Skip to main content
sharethis

ประชาไท--1 เม.ย. 2549 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงาน นักวิชาการทั่วประเทศ 585 คน จาก 41 สถาบัน ออกแถลงการณ์เชิญชวนประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ขอให้กาช่องงดออกเสียง เพื่อต่อต้านไม่ให้ "ทักษิณ" กลับมาเป็นนายกฯอีก พร้อมแนะนำปากกาติดตัวไปด้วยกันถูกโกง ขณะที่เครือข่ายผู้หญิง-นิสิตรณรงค์เลือกตั้งกาช่องไม่ลงคะแนนย่านสีลมคึกคัก โพลล์ชี้แนวโน้มประชาชนกาช่องไม่ลงคะแนนมากขึ้น


 


นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงวานนี้(31 มี.ค.)ว่า เครือข่ายนักวิชาการทั่วประเทศ 585 คน จาก 41 สถาบัน ได้ร่วมลงนามและออกแถลงการณ์ในชื่อที่ว่า "แถลงการณ์ถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขอเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง 2 เมษายน โดยกากบาทงดออกเสียง"


 


โดยนายปริญญา อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวน 585 คน จาก 14 สถาบัน มีความเห็นว่า ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่แก้ข้อกล่าวในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจโดยมิชอบ การซุกหุ้น การหลีกเลี่ยงภาษี การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้ประชาชนหมดสิ้นข้อสงสัย


 


การชุมนุม การคัดค้าน การต่อต้าน การไม่ยอมรับก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะผันผวนตึงเครียดแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างไม่จบสิ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแยงโดยสันติ และโดยประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


 


ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอเชิญชวนประชาชนให้ดำเนินการต่อไปนี้ 1.ขอเชิญชวนประชาชนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ถ้าประชาชนไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีขอให้กากบาทงดออกเสียง โดยทำเครื่องหมายกากบาทในช่องไม่ลงคะแนน ซึ่งอยู่ด้านล่างทางขวามือของบัตรเลือกตั้งทั้งในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ


 


2.การใช้ตรายางกากบาทจะเป็นช่องทางให้มีการทุจริตได้ง่าย ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนให้ลงคะแนนโดยใช้ปากกาทำเครื่องหมายกากบาท และเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจะมิได้จัดเตรียมปากกาไว้ให้ ประชาชนจึงควรเตรียมปากกาไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่ประการใด


 


และ 3.ขอให้ประชาชนทั้งประเทศและสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ช่วยกันสังเกตการณ์และติดตามการเลือกตั้งตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดหีบเลือกตั้ง การลงคะแนน การปิดหีบเลือกตั้ง การขนหีบเลือกตั้ง หากพบการทุจริต เช่น มีการเวียนกันมาลงคะแนนหรือมีการเปลี่ยนหีบเลือกตั้งระหว่างการขนย้าย ขอให้แจ้งข่าวกับสื่อมวลชนให้ทราบทันที


 


 "การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคไทยรักไทยกับการงดออกเสียงของประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ อนาคตการเมืองไทยหลังวันที่ 2 เมษายน จะเป็นอย่างไรอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนคนไทยทุกคน" นายปริญญา กล่าว


   


ชี้กาช่องไม่ลงคะแนนแก้วิกฤติได้


ด้านนายสุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรณรงค์ให้ประชาชนกากบาทในช่องที่ไม่จะประสงค์ลงคะแนน เป็นเงื่อนไขในการแสดงออกทางการเมือง ที่จะช่วยแก้วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ได้และเป็นการแสดงออกว่าพรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบในการที่จะเข้ามาบริหารประเทศ


   


น.ส.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การรณรงค์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะตอนนี้ต้องยอมรับเราเองไม่มีตัวเลือกในการเลือกตั้งที่ในบางพื้น ที่มีแต่ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการล็อกอินที่เป็นการผูกขาดทางการเมือง


   


แจง5เหตุผล"ทักษิณ"ควรเว้นวรรค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นได้มีการแถลงข่าวแสดงจุดยืนทางการเมืองของนักวิชาการที่รวมตัวกันในนาม"กลุ่มมนุษยศาสตร์สร้างสรรค์สังคม" ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ 256 คน จาก 26 สถาบัน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยนายบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งต่อไป สมควรเว้นวรรคทางการเมืองด้วยเหตุผลดังนี้


 


1.รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สมาทานบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่าบทบัญญัติทางกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


2.รักษาการนายกรัฐมนตรีทุศีลในตรรกะประชาธิปไตย ได้บิดเบือนหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยมีเพียงมิติของการเลือกตั้งเท่านั้น และเบี่ยงเบนให้เกิดความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่วิถีของประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล อีกทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การปฏิเสธตัวนายกรัฐมนตรีเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตย


 


3.รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ใส่ใจและละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ดังเช่น กรณีการฆ่าตัดตอนและกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


4. รักษาการนายกรัฐมนตรีได้สร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทยอย่างจงใจ เพื่อรักษาอำนาจและคงไว้ซึ่งบทบาททางการเมืองของตน


 


5.รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านในวงกว้าง ความไว้วางใจต่อผู้นำทางการเมือง ถือเป็นคุณสมบัติจำเป็นของภาวะการเป็นผู้นำทางการเมือง เราถือว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ล้มละลายทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้


   


อาจารย์จุฬาฯรณรงค์ No Vote


เวลา 15.30 น.วันเดียวกัน ที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ กทม. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯโดย รศ.ไชยัน ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯได้จัดเวทีรณรงค์ "Vote For No Vote" เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ โดยกาช่อง "งดออกเสียง"


   


 เภสัชกรหญิงด็อกเตอร์นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่เครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) รณรงค์ให้ใช้ปากกาสีแดงในการทำเครื่องหมายเลือกตั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบในระดับหนึ่งเพราะมีการนับคะแนนไม่พบบัตรเลือกตั้งที่มีกากบาทแสดงว่าเกิดความไม่ถูกต้องขึ้น


 


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษารักประชาชน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ 2 เมษายน ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่เลือกใคร โดยเริ่มหัวขบวนที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ไปตามถนนสีลม มีป้ายผ้ารณรงค์ไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในย่านสีลมพอสมควร


 


นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล สมาชิกกลุ่มนิสิตนักศึกษารักประชาชน กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ เพราะจะเสียสิทธิในการตรวจสอบต่างๆ จึงรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่เลือกใคร ให้กากบาทหรือประทับตราช่องไม่ลงคะแนน


   


โพลล์ชี้ประชาชนงดลงคะแนนสูงขึ้น


ทางด้าน ด็อกเตอร์นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเห็นและความตั้งใจของประชาชน ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน" กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกทม.และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 3,606 ตัวอย่าง สำรวจในวันที่ 29-30 มีนาคม โดยพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 11.5 ไม่ไป และร้อยละ 14.5 ยังไม่แน่ใจ


 


ขณะที่ประชาชนที่มั่นใจและไม่มั่นใจต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง มีสัดส่วนไม่แตกต่างกันคือร้อยละ 40.3 ต่อร้อยละ 43.8 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนเพียงร้อยละ 26.3 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการใช้ตรายางประทับบนบัตรเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.0 ไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า จะมีการทุจริตได้ง่าย ดังนั้นควรใช้การกากบาทด้วยลายมือของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเอง


 


ผลสำรวจล่าสุดครั้งนี้หลายประเด็นชี้ให้เห็นว่า พรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี กำลังได้รับการสนับสนุนของสาธารณชนลดน้อยลง จากร้อยละ 46.0 ที่บอกว่าจะเลือกพรรคที่ตั้งใจจะเลือกในการสำรวจวันที่ 25 มี.ค. ลดลงเหลือร้อยละ 34.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ในขณะที่กลุ่มที่ตั้งใจจะไปงดลงคะแนน เริ่มมีสัดส่วนสูงขึ้น


 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานภาค กทม. กล่าวถึงกรณีมีการรณรงค์ให้ประชาชนกากบาทเลือกตั้งในช่องไม่ออกเสียงเลือกใครว่า เป็นสิทธิของผู้ที่ออกมารณรงค์ ขอเพียงอย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือทำอะไรไปยั่วยุเท่านั้น


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net