพลังจึง"ขัดฝืน"เข้ากันไม่ได้กับประวัติศาสตร์มาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ


 


จากทัศนะของอยุธยา-กรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นประวัติศาสตร์ของการขบถ แข็งเมือง แต่ถ้ามองประวัติศาสตร์เดียวกันนี้จากมุมมองปัตตานี ก็จะเห็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ


 


สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา


ทั้งหมดนี้หมายความว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจน หรือ ความไม่เป็นธรรมเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง แม้จะเชื่อกันว่า แกนนำของกลุ่มก่อความรุนแรงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยากจน หรือมิได้เผชิญกับความไม่เป็นธรรมมาโดยตรง แต่ทั้งความยากจนและความไม่ยุติธรรมก็เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วมและการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้


 


ทำนองเดียวกันมักกล่าวกันว่า ศาสนาอิสลามเกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับผู้คนในโลกมุสลิม เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าไปทำสงครามในอัฟกานิสถานและในอิรัก โดยมีรัฐบาลไทยเข้าข้างสนับสนุนสหรัฐฯ ข้อวินิจฉัยในที่นี้ชี้ชัดว่า ศาสนาไม่ใช่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็เกี่ยวกับความรุนแรงนี้ในฐานะข้ออ้างที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ให้ความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน


 


ขณะที่ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงด้วย ถ้านำเหตุปัจจัยเหล่านี้มาจัดเรียงเป็นชั้นคำอธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรง จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของทุกฝ่าย ทั้งโดยผู้ก่อการและการโต้ตอบของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง ดำรงอยู่ในเงื่อนไขสองประการคือ


 


ประการแรก บ่อเกิดความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อันได้แก่


• สภาพของประชากร


• ปัญหาทางเศรษฐกิจ/ทรัพยากรที่พวกเขาต้องประสบ


• การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เขามีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆทั้งทางโลกและทางธรรม


• ความไม่เป็นธรรมอันเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่


ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างผู้คนพวกเดียวกันในสองประเทศเป็นไปได้อย่างแจ่มชัด


 


ประการที่สอง ปัจจัยทางวัฒนธรรมซึ่งมีที่มาจากลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และ ประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุ แต่เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงหรือทำให้ผู้คนไม่น้อยยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง


 


ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่ ในการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของผู้ก่อการในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอาศัยข้ออ้างอันเป็นส่วนผสมระหว่างเงื่อนไขทางชาติพันธุ์กับศาสนา เนื่องจากทั้งสองแนวทางส่งผลสำคัญคือให้เหตุผลรองรับการใช้ความรุนแรงในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net