Skip to main content
sharethis

ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลต่อปัญหาความรุนแรงระรอกล่าสุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บัดนี้ผ่านกาลเวลามาเกือบ 3 ปีแล้ว สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนลง ในทางกลับกันความรุนแรงดูจะมีต่อไปอย่างยืดเยื้อ หากเปรียบกับโรคที่ต้องรักษาแล้ว ยาตัวนี้คงแรงเกินไป


 


แต่รัฐบาลยังไม่ยอมเปลี่ยนยารักษาและใช้ยาแรงๆ แบบเดิมต่อไปอย่างทุเรศทุรัง ทั้งที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เสนอตัวยาที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเมียดชื่อ "รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ : เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" มาเป็นแนวทางจัดการ


 


ยาตัวใหม่ดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลด้วยท่าทีที่เมินเฉยมากๆ ถึงมากที่สุด ปัจจุบันแนวทางแข็งกร้าวยังได้รับการใช้ต่อไปราวกับว่ารัฐบาลเสพติดยาประเภทนี้ไปแล้วอย่างลงแดงงอมแงม จนล่าสุดมีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549


 


อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มเยาวชนรวมตัวกันเป็น "เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดภาคใต้" ซึ่งเชื่อมั่นในสันติวิธียิ่งกว่ารัฐบาล และให้ความสำคัญกับรายงานของ กอส. ยิ่งกว่ารัฐบาลเช่นกัน และได้นำรายงานดังกล่าวมาต่อยอดทางความคิดเพื่อเป็นใบเบิกทางที่จะนำไปสู่ประตูทางออกของปัญหา จากนั้นจึงจัดสัมมนาเยาวชน "รายงาน กอส.:บทวิจารณ์และก้าวต่อไปของเยาวชน" เมื่อวันที่ 22 -23 กรกฎาคม 2549 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเยาวชนจากทุกภาคเข้าร่วมประมาณ 30 คน


 


0 0 0


 


"เมื่อไม่มีคำตอบ


จึงมีการแสวงหาคำตอบ


แต่การแสวงหาคำตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน"


 


นางสาวรอดิยะห์ สาแลดิง


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


กรณีผลกระทบที่เกิดกับเยาวชน ไม่ได้มีแค่เรื่องของยศธรกับอัมมานาดัง ในรายงานบทแรกของ กอส. เท่านั้น แต่มีเยาวชนอีกหลายคนที่ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องโดนกระทำเหมือนสองคนนี้ ไม่มีคำตอบให้ว่า พ่อเขาโดนยิงเพราะอะไร?


 


เมื่อไม่มีคำตอบ จึงมีการแสวงหาคำตอบ แต่การแสวงหาคำตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากใครได้ดูหนังสมานฉันท์ รู้สึกว่าชื่อเรื่อง "ดรีมทีม" จะสะท้อนเรื่องราวแบบนี้ออกมา เรื่องราวมีว่า พี่น้องสองคนอาศัยอยู่กับพ่อที่ทำสวน วันหนึ่งผู้เป็นพ่อโดนยิง น้องชายจึงถามคำถามกับพี่ชายว่า ทำไมพ่อจึงโดนยิง?


 


พี่ชายก็ให้คำตอบไม่ได้ การช่วยเหลือของรัฐก็มีไม่มาก ข้อคิดจากหนังก็คือ ถ้าไม่มีใครให้คำตอบและรัฐก็ปกป้องเขาไม่ได้ เขาจึงต้องหาคำตอบเอง ในที่สุดพี่ชายในหนังเลือกการแสวงหาคำตอบด้วยการไปอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐ


 


เรื่องใกล้เคียงกันนี้ส่วนตัวมีประสบการณ์ของเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อนคนนี้เคยเป็นหวังของพ่อและมีกำลังใจในการเรียนมาจากพ่อ แต่ต่อมาพ่อโดนยิงเสียชีวิต เขาจึงมาบอกว่า จะไม่เรียนต่อแล้ว เมื่อถามว่า เธอคือความหวังของพ่อไม่ใช่หรือ ถึงพ่อจะไม่อยู่แล้วก็เรียนได้ เขาตอบว่าจะเรียนไปอีกทำไมในเมื่อพ่อไม่อยู่แล้ว เรียนไปก็ไม่สามารถช่วยอะไรพ่อได้ ไม่เรียนดีกว่า เธอไม่รู้หรอก เธอมีพ่ออยู่ ถ้าเธอไม่มีพ่อ เธอจะรู้เองว่าความรู้สึก ณ จุดนี้เป็นอย่างไร


 


จากประสบการณ์นี้มันบอกว่า จิตใจของผู้ได้รับผลกระทบสำคัญมากๆ การที่มีคนลงพื้นที่มากๆ ก็เช่นกัน มีเสียงสะท้อนจากพื้นที่ว่า พอกันทีกับการสร้างภาพ เพราะเขาไม่ต้องการอะไรมาก นอกจากความเข้าใจและจริงใจในการแก้ปัญหา


 


0 0 0


 


"วันหนึ่งเห็นรถทหารมาที่หมู่บ้านนี้ประมาณสิบคันพร้อมปืน


เพราะได้ข่าวว่าผู้ชายคนนั้นแอบกลับมา


เมื่อทหารตำรวจมาชาวบ้านก็กลัว นำมาสู่การที่ชาวบ้านพากันไปล้อมทหารอีกที


เพราะชาวบ้านเชื่อว่า คนๆ นั้นเป็นคนดี


แต่ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการใดป้องกัน"


 


เราะอุฟ มูซอ


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


ประเด็นสภาวะจิตใจนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน คนในพื้นที่ 3 จังหวัด ตอนนี้สภาวะจิตใจสั่นคลอนและบอบบางมาก เคยไปพบเหตุการณ์หนึ่งที่หมู่บ้านข้างเคียง มีคนถูกตั้งค่าหัวไว้ประมาณ 500,000 บาท ซึ่งเรียนจบมาจากประเทศอียิปต์และเพิ่งกลับมา


 


การส่งไปเรียนที่ประเทศอียิปต์ เป็นความหวังของคนในพื้นที่ว่า จะนำความรู้มาพัฒนาคนในหมู่บ้านและศาสนา ไม่ใช่ส่งไปเรียนการก่อการร้าย เขากลับมาประมาณ 2 เดือน ก็มีการหมายหัว พอเขารู้จึงหนี


 


วันหนึ่งเห็นรถทหารมาที่หมู่บ้านนี้ประมาณสิบคันพร้อมปืน เพราะได้ข่าวว่าผู้ชายคนนั้นแอบกลับมา เมื่อทหารตำรวจมา ชาวบ้านก็กลัวนำมาสู่การที่ชาวบ้านพากันไปล้อมทหารอีกที เพราะเชื่อว่าคนๆ นั้นเป็นคนดีแต่ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการใดป้องกัน การล้อมจึงเป็นสิ่งที่จะป้องกันบุคคลนี้ แต่ดีที่ว่าทหารไม่ได้ทำอะไรกับชาวบ้าน เมื่อค้นบ้านก็ไม่พบคนดังกล่าว


 


สิ่งนี้สะท้อนว่า คนใน 3 จังหวัดอยู่ด้วยความระแวงตลอด กรณีโดนอุ้มฆ่า ทำให้เด็กแสวงหาคำตอบ แต่เมื่อหาไม่ได้ก็ต้องหาด้วยตัวเอง ซึ่งใครจะรู้ว่าในสภาวะจิตใจของเขาจะมีอะไรบ้าง ถ้าเป็นความแค้นจะเป็นปัญหามากสำหรับสังคมไทย เพราะใน 3 จังหวัดมีเป็นพันกรณีที่โดนอุ้ม โดนฆ่า โดนยิง แต่ไม่มีคำตอบจะให้กับคนในพื้นที่ คำถามนี้จะติดตัวตลอด การทำให้ไม่รู้ว่าข้างในเป็นความแค้นหรืออะไรกันแน่ปัญหาก็จะติดไปตลอดและแก้ไม่ได้


 


ขอขอบคุณ กอส. เพราะเท่าที่อ่านรายงานแล้วคิดว่า กอส. เข้าใจตรงนี้ มีการเยียวยาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขอฝากว่า อยากให้ใส่ใจเด็กเหล่านี้ และหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น


 


0 0 0


 


"เมื่อเกิดปัญหาในภาคใต้ก็จะคิดว่า


อีกแล้วหรือ เบื่อ ปล่อยมันยิงเสียให้จบ


คือคนภายนอกถูกโครงสร้างของมันยัดเยียดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ยอมรับความรุนแรงเสียเอง


และถ้ายอมรับเรื่องแบบนี้มากๆ


การผลักดันหรือเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาและการร่วมมือต่างๆ จะน้อยลง"


 


นายทรงพล ตุละทา


คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


 


มุมมองที่มองจากวงนอก เช่น ชาวบ้านหรือเยาวชนอีสานต่อเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้เห็นว่า ปัญหาคือการที่รัฐเข้าไปมีมีอำนาจเหนือสิทธิในการครอบครองทรัพยากร เข้าไปจัดการทุกอย่างในกระบวนการพัฒนาสังคมและมักเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์


 


แต่การพัฒนาควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ต้องมองบริบทในชุมชนนั้นๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะในแต่ละพื้นที่มีทุนทางสังคมที่หลากหลาย ทว่าการพัฒนาของรัฐจะมองเป็นมหภาคไปหมด การแก้ปัญหาสังคมของรัฐจะมองเรื่องโครงสร้าง โดยเมื่อโครงสร้างสังคมมันไม่สมดุล รัฐจะพยายามให้อีกส่วนหนึ่งเกิดการปรับเปลี่ยนให้โครงสร้างสังคมสมดุลให้ได้


 


แต่การแก้ปัญหานั้นกลับมองในเชิงตัวเลข เช่น กรณีการฆ่าในสงครามยาเสพติดก็ใช้การนับศพ ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัด เวลาจับก็จับแบบไม่มองเลยว่า จับกี่คน มีคุณภาพแค่ไหน รัฐไม่ให้ความสนใจว่าจะต้องมีคนเข้าไปอยู่กับชุมชนเพื่อไปศึกษาปัญหาและความต้องการจากในพื้นที่จริงๆ ดังนั้นการแก้ไข ถ้าร่วมกับคนภายนอก คือรัฐกับเอ็นจีโอ พัฒนาข้างนอกร่วมกับคนในท้องถิ่น ความเป็นเจ้าของร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่รัฐส่งทหารเข้าไป แล้วก็เน้นงบประมาณด้านโปรโมชั่นมากเหลือเกิน


 


ปัญหาทรัพยากรทางอีสานก็เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน เพียงแต่แสดงออกต่างจากภาคใต้ เช่น สมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยอีสาน และเหมืองโปรแตส ปัญหาหลังสุดนี้ รัฐเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการทุกอย่าง ในจังหวัดอุดรธานี รัฐบาลหรือส่วนกลางให้ต่างชาติเข้ามารับสัมปทานทำเหมืองโปรแตสได้โดยไม่สนใจเลยว่า คนในพื้นที่ต้องการหรือไม่ เพราะถ้าชาวบ้านปล่อยให้มีการทำเหมืองก็ไม่สามารถทำนาได้เลย


 


รัฐบอกว่าต้องการให้มีอุตสาหกรรมเข้าไปเพื่อต้องการพัฒนาระดับท้องถิ่นให้ชาวบ้านมีงานทำ แต่สำหรับคนในพื้นที่อีสาน พื้นเพคือการทำนา ทำไร่ เมื่อรัฐพัฒนาอีกลักษณะจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ประเด็นภาคใต้ก็คงใกล้เคียงกัน รัฐเข้าไปอย่างรุนแรงรวดเร็วด้วยภาษีของเรา การที่รัฐโยนไปในลักษณะนั้น แม้หลายคนฟันธงว่าชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีความเข้มแข็ง แต่จากประสบการณ์ทำงานประมาณ 3 ปี ฟันธงว่าชาวบ้านต้องยืนเคียงข้างนักพัฒนาหรือนักวิชาการ


 


เราไม่สามารถหว่านเงินให้ชาวบ้านไปจัดการเองได้ มันจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่จะให้ฝั่งภาครัฐจัดการเองก็ไม่ได้ เพราะจะมีการตอดเล็กตอดน้อยพอถึงพื้นที่งบประมาณก็เหลือไม่เท่าไหร่ ควรต้องเปลี่ยนวิธีการพัฒนาใหม่โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น


 


อีกประเด็นคือ สื่อ ทางอีสานพบว่าไม่มีสื่อที่สามารถรับข้อมูลจริงๆจากพื้นที่ได้ ต้องดูจากสื่อกระแสหลักที่ไม่รู้ว่าถูกบิดเบือนอะไรมาบ้าง อย่างกรณีที่สหรัฐจวกประเทศไทยประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน 13 ข้อ มี 9 ข้อเป็นเรื่องของ 3 จังหวัดภาคใต้ เท่าที่สังเกตทั้งสัปดาห์ ออกอากาศที่ไอทีวี 15 วินาทีก็หายไป ไม่มีการมาพูดถึงอีกเลยว่า มันเกิดความรุนแรงอะไร และไทยโดนต่างชาติมองอย่างไร เป็นต้น


 


หรือกรณีตันหยงลิมอที่นาวิกโยธิน 2 นายถูกฆ่า ออกมาพูดเยอะมาก แต่เรื่องราวก่อนที่นาวิกฯจะถูกฆ่าต้นเหตุคืออะไร ก่อนหน้านั้นเกิดการยิงกราดในหมู่บ้าน แต่สื่อเอาเรื่องนี้มาออกแค่วันเดียวครั้งเดียว แล้วก็ออกเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐถูกฆ่าโดยคนในพื้นที่ สื่อที่ออกมาข้างนอกส่วนใหญ่มีแต่เรื่องแบบนี้ พอโดนอัดแต่เรื่องแบบนี้ เมื่อเกิดปัญหาในภาคใต้ ก็จะคิดว่าอีกแล้ว เบื่อ ปล่อยมันยิงเสียให้จบ คือคนภายนอกถูกโครงสร้างของมันยัดเยียดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ยอมรับความรุนแรงเสียเอง และถ้ายอมรับเรื่องแบบนี้มากๆการผลักดันหรือเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาและการร่วมมือต่างๆจะน้อยลง


 


อีกเรื่องคือ ทำไมโครงสร้างจากวัฒนธรรมจึงมีผลต่อคนในพื้นที่ ต้องดูคนในพื้นที่เองด้วยว่ายอมรับโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นมาว่าสามารถใช้ความรุนแรงได้ หรือวัฒนธรรมในพื้นที่สามารถยอมรับการใช้ความรุนแรงได้ ถ้ามีการรับและตอบสนองจากคนในพื้นที่ จะมีผลสะท้อนกลับสู่โครงสร้างหรือวัฒนธรรมว่า จะเกิดความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ เป็นวงจร ดังนั้นคนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนวิธีการในการต่อสู้กับการกดขี่จากอำนาจรัฐโดยไม่ยอมรับความรุนแรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็จะอยู่ในวงจรนั้นไปเรื่อยๆ


 


อีกส่วนคือมุมมองต่อรัฐ แม้จะมีเรื่องมาจากประวัติศาสตร์ว่า ถูกรัฐเข้าไปกดขี่ แต่การมองแบบนี้ก็โดนทุกภาค อย่างภาคเหนือเมืองล้านนาก็สูญสลายไปเลย ภาคอีสานก็เคยมีกบฏผีบุญ คือมีประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเขียนให้ความเป็นไทยต้องมีเท่านั้นๆ โตขึ้นก็เชื่อแบบนี้ แต่ในสังคมไทยมีความต่างอยู่ มีหลากเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ต้องยอมรับความต่างย่อยๆ ที่มี การยอมรับต้องอย่ามองว่าเรามีอัตลักษณ์ของเราแล้วต้องทำให้เข้มแข็ง เพราะถ้าสร้างให้เกิดการแบ่งแยกชัดเจน การจะปรับเข้าหากันหรือร่วมวัฒนธรรมกัน จะทำให้เกิดชนวนความรุนแรงขึ้น เพียงแต่ในแต่ละพื้นที่จะรุนแรงในรูปแบบต่างกัน ในภาคใต้อาจจะถึงคอขาดบาดตาย แต่ในภาคอื่นอาจจะเป็นเรื่องสภาพจิตใจ สภาพสังคม และสิทธิของความเป็นคน


 


0 0 0


 


"การไม่ตรวจสอบและนิ่งเฉย


คล้ายกับการมีส่วนร่วมในการกระทำความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย


สังคมประชาธิปไตยจะดีได้ ต้องมีปัจเจกชนที่มีสำนึกทางสังคม


ปัจจุบันสภาพสังคมที่เราเป็นอยู่


คือเน้นปัจเจกชนที่นึกถึงแต่ตัวเองมากเกินไป


อีกทั้งสังคมมีการปลูกฝังให้พยายามนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อน"


 


นายยุทธพงศ์ ขันประกอบ


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


กฤณมูรติ กล่าวว่า "การที่มนุษย์เข้าใจว่า ตัวเองตัดขาดกับมนุษย์และสิ่งอื่นๆ นั้น ก็เป็นการรุนแรงอยู่แล้ว" คำพูดนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในมิติที่ค่อนข้างลึกมาก ผมรู้สึกว่า บางทีคนเราอาจจะมองความรุนแรงแค่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ในอีกส่วนคือสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือพืช เราก็ต้องระมัดระวังว่า การกระทำของเราเป็นความรุนแรงหรือไม่


 


การทำความเข้าใจจากเอกสารของ กอส. และบทความที่กล่าวถึงชั้นของความรุนแรง 3 ชั้น เป็นการทำความเข้าใจที่นำแนวคิดของนักวิจัยสันติภาพให้เข้าไปสู่ความเข้าใจของคนไทยมากขึ้น คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ เพราะรู้สึกว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดการสร้างความเข้าใจเนื่องจากตั้งแต่สร้างรัฐชาติขึ้นมา ก็มองความแตกต่างเป็นสิ่งเลวร้าย และสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่มักเลือกคือใช้ความรุนแรง


 


การสร้างความเข้าใจ ไม่ใช้ความรุนแรง จะเป็นผลดี แต่ต้องใช้เวลานานมาก เพราะการสร้างความเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นการทำให้แต่ละส่วนเข้าใจร่วมกันว่า ปรากฏการณ์เป็นอย่างไร แล้วเกิดการยอมรับร่วมกัน ไม่ใช่การใครคนหนึ่งบอกว่าสิ่งนี้ถูกและต้องเอาแบบนี้ การทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้การเข้าใจปัญหาซับซ้อนขึ้น จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้น


 


ในส่วนการเป็นเหยื่อของความรุนแรงของเยาวชนไทย หลักๆ แล้ว คือการสร้างความเข้าใจที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนหรือแนวคิดของมุสลิม หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงนี้ จึงเริ่มมีเอกสารหรือตำราหลายอย่างพยายามศึกษาเรื่องมุสลิมมากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ จากเดิมที่อาจจะถูกกดด้วยประวัติศาสตร์ส่วนกลางที่บอกเล่าเรื่องราวของปัตตานีว่าเป็นกบฎ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกเเขาและเรา  


 


อีกเรื่องคือมีการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น มีการยกมาอ้างในการใช้ความรุนแรงมาก ในเรื่องความขัดแย้งของศาสนาอิสลามกับคริสต์หรือพุทธ มีการสร้างภาพลักษณ์คนมุสลิมเป็นผู้ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หรืออีกมุมมองหนึ่งคือผู้ที่คัดค้านความเจริญของคนส่วนใหญ่ ทำให้เยาวชนรู้สึกว่า แค่คำว่าผู้ก่อการร้ายก็ก่อให้เกิดความกลัวแล้วว่าเขาจะทำอะไรเรา


 


การพยายามอธิบายว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เมื่อมีการฉายภาพออกมาแบบนี้ คิดว่าเยาวชนไทยเป็นเหยื่อเพราะไม่เคยตึกตรองว่า ภาพที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเพราะอะไร ข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้รับเป็นอย่างไร แบบนี้จึงเป็นเหยื่อแบบหนึ่ง


 


ส่วนที่สองคือ การที่เยาวชนหรือคนส่วนอื่นในสังคมที่เราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความรุนแรงนั้นเป็นจริง เพราะเราขาดการตรวจสอบ และทำความเข้าใจในการใช้อำนาจในบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างคือการใช้อำนาจของรัฐไทย จะเห็นได้ชัดเจนในการแก้ปัญหาในการเอื้อความรุนแรง


 


ภาพที่ได้เห็นกันในสื่อ พอรู้สึกว่าเป็นความรุนแรง เขาจึงเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่ต่างจากเรา บางทีเราอาจใช้รูปแบบนิ่งเฉยที่สนับสนุนไปเลยในการใช้ความรุนแรง ให้อัดทหารเข้าไปเพื่อให้ปัญหาไม่ลุกลาม การไม่ตรวจสอบและนิ่งเฉย คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่คล้ายกับมีส่วนร่วมในการกระทำด้วย สังคมประชาธิปไตยจะดีได้ต้องมีปัจเจกชนที่มีสำนึกทางสังคม ซึ่งปัจจุบันสภาพสังคมที่เป็นอยู่คือเน้นปัจเจกชนที่นึกถึงแต่ตัวเองมากเกินไป และสังคมมีการปลูกฝังให้พยายามนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อน


 


น้องคนหนึ่งเรียนชั้น ม. 4 มาเล่าว่า คุยกับเพื่อนที่โรงเรียนว่า ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ทำไมไม่สิ้นสุดเสียที เพื่อนก็บอกว่า ทำไมไม่ระเบิดให้มันหายๆ ไปเสียไอ้ 3 จังหวัดนี้ พอได้ยินก็คิดว่าน่ากลัว มันเชื่อมกับการให้ความชอบธรรมและเป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำรุนแรงเช่นกัน หากมองว่าการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นการกระทำที่ชอบธรรมแล้ว


                


การพูดถึงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่บุคคลนั้นอยู่ ทำให้เขามีส่วนทั้งเป็นเหยื่อและเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำ ส่วนหนึ่งมาจากสภาพของสังคมที่เราไม่มีการตรวจสอบ และสร้างองค์ความรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ถ้าปล่อยไว้คิดว่า ยิ่งสร้างความซับซ้อนเรื่อยๆ และเรื่องนี้จะไม่มีวันจบ


ความรุนแรงของใต้คงไม่จบง่ายๆ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามันมีหลายด้าน และดำรงอยู่ยาวนาน ในสังคมไทยที่เราคิดว่าสงบสุข แต่เอาเข้าจริงแล้วเราไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง


 


0 0 0


 


"ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกผู้ชายคนหนึ่ง


จะขออาสาไปค้นหาปืนหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง


จะอาสาไปเป็นรั้วของชาติเพื่อรักษาดินแดนของประเทศไว้


มุมหนึ่งมองว่าเป็นคนเสียสละ


แต่อีกมุมคือเขาเป็นผู้เลือกใช้ความรุนแรงในการแสดงความกล้า


หรือความเสียสละในการรักษาประเทศ"


 


นายโยฮัน สะตอมา


บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


เมื่อวานนั่งแท็กซี่มาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอขึ้นรถแท็กซี่ เขาถามว่าไปทำไม คงด้วยความเป็นห่วงจุฬาฯ จึงตอบเขาไปว่า ไปร่วมเวทีเสวนา แท็กซี่ถามว่า น้องไม่ได้มาวางระเบิดนะ จึงถามกลับว่า ทำไมพี่จึงคิดอย่างนี้ แท็กซี่ตอบว่า ทางตำรวจกำชับมาให้สังเกตกลุ่มคนที่มีเคราอยู่ที่คาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ อาจจะมาก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯ วิธีการก่อวินาศกรรมคือกระเป๋าเป้ เมื่อวานพวกผมก็มีอยู่สามสี่ใบ


 


แท็กซี่บอกว่าอาจจะเอากระเป๋าเป้ไปวางข้างหลังรถ นี่คงเป็นเหตุผลที่พวกเขาไม่เปิดกระโปรงรถให้พวกผมเก็บกระเป๋า เขาอาจจะมีการแกล้งลืม พอลงจากแท็กซี่ก็ไปโบกแท็กซี่อีกคันแล้วขี่ตาม เมื่อได้จังหวะก็กดชนวนระเบิด ผมว่าแท็กซี่คันนั้นชำนาญกว่าผมอีก (หัวเราะ)


 


เขาบอกอีกว่าวันหลังจะทำก็ทำได้นะ แต่อย่าทำบนรถเขาแล้วกัน (หัวเราะ) เล็กๆ น้อยๆ เป็นโจ๊กภายใต้ความเจ็บปวดของใครหลายๆคน


 


เข้าเนื้อหา ตามรายงานของ กอส. ชั้นของความรุนแรงมี 3 ชั้น แต่ผมคิดว่า บางทีความรุนแรงมันอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน ทุกคนมีความรุนแรงอยู่ในตัว ถ้ามีเหตุการณ์บางอย่างเป็นตัวดึงออกมาได้ เพราะเราไม่ได้มีแค่สมอง เรามีกำลัง มีมือ มีเท้า แต่ว่าเราจะใช้กำลังพวกนั้นไปทางไหน จะหาสังคมที่ถูกต้อง สังคมอุดมคติที่มีความสุข ไม่เบียดเบียนกัน หรือจะหาความสุขในการเอาเปรียบคนอื่น


 


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกผู้ชายคนหนึ่ง จะขออาสาไปค้นหาปืนหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จะอาสาไปเป็นรั้วของชาติเพื่อรักษาดินแดนของประเทศไว้ มุมหนึ่งมองว่าเป็นคนเสียสละ แต่อีกมุมคือ เขาเป็นผู้เลือกใช้ความรุนแรงในการแสดงความกล้า ความเสียสละในการรักษาประเทศ


 


อาจจะเกิดจากประเด็นที่ว่า ความคิดของเรามองเหตุการณ์อย่างผิวเผิน วันนั้นเป็นการปล้นปืน การปล้นปืนก็คือความรุนแรง ความรุนแรงต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงเท่านั้น การปล้นปืนต้องก่อการอะไรบางอย่าง ดังนั้นการจัดการต้องเหนือกว่า เช่นกองกำลังทหารที่มากกว่า อาวุธที่แน่นอนกว่า และงบประมาณที่มากกว่า สิ่งที่พูดคือความรุนแรงอยู่ในจินตนาการที่อยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว แต่อยู่ที่มุมมองและการได้รับการสื่อสารว่า ควรจะใช้มันออกมาอย่างไร


 


บางทีความรุนแรงก็จัดการอะไรไม่ได้ทั้งหมด อย่างที่กล่าวถึงสงครามยาเสพติดที่มีการฆ่าผู้ค้ายา 2,000 กว่าคน ในเชิงปริมาณกำจัดได้เยอะ บางคนอาจค้าจริง แต่บางคนก็แค่หน้าตาเหมือนคนค้า ถ้าคิดในเชิงปริมาณเช่นกัน คนที่เสพยังมีเยอะกว่าคนที่ขาย มันเป็นแค่การเปลี่ยนมือเท่านั้น เช่นคนนี้ตายแล้วขายไม่ได้ แต่ลูกค้าเก่าของคนที่ตายยังมีอีก ดังนั้นสองพันคนที่ตายไป สมมติว่ามีลูกค้าอยู่คนละ 300 คน ลองคูณกันเองว่า มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดนักค้ารายใหม่ได้หรือไม่ ดังนั้นความรุนแรงอาจไม่ใช่ วิธีแก้ปัญหา แต่ถ้าฆ่าหมดทั้งโลก ก็อาจไม่มีปัญหายาเสพติดก็ได้


 


คำถามที่ว่าสังคมแบบไหนที่หล่อเลี้ยงความรุนแรง คิดว่าทุกสังคมทุกรูปแบบมีโอกาสนั้นถ้าไม่มีการจัดการที่ดี ไม่ว่ามุสลิมเพียวๆ หรือสังคมบ้านเราที่หลากหลายก็ตาม ยกตัวอย่างอิหร่านที่มีระบอบการปกครองแบบอิสลาม ถ้ามองการประหารชีวิตไร้มนุษยธรรมก็มองได้ แต่มองในมุมมุสลิมที่รู้เรื่องทางศาสนามากหน่อยก็อาจจะมองมองว่าเหมาะสมก็ได้ เป็นการตัดสินของศาลต่อการกระทำผิดในครั้งนั้น


 


ส่วนสังคมไทยที่หลากหลายหรือต่างศาสนา การมีความต่างก็เป็นทุนอยู่แล้ว รอแค่บางคนจะมาใช้ประโยชน์จากความต่างนี้ให้เกิดความรุนแรงได้อย่างไร ผู้กระทบมากที่สุดก็คือประชาชน ในภาคใต้ความแตกต่างถูกทำให้ยกระดับขึ้น เป็นความแตกต่างที่เป็นปัญหาซึ่งพุทธกับมุสลิมต้องระวังซึ่งกันและกัน สังคมแบบนี้ก็หล่อเลี้ยงความรุนแรงได้


 


นอกจากนี้ การที่คนกลุ่มหนึ่งร้องขอให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่พอวันหนึ่งที่คนนำเสนอวิธีการถูกโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงและไร้มนุษยธรรม การหมดศรัทธากับวิธีการที่คิดว่าสันติหรือถูกต้องก็อาจเป็นตัวหล่อเลี้ยงความรุนแรงได้


 


เราคงไม่สามารถลืมประวัติศาสตร์ได้ ไม่ว่ามลายูในภาคใต้ เชียงใหม่ หรือคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันเราใช้บทเรียนจากการสูญเสียเลือดเนื้อมากมายในการเปิดรับความคิดแต่ละคนหรือยัง วันนี้ประชาธิปไตยต้องมาทบทวนเหมือนกัน ประชาธิปไตยมันเกิดมาจากประเทศที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นมาโดยตลอด ไปดูว่าประเทศนั้นสร้างความเจริญเติบโตของประเทศมาได้อย่างไร ไม่ใช่ไม่เชื่อในประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยต้องมีทางเลือก มันต้องมีส่วนผสมให้เหมาะกับความเป็นพื้นที่โดยวิถีชีวิตไม่ถูกเบียดเบียนและดำเนินชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจ


 


รายงาน กอส. พูดถึงสังคมสันติภาพ บวกกับความยุติธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญ อิสลามก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า เราจะมาสร้างสันติภาพให้ทุกคนอยู่แน่นิ่งเหมือนแมวที่ถูกสตาฟไว้ไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหว สันติภาพปัจจุบันเราไม่อาจเสนอความเป็นเราได้ เราต้องน้อมรับกรอบบางอย่างที่วางไว้แล้ว คิดว่าบางทีสันติภาพกับความยุติธรรมที่ต้องไปด้วยกัน


 


เรื่องการใช้ความรุนแรงในอิสลาม อิสลามให้ความสำคัญมากกับเรื่องความยุติธรรม การต้องไปทักท้วงผู้นำของเราหรือผู้นำที่เหนือกว่าเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำ ถ้าผู้นำดำเนินวิถีที่ไม่ถูกต้องและอยุติธรรม เราก็ต้องแลกมาด้วยชีวิต เราต้องทำหน้าที่นั้น เพราะวันหนึ่งเราต้องกลับไปบอกพระผู้เป็นเจ้าว่า วันที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เราใช้ ปาก มือ สมองของเราในการสื่อสารกับผู้นำของเราว่า นั่นเป็นสิ่งที่เขาทำไม่ถูก อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าเห็นความรุนแรงหรือความไม่ชอบธรรม ให้ต่อสู้กับมันด้วยความอ่อนน้อมถ่อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ สู้ด้วยเหตุด้วยผล แต่ถ้าวันหนึ่งถอย แล้วข้างหลังมันคือเหว ก็เป็นเรื่องไม่ผิดอะไรที่เราอาจจะต้องใช้สิ่งที่คนอื่นเรียกว่า กำลังเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีที่พึงจะมี และถ้าปกป้องได้แล้วอย่าใช้ไปเกินกว่านั้น


 


ประเด็นในภาคใต้ บางทีเขาดูบทเรียนจากคนรุ่นเก่าๆที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐอาจไม่ระวัง เช่น ลุงทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่สู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่กลับถูกตอบแทนด้วยสิ่งที่รัฐไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง แม้จะไม่รู้ว่าใครทำ แต่ด้วยข้อมูลที่มี และสิ่งที่เรารับรู้ คือรู้ว่าใครทำ เมื่อบวกกับหลายเรื่องในประวัติศาสตร์บางทีการต่อสู้ในวิถีด้วยเรื่องของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายอาจไม่สำคัญแล้วสำหรับเขา


 


ณ เวลานี้อาจไม่เหลือแล้วสำหรับความไว้วางใจ จึงใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ ตรงนี้อาจไม่ใช่คำอธิบายของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การฆ่าพระ ครู เด็ก นักการศาสนา ตรงนี้ไม่ใช่วิถีของอิสลาม คนที่ต่อสู้เพื่อศาสนาไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ถ้าทำสรวงสวรรค์จะไม่ได้ตอบแทนเขา ประเด็นที่เขาต่อสู้คือความยุติธรรมสำหรับเพื่อนมนุษย์โลกทุกคนที่มีชีวิต ดังนั้นต้องแยกแยะว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่จากคนกลุ่มเดียวเสมอไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net