Skip to main content
sharethis



 


วันที่ 19 มิถุนายนของทุกๆ ปี คือวันคล้ายวันเกิดของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย แต่ ณ วันนี้ "อองซาน ซูจี" ยังคงถูกกักบริเวณให้ฉลองวันเกิดปีที่ 61 ของตัวเองเพียงลำพังเหมือนที่เป็นมา


 


คำประกาศของรัฐบาลพม่าที่สั่งให้ขยายเวลาการกักบริเวณ "อองซาน ซูจี" ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 คือการทำลายความหวังที่จะได้เห็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพเกิดขึ้นในพม่า แต่แนวร่วมที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจากทั่วโลกยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะในวันนี้มีพิธีการและกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อต่อต้านเผด็จการของรัฐบาลพม่า แต่วัตถุประสงค์ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการแสดงพลังให้เห็นว่า แนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยของซูจี มิได้ถูกจำกัดวงอยู่ในพื้นที่ของพม่าเท่านั่น หากแต่เป็นความร่วมแรงร่วมใจโดยพร้อมเพรียงกันของคนทั่วโลก


 


0 0 0


 


ลำดับเหตุการณ์รัฐบาลพม่ากักตัวอองซาน ซูจี


 


ปี 2532 - อองซาน ซูจี เดินทางจากสหรัฐอเมริกาเพื่อกลับมาดูแลแม่ซึ่งป่วยหนักและอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เธอได้พบกับเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้นกดขี่ข่มเหงประชาชน รวมถึงการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยอย่างทารุณ


ในฐานะที่เป็นลูกสาวคนสำคัญของนายพลอองซาน ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพแก่พม่าในอดีต อองซาน ซูจีจึงเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนได้รับความนิยมล้นหลามจากประชาชน รัฐบาลพม่าจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมแสดงความคิดเห็นจนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม


ครั้งนั้น อองซาน ซูจีได้เดินเข้าไปหากระบอกปืนของทหารที่จ่อมายังตัวเอง และขอร้องให้ทหารยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่พูดถึงวีรกรรมของอองซาน ซูจีในครั้งนั้น สื่อมวลชนทั่วโลกมักจะใช้คำเรียกเหตุการณ์นั้นว่า "เหตุการณ์ 888" (เดือน 8 ของปี 1988)


 


ปี 2533 - รัฐบาลทหารจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผลคือพรรคสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (National League for Democracy) ซึ่งมีอองซาน ซูจีเป็นผู้นำได้รับชัยชนะ แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธผลคะแนนครั้งนั้น เมื่อมีการประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจเกิดขึ้น รัฐบาลพม่าจึงสั่งกักบริเวณอองซาน ซูจี นับแต่นั้นเป็นต้นมา


 


ปี 2534 - รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ตกเป็นของอองซาน ซูจี ในฐานะที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยใช้สันติวิธี แต่อองซาน ซูจีได้นำเงินรางวัล 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.25 ล้านบาท) ไปก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการศึกษา เพื่อช่วยเหลือชาวพม่าทั้งหมด


 


ปี 2538 - รัฐบาลพม่าประกาศปล่อยตัวอองซาน ซูจี ภายใต้เงื่อนไขว่าหากเธอเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาอีกเป็นครั้งที่สอง ซูจีจึงเลือกที่จะอยู่ในพม่าต่อไป เพื่อยืนยันเจตนาแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธี


 


ปี 2540 - อองซาน ซูจี จำเป็นต้องแยกกันอยู่กับสามีและลูกชายอีก 2 คนเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากมีความกดดันทางการเมืองต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ในปีนี้ ไมเคิล แอริส สามีของเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่ซูจีไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และรัฐบาลพม่าก็ไม่อนุมัติวีซ่าเข้าประเทศให้กับสามีของซูจี ทั้งสองจึงไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลย


 


ปี 2542 - ไมเคิล แอริส เสียชีวิต


 


ปี 2543 - อองซาน ซูจี โดนรัฐบาลพม่ากักบริเวณอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เธอพยายามติดต่อกับสมาชิกในพรรคสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


ปี 2545 - หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติพยายามยื่นข้อต่อรองกับรัฐบาลพม่าให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจีออกจากการกักบริเวณ และได้ผลในระยะหนึ่ง


 


ปี 2546 - เดือนพฤษภาคม อองซาน ซูจี ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านทางภาคเหนือ ร่วมกับสมาชิกบางส่วนของพรรคที่สังกัด แต่ระหว่างทางเจอกับม็อบสนับสนุนรัฐบาล ทำให้มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ที่สนับสนุนอองซาน ซูจี และผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล สมาชิกบางส่วนของพรรคเอ็นแอลดีถึงกับเสียชีวิต และอีกบางส่วนได้รับบาดเจ็บ อองซาน ซูจีจึงถูกรัฐบาลพม่าตัดสินให้จำคุกที่เรือนจำ Insien


            จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน สหประชาชาติได้ต่อรองให้รัฐบาลปล่อยตัวซูจีออกจากที่คุมขัง แต่รัฐบาลพม่ายังคงยืนยันว่าจะต้องกักบริเวณผู้นำพรรคฝ่ายค้านต่อไป และจำกัดพื้นที่ให้ซูจีอยู่ในบ้านของตนเองเท่านั้น


 


ปี 2547 - คณะมนตรีความมั่งคงสหประชาชาติเรียกร้องให้พม่ายกเลิกการกักบริเวณอองซาน ซูจี โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของรัฐบาลพม่าละเมิดกฎหมายสากล แต่คำสั่งของสหประชาชาติไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด


 


ปี 2548 - รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะขยายเวลากักบริเวณอองซาน ซูจีต่อไป โดยไม่สนใจการต่อต้านจากประชาชนพม่าและกลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก


 


ปี 2549 - เดือนพฤษภาคม รัฐบาลพม่าประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะกักบริเวณอองซาน ซูจี ต่อไปอีก 2 ปี และวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีรายงานว่าอองซาน ซูจี ป่วยด้วยโรคท้องร่วงและร่างกายอ่อนแอ ซึ่งรัฐบาลพม่ากล่าวว่ารัฐบาลได้ดูแลอองซาน ซูจีอย่างดีที่สุดแล้ว


 


สถานการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวกับอองซาน ซูจี คือการรวมตัวกันของทนายความและประชาชนพม่าที่ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 เพื่อยุติการกักบริเวณของผู้นำฝ่ายค้าน และวันที่ 19 มิถุนายน ประชาชนทั่วโลกที่รับรู้เรื่องราวของอองซาน ซูจี มาตลอด พากันจัดพิธีการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดให้กับนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพแห่งยุค อีกทั้งยังเป็นการประกาศให้รัฐบาลพม่ารู้ด้วยว่าแนวร่วมเพื่อเสรีภาพอาจมีมากกว่าที่คิด...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net