Skip to main content
sharethis

โดย อิสระ ชูศรี


 


 


ท่านผู้อ่านคิดว่าตัวเลขที่กำกับท้ายชื่อภาพยนตร์เรื่อง "มิชชั่น อิมพอสสิเบิล" เป็นรหัสลับบอกความหมายว่ากระไร?


 


สำหรับส่วนตัวผมตงิดใจอยู่ว่า ยิ่งตัวเลขเพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ภารกิจของอีธาน ฮันต์ ก็ยิ่ง 'more impossible' หรือยิ่งมี 'ความเป็นไปไม่ได้' มากขึ้นเท่านั้น


 


ยกตัวอย่างเฉพาะฉากเดียวก็พอ ผมว่าใครที่ชมภาพของสายลับอีธานตอนกระโดดตึกโหนเชือกแบบทาร์ซานข้ามจากยอดสูงลิบของตึกหนึ่งไปยังอีกยอดตึกหนึ่งแล้วยังรู้สึก 'อิน' ได้ ผมขอยกสองนิ้วโป้งชูให้เลย เพราะท่านเป็นผู้ที่มีความเชื่อหนักแน่นเป็นอย่างยิ่ง


 


พอไม่เชื่อในความเป็นไปได้ของภารกิจหรือองค์ประกอบย่อยของภารกิจซะแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง อยากได้เงินคืนอย่างเดียว ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ข้าวสารเป็นข้าวสุกไปแล้ว ไม่มีทางแก้ไขเป็นอื่น ได้แต่เตือนตนเองว่าหากมี M:I:4 อีกล่ะก็ จำเป็นจะต้องทางใครทางมัน


 


จะว่าไปภารกิจขององค์กร IMF (Impossible Mission Force) ในหนังก็คล้ายกับภารกิจของคณะกรรมการเลือกตั้งที่นำทีมโดย 'agent-วาสนา' ไม่มากก็น้อย เพราะยิ่งจำนวนครั้งในการจัดการเลืิอกตั้งเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่าความเชื่อมั่นเรื่องความสุจริตและเที่ยงธรรมของผู้จัดการเลือกตั้งในสายตาผู้มีหน้าที่ไปเลือกตั้ง (อย่างน้อยก็ผมคนนึงหละ) ยิ่งลดต่ำลงไปเรื่อย


 


จนกระทั่งการเลือกตั้งที่ไม่ชอบ อาจจะส่งผลให้คนไม่ชอบการเลือกตั้งเอาได้ง่ายๆ


 


เอาหละ ถึงเรา (บางคน) จะยอมเชื่อว่า คุณวาสนาตกเป็นแพะรับบาปทางการเมืองเข้าจมกระเบื้อง แต่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคุณวาสนาและคุณปริญญาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่โดนป้ายอุจจาระว่าเป็น "สาย" ของพรรคไทยรักไทย มันก็เป็นคนละประเด็นกับการธำรงความเชื่อมั่นในการเลืิอกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไปภายใต้การกำกับของ กกต.คณะเดิม


 


ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ฟาวล์ไปแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่การเลือกตั้งฟรีที่ไม่ต้องสูญเสียอะไรนะครับ


 


เสียแรกคือเสียเงินเปล่า เสียที่สองคือเสียเวลาเปล่า เสียที่สามคือเสียความรู้สึกเปล่า และที่อาจจะเสียมากที่สุดก็คือการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการปกครองของประเทศ


 


ลองนับนิ้วมือดูสิครับว่า หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีกี่องค์กร-สถาบันทางการเมืองการปกครองของประเทศที่ถูกทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาในสายตาประชาชนลงไปบ้าง นี่ยังไม่นับสถาบันสื่อสารมวลชน สถาบันวิชาการ สถาบันวิชาชีพ และสารพัดสถาบันของสารพัดนักฯ ที่ถูกทำลายความน่าเชื่อถือลงไปท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่บานปลาย


 


ที่กล่าวมาถึงขณะนี้ผมไม่ได้จะโยนความผิดไปให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่นึกสงสัยขึ้นมาว่า สุดท้ายที่ปลายสถานีนั้น จะยังเหลืออะไรให้ใครเชื่อถือได้ในความเที่ยงธรรมอีกบ้าง


 


เพราะหากคาดการณ์ทางร้ายถึงผลลัพธ์ของเกมที่มีกติกาพื้นฐานว่า 'ไม่ต้องแสดงความสุจริต ให้แสดงว่าอีกฝ่ายทุจริตมากกว่า" นี้ ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ในลำดับต่อไปสถาบันตุลาการอาจจะถูกลากเข้าสู่วังวนของเกมทำลายความน่าเชื่อถือที่เลวร้ายนี้ไปด้วย


 


หากถึงวันนั้น ใครหน้าไหนจะสามารถรับผิดชอบไหว แต่ที่น่าสงสัยยิ่งกว่านั้นก็คือ จะรับผิดชอบได้ด้วยวิธีการอย่างไร?


 


การที่นักการเมือง-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งหรือสองสามคนต้องหมดอนาคตทางการเมืองลงไป ในความเห็นของผมแล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก ความน่าเป็นห่วงว่าอีกหน่อยจะไม่เหลือใครหรือสถาบันไหนที่มี 'เครดิต' พอที่จะใครจะรับฟังและยอมรับได้อีกต่างหากที่มันน่าหดหู่กว่า


 


สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการเมืองการปกครองนี่มันเรื่องใหญ่นะครับ เพราะคนมันไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดอะไรมากมาย (ผมหมายถึงตัวเอง) ก็ยิ่งต้องอาศัยความ "เชื่อ" มากขึ้นเท่านั้น เช่น เชื่อว่าความบริสุทธิ์ยุติธรรมและขื่อแปของบ้านเมืองนั้นมีจริง การลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการคัดสรรตัวแทนทางการเมืองของประชาชนเข้าไปปกครองประเทศ เป็นต้น


 


เชื่อ 'อะไร' ไม่ได้ก็คงไม่ทำให้ใครดิ้นตายลงไปวันนี้พรุ่งนี้หรอกครับ แต่มันวังเวงสิ้นดี พอวังเวงแล้วมันก็สุขภาพของสังคมในภาพรวม


 


ลองมองย้อนกลับไปในอดีตอันใกล้นี้สิครับ ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว มันชวนขนหัวลุกแค่ไหนที่ประชาชนแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์เพราะ 'ไม่เชื่อ' ว่าถ้าทิ้งเงินไว้ในบัญชีธนาคารแล้วเงินของตัวเองจะปลอดภัยเนื่องจากธนาคารกำลังจะล้ม พอเลิกเชื่อมั่นเท่านั้นธนาคารก็พาลจะล้มเข้าจริงๆ


 


ตามทฤษฎีมั่วซั่วของผม การที่ทุกๆ สถาบันการเมืองการปกครองและองคาพยพต่างๆ ของรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาศัยความเชื่อและความร่วมมือของประชาชนเป็นพื้นฐานทั้งนั้นแหละ


 


วันก่อนนี้มีน้าชายคนหนึ่งแกคุยกับผมเรื่องปัญหายุ่งๆ ที่เกิดช่วงนี้น่ะแหละ เรื่องของเรื่องคือ แกมีภยาคติกับตำรวจอยู่มากสักหน่อย แกก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจชอบลืมตัวอยู่เรื่อยว่าที่ตัวเองทำหน้าที่รักษากฎหมายได้ก็เพราะว่าประชาชน (ส่วนใหญ่) ตกลงที่จะร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย


 


ถ้ามีประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มจำนวนขึ้นถึงปริมาณหนึ่ง ประเทศเราก็ไม่มีตำรวจมากพอที่จะไปตามจับคนละเมิดกฎหมายมาดำเนินคดีหรอก หรือถึงจับมาได้ก็ไม่มีตารางมากพอให้คุมขังไว้ได้หรอก (อันนี้ผมพูดเอง)


 


อย่างการเสียภาษีเงินได้ก็เหมือนกัน หากคนพร้อมใจกันเสียภาษีล้าช้่าเยอะๆ จะเป็นไง รัฐเก็บภาษีมาได้ไม่พอค่าใช้จ่าย เงินขาดมือก็ต้องออกตั๋วเงินคลังกู้ประชาชนมาใช้จ่ายให้ต้องเสียดอกเบี้ยอีก ค่าปรับภาษีจ่ายช้าที่ได้จะพอค่าดอกเบี้ยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เก็บภาษีมาได้แล้ว แทนที่จะได้ใช้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต้องเอาไปจ่ายดอกอีก


 


ผมไม่รู้หรอกว่ามาตรการประท้วงโดยการจ่ายภาษีช้าของประชาชนฝ่ายแอนตี้ท้ากฯ มันจะมีผลจริงต่อการที่สรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าอยู่ช่วงนี้หรือเปล่า แต่ถ้ามันเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลจริงแล้ว ต่อไปคนหันมาใช้วิธีนี้ประท้วงรัฐบาลกันอีกในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้น?


 


ยังมีอีก แต่ไหนแต่ไรเคยมีหรือที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศลงความเห็นผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมาปกครองประเทศแล้ว ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งกันแบบทันทีทันควันเลย ใครอย่ามาบอกนะว่าเป็นเพราะสื่อสารมวลชนปั่นหัวประชาชนให้เกลียดรัฐบาล พันธมิตรฯปลุกระดมปั้นน้ำเป็นตัวได้ผล พรรคฝ่ายค้านเดิมหาเรื่องล้มการเลือกตั้ง ฯลฯ ก็แล้วทำไมประชาชนจำนวนมากเลือกที่จะไม่เชื่ออีกข้างหนึ่งล่ะ


 


มันใช่ผลของความ 'ไม่เชื่อ' ในความเป็นธรรมของระบบหรือเปล่า หรือว่าเพราะอะไร?


 


ขอเลยมาถึงเรื่อง 'เนติบริกร' ที่ชำนาญการลอดช่องกฎหมายหลายร้อยหลายพันมาตราเหมือนคนมีตาทิพย์ ผู้กุมอำนาจรัฐทำอะไรทำได้หมด มีช่องกฎหมายให้ลอดออกไปได้หมด ถูกกฎหมายหมด ชอบธรรมไปหมด ฟ้องร้องอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง สุดท้ายก็ต้องไปใช้วิธีทำผิดกฎหมายกันไปหมด เพราะไม่รู้จะเอาปัญญาที่ไหนมาเถียงด้วยแล้ว


 


คือรวมความแล้วมัน too good to be true บางคน (อย่างผม) ก็อาจจะคิดง่ายๆ ผสมมั่วๆ ไปซะเลย เอาเป็นว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อท่านก็แล้วกัน ต่อไปท่านกุนซือหน้าใสทั้งหลายจะพูดอะไรก็สุดแท้แต่ท่านเถิด


 


นี่หละครับทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้ผมรู้สึกว่าภารกิจจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้เกิดความเชื่อมั่นได้เต็มที่ในความสุจริตและเที่ยงธรรมมันดูจะ "เป็นปายไม่ด้าย" หากให้ กกต.ชุดปัจจุบันเป็นคนจัดการเหมือนเดิม


 


จนถึงขณะที่เขียนอยู่นี้ ผมยังไม่ได้ยินว่าจะมีทางออกอย่างไรต่อไปสำหรับวิกฤตการณ์การสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง เพราะแค่ กกต.ตั้งท่าจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปอีกคาบหนึ่ง ก็เห็นหลายฝ่ายเริ่มไม่ให้ความร่วมมือกันแล้ว


 


อย่าหาว่าผมเห่อคนเป็นผู้พิพากษาเลย แต่ผมค่อนข้างเชื่อนะที่มีท่านไหนซักท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า การจัดการเลือกตั้งโดยคณะที่คนไม่เชื่อถือน่ะมันทำให้สำเร็จได้ยาก


 


เพราะแค่อาศัยการจ้องตามาทางกล้องทีวีแล้วกล่าวว่า trust me นั้นคงจะไม่เพียงพอสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ กกต.ชุดปัจจุบันนี้เสียแล้ว


 


เพราะแค่การจะยอมรับผลของการแข่งขันที่ไม่เป็นเหมือนอย่างใจเราอยากให้เป็นนั้นมันก็ยากพอแรงอยู่แล้ว แต่ก็พอจะทำใจได้หรอกถ้าเถียงไม่ได้ว่า มันเป็นการแข่งขันที่ยุติธรรม ผมเพิ่งเห็นจะๆ คราวนี้เองว่าการจัดเลือกตั้งให้คนแย้งไม่ได้ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นมันยากแค่ไหน โดยเฉพาะในเวลาที่ 'ความน่าเชื่อถือ' เป็นของหายากยังกับน้ำมันอยู่ในขณะนี้


 


เฮ้อ... ไอ้ผมก็โล่งใจนิดหนึ่งว่า พอการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะแล้ว จะมีโอกาสได้เลือกตั้งใหม่เร็วๆ ไม่ต้องอาศัย ส.ส.พรรคคนขอปลดหนี้ที่ผมไม่เคยรู้จักหน้าค่าตามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนอยู่ในสภาฯ แต่ดูๆไปแล้วเห็นทีจะต้องไม่สบายใจต่อไปอีกนาน


 


ทุกวันนี้ผมจึงได้แต่ภาวนา (จริงๆ) ให้ กกต.คณะนี้ ท่านมีกำลังใจที่จะทำ 'ภารกิจ' ที่ยากยุ่งให้สำเร็จ อันได้แก่การ 'ยุติภารกิจ' ด้วยเถิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net